แผ่นดินไม่ไร้เท่าใบพุทรา


แผ่นดินไม่ไร้เท่าใบพุทรา

“…โลกนี้หรือใช่มีเพียงทรามวัย ถึงไม่รักใช่แคร์อันใด ไม่โศกใจเศร้าโศกา ทั่วแคว้นแดนแผ่นดินสิ้นพสุธา ใช่จะไร้เท่าใบพุทรา หญิงหนึ่งพอหามาเคียงใจ...”
บทเพลงนี้เป็นเพลงเก่า ชื่อเพลง "แผ่นดินไม่ไร้เท่าใบพุทรา" ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง คำร้องโดย เกษม ชื่นประดิษฐ์ ทำนองโดย สมาน กาญจนผลิน บันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2503 เป็นเวลาถึง 60 กว่าปีมาแล้ว เป็นเพลงที่มีความไพเราะทั้งท่วงทำนองและคำร้อง ส่วนความหมายก็ลึกซึ้งกินใจ

"แผ่นดินไม่ไร้เท่าใบพุทรา" เป็นสำนวนไทย หมายถึง สิ่งที่ปรารถนาหรือต้องการนั้น ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ แต่ยังมีให้เลือกอีกมากมาย ผู้ประพันธ์คำร้องได้แสดงให้เห็นถึงความทรนงของลูกผู้ชายที่ถูกสาวงามปฏิเสธรัก เขาเชื่อว่าแผ่นดินไม่ไร้เท่าใบพุทรา เพราะว่า "...ในโลกนี้หรือมีแต่เธอ งามเลิศเลอเหนือเธอก็มี แล้วไยต้องสนใจไยดี งอนเสียจนเหลือที่ หยิ่งออกอย่างนี้ขอไกล..."

ความหมายของสำนวน"แผ่นดินไม่ไร้เท่าใบพุทรา"  หมายถึง แม้ว่าคราวนี้จะได้รับความผิดหวัง หรือได้กระทำบางสิ่งพลาดไป ก็ยังไม่สิ้นไร้หนทาง ยังมีหนทาง ยังมีโอกาสอีกมากมายที่จะเริ่มต้นใหม่ ทำในสิ่งใหม่ๆ จนประสบความสำเร็จ

ที่มาของสำนวน เป็นการเปรียบเปรยว่าถึงแผ่นดินจะกว้างใหญ่ ไม่ใช่เล็กเหมือนใบพุทรา หนทางหรือโอกาสก็เช่นกัน ยังมีอีกมากมาย

กาญจนาคพันธุ์อธิบายไว้ว่า เดิมเป็นสองสำนวน สำนวนหนึ่งว่า "แผ่นดินไม่ไร้หญ้า" ดังปรากฏในบทดอกสร้อยครั้งกรุงเก่าว่า

แผ่นดินฤๅจะไร้เส้นหญ้า
คิดมาก็น่าใคร่หัว
อย่ามาข่มเหงให้เกรงกลัว
ไม่เสียตัวแก่เจ้าไยดี

อีกสำนวนหนึ่งคือ " แผ่นดินมิใช่เท่าใบพุทรา" ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 4 ว่า "แผ่นดินมิใช่เท่าใบพุทรา เมื่อไม่สบายใจจะไปเที่ยวข้างใดก็ได้" ต่อมาคงมีการนำสำนวนทั้งสองมารวมกันเป็น "แผ่นดินไม่ไร้เท่าใบพุทรา"

สำนวนนี้ใช้พูดปลอบใจ ให้ความหวัง เช่น

"ถึงเธอจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐไม่ได้ ก็ไม่เห็นจะต้องเศร้าโศกอะไรหนักหนา แผ่นดินไม่ไร้เท่าใบพุทรา มหาวิทยาลัยเอกชนก็มีให้เลือกอีกเยอะแยะ ค่อยๆดู ค่อยๆเลือกไป เราเป็นกำลังใจให้เธอเสมอ"

พุทรา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูง 5-10 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ใบมีลักษณะกลมโตหรือรูปไข่ กว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 3-8 เซนติเมตร ท้องใบจะมีขนสีน้ำตาลหรือสีขาว หลังใบมีสีเขียวเข้ม ตามต้นและกิ่งก้านมีหนาม ดอกออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ เป็นช่อ มีสีเขียวอ่อนกลีบดอกสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นเหม็นมาก ผลเป็นรูปกลม เมื่อสุกมีสีเหลืองรับประทานได้ บางชนิดมีรสหวานสนิท บางชนิดก็เปรี้ยวและฝาด โดยมากพุทราเป็นไม้ที่เกิดเองในป่ามีรสเปรี้ยว ฝาด สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด หรือการตอนกิ่ง

 การปลูกพุทราตามคติความเชื่อดั้งเดิม นิยมปลูกต้นพุทราไว้ทางทิศประจิมหรือทิศตะวันตก โดยนิยมปลูกคู่กับมะยม ตามความเชื่อว่าผู้คนจะได้นิยมไม่สร่างซานั่นเอง แต่มีคนอีกจำนวนมากที่ไม่นิยมปลูกต้นพุทราเอาไว้ในบ้าน เนื่องจากคำว่าพุทรานั้นเมื่อผวนเสียงจะกลายเป็น พา- ทรุด ซึ่งเป็นความหมายในทางไม่เป็นมงคล

ชนิดของพุทรามีหลายชนิด ทั้งพุทราพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกกันมานาน และพุทราพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และยังมีการปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาใหม่

พุทราพันธุ์พื้นเมืองที่มีปลูกกันมานานจะมีผลขนาดเล็กถึงปานกลาง เนื้อละเอียด กลิ่นรสเข้มข้น นอกจากรับประทานสด ยังสามารถนำมาแปรรูปได้หลายอย่าง เช่น พุทราดอง พุทราเชื่อม พุทรากวน พุทราแผ่น พุทราสามรส

พุทรานมสด ( Milk Jujub) เป็นพุทราที่เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างพุทราสายพันธุ์น้ำผึ้ง (Honey Jujub) จากไต้หวัน กับพุทราพันธุ์ดอกพิเศษจากประเทศอินเดีย โดยใช้ตอพุทราป่าพันธุ์พื้นเมืองของไทย ทำให้ได้พุทราพันธุ์ใหม่ที่มีการเจริญเติบโตดี มีความทนทานต่อโรคและแมลง ทั้งยังให้ผลดก ขนาดใหญ่ที่มีความกรอบ หวาน รับประทานอร่อย ได้ชื่อว่าพุทรานมสดเนื่องจากมีการใช้น้ำหมักชีวภาพจากนมข้นหวาน น้ำตาลทรายแดง และนมเปรี้ยว นำไปรดเพื่อบำรุงต้นภายหลังเก็บผลผลิตแล้ว

พุทราแอปเปิ้ลเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพุทราจัมโบ้กับพุทราน้ำผึ้งจากไต้หวัน มีลักษณะเด่น คือผลมีขนาดใหญ่มาก น้ำหนักเฉลี่ย 3-4 ผลต่อ 1 กิโลกรัม ใกล้เคียงกับผลแอปเปิ้ลขนาดเล็ก รูปทรงผลกลมรีเล็กน้อย เนื้อผลหวานกรอบอร่อย เมล็ดเล็ก เนื้อสุกมีกลิ่นหอมเหมือนน้ำผึ้ง ขยายพันธุ์ด้วยการทาบกิ่งกับตอพุทราป่า

พุทราจีน (Jujube) มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนใต้ เป็นผลไม้ที่มีความกรอบ นิยมรับประทานสด นอกจากนี้ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็น พุทราตากแห้ง พุทราเชื่อม น้ำพุทรา หรือใช้เป็นส่วนผสมในเมนูอาหารได้ เช่น พุทราจีนต้มหัวหอม ไข่ต้มเก๋ากี้พุทราจีน

การใช้ประโยชน์จากพุทรา 
พุทรามีประโยชน์หลายอย่าง ได้แก่
1. ใช้เป็นอาหาร ผลสุกหรือผลแก่จัดใช้รับประทานเป็นผลไม้ หรือนำมาแปรรูปเป็นพุทราเชื่อม พุทรากวน ฯลฯ
2. พุทรามีคุณค่าทางโภชนาการ มีวิตามินซี ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและต่อต้านอนุมูลอิสระ  ฟอสฟอรัสและแคลเซียมช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรงลดความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน 
3. สรรพคุณทางยา ผลดิบมีรสฝาดใช้เป็นยาบำรุงและแก้ไข้ ช่วยบำรุงประสาทและสมองแก้โรคนอนไม่หลับ ผลสุกมีรสหวาน ฝาดและเปรี้ยว มีสรรพคุณใช้ขับเสมหะ แก้ไอ และเป็นยาระบาย ส่วนผลแห้งและใบ นำไปปิ้งไฟหรืออบให้แห้ง นำมาชงน้ำดื่มแก้ไอ
นอกจากนี้ผลพุทรายังใช้รับประทานเป็นยาบำรุง ช่วยบำรุงผิวพรรณให้มีสุขภาพดี ช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับผิวพรรณได้

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

 

 

หมายเลขบันทึก: 691981เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2021 18:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท