อาภัพเหมือนปูน


อาภัพเหมือนปูน

การกินหมากเป็นประเพณีที่สำคัญของคนไทยในอดีต เป็นสัญลักษณ์ในการแสดงความรัก ความสัมพันธ์อันดี ไมตรีจิตระหว่างบุคคล เป็นกิจกรรมที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยในอดีต จนทำให้เกิดการสร้างเครื่องใช้ในการกินหมากและมีการประดิษฐ์ออกมาให้มีความสวยงามประณีตแตกต่างกันออกไปตามฐานะและรสนิยมของผู้ใช้ นอกจากนี้เครื่องใช้ในการกินหมากยังเป็นเครื่องแสดงยศสำหรับขุนนางและพระบรมวงศานุวงศ์อีกด้วย

หมากเป็นพืชยืนต้นตระกูลเดียวกับปาล์ม ขึ้นได้ทั่วไปในพื้นที่เขตอบอุ่นและเขตร้อน ผลหมากออกเป็นทะลาย ผลเป็นรูปทรงกลมรี โดยเฉลี่ยแต่ละทะลายจะมีจำนวนผล 10 - 150 ผล ผิวผลเรียบ มีกลีบเลี้ยงติดเป็นขั้วผล ผลดิบเปลือกเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนผลแก่เปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มทั้งผล ที่เรียกกันว่า     “ สีหมากสุก ”

ในการกินหมากจะมีเครื่องกินหมากทั้งหมด 4 อย่าง ได้แก่ ผลหมาก ใบพลู ปูนแดง และยาเส้น บางครั้งอาจมีการใส่เครื่องหอมหรือเปลือกไม้อื่นเพิ่มเติม เช่น กานพลู การบูร พิมเสน เปลือกตะเคียน เปลือกสีเสียด

พลูที่นิยมนำมาบริโภคมี 2 ชนิด คือ พลูค้างทองหลาง มีใบสีเขียวและมีรสเผ็ด มักปลูกทิ้งไว้บนต้นไม้อื่น และพลูจีนหรือพลูค้างไม้ ใบจะมีสีเหลืองขนาดใหญ่กว่าพลูค้างทองหลางและรสไม่ค่อยเผ็ด มักปลูกทิ้งไว้ให้เลื้อยบนไม้ที่พาดให้ นอกจากนี้ยังมีพลูนาบเป็นการนำพลูป่ามานาบด้วยความร้อนสำหรับใช้กินยามขาดแคลน

ปูนแดง ทำมาจากการเผาหินปูนหรือเปลือกหอยจนเป็นเถ้าแล้วนำมาบดเป็นผง นำมากวนกับน้ำได้เป็นปูนขาว หลังจากนั้นนำปูนขาวมาผสมกับผงขมิ้น จะทำปฏิกิริยากันกลายเป็นสีแดง ทำให้ปูนมีความเป็นกรดลดลง ปูนแดงนำมาทาบางๆบนใบพลูสำหรับเคี้ยวกับหมาก ช่วยรักษาโรคฟันผุ และช่วยให้ฟันแข็งแรง นอกจากนี้ปูนแดงยังใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง เช่น ผสมน้ำสะอาดทิ้งไว้จนตกตะกอนแล้วรินน้ำเอาไปใช้เป็นน้ำปูนใส ใช้ทำขนมช่วยให้มีความแข็งหรือกรอบขึ้น นำไปใช้ล้างผักผลไม้ ใช้หมักเนื้อสัตว์ให้เปื่อยง่าย และใช้ประโยชน์ในทางยา เช่น ลดการอักเสบ ลดอาการปวด ช่วยให้แผลแห้งเร็วขึ้น

ยาเส้นมี 2 ชนิด คือยาจีนหรือยาฝอย กับยาฉุน หลังจากเคี้ยวหมากจะนำยาเส้นมาปั้นเป็นก้อนใช้เช็ดหรือสีฟัน

เครื่องใช้ในการกินหมาก มีการประดิษฐ์จากวัสดุหลากหลายประเภท เช่น ไม้ ทอง เงิน นาก ทองเหลือง เครื่องเขิน เครื่องถม มีความประณีตงดงามแตกต่างกันไป สะท้อนถึงฐานะและ รสนิยมของผู้ใช้ ประกอบด้วยของต่างๆ ดังนี้

เต้าปูน เป็นภาชนะที่ใส่ปูนและไม้ควักปูน

ซองพลู เป็นภาชนะสำหรับใส่พลูจีบ

ที่ใส่หมากใช้ใส่ทั้งหมากสดและหมากแห้ง รวมทั้งผอบใส่ยาเส้น กานพลู การบูร สีเสียด  อยู่รวมกันในเชี่ยนหมาก

มีดเจียนหมาก เป็นมีดขนาดเล็กใช้ผ่าหมากดิบและเจียนพลู

กรรไกรหนีบหมากเป็นกรรไกรที่ใบมีดข้างหนึ่งใหญ่และคมกว่าอีกข้างหนึ่ง ใช้ผ่าลูกหมากและเนื้อหมาก

ตะบันหมาก มีลักษณะทรงกระบอกเรียวเล็กลงมาด้านปลาย ใช้ตำหมากพลูให้แหลก ใช้คู่กับสากตะบัน

กระโถน ใช้สำหรับบ้วนน้ำหมากหรือคายชานหมากที่จืดแล้ว

ตั้งแต่สมัยโบราณจะมีการสร้างเครื่องยศเพื่อแสดงเกียรติยศและบำเหน็จความดีความชอบแก่ราชตระกูลและข้าราชการ หีบหมากเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงฐานะและความสำคัญของบุคคลนั้น ผู้ได้รับพระราชทานจะต้องนำไปด้วยเสมอเมื่อเข้าเฝ้า

สำนวนอาภัพเหมือนปูน มีความหมายว่า มีความดี แต่ถูกมองข้ามไป
ที่มาของสำนวน มาจากการกินหมากของคนไทยสมัยก่อน การกินหมากมีส่วนประกอบสำคัญคือ หมาก พลู ปูนแดง และยาเส้น แต่เวลาพูดมักนิยมพูดกันว่า กินหมาก หรือ กินหมากกินพลู ไม่ออกชื่อปูนเลย  แม้แต่ภาชนะใส่เครื่องกินหมากที่เรียกว่า เชี่ยน ก็เรียกกันว่า เชี่ยนหมาก ไม่มีคำว่า ปูน เช่นเดียวกัน ทั้งๆที่ปูนเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้เลย ส่วนหมากอาจใช้เปลือกไม้ที่มีรสฝาดหรือผลปาร์มแทนได้ ใบพลูก็อาจใช้ใบไม้บางชนิดแทนได้ นับว่าปูนวาสนาน้อยอาภัพเป็นอย่างยิ่ง

ตัวอย่างสำนวนอาภัพเหมือนปูน

ถึงบ้านปูนปูนนี้ก็ลี้ลับ
ช่างอาภัพจริงนะปูนมักสูญหาย
แต่หมากพลูชูชื่อฤๅขจาย
ปูนไม่วายอดสูด้วยดูเบา
จากนิราศทวาราวดี

จะตามไปไยเล่าไม่สมคิด
จะว่าดีแต่สักนิดก็หาไม่
อาภัพลับสูญเหมือนปูนไป
ไปทำไมหยุดม้าข้าจะลง
ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง พานางวันทองไปอยู่ป่า

การกินหมากเป็นสิ่งต้องห้ามในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ความนิยมในการกินหมากจึงเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาประเทศแบบตะวันตก จึงสั่งให้ตัดต้นหมากและพลูทิ้ง ทำให้การกินหมากค่อยๆหมดไป

ในปัจจุบันนี้หมากและพูลจึงใช้เป็นเครื่องไหว้บูชาในงานพิธีสำคัญต่างๆ เท่านั้น ส่วนปูนแดง ก็ไม่มีใครเห็นคุณค่านำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ยังคงอาภัพเหมือนเดิม…

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 691759เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2021 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท