เล่าเรื่องด้วยเรื่องเล่า Story Telling


ขอเริ่มเปิดประเด็นก่อนว่า คุณเชื่อไหมว่าทุกวันนี้เราอยู่กันสองโลก คือ ออนไลน์ กับออฟไลน์

คุณเชื่อไหมว่า การสื่อสารในโลกออนไลน์กับออฟไลน์นี้ มันเป็นโลกฝาแฝดที่กลับหัวกลับหางกัน

คุณเชื่อไหมว่า การเล่าเรื่องแบบ Story Telling คือการข้ามเวลา Back to the future ของออฟไลน์

เอาล่ะ มาพิสูจน์กันเลยนะ 

มีคนพูดกันว่ายุคโลกออนไลน์นี้ รูปแบบการสื่อสารที่ได้ผลสำเร็จสูงคือการพูดคุยด้วยประเด็นเนื้อหา หรือการเขียนที่มีประเด็นชัดเจนและเป็นเรื่องเป็นราว เรียกว่า การเล่าเรื่อง (Story Telling)

ทว่า ในประวัติศาสตร์การสื่อสารหลาย ๆ ฉบับ ล้วนมีบันทึกไว้ในทำนองเดียวกันว่าเราสื่อสารกันมานานแล้วตั้งแต่มีมนุษย์เกิดขึ้นในโลก และคนเราก็รู้จักสื่อสารกันตั้งแต่อยู่ในท้องของแม่แล้วเช่นกัน เพียงแต่เข้าใจบ้าง
ไม่เข้าใจบ้าง บางคนสังเกตก็เข้าใจ หากไม่สังเกตก็อาจไม่รู้ว่ากำลังสื่อสารกัน จากสีหน้าท่าทาง คนเราก็ค่อย ๆ 
มีภาษาพูดและมีตัวอักษร มีเครื่องมือ เช่น ดินสอ สี ปากกา มีวัสดุที่ใช้ในการบันทึก เช่น กระดาษ ไม้ หิน 
การสื่อสารก็ก้าวหน้าแพร่หลายมากขึ้น จนถึงวันนี้ก็กลายเป็นการสื่อสารด้วยอิเล็กทรอนิกส์ เป็น วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์ โทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต 

โลกอินเทอร์เน็ต หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่าโลกออนไลน์ ก็เพิ่งเกิดขึ้นไม่ถึงห้าสิบปี[1] แต่ทำไมผู้คนมากมายจึงถูกมันครอบงำจนเกือบสิ้นวิญญาณ แทบไม่เป็นตัวของตัวเอง อินเทอร์เน็ต เป็นการสื่อสารที่มีพลังมากกว่ายุคใด ๆ 
มันกลายเป็นยาดำ แทรกไปในกิจกรรมทุกอย่างของชีวิตประจำวัน ทั้งโดยตั้งใจและจับยัด จนแม้ผู้บริหารประเทศบางประเทศถึงกับจับยัดให้ อินเทอร์เน็ตเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารบ้านเมือง บางอุตสาหกรรมก็จับยัดให้อินเทอร์เน็ตเป็นกฏเกณฑ์ภาคบังคับของการทำงาน การค้าขายก็ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต มันกลายเป็นอะไรต่อมิอะไรมากมายทุกวงการ เช่น การค้าขาย การผลิต การศึกษา การละเล่น การกีฬา การพนันและบ่อนอบายมุข 
เพราะอย่างนี้มันจึงถูกขนานนามว่า อินเทอร์เน็ตคือทุกอย่าง (Internet of Thing (IoT))  บางคนใช้ว่าอินเทอร์เน็ตในสรรพสิ่ง (ก็ขำ ๆ ดีกับภาษาที่ฟังแล้วเข้าใจยากหน่อย ส่วนเราก็อยากจะเรียกมันง่าย ๆ ว่า เน็ตยาดำ)

ด้วยเหตุนั้น หลายคนจึงเชื่อว่าปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์นี้ จะเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์จนแตกต่างจากเดิมมากมาย ออนไลน์จะกลายเป็นหัวใจสำคัญของชีวิตทุกวันนี้ ซึ่งใคร ๆ ก็ยากจะเลี่ยงพ้น หาไม่แล้วก็จะกลายเป็นคนตกยุค แม้แต่คนในวงการข่าวสารเอง (และในความเป็นจริง คนกลุ่มนี้แหละที่โดนพิษสงของมันก่อนใคร ๆ)

โปรดสังเกต คนรอบ ๆ ตัวของเราทุกวันนี้ เราก็จะพบว่าผู้คนต่างหยุดชีวิตประจำวันของตัวเอง ฟัง คิด เชื่อ และทำตามออนไลน์มากขึ้นราวกันเป็นพระเจ้าองค์ใหม่ นี่จะยืนยันได้ไหมว่านี่แหละวิถีชีวิตใหม่ ว่าแบบนี้แหละที่เหมาะสมที่สุดแล้วสำหรับโลกและสังคมยุคนี้ต่อไป แน่นอนว่ามีคนในโลกออฟไลน์จำนวนมากมายที่ยังรอดูท่าทีอยู่ 

เราจะมั่นใจใช่ไหมว่า "เรื่องเล่า" จะกลายเป็นหัวใจสำคัญของการสื่อสารบนโลกออนไลน์ (ทุกคนเชื่ออย่างนั้น จริงหรือเปล่า?)

อะไรคือสิ่งสำคัญที่ส่งให้ "เรื่องเล่า" หรือ Story Telling ได้รับความเชื่อถือและเชื่อมั่นถึงขนาดนั้น 

และถ้าเช่นนี้แล้ว "เรื่องเล่า" หรือ Story Telling คืออะไร? 

เราน่าจะรู้จักและเข้าใจมันมากกว่านี้ไหม?? 

เราจะใช้มันอย่างไรให้เกิดประโยชน์และมีคุณค่าสูงสุด ??

เราจะ "เล่าเรื่อง" ให้เป็น "เรื่องเล่า หรือ Story Telling" เป็นกันไหม? และ

ถ้าเราจะฝึกฝน "การเล่าเรื่อง" "เป็นเรื่องเป็นราว" แบบนั้นจนเป็นและเล่าได้คล่องแคล่ว ควรเริ่มอย่างไร???

พร้อมกันหรือยัง มาเริ่มกันเลยนะ

มาทำความเข้าใจกับมันสักนิด ขอชวนทุกคนมองย้อนกลับไปดูกันว่า เคยมีการสื่อสารใดบ้างที่ครอบโลกเอาไว้ได้มากเช่นออนไลน์บ้าง และเคยมือเครื่องมือใดในอดีตที่ทรงพลังเหมือนกับ “เรื่องเล่า (Story Telling) นี้บ้าง คำถามแบบกำปั้นทุบดิน ถ้าออนไลน์ต้องเป็นเรื่องเล่า (Story Telling) แล้วละก็ ออฟไลน์ในอดีตควรเป็นอะไร?

ขณะที่พวกเราทุกคนก็อยู่ในโลกจริง ๆ (ออฟไลน์-Off line) ที่จับต้องตัวตน เห็นหน้าเห็นตาตัวเป็น ๆ ทำกิจกรรมประจำวันมากมาย โลกของเรามีระบบเครือข่ายการสื่อสารที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ต (Internet) ครอบคลุมไปเกือบทั่วทุกแห่ง และมีเครื่องมือสื่อสารที่ช่วยให้เราพูดคุยกับทุกคนในเครือข่ายการสื่อสารนี้ได้ และได้อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นโลกอีกโลกหนึ่งทับซ้อนกันกับโลกจริง ๆ และเรียกมันว่า "ออนไลน์- Online" ซึ่งเราติดต่อกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet) และเราก็เรียกโลกจริง ๆ ของเราว่า "ออฟไลน์- Off line" 

ที่น่าทึ่งก็คือในโลกออนไลน์ก็มีกิจกรรมมากมายเช่นเดียวกับออฟไลน์ และหลายอย่างก็คล้ายคลึงกับโลกออฟไลน์ของเราด้วย เช่น เรามีสถานที่พบกัน พูดคุยกัน เล่นกีฬา สังสรรค์ ทำงานร่วมกัน ลอยกระทงส่งของขวัญให้กันและได้ของขวัญจริง ๆ ด้วย ซื้อขายด้วยกัน เล่นพนันได้เสียกันจริง ๆ 

นี่มันโลกฝาแฝดชัด ๆ 

เราในโลกจริง ๆ (Off line) เป็นคน มีตัวตนแน่นอน มีเรื่องราวโลดแล่นจริง ๆ แต่เราในโลกออนไลน์ (Online) ก็เป็นอีกคนหนึ่ง แต่จะเป็นใครก็ไม่รู้ ไม่มีใครรู้และแม้เราเองบางขณะเราก็ไม่แน่ใจว่าเรารู้จักเราในโลกออนไลน์ดีพอไหม แต่อาจไม่มีตัวตนจริง ๆ ก็ได้ หรือมีแต่อาจเป็นคนอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นคนละคนกับคนตัวเป็น ๆในโลกออฟไลน์ เรื่องราวที่โลดแล่นในโลกทั้งสองก็อาจเป็นเรื่องเดียวกันหรือคนละเรื่องก็ได้ หรือเรื่องเดียวกันแต่คนละมุม คนละความคิดก็ได้ 

พูดจริง ๆ ตัวเราในโลกออนไลน์นั้นมีแต่ตัว แต่ยังไม่มีวิญญาณ (อันนี้ไม่ได้เอ่ยให้เห็นขำ ๆ นะ)

ตัวเราในโลกออนไลน์จะเป็นใคร ก็สุดแท้แต่ว่าเราจะใส่ตัวเราในภาคไหนเข้าไป ใส่ภาคพระ ภาคมาร ภาคคนดี คนเก่ง ภาคเหลือง-แดง ภาคป๋า-ขาเปย์ คนถ่อยสถุล สารพัดที่เราจะใส่ภาคต่าง ๆ ของเราเข้าไปได้

แหม ..ฟังแล้วเหมือนหุ่นกระบอกใส่เสื้อผ้าเป็นตัวพระ ตัวนาง ตัวโกงเลย แต่มันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ

การใส่ภาคต่าง ๆ ของตัวเราลงไปใน "ตัวตนออนไลน์" นี้ เหมือน ๆ กับการอวตารของพระนารายณ์ พระศิวะในรามยาณะเลย เหมือนการเปลี่ยนร่างสลับไปมาในภาพยนตร์เรื่อง อวตาร (Avatar) บางคนเรียกมันว่าบุคลิกภาพ หรือตัวตนทางออนไลน์ ฝรั่งเรียกว่าเป็นศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Persona (อ่านบทต่อไปนะ มีเขียนเรื่องนี้ไว้เหมือนกัน) ระหว่างโลกทั้งสองที่เราทำกิจกรรมอยู่ทุกวันนั้น ผู้คนที่ติดต่อเราจะรู้ไหมว่ามีเราสองคน และสิ่งที่เราพูดคุยนั้น เรื่องใดคือเราในโลกออฟไลน์ เรื่องใดเป็นตัวเราในโลกออนไลน์ 

ถ้าตัวเราในออฟไลน์เป็นคนน่าเชื่อถือมาก ดีมาก แล้วจะมีสิ่งใดหนอที่เป็นตัวเชื่อมตรงกลางให้เราในออนไลน์ก็เป็นอย่างนั้นด้วยเช่นกัน? หรืออย่างน้อยให้คนที่พูดคุยกับเราในออนไลน์เข้าใจว่าเราเป็นอย่างนั้น

เข้าประเด็นเลยก็แล้วกัน ทุกอย่างที่เราคาดหวัง มาจากการสร้างให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

จะเป็นไปได้ไหมที่การเล่าเรื่องนี้คือ “การสร้าง”อย่างที่ว่านั่น มันก็คือสะพานเชื่อมระหว่างคนผู้หนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นใครก็ได้ในโลกออนไลน์กับคนอีกภาคหนึ่งในโลกออฟไลน์ แต่ก็เป็นคนเดียวกันนี้แหละ

การเล่าเรื่องในโลกออนไลน์คือวิธีที่จะสร้างว่าเราคือใคร พร้อม ๆ กับบอกว่าเรากำลังจะสื่อสารอะไร 
การเล่าเรื่องแบบเรื่องเล่า (Story Telling) จะทำให้ข้อมูลถูกส่งผ่านอย่างเป็นระบบ เหมือนจริง สมจริงว่าเรื่องนี้แหละเป็นลีลาเฉพาะตัวของเรา เรียกว่าเป็น "ลายออนไลน์" หรือ "ลายเน็ต" เฉพาะตัวของเรา (เหมือนลายมือไงล่ะ) 

การเล่าเรื่องแบบ "ลายเน็ต" ของเรา จะเป็นเครื่องมือมหัศจรรย์ที่ช่วยสลับตัวของเราไปมาระหว่างสองโลก เหมือนจุดเชื่อมต่อในมิติของการสื่อสาร?? ว่าเป็นเราคนเดียวกันในออนไลน์และออฟไลน์ เช่น ที่เคยชมในภาพยนตร์ Matrix ซึ่งเราดูกันแล้วสองสามภาคนั่นไง (ดูตอนแรกก็เข้าใจว่า โลก Matrix นั้นไม่มีตัวตน 
เป็นจินตนาการของผู้เขียนและผู้กำกับ สร้างโลกในฝันขึ้นมาและเป็นโลกที่อยู่ในสายโทรศัพท์ และตัวพระเอก-นีโอ เป็นอณูเล็ก ๆ ที่วิ่งไปในสายโทรศัพท์ แต่ดูมาก ๆ เข้าก็จะแยกไม่ออกแล้วว่าโลกออนไลน์ Matrix กับโลกออฟไลน์ต่างกันอย่างไร ดูถึงตอนที่สาม เอ๊ะ นี่โลกออนไลน์มันคือโลกที่อยู่เหนือโลก เหมือนสวรรค์-นรก อะไร
หรือเปล่า อ้าว..ชักสับสนไปกันใหญ่ แต่ก็ต้องยอมรับว่า Matrix เป็นภาพยนตร์ที่การเล่าเรื่องที่เร้าใจ ชวนติดตามมากจนทำให้เราไม่แน่ใจว่าระหว่างโลกสองโลกที่ นีโอ เผชิญอยู่นั้น อันไหนเราจะใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับมันมากกว่ากัน

แต่ที่ชัดเจนคือ การเล่าเรื่องอย่างเป็นเรื่องเป็นราวของ Matrix มีพลังมาก 

แต่ก่อนที่เราจะเล่าเรื่องอย่างไรให้เรื่องเล่าของเรานั้นมีพลังอย่าง Matrix ขอชวนทุกคนช่วยกันพิจารณาเครื่องมือตัวนี้กันอีกสักนิด โปรดติดตามต่อไป

ย้อนหลังไปเมื่อสี่สิบปีก่อนนี้ เมื่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์ข่ายแรกเกิดขึ้นในโลก การพูดคุยก็ทำได้จำกัดมาก เหมือนถามคำ-ตอบคำ จะคุยกันก็ยาก ยังจำได้จึงต้องคิดคำสั้น ๆ หรือภาษาเฉพาะ (เรียกว่า Smiley หรือใช้สัญลักษณ์ที่สร้างสรรค์ขึ้น (Emotion Icon) เพื่อให้บอกความหมาย จะได้เข้าใจตรงกัน 

           

ต่อมา เครื่องมือและอุปกรณ์ถูกพัฒนาให้ดีขึ้น โต้ตอบได้เร็วขึ้นจนพิมพ์ตัวอักษรได้หลาย ๆ คำ และเมื่อความเร็วของการเชื่อมต่อสูงขึ้น ๆ เราก็ส่งภาพได้ ส่งเสียงได้ และได้มากขึ้นจนถึงขนาดส่งได้ต่อเนื่องเป็น
เรื่องยาว ๆ คู่สนทนาแต่ละฝ่ายสามารถอ่านได้พร้อม ๆ กัน นอกจากนั้น ยังส่งเสียงเป็นเพลง เป็น Clip สั้น ๆ จนถึงที่สุด มันปรากฏในจอภาพเล็ก ๆ ได้อย่างครบถ้วน เราสามารถดูได้ ฟังได้ ทันทีทันใด (Real Time) 
ถ้าแม้นมีใครส่ง Clip มาให้ จนถึงวันนี้ มันทำได้มากถึงขนาดคุยพร้อมกันได้หลายร้อยคนผ่านหน้าจอนั้น และดูหนังยาว ๆ ได้อย่างราบรื่นโดยไม่สะดุดสักนิด 

ความก้าวหน้านี้ ทำให้การพูดคุยด้วยความเร็ว (Speed) และการเข้าถึงพร้อม ๆ กันได้มากมาย กลายเป็นประเด็น โดยไม่ทันรู้ตัวว่าธรรมชาติของการพูดคุยกันได้เปลี่ยนไปแล้ว นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้วิธีการพูดคุยทางออนไลน์แตกต่างจากเดิม

การสนทนาในโลกออนไลน์ที่เคยทำได้เหมือนคนติดอ่างเช่นเมื่อก่อน คุยกันก็ทำได้เพียงเขียนข้อความทิ้งไว้ รอจนอีกฝ่ายอ่านและตอบกลับ ทำอย่างนี้อยู่นานหลายสิบปีจึงพูดได้คล่องมือคล่องปาก และถึงวันนี้มันทำได้มากกว่าเดิมมาก เพราะมันสามารถคุยได้พร้อม ๆ กันหลายพันหลายหมื่นคน ด้วยมือและปากที่รวดเร็วและคล่องแคล่ว

การพูดคุยที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันนับพันคนนั้น คนพูดแต่ละคนจึงเหมือนพูดคุยคนเดียวพร้อมกับพูดคุยพร้อมกับทุก ๆ คนในเวลาเดียวกัน ในขณะที่การพูดคุยระหว่างกลุ่มนับร้อยนับพันคนนั้น ผ่านไปอย่างรวดเร็วเพราะทุกคนเห็นกันหรือได้ยินกันคนละครั้งในช่วงเวลาหนึ่ง การโต้ตอบของคำถามอาจพัวพันข้ามเวลาเกินไปหลายชั่วโมง หรือข้ามวันข้ามคืน แต่ก็กลับมาคุยกันใหม่ในหัวข้อเดิม ๆ ได้อีก นี่มันช่างเป็นเรื่องพิลึก แต่ก็อัศจรรย์ยิ่ง

ทุกคนได้โอกาสพูดพร้อม ๆ กัน ต่างคนต่างพูด จึง "ไม่รู้เรื่อง" ถ้าเป็นโลกออฟไลน์ คนสักสามร้อยคนมารวมกันและพูดพร้อม ๆ กัน “นกกระจอกก็คงแตกรัง” ฟังไม่รู้เรื่องเช่นเดียวกัน

นี่กระมัง การพูดคุยแบบสั้น ๆ ในอดีตนั้น ๆ ที่เคยเข้าใจ แต่ในโลกใหม่ที่รวดเร็วราวกับลมพัด 
กลับเข้าใจได้ "ไม่ครบถ้วน" และกลายเป็นปัญหา 

"ไม่รู้เรื่อง" จึงกลายเป็นประเด็นใหญ่หลวงของโลกออนไลน์ที่ต้องหาทางแก้ไข ต้องแก้ให้ตกโดยด่วน 

และกลายเป็นโอกาสสำคัญของ “การเล่าเรื่อง” ที่เข้ามาเติมเต็มตรงนี้

ดังนั้น การเล่าเรื่องให้เป็นเรื่องเล่าที่ต่อเนื่อง เป็นเรื่องเป็นราว จึงแนวทางหนึ่งผู้ข้องแวะอยู่กับโลกออนไลน์พยายามยกขึ้นให้ยึดถือกันต่อ ๆ มา สุดแท้แต่ว่าจะยึดถือมันในรูปแบบไหน ถ้าเป็นการตลาดก็ต้องขายของ ถ้าเป็นข่าวก็ต้องขายเหตุการณ์ ถ้าเป็นสารคดีก็ต้องขายเรื่อง ถ้าเป็นวิชาการก็ต้องขายการค้นพบ ฯลฯ จนถึงขนาดกล่าวขวัญว่ามันคือหัวใจของการสื่อสารในโลกออนไลน์ปัจจุบันนี้ ถ้าอยากประสบความสำเร็จในการสื่อสารในโลกออนไลน์ ก็ต้องเรียนรู้ "การเล่าเรื่องให้เป็นเรื่องเล่า (Story Telling)" ให้จงได้ จึงจะสมหวัง 

ถึงตรงนี้ทุกท่านเข้าใจถ่องแท้แล้วนะ ตรงกันนะ?
___________________________________________________________________

๑ ประวัติอินเตอร์เน็ต ; https://th.wikipedia.org/wiki/ประวัติศาสตร์อินเตอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 691964เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2021 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 สิงหาคม 2021 10:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท