ตีปลาหน้าไซ


ตีปลาหน้าไซ

สำนวน "ตีปลาหน้าไซ" หมายถึง กระพูดหรือกระทำการใดๆที่ทำให้งานหรือกิจการของผู้อื่นที่กำลังดำเนินไปด้วยดีได้รับความเสียหาย หรือเป็นอันต้องหยุดชะงักไป

ที่มาของสำนวน เป็นการเปรียบเปรยกับการจับปลา โดยใช้ไซวางไว้ในลำน้ำเพื่อดักให้ปลาเข้า เมื่อมีคนตีปลาหรือกระทุ่มน้ำตรงหน้าไซทำให้น้ำปั่นป่วน ปลาจึงตื่นหนีไป ไม่เข้าไซที่ดักไว้

ในอดีตวิถีชีวิตของชาวบ้านเมื่อเสร็จจากฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว ชาวบ้านมักมีเวลาว่างจากการทำนา จึงใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการประกอบอาชีพต่างๆ เพื่อเสริมรายได้ของครอบครัว เช่น ทำไร่ ทำสวน และหาปลา ชาวบ้านจะออกหาปลาตามแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้เคียงโดยใช้เครื่องมือจับปลาต่างๆ

ไซ เป็นเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านคุ้นเคย เพราะผู้ชายสมัยก่อนเมื่อคิดจะมีเหย้ามีเรือนต้องฝึกหัดจักสานเครื่องมือเครื่องใช้ให้เป็น ได้แก่ หวด กระติ๊บข้าว ครุ ตะกร้า แล้วก็หัดสานไซ การสานไซเป็นการทดสอบความเพียรของลูกผู้ชายได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะการสานไซเป็นเรื่องยุ่งยากมาก เริ่มจากการตัดไม้ไผ่บ้านหรือไผ่ตงให้มีความยาวประมาณ 4 ปล้อง นำมาผ่าซีกๆแล้วเหลาให้เป็นเส้นเล็กกลมๆ ยาวๆ แล้วจึงนำมาสานเป็นไซ  ซึ่งเป็นเครื่องดักและจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก  เช่น กุ้ง ปู ปลา ใช้ดักตามทางน้ำไหลที่ไม่ลึกนัก โดยใช้เฝือกซึ่งเป็นไม้ไผ่ซี่ๆ ถักเป็นแผงยาวๆกันทางน้ำไหล เว้นช่องเล็กๆ ไว้ให้ปลาเข้าไซ โดยให้ช่องนี้หันทวนน้ำเพื่อให้ กุ้ง ปู ปลา ว่ายน้ำเข้าไป

สำนวนนี้มีปรากฏในมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร ดังนี้
"...เสมือนหนึ่งพรานเบ็ดมาตีปลาที่หน้าไซ บรรดาปลาจะเข้าไปให้แตกฉาน ตัวเราผู้ทำทานเหมือนตัวปลา พระโพธิญาณในภายหน้านั้นคือไซ ปรารถนาจะเข้าไปจึ่งยกพระลูกให้เป็นทานบารมี พระลูกรักทั้งสองศรีดั่งกระแสสินธุ์ พราหมณ์ประมาทหมิ่นมาด่าตี เสมือนกระทุ่มวารีให้ปลาตื่น น้ำพระทัยท้าวเธอถอยคืนจากอุเบกขา บังเกิดอวิชชามาห่อหุ้ม..."
ข้อความนี้เปรียบพระโพธิญาณเป็นไซ พระเวสสันดรเป็นปลาที่จะเข้าไปในไซ สองกุมารเป็นน้ำ ชูชกกระทุ่มน้ำหมายถึงเฆี่ยนตีสองกุมาร ทำให้ปลาตื่นไม่เข้าไปในไซ

โคลงสุภาษิตประจำภาพในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อธิบายความหมายไว้ ดังนี้

กระทุ่มน้ำที่หน้า  ลอบไซ
ปลากระจายเลยไป  ลอบแห้ง
เจ้าของดักเสียใจ  จักขาด
ลาภท่านหาอย่าแกล้ง กล่าวกั้นกางขวาง

ในบทละครนอกเรื่องไกรทอง ตอน ไกรทองต่อว่าตะเภาแก้ว ตะเภาทอง

เหมือนแกล้งตีปลาหน้าไซ
เอออะไรมาคิดริษยา
หวงแหนแสนร้ายรามา
จะปิดประตูค้าแต่ข้างเดียว

ในเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนด่าว่านางวันทองเมื่อทะเลาะกับนางลาวทอง

ชั่วดีพี่ก็ได้เป็นผัวเจ้า
หาได้ช่วยเรามาเป็นผัวไม่
อย่าหนักไปนักมักขัดใจ
มาตีปลาหน้าไซให้เสียปลา

ในสุภาษิตพระร่วง ตอนหนึ่ง มีดังนี้
...อย่าตีปลาหน้าไซ อย่าใจเบาจงหนัก อย่าตีสุนัขห้ามเห่า ข้าเก่าร้ายอดเอา อย่ารักเหามากกว่ารักผม...
ในวรรคแรกมีความหมายว่า อย่าทำอะไรที่เป็นการขัดผลประโยชน์ เช่นเดียวกับสำนวน ตีปลาหน้าไซ

ปัจจุบันนี้เครื่องจักสานที่ใช้ในการจับปลาและสัตว์น้ำเริ่มสูญหายไป เนื่องจากการทำอาชีพนี้ลดลง ชาวบ้านเปลี่ยนอาชีพไปทำงานตามโรงงานกันหมด และมีการใช้เครื่องมือใหม่ๆในการจับสัตว์น้ำ แต่ยังมีการจักสานไซดักปลาขนาดย่อส่วนให้เล็กลงที่เรียกกันว่า "ไซดักทรัพย์"หรือ "ไซดักเงินดักทอง" เป็นเครื่องรางเสริมโชคลาภด้านการค้าขาย เสริมสิริมงคลให้ที่อยู่อาศัยและร้านค้า เพื่อให้ดักเงินดักทองและโชคลาภต่างๆ อันเปรียบเหมือนกับปลาที่แหวกว่ายไหลมาตามน้ำแล้วมาติดกับไซ ไม่สามารถที่จะหลุดไปทางไหนได้ ไซดักทรัพย์นี้ส่วนใหญ่จะนำไปแขวนไว้บนที่สูงที่มีแสงสว่างส่องถึง ไม่แขวนในมุมอับ ส่วนใหญ่จะแขวนไว้หน้าบ้าน หน้าร้าน โดยหันปากไซออกทางหน้าบ้านเพื่อให้ดักโชคลาภที่ผ่านเข้ามาและส่งเสริมให้อยู่เย็นเป็นสุข

 ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 691968เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2021 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท