ต้นไม้ตายเพราะลูก อุปมาเหมือนหนึ่งพฤกษาลดาวัลย์ ย่อมอาสัญลงเพราะลูกเป็นเที่ยงแท้


ต้นไม้ตายเพราะลูก

อุปมาเหมือนหนึ่งพฤกษาลดาวัลย์ ย่อมอาสัญลงเพราะลูกเป็นเที่ยงแท้

กล้วย ผลไม้ที่อยู่คู่วิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน นำมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ต้น ใบ ดอก หน่อ และผล จนถึงราก ใช้เป็นอาหารและยารักษาโรค กล้วยมีหลากหลายสายพันธุ์ ชนิดของกล้วยที่นิยมบริโภคและจำหน่ายกันทั่วประเทศ ได้แก่

กล้วยน้ำว้า

กล้วยหอม

กล้วยไข่

กล้วยเล็บมือนาง

กล้วยนาก

กล้วยน้ำไท

กล้วยหักมุก


ประโยชน์จากต้นกล้วย

ใบของต้นกล้วยเรียกว่าใบตองใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมาก เช่น ใช้สำหรับประดิษฐ์สิ่งของที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น กรวยดอกไม้ กระทงดอกไม้ หรือพานบายศรี เป็นต้น

ส่วนการใช้งานในชีวิตประจำวันมีทั้งการนำใบตองมาห่ออาหาร เนื่องจากในใบตองมีความชื้นตามธรรมชาติจึงช่วยรักษาความสดของอาหารเอาไว้ได้ สามารถนำไปปิ้ง ย่างหรือนึ่งได้โดยไม่ละลายและไม่มีสารพิษตกค้าง

ใบตองสดใช้ทำภาชนะห่ออาหารและขนม ส่วนใบตองแห้งสามารถนำไปทำงานศิลปกรรมต่างๆ ได้ เช่น กระทงใบตองแห้ง และภาชนะต่างๆ

กาบกล้วยมีน้ำและความชื้นอยู่มาก สามารถฉีกเป็นเส้นๆ จากนั้นนำไปใช้เป็นเชือกกล้วยได้ ใช้มัดผักสด มัดสิ่งของ หรือสานทำเป็นตะกร้าหรือภาชนะต่างๆ ในสมัยโบราณมีการนำกาบกล้วยมาทอเป็นเสื้อผ้าด้วย

ลำต้นของกล้วยสามารถหั่นเป็นท่อนๆทำเป็นทุ่นลอยน้ำ ใช้ทำกระทง หรือทำแพชั่วคราวได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ส่วนเปลือกของลำต้นมาต้มทำเป็นยาสมุนไพรดับกระหายได้อีกด้วย ส่วนยางของต้นกล้วยใช้ย้อมผ้าหรือย้อมเส้นด้ายทอผ้าได้ดี เนื่องจากมีสีน้ำตาลที่สีไม่ตก ไม่ลอก ให้สีติดทน นอกจากนี้ยังใช้ห้ามเลือดและสมานแผลได้

หัวปลีกล้วยเป็นส่วนที่สามารถนำไปปรุงอาหารได้ เช่น ยำหัวปลี ทอดมันหัวปลี นอกจากนี้ยังใช้ทำแกงเลียงและต้มยำได้อร่อย มีธาตุเหล็กสูง ช่วยบำรุงเลือด ขับน้ำนม ลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยบรรเทาโรคกระเพาะ และต้านอาการซึมเศร้าได้ดี

ผลกล้วย นำมารับประทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก กล้วยดิบมีรสฝาดนำมากินเป็นเครื่องเคียงอาหารได้หลายชนิด เช่น แหนมเนือง ใส่ในแกงเผ็ด หรืออาจนำไปตากแห้งแล้วบดเป็นผงใช้ชงดื่มเป็นยาสมุนไพร บรรเทาอาการกรดไหลย้อน ส่วนกล้วยสุกจะกินสด หรือนำไปแปรรูปเป็นอาหารและขนมหลายชนิด เช่น กล้วยบวชชี กล้วยทอด

ต้นกล้วย เป็นที่มาของสำนวน "ต้นไม้ตายเพราะลูก" ดังปรากฎในมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี ตอนที่นางมัทรีรำพันเมื่อกลับจากป่าแล้วไม่พบสองกุมาร

"...ทั้งลูกรักดังแก้วตาก็หายไป อกเอ๋ยจะอยู่ไปไยให้ทนเวทนา อุปมาเหมือนหนึ่งพฤกษาลดาวัลย์ ย่อมอาสัญลงเพราะลูกเป็นเที่ยงแท้..."

ในบทละครเรื่องอิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง ท้าวกะหมังกุหนิงเตรียมรบชิงนางบุษบา เมื่อถูกทัดทานจึงชี้แจงว่า

แม้นวิหยาสะกำมอดม้วย
พี่ก็คงตายด้วยโอรสา
ไหนไหนจะตายวายชีวา
ถึงเร็วถึงช้าก็เหมือนกัน
ผิดก็ทำสงครามดูตามที
เคราะห์ดีก็จะได้ดังใฝ่ฝัน
พี่ดังพฤกษาลดาวัลย์
จะอาสัญเพราะลูกเหมือนกล่าวมา

ในเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนถวายนางสร้อยทองแก่พระพันวษา มีเนื้อความตอนหนึ่งว่า

ประเวณีต้นไม้ตายเพราะลูก
เราฝังปลูกเสียให้เป็นแก่นสาร
อันนางสร้อยทองเยาวมาลย์
ว่าจะมีราชสารถวายไป

ความหมายของสำนวน ต้นไม้ตายเพราะลูก คือ ยอมเสียสละแม้ชีวิตเพื่อลูก 
ที่มาของสำนวนมาจากต้นไม้บางชนิด เช่น ต้นกล้วย เมื่อมีลูกและถูกตัดไปทั้งเครือแล้ว เรามักจะโค่นต้นทิ้งไป เพราะกล้วยเป็นพืชล้มลุกให้ผลเพียงคราวเดียวเท่านั้น การโค่นต้นกล้วยทิ้งจะทำให้หน่อเจริญงอกงามดี

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 691419เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2021 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2023 18:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท