น้ำใจหญิงเหมือนน้ำกลิ้งบนใบบอน


น้ำใจหญิงเหมือนน้ำกลิ้งบนใบบอน

บอน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตที่ราบลุ่มของเอเชียอาคเนย์ จัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุได้หลายปี มีเหง้าลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกอยู่ใต้ดิน มักขึ้นเป็นกลุ่มๆหลายต้นเรียงรายตามพื้นที่ลุ่มริมน้ำ มีความสูงของต้นประมาณ 0.7 - 1.2 เมตร ลำต้นประกอบด้วยหัวกลางและหัวย่อยอยู่รอบๆหัวใหญ่ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีแตกหน่อ ไหล และวิธีการปักชำหัว เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ อุ้มน้ำได้ดี เพาะปลูกได้ง่าย ในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค มักขึ้นเองตามที่ลุ่มบนดินโคลนบริเวณริมน้ำลำธารหรือบริเวณที่มีน้ำขังตื้นๆ

ใบบอน เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับเวียนแผ่ออกรอยต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมสามเหลี่ยมหรือเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบเว้าแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10 - 35 เซนติเมตรและยาวประมาณ 20 - 50 เซนติเมตร ใบบอนมีคุณสมบัติพิเศษคือ ด้านหน้าใบเป็นสีเขียว เรียบไม่เปียกน้ำ เพราะผิวใบเคลือบไปด้วยไข (Wax) จึงนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการห่อของได้ เช่น การใช้ห่อข้าวหมาก


นอกจากนี้ใบบอนยังนำมาใช้ตักน้ำดื่มยามที่ไม่มีภาชนะได้อีกด้วย เช่นในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนแผนตัดพ้อนางวันทอง

เจ้าลืมนอนสุมทุมกระทุ่มต่ำ
เด็ดใบบอนช้อนน้ำที่ไร่ฝ้าย
พี่กินหมากเจ้าอยากพี่ยังคาย
แขนซ้ายคอดแล้วเพราะหนุนนอน

คุณสมบัติของใบบอนที่ไม่เปียกน้ำ ทำให้น้ำกลิ้งไปมาบนใบบอน เป็นที่มาของสำนวน "น้ำกลิ้งบนใบบอน"

ความหมายของสำนวน "น้ำกลิ้งบนใบบอน" หมายถึง คนที่มีจิตใจปลิ้นปล้อน พูดแก้ตัวไปเรื่อย เปรียบเปรยถึงคนที่ใจไม่แน่นอน รวนเรกลับกลอก แต่เดิมมักใช้ว่าผู้หญิงที่รักง่ายหลายใจว่าเหมือนน้ำกลิ้งบนใบบอน  บางครั้งสำนวนนี้จึงใช้ว่า " น้ำใจหญิงเหมือนน้ำกลิ้งบนใบบอน"

โบราณว่าได้คิดไม่ผิดหรอก
แต่ด้ามหอกไม่ทันฟันรั้วก่อน
หญิงชั่วน้ำกลั้วใบตองบอน
จะราร่อนคบชู้มาสู่ชาย

จากเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน นางวันทองทะเลาะกับนางลาวทอง

 

แกงบอน

แกงส้มบอน

แกงกะทิบอนกับหมูสามชั้น

ก้านของต้นบอนนำมาประกอบอาหารได้ เช่นแกงบอน แกงบอนใส่กะทิ แกงส้มบอน แต่จะต้องมีกรรมวิธีที่จะทำให้ไม่เกิดการคันจากยางของบอน เช่น ขยำกับเกลือ หรือนำไปต้มในน้ำเดือด 2-3 ครั้ง

นอกจากนี้บอนยังมีคุณประโยชน์ทางยาตามตำราไทยโบราณ จะใช้ส่วนไหลตำกับเหง้าขมิ้นอ้อย ผสมเหล้าโรงเล็กน้อย ใช้พอกฝี ส่วนรากนำมาต้มกินแก้ท้องเสีย แก้เจ็บคอและแก้เสียงแหบ

ยางของต้นบอนเมื่อโดนเข้าจะคันมาก เป็นที่มาของสำนวน "ปากบอน" หมายถึงคนที่ชอบพูดเรื่องของคนอื่น เช่น


ถึงบางบอนบอนที่นี่มีแต่ชื่อ
เขาเลื่องลือบอนข้างบางยี่ขัน
อันบอนต้นบอนน้ำตาลย่อมหวานมัน
แต่ปากคันแก้ไขมิใคร่ฟัง
จากนิราศเมืองเพชร

ยังมีบอนอีกชนิดหนึ่ง ได้ชื่อว่าเป็น "ราชินีแห่งไม้ใบ" นั่นก็คือบอนสี ซึ่งเป็นไม้มงคลที่นิยมกันมาก บอนสีมีถิ่นกำเนิดจากอเมริกาใต้และประเทศในเขตร้อน เรียกกันว่า บอนฝรั่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำเข้ามาเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป มีความเชื่อกันว่าหากบ้านใดปลูกบอนสีเอาไว้ในบ้านเรือนจะทำให้เกิดความสุข ความเจริญ และความเป็นสิริมงคลแก่คนที่อาศัยในบ้านเรือนนั้น

ตัวอย่าง ความสวยงามของบอนสี ราชินีแห่งใบไม้ ( Queen of Leafy Plants)

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
 

หมายเลขบันทึก: 691549เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2021 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท