ตัดหางปล่อยวัด


ตัดหางปล่อยวัด

ไก่จัดอยู่ในสัตว์ปีกจำพวกนก บินได้ในระยะสั้น หากินตามพื้นดิน ตกไข่ก่อนแล้วจึงฟักเป็นตัว ตัวผู้หงอนใหญ่และเดือยยาว ไก่พื้นเมืองของไทยมีการเลี้ยงกระจายอยู่ทั่วไปตามหมู่บ้านของเกษตรกร ไก่พื้นเมืองในชนบทมีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ไก่แจ้ ไก่อู ไก่ตะเภา ไก่เบตงและไก่ชน โดยทั่วไปไก่พื้นเมืองในหมู่บ้านจะเป็นสายพันธุ์ไก่ชน สังเกตได้จากแม่ไก่จะมีขนสีดำ หน้าดำ แข้งดำและ หงอนหิน แต่จะมีพันธุ์บางส่วนที่มีสีเทา สีทอง แต่หงอนก็ยังเป็นหงอนหิน ซึ่งเป็นลักษณะหงอนของไก่ชน ที่ในตำราหงอนไก่กล่าวไว้ว่า “เป็นไก่ใจดี อึดทน เฉลียวฉลาด รู้หลบ รู้หลีก คู่ต่อสู้จิกตีได้ยาก อนาคตดีตีชนะได้”

ไก่แจ้
ไก่อู
ไก่ตะเภา
ไก่เบตง

เหตุที่เกษตรกรนิยมเลี้ยงไก่พื้นเมืองสายพันธุ์ไก่ชน เพราะว่าไก่ชนจะมีรูปร่างใหญ่ เจริญเติบโตได้ดี แม่พันธุ์ก็ไข่ดก เนื่องจากนักผสมพันธุ์ไก่ชนได้คัดเลือกลักษณะดีเด่นไว้อย่างต่อเนื่องนับร้อยปีมาแล้ว ไก่พันธุ์พื้นเมืองไทยซึ่งกรมปศุสัตว์ได้รวบรวมไว้มีดังนี้

ไก่เหลืองหางขาว ไก่เจ้าเลี้ยง

 
เป็นไก่ชนพระนเรศวรมหาราช ที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดาร เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพำนักอยู่ในกรุงหงสาวดี ประเทศพม่า พระองค์ทรงนำไก่เหลืองหางขาวไปจากเมืองพิษณุโลก และได้นำไปชนกับไก่ของพระมหาอุปราช ไก่ตัวนี้เป็นไก่ชนที่มีลักษณะพิเศษ มีความเฉลียวฉลาดในการต่อสู้ ได้รับชัยชนะในการชนกับไก่ของพระมหาอุปราช จึงได้รับสมญาว่า "เหลืองหางขาว ไก่เจ้าเลี้ยง

จากหลักฐานในกฎมณเทียรบาล ในสมัยโบราณเมื่อเกิดสิ่งอัปมงคล เช่น มีการทะเลาะวิวาทตบตีกันถึงเลือดตกยางออกในเขตพระราชวัง จะต้องทำพิธีสะเดาะเคราะห์โดยการเอาไก่ไปปล่อยนอกเมือง เพื่อให้พาเสนียดจัญไรไปให้พ้น ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีประกาศกล่าวถึงการนำไก่ไปปล่อยที่วัดเพื่อสะเดาะเคราะห์ สันนิษฐานว่า ไก่ที่จะนำไปปล่อยที่วัดจะต้องตัดหางเพื่อเป็นเครื่องหมายว่าเป็นไก่ที่ปล่อยเพื่อการสะเดาะเคราะห์ คนทั่วไปจะได้สังเกตเห็นว่าเป็น "ไก่ลอยเคราะห์" หากจับเอาไปอาจจะทำให้เคราะห์ร้ายได้

เป็นที่มาของสำนวน "ตัดหางปล่อยวัด" หมายถึง ตัดขาดไม่เกี่ยวข้อง ไม่เอาเป็นธุระอีกต่อไป สำนวนนี้มาจากการตัดหางไก่แล้วนำไปปล่อยเพื่อสะเดาะเคราะห์ในสมัยโบราณ คนทั่วไปจะเข้าใจผิดว่าสัตว์ที่ถูกตัดหางแล้วเอาไปปล่อยวัดเป็นสุนัข ซึ่งดูจะเป็นการกระทำที่โหดร้ายทารุณกรรมสัตว์เกินไป 

ปัจจุบันนี้การตัดหางของไก่แล้วเอาไปปล่อยวัดเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์เห็นจะไม่จำเป็นเสียแล้ว ทั้งนี้เพราะมีรูปปั้นไก่ทำจากปูน สีสันสวยงาม มีให้เลือกหลายขนาด หลากหลายสายพันธุ์เข้ามาแทนที่ ทำให้ไม่ต้องตัดหางปล่อยวัดกันอีกแล้ว

ขอขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 691531เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2021 12:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท