คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล


คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล

ใครจะไว้ใจอะไรตามใจเถิด

แต่อย่าเกิดไว้ใจในสิ่งห้า

หนึ่งอย่าไว้ใจทะเลทุกเวลา

สองสัตว์เขี้ยวเล็บงาอย่าวางใจ

สามผู้ถืออาวุธสุดจักร้าย

สี่ผู้หญิงทั้งหลายอย่ากรายใกล้

ห้าพระมหากษัตริย์ทรงฉัตรชัย

ถ้าแม้ใครประมาทอาจตายเอย

 

ภาษิตโบราณ ห้าสิ่งไม่ควรวางใจ อยู่ในนิทานเวตาล เรื่องที่ 6 ของ น.ม.ส.หนังสือเรื่องนี้เป็นที่นิยมอ่านอย่างกว้างขวางในหมู่นักอ่าน เพราะนอกจากเนื้อเรื่องตามต้นฉบับเดิมที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน แง่คิด คติธรรมและปริศนาที่ท้าทายภูมิปัญญา น.ม.ส.ผู้แปลยังใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย มีความกลมกลืน รวมทั้งความไพเราะของบทร้อยกรองที่สอดแทรกอยู่ในนิทาน

นิทานเวตาล หรือ เวตาลปัญจวิศติ เป็นวรรณกรรมสันสกฤตโบราณ ถูกเล่าเรื่องเป็นครั้งแรกโดยกวีผู้มีนามว่า ศิวทาส เมื่อ 2500 ปีมาแล้ว และได้มีการแปลเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษา ฉบับภาษาไทยนั้นผู้แปลและเรียบเรียง คือ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) โดยแปลมาเพียง 10 ตอนจากทั้งหมด 25 ตอน

ภาษิตโบราณ "ห้าสิ่งที่ไม่ควรวางใจ" เป็นภาษิตที่ยกขึ้นมาประชันกัน โดยมีนางมธุมาลตีบุตรีของพราหมณ์เป็นเดิมพัน ยังไม่ทันได้ตัดสินว่าใครเป็นผู้ชนะ นางก็ถูกงูกัดตายเสียก่อน หลังจากเผาศพของนางแล้วชายที่เข้าร่วมประชันภาษิตทั้งสามคนก็แยกย้ายกันไป โดยคนหนึ่งเก็บกระดูกของนาง อีกคนหนึ่งเก็บเถ้ากระดูก อีกคนหนึ่งไม่ได้เก็บสิ่งใด ต่อมาชายทั้งสามได้กลับมาพบกัน จึงร่วมกับชุบชีวิตนางมาธุมาลตีขึ้นมาใหม่จากกระดูกและเถ้ากระดูกที่เก็บไว้ โดยใช้ตำราของชายคนที่ไม่ได้เก็บสิ่งใดไว้เลย เมื่อนางฟื้นคืนชีวิตขึ้นมา จึงเป็นปริศนาที่เวตาลให้พิจารณาว่านางควรจะตกเป็นภรรยาของชายคนใดในสามคนนี้ ปริศนาของเวตาลยั่วยุให้ขบคิด จนพระเจ้าวิกรมาทิตย์อดไม่ได้ที่จะเผลอพูดออกไป เป็นการผิดสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้

สำนวน "คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล" พจนานุกรม ฉบับ ราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่า หมายถึง ออกทะเลอย่าประมาท เพราะอาจเกิดอันตรายได้ทุกเมื่อ ซึ่งมีความหมายตรงกับภาษิตโบราณในนิทานเวตาล "...หนึ่งอย่าไว้ใจทะเลทุกเวลา..."  ทะเลมีความแปรปรวนอยู่เสมอ ยากที่จะคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จึงต้องระมัดระวังอยู่เสมอ จะประมาทไม่ได้เลย บางครั้งทะเลสงบ แต่หลังจากนั้นอาจเกิดพายุปั่นป่วนคลื่นสูง คนโบราณจึงเตือนว่าอย่าไว้ใจทะเลเพราะมีอันตรายที่คาดไม่ถึงแฝงอยู่ อาจถึงแก่ชีวิตได้

คืบ, ศอก เป็นมาตราวัดระยะตามแบบโบราณของไทย 1คืบ เท่ากับช่วงระยะจากปลายนิ้วหัวแม่มือถึงปลายนิ้วก้อย เมื่อกางมือออกเต็มที่ เท่ากับ 9-10 นิ้ว และ 1ศอกมีความยาวเท่ากับ 2 คืบ คนโบราณมักจะเรียกอะไรที่เล็กน้อยว่า "แค่คืบแค่ศอก"

ที่มาของสำนวน มาจากธรรมชาติของทะเลที่ไม่ควรไว้วางใจ แม้น้ำลึกเพียงเล็กน้อยหรือห่างจากฝั่งเพียงเล็กน้อย ก็อาจเกิดอันตรายได้ สำนวน"คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล" จึงใช้เตือนใจว่าไม่ควรประมาท  

ตัวอย่าง

" แต่พเอินคืนนี้หลับไปแล้วให้เกิดวิตกวิจารณ์ขึ้นมาว่า คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล พลาดพลั้งเข้าก็จะอด"
(พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 ประพาสมณฑลปราจีน ตอนจะออกทะเล)

สถานที่ : เคปทาวน์ แอฟริกาใต้

 

หมายเลขบันทึก: 692118เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2021 12:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท