กิ้งก่าได้ทอง


กิ้งก่าได้ทอง

กิ้งก่า ภาษาไทยถิ่นเหนือ เรียกว่า จั๊กก่า ภาษาไทยถิ่นอีสาน เรียกว่า กะปอม

กิ้งก่าเป็นสัตว์เลื้อยคลาน มี 4 ขา มีเกล็ดปกคลุมลำตัว แต่กิ้งก่าบางสกุลหรือบางชนิดก็ไม่มีขาหรือมีแต่เล็กมากจนสังเกตได้ยาก กิ้งก่าเป็นสัตว์กินเนื้อ โดยจะกินแมลงและสัตว์ขาปล้องเป็นหลัก แต่กิ้งก่าบางชนิด เช่น อีกัวน่าเขียวที่พบในอเมริกากลางและทวีปอเมริกาใต้ จะกินพืชและผักเป็นอาหาร

กิ้งก่าพบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกมุมโลก มีขนาดแตกต่างกันมากตั้งแต่เพียงไม่กี่เซนติเมตร เช่นพวกกิ้งก่าจิ๋ว จนถึงเกือบ 3 เมตร เช่นมังกรโคโมโดที่หนักเกือบ 100 กิโลกรัม ซึ่งนับเป็นชนิดที่ใหญ่ที่สุด

กิ้งก่าเป็นที่มาของสำนวนไทย " กิ้งก่าได้ทอง" ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ที่ได้ดีแล้วลืมตัว เห่อเหิม หยิ่งผยอง

โคลงสุภาษิตประจำภาพในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้อธิบายความหมายไว้ว่า
กิ้ง ก่าเชิดหน้าเถ่อ  ทำหัว
ก่า ดกดุจถวายตัว  แด่ไท้
ได้ ทองผูกคอมัว  เมาปึ่ง ขึงเฮย
ทอง เทียบยศยกให้  เผ่าผู้หลู่คน

ตัวอย่างสำนวน"กิ้งก่าได้ทอง" จากวรรณคดี

มึงทั้งเจ็ดคนอีชาติข้า
เห็นกูไปมาก็จองหอง
ทำแก่เนื้อแก่ตัวหนังหัวพอง
เหมือนกิ้งก่าได้ทองผูกคอ
จากเรื่องไชยเชษฐ์ ตอน ไชยเชษฐ์ต่อว่าเจ็ดนาง

เหมือนหนึ่งกิ้งก่าได้ทาทอง
ยกย่องหัวหูดูเฉิดฉาย
มึงประจานใครให้ได้อาย
แยบคายทบเทียบเปรียบมา
จากเรื่องสังข์ทอง ตอน ท้าวยศวิมลบริภาษนางจันทา

ทำปั้นเจ๋อเย่อหยิ่งเป็นกิ้งก่า
หน้าจะดำคล้ำฝ้าน้ำตาตก
จากพระอภัยมณี ตอน พระสังฆราชว่านางละเวง

สำนวน"กิ้งก่าได้ทอง" มีที่มาจากนิทานโบราณซึ่งเล่าว่า 
กาลครั้งหนึ่งพระราชาเสด็จไปประพาสอุทยาน กิ้งก่าเห็นพระราชาก็ผงกหัวทำความเคารพ  พระราชาพอพระทัยจึงให้เงินคนสวนซื้อเศษเนื้อให้กิ้งก่ากินทุกวัน วันหนึ่งคนสวนหาซื้อเศษเนื้อไม่ได้จึงเอาเงินซื้อเศษทองผูกให้ที่คอกิ้งก่า ต่อมาพระราชาเสด็จประพาสอุทยานอีก กิ้งก่าทำท่าหยิ่งชูคออวดทอง ไม่ยอมผงกหัวคำนับพระราชาดังเคย พระราชาทรงเห็นว่ากิ้งก่านิสัยไม่ดี หยิ่งยโสเพราะได้ทอง จึงทรงให้คนสวนเอาทองออกจากคอกิ้งก่า และงดซื้อเศษเนื้อให้กิ้งก่ากินอีกต่อไป

ปัจจุบันมีผู้นิยมสัตว์เลี้ยงแปลกๆ เลี้ยงกิ้งก่าไว้ดูเล่น นอกจากรูปร่างที่ดูแปลกกว่ากิ้งก่าไทยทั่วไป ยังมีสีสันที่สวยงามอีกด้วย เช่น กิ้งก่าอีกัวน่า เป็นกิ้งก่ายอดนิยมที่เลี้ยงกันมายาวนาน  กระจายพันธุ์ในเม็กซิโก อเมริกากลาง รวมทั้งเกาะต่างๆในภูมิภาคแคริบเบียนและพอลินีเซีย อีกัวน่ามีนิสัยน่ารัก กินผักผลไม้เป็นอาหาร ราคาไม่แพงมาก และมีสีสันหลากหลาย

กิ้งก่าคาเมเลี่ยนมีหลายสายพันธุ์แพร่กระจายในทวีปแอฟริกาบนเกาะมาดากัสการ์และบางพื้นที่ในอินเดียและภาคพื้นอาหรับ รวมทั้งยุโรปตอนใต้ คือ สเปนและโปรตุเกส กำลังเป็นที่นิยมเลี้ยงเนื่องจากมีถึง150 ชนิด ล้วนแต่มีสีสันสวยงามแปลกตา บางชนิดมีขนาดจิ๋วมากเล็กกว่านิ้วก้อย และราคาก็แพงมากเช่นกัน

ทั้งอีกัวน่าหรือกะปอมยักษ์ จนถึงกิ้งก่าจิ๋วคาเมเลี่ยนไม่ต้องมีทองผูกคอ เพราะแต่ละตัวนั้นมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักหมื่นหลักแสน จึงต้องชูคอด้วยความหยิ่งผยองให้สมค่าสมราคาสักหน่อย

 

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 691491เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2021 13:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท