ตาเป็นสับปะรด


ตาเป็นสับปะรด

 สับปะรด เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่มีต้นกำเนิดมาจากบริเวณทวีปอเมริกาใต้ ลำต้นมีขนาดสูงประมาณ 80 - 100 เซนติเมตร  การปลูกสามารถปลูกได้ง่ายโดยการฝังกลบหน่อหรือส่วนยอดของผลที่เรียกว่า จุก เปลือกของผลสับปะรดภายนอกมีลักษณะคล้ายตาล้อมรอบผล

สับปะรดเป็นผลไม้เขตร้อนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยรัฐฮาวายเป็นแหล่งเพาะปลูกสับปะรดที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา ในปีค.ศ. 2016 คอสตาริกา บราซิลและฟิลิปปินส์มีสัดส่วนการผลิตสับปะรดเกือบ 1 ใน 3 ของโลก

แต่ละท้องถิ่นในประเทศไทยเรียกสับปะรดแตกต่างกันออกไป เช่น
ภาคกลาง เรียกว่า สับปะรด
ภาคอีสาน เรียกว่า บักนัด หมากนัด
ภาคเหนือ เรียกว่า บะนัด บะขะนัด ปอนัด
ภาคใต้ เรียกว่า ย่านัด หย่านัด ย่านนัด ขนุนทอง มะลิ (หย่านัด หรือ ย่านัด มีที่มาจากภาษาโปรตุเกส Ananas)

สับประรดที่นิยมปลูกในประเทศไทย ได้แก่


สับปะรดสายพันธุ์ปัตตาเวีย หรือที่เรียกกันว่าสับปะรดศรีราชา ลำต้นมีใบเป็นสีเขียวเข้ม ปลายใบมีหนามแหลมขนาดเล็ก ผลมีขนาดใหญ่กว่าสับปะรดสายพันธุ์อื่น เนื้อมีความหวานฉ่ำ รสชาติอร่อยเป็นพิเศษ จึงนิยมปลูกเพื่อนำไปแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง

สับปะรดพันธุ์อินทรชิตแดง ปลูกมากที่จังหวัดฉะเชิงเทรา พันธุ์นี้ถือเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ใบมีสีเขียวอ่อนไม่เป็นมัน ขอบใบมีหนามแหลมโค้งงอเป็นสีน้ำตาลอมแดง ผลมีขนาดเล็กกว่าพันธุ์ปัตตาเวีย มีรสหวานอ่อนๆ เปลือกผลจะมีความเหนียวแน่นเหมาะแก่การขนส่ง

สับปะรดพันธุ์ภูเก็ต หรือพันธุ์สวี บางคนเรียกว่าพันธุ์ภูเก็ต ลักษณะของใบยาว มีสีเขียวอ่อน ใบแคบ ขอบใบมีหนามแหลมสีแดงผลมีขนาดเล็ก ตาลึก ส่วนของเนื้อเป็นสีเหลือง มีความหอม รสชาติหวานกรอบ นิยมปลูกในภาคใต้

สับปะรดพันธุ์ขาว หรือ อินทรชิตขาว ลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มเตี้ย มีใบเป็นสีเขียวอมเหลือง ใบสั้นแคบมีหนามแหลมตามขอบใบ ส่วนผลมีหลายจุก เนื้อมีรสไม่หวานมากนัก  เชื่อว่าอาจจะกลายพันธุ์มาจากสับปะรดพันธุ์อินทรชิตแดง

สับปะรดพันธุ์ตราดสีทอง สับปะรดพันธุ์นี้มีความต่างจากสับปะรดพันธุ์อื่นตรงที่มีรสชาติหวาน กรอบทั้งผล โดยเฉพาะผิวเป็นตาๆสีเหลือง เย็นฉ่ำน่ารับประทาน

สับปะรดพันธุ์นางแล หรือพันธุ์น้ำผึ้ง เป็นสับปะรดสายพันธุ์จากประเทศศรีลังกา มีลักษณะของต้น ใบ ดอก ผลคล้ายกับพันธุ์ปัตตาเวีย ปลูกมากที่ต.นางแล อ.เมือง เชียงราย มีรสหวานเป็นที่นิยมของตลาด

สับปะรดภูแล เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากรสชาติที่อร่อย กลิ่นหอม ส่วนของแกนสับปะรดมีความกรอบรับประทานได้ ผลมีขนาดเล็ก ให้ผลตลอดทั้งปี

สับปะรดห้วยมุ่น เป็นสับปะรดสายพันธุ์ดีของจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นพันธุ์ปัตตาเวียจากระยองและชลบุรี แต่เมื่อนำมาปลูกที่ ต.ห้วยมุ่น อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งพื้นที่ที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นดอยสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 400 เมตร ผลผลิตที่ได้มีลักษณะที่ดีหลายประการ เช่น เนื้อเหลืองอมน้ำผึ้ง รสชาติหวานฉ่ำ ตาไม่ลึก ผลค่อนข้างเล็ก มีน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ลักษณะพิเศษของสับปะรดห้วยมุ่นคือเวลารับประทานจะไม่ระคายคอแสบลิ้นเหมือนสับปะรดชนิดอื่น

สับปะรดเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร และมีเอนไซม์บรอมมีเลน (Bromelain) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจหลายอย่าง ปัจจุบันนอกจากการนำสับปะรดมาบริโภคในรูปแบบของผลไม้สดและใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ยังมีการนำสับปะรดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้หลายชนิด  เช่น สับปะรดกระป๋อง สับปะรดอบแห้ง น้ำสับปะรด น้ำส้มสายชู ไวน์สับปะรด อุตสาหกรรมเบียร์ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และการใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับสับปะรดได้เป็นอย่างดี

สับปะรดมีสรรพคุณหลายอย่าง เช่น
1. ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใสอยู่เสมอ
2. ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยและความแก่ชรา

3. สับปะรดช่วยย่อยอาหารจำพวกโปรตีน รับประทานแล้วจะรู้สึกสบายท้อง ไม่รู้สึกอึดอัด ช่วยแก้อาการท้องผูก

4. ช่วยบรรเทาอาการแผลเป็นหนอง

5. แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ช่วยขับปัสสาวะ และช่วยแก้อาการบวมน้ำ ปัสสาวะไม่ออก
 

จากลักษณะของสับปะรดที่ผิวภายนอกมีตารอบผลเป็นที่มาของสำนวน "ตาเป็นสับปะรด"

ความหมายของสำนวน "ตาเป็นสับปะรด" หมายถึง ผู้ที่มีพรรคพวกจำนวนมากอยู่ในพื้นที่นั้นๆ คอยรายงานข่าวเหตุการณ์ต่างๆหรือคอยสังเกตการณ์ สิ่งที่ต้องการให้ติดตาม

ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงผลสับปะรดที่มีตาอยู่รอบผลเป็นจำนวนมาก กับคนที่มีพรรคพวกมากคอยเป็นหูเป็นตาให้

การรับประทานสับปะรดหลังมื้ออาหารจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหาร ซึ่งการรับประทานสับปะรดอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองเล็กน้อยภายในปาก ริมฝีปากและลิ้นได้ แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่มีรายงานความเป็นพิษจากการใช้ในรูปแบบอาหาร แต่ไม่ควรรับประทานในขณะที่ท้องว่าง เนื่องจากสับปะรดมีความเป็นกรดและมีเอนไซม์บรอมมีเลน หากรับประทานขณะท้องว่างจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารได้

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต 
 

หมายเลขบันทึก: 691839เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2021 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 21:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท