ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ เล่ม ๒


ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ เล่ม ๒ 

(เล่มจริงมี ๔๖๕ หน้า) เล่มนี้มีเพียง ๓๗๙ หน้า
(หมายเหตุ ขาดหน้า ๒๓๒-๓๓๑)
ขาดคัมภีร์มหาโชตรัต และ คัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา ไปทั้งตอน
http://mobile.nlt.go.th/readall/375625

ห้องสมุดดิจิทัล หอสมุดแห่งชาติ

สามารถดาวน์โหลดเป็นไฟล์ pdf ขนาด 85MB
https://tinyurl.com/576en9pz

ประกอบด้วย ๙ คัมภีร์ ได้แก่

๑. คัมภีร์ประถมจินดา (ต่อ) เล่ม ๑๑ - ๑๒

     คัมภีร์ประถมจินดา เล่ม ๑๑ (เลยที่ ๑๐๑๘)

       ว่าด้วยซางเจ้าเรือน จำพวก จนถึงไข้ประจำซางเจ้าเรือน (มียาแก้)

     คัมภีร์ประถมจินดา เล่ม ๑๒ (เลขที่ ๑๐๑๙)

       ว่าด้วยยาแก้ตานโจร จนถึงลักษณะตานโจรซึ่งเกิดจากธาตุพิการ

๒. คัมภีร์แผนนวด มี ๒ เล่ม ได้แก่

     คัมภีร์แผนนวด เล่ม ๑ (เลขที่ ๑๐๐๘)

       ว่าด้วยตำแหน่งที่ใช้กดหรือนวดรักษาโรค และลมที่เกิดตามจุดในร่างกาย มีแผนภาพรูปคนแสดงประกอบ

     คัมภีร์แผนนวด เล่ม ๒ (เลขที่ ๑๐๐๕)

      ว่าด้วยลักษณะของส่วนต่างๆ ในร่างกาย จนถึง ทำนายยามยาตรา

๓. พระตำหรับแผนฝีดาษ มี ๓ เล่ม ได้แก่

     พระตำหรับแผนฝีดาษ เล่ม ๑ (เลขที่ ๑๐๓๐) ว่าด้วยแผนภาพฝีดาษ ๑๒ เดือน จนถึง ลักษณะฝีต่างๆ

     พระตำหรับแผนฝีดาษ เล่ม ๒ (เลขที่ ๑๐๓๑) ว่าด้วยพระตำรายาประสะฝีทั้งปวง จนถึง ฝีไส้ดำ

     พระตำหรับแผนฝีดาษ เล่ม ๓ (เลขที่ ๑๐๓๒) ว่าด้วยตำรายาพ่นฝี จนถึง วิธีการที่แพทย์จะรักษาฝีดาษ

๔. คัมภีร์มรณญาณสูตร เล่ม ๒ (เลขที่ ๑๐๓๖) มี เล่ม ๒ ไม่พบเล่ม ๑

       ว่าด้วยธาตุพิการตามฤดู และธาตุแตก ๑๐ ประการ

๕. คัมภีร์มหาโชตรัต มี ๒ เล่ม (เล่ม ๒, ๓ ไม่พบเล่ม ๑) ได้แก่

     คัมภีร์มหาโชตรัต เล่ม ๒ (เลขที่ ๑๐๓๔)

       ว่าด้วยยาขับโลหิต ยาบำรุงโลหิต จนถึงประเภทโลหิตระดูของสตรี

     คัมภีร์มหาโชตรัต เล่ม ๓ (เลขที่ ๑๐๔๐)

       ว่าด้วยลักษณะโลหิตปกติโทษ บอกอาการ และยาแก้

๖. คัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา (เลขที่ ๑๐๔๑)

       ว่าด้วยโรคทูลาวะสา ๓๒ จำพวก แสดงอาการ และบอกยาแก้

๗. คัมภีร์โรคนิทาน (เลขที่ ๑๐๔๒)

       ว่าด้วยโรคที่เกิดจากธาตุต่างๆ บรรยายถึงอาการและบอกยาแก้

๘. คัมภีร์สรรพลักษณะสรรพคุณ มี ๒ เล่ม (เล่ม ๒ และ ๓ ไม่พบเล่ม ๑) ได้แก่

     คัมภีร์สรรพลักษณะสรรพคุณ เล่ม ๒ (เลขที่ ๑๐๔๖)

       ว่าด้วยสรรพคุณแห่งโอสถ เริ่มตั้งแด่ตรีผลา จนถึง อบเชย

     คัมภีร์สรรพลักษณะสรรพคุณ เล่ม ๓ (เลขที่ ๑๐๔๗)

       ว่าด้วยสรรพคุณแห่งโอสถต่อจากเล่ม ๑ เริ่มตั้งแต่ น้ำนมโค จนถึง รากปล้องป่า และกล่าวถึงมหาพิกัด

๙. คัมภีร์อุทรโรค (เลขที่ ๑๑๕๐)

       ว่าด้วยลักษณะของอุทรโรค ๑๘ ประการ

http://mobile.nlt.go.th/readall/375625

ห้องสมุดดิจิทัล หอสมุดแห่งชาติ

(หมายเหตุ ขาดหน้า ๒๓๒-๓๓๑)

คัมภีร์ประถมจินดา (ต่อ) เล่ม ๑๑ - ๑๒

             คัมภีร์ประถมจินดา เป็นตำราแพทย์ที่มีเนื้อหาความรู้ยาวกว่าคัมภีร์เรื่องอื่น ทั้งนี้เพราะว่าด้วยโรคที่เกี่ยวกับเด็กทั้งหมด โดยเริ่มตั้งแต่เรื่องลักษณะการปฏิสนธิ ลักษณะครรภ์มารดา อาการเจ็บไข้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์หรือโลหิตระดูผิดปกติ ให้ตำรายาสำหรับประจุหรือฟอกโลหิตสตรีและยาบำรุงโลหิต เป็นตัน บอกลักษณะดีชั่วของสตรี ลักษณะน้ำนมมารดา จากนั้นบรรยายถึงกำเนิดและอาการของโรคซางประเภทต่างๆ เช่น ซางประจำเป็นเจ้าเรือนของเด็กตามวันเกิด ซางที่เกิดจากธาตุไม่ปกติ ซางจรต่างๆ เป็นต้น โดยบอกตำรายาแก้โรค และรักษาอาการของโรคไว้หลายขนาน

หมายเหตุ : คัมภีร์ประถมจินดา ในตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงนี้ น่าจะมี เล่ม ๑ ถึง เล่ม ๑๒ แต่พบเหลือเพียง ๑๑ เล่ม ขาดเล่ม ๒ ไป

ซึ่งได้จัดพิมพ์ใน "ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ เล่ม ๑ "    ได้แก่ เล่ม ๑ ถึง เล่ม ๑๐  

และจัดพิมพ์เล่ม ๑๑ และ ๑๒ ต่อใน "ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ เล่ม ๒" 


คัมภีร์แผนนวด เล่ม ๑ - ๒

            คัมภีร์แผนนวด เล่ม ๑ เป็นตำราแพทย์ที่มีแผนภาพรูปคน แสดงจุดและเส้น ซึ่งแพทย์ใช้วิธีกด หรือนวดร่างกาย เพื่อรักษาอาการของโรค และมีแผนภาพแสดงตำแหน่งในร่างกายเมื่อผิดปกติ จะเป็นสาเหตุให้เกิดการเจ็บไข้ ตอนท้ายกล่าวถึงชื่อของเส้นเอ็น ทั่วกายมนุษย์

            คัมภีร์แผนนวดเล่ม ๒ กล่าวถึง ส่วนสำคัญในตัวคนที่เรียกว่า อาการ ๓๒ ประการ อธิบายลักษณะอวัยวะภายใน การแบ่งชนิดและตำแหน่งที่ตั้ง จากนั้นบอกตำรายารักษาโรคต่างๆ และตอนท้ายกล่าวถึง ยาม เป็นตำราทำนายบอกเวลาและเหตุการณ์ เมื่อจะเดินทางไปในที่ต่างๆ

พระตำหรับแผนฝีดาษ เล่ม ๑ - ๓

          พระตำหรับแผนฝีดาษ เล่ม ๑ - ๓ ว่าด้วยโรคร้ายที่เกิดจากและฝีดาษจำพวกต่างๆ ตอนต้นแสดงรูปแผนภาพยักษ์เจ้าฝีประจำเดือน ตั้งแต่เดือน ๔ ไปจนครบ ๑๒ เดือน บรรยายถึงฝีชนิดต่าง ๆ มีภาพลักษณะการเกิดฝี บอกชื่อกำกับไว้ และบางชนิด ก็แสดงอาการหรือระบุถึงความร้ายแรง ความหนักเบาของฝีนั้นไว้ด้วย เช่น จอมปราสาท หัวเย็น ๙ วันตาย เซียดหัวมัวให้เหลืองแห้งไม่ตาย เกลดแรดตัวเมียถ้าขึ้นได้ ๓ วัน ผัด ๑๕ วัน จนถึง ๒๑ วัน พ้นนี้ไม่ตาย เป็นต้น จากนั้นได้แสดงยารักษาฝีไว้หลายประเภท หลายขนาน สำหรับให้แพทย์วิเคราะห์โรคและเลือกใช้ยารักษาตามอาการ อาทิ ยาจุดฝี ยาทาฝีแตก ยาแปรฝีร้ายให้เป็นดี ยาประสะฝี ยาพอกศีรษะฝี ยารัดฐานฝี เป็นต้น นอกจากนี้ได้บรรยายขั้นตอนวิธีการรักษาตามระยะเวลาที่เกิดฝี และอาการที่กำเริบขึ้น เป็นระยะๆ ด้วย

คัมภีร์มรณญาณสูตร เล่ม ๒
หมายเหตุ ฉบับนี้ ขาดคัมภีร์มรณญาณสูตร ตอนท้ายไปบางส่วน


      คัมภีร์แพทย์เล่มนี้ กล่าวถึงโรคธาตุพิการซึ่งเกิดขึ้นตามฤดู คือ

ฤดูที่ ๑ - เดือน ๕ เดือน ๖ เดือน ๗ เตโชธาตุพิการ คือโรคที่เกิดขึ้นเพราะธาตุไฟผิดปกติ

ฤดูที่ ๒ - เดือน ๘ เดือน ๙ เดือน ๑๐ วาโยธาตุพิการ คือโรคที่เกิดขึ้นเพราะธาตุลมผิดปกติ

ฤดูที่ ๓ - เดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เดือนอ้าย อาโปธาตุพิการ คือโรคที่เกิดขึ้นเพราะธาตุน้ำผิดปกติ

ฤดูที่ ๔ - เดือน ๒ เดือน ๓ เดือน ๔ ปถวีธาตุพิการ คือโรคที่เกิดขึ้นเพราะธาตุดินผิดปกติ

              บอกอาการของโรค และให้ตำรารักษาโรคธาตุผิดปกติทั้ง ๔ ฤดู จากนั้นบรรยายถึง อาการธาตุแตก ๑๐ ประการ คือ เตโชธาตุแตก ๔ จำพวก และวาโยธาตุแตก ๖ จำพวก แสดงอาการของธาตุแตก แต่ละจำพวก และบอกตำรารักษาอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากธาตุแตก รวมทั้งให้ยาบำรุงธาตุ และยาประจำธาตุด้วย

คัมภีร์มหาโชตรัต

หมายเหตุ ฉบับนี้ ขาดคัมภีร์มหาโชตรัต ไปทั้งตอน

            บอกถึงยาขนานต่าง ๆ ที่รักษาโรคโลหิตระดูผิดปกติของสตรี อาทิ ยาขับโลหิตสำหรับสตรีหลังคลอด หรือแท้งบุตร ที่มีอาการโลหิตระดูขัด ยาต้มแก้โลหิตเป็นพิษ และฝีในมดลูก ยาดองแก้โลหิตที่เน่า โลหิตร้าย และยาแก้ระดูออกไม่สะดวก เป็นต้น บรรยายถึงลักษณะโลหิตระดูประเภทของสตรี และจำแนกโลหิตปกติโทษเป็น ๕ จำพวก และยังได้บอกถึงอาการของโลหิตปกติโทษแต่ละจำพวกที่ทำให้สตรีมีอาการเจ็บป่วยแตกต่างกัน ซึ่งตามตำราให้ยารักษาโรคแต่ละจำพวกไว้หลายขนาน

คัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา
หมายเหตุ ฉบับนี้ ขาดคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา ไปทั้งตอน
            

        ว่าด้วยโรคที่เกิดความผิดปกติหรือเกิดพิษของปัสสาวะและโลหิต แบ่งเป็น ๓๒ จำพวก คือ

           ๑. ทุลาวสา ๔ ประการ แสดงถึงความผิดปกติของสีปัสสาวะ ได้แก่ ขาวข้น เหลือง แดง ดำ
            ๒. มุตรฆาฏ ๔ ประการ แสดงลักษณะผิดปกติของปัสสาวะที่เกิดจากการชอกช้ำ มีโลหิตช้ำ มีหนอง ข้นขุ่น สีดำ
            ๓. มุตรกฤต ๔ ประการ เฉพาะในหญิง ปัสสาวะที่โลหิตช้ำ มีหนอง มีมูก ขาวขุ่น
            ๔. สันฑฆาต ๔ ประการ เกี่ยวกับความผิดปกติของโลหิตทั้งชายและหญิง แบ่งตามสาเหตุและ ความรุนแรง ได้แก่ เอก โท ตรี และอาสันฑฆาต
            ๕. องคสูตร ๔ ประการ เป็นความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะสืบพันธุ์ในชาย ในฤดูทั้ง ๔ ทำให้ปัสสาวะและการถ่ายปัสสาวะผิดปกติ
            ๖. ช้ำรั่ว ๔ ประการ เป็นโรคเฉพาะสตรี ทำให้มีสิ่งขับถ่ายจากมดลูกและช่องคลอดไหลออกมาเรื่อยๆ โดยมีสาเหตุจากมดลูกเน่าหลังการคลอดบุตร เสพกามเกินประมาณ เป็นฝีในมดลูก ทวารเบาเปื่อย
            ๗. อุปะทม ๔ ประการ เป็นความผิดปกติจากการร่วมเพศ ๓ ประการ และเป็นนิ่ว (นิ่วเนื้อ และนิ่วศิลาปูน)
            ๘. ไส้ด้วน ๔ ประการ เป็นโรคที่องคชาติ จากการชอกช้ำ จากการติดเชื้อ เป็นเม็ด เป็นหนอง เป็นแผลเน่าเปื่อยลุกลามไปเรื่อยๆ

                     แต่ละจำพวกได้บอกอาการและยาแก้ไว้ และยังได้กล่าวถึงโรคนิ่ว ๔ จำพวก คือ

                  ๑. นิ่วศิลาปูน

                  ๒. นิ่วเนื้อ

                  ๓. นิ่วบานทโรค

                  ๔. นิ่วกระไสยกล่อน

คัมภีร์โรคนิทาน
หมายเหตุ ฉบับนี้ ขาดคัมภีร์โรคนิทาน ตอนต้นไปบางส่วน

              ว่าด้วยความรู้เกี่ยวกับพื้นฐานของร่างกายคน ที่ปกติควรประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ ตามสัดส่วนที่เหมาะสม คือ ธาตุดิน ๒๐ ธาตุน้ำ ๑๒ ธาตุลม ๖ และธาตุไฟ ๔ ธาตุ แต่ละธาตุในร่างกายคนนี้ บางครั้งอาจขาดหมายหรือพร่องไป ไม่ครบตามส่วน ก็ทำให้เกิดเจ็บป่วย ซึ่งแพทย์ยังพอรักษาพยาบาลได้ แต่หากธาตุสูญหายไปทั้งหมดก็ถือว่า สิ้นอายุ ไม่สามารถเยียวยาต่อไปได้

              ในคัมภีร์ได้กล่าวถึงโรคอันเกิดจากธาตุ ไม่ปกติตามช่วงเวลาที่แบ่งเป็น ฤดู ในหนึ่งปี บอกรายละเอียดของอาการเจ็บไข้ ความผิดปกติของส่วนสำคัญในร่างกาย เช่น เหงื่อ น้ำตา มันเหลว อุจจาระ ปัสสาวะ ผม ขน หนัง เล็บ ฟัน เป็นต้น โดยบอกยาแก้ธาตุพิการ ยารักษาอาการผิดปกติของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ยาแก้ไข้ที่เกิดจากธาตุพิการ ยาบำรุงธาตุ และยาประจำธาตุ แต่ละธาตุ

คัมภีร์สรรพลักษณะสรรพคุณ เล่ม ๒ - ๓

           คัมภีร์สองเล่มนี้ ว่าด้วย ลักษณะและสรรพคุณของยาทั้งปวง บรรยายเกี่ยวกับสรรพลักษณะ สรรพคุณ และมหาพิกัดของยาชนิดต่างๆ กล่าวถึงรายละเอียดของไม้ที่มีคุณ คือ มีสรรพคุณในการประกอบยา บอกรสของไม้แต่ละชนิด อาทิ รสร้อน รสหวาน รสฝาด รสเปรี้ยว และแจกแจงคุณประโยชน์ว่า ใช้แก่โรค หรือรักษาอาการเจ็บป่วยของโรคใดได้บ้าง จากนั้นอธิบายเกี่ยวกับ พิกัด คือ สัดส่วนตัวยาที่เหมาะสมเพื่อจะประกอบยาให้ถูกต้องกับโรค อาการ ตลอตจนสมุฏฐานของโรคนั้นๆ

คัมภีร์อุทรโรค

                คัมภีร์อุทรโรค ว่าด้วยโรคที่มีอาการเจ็บปวด ผิดปกติในห้อง มีสาเหตุจากธาตุไม่ปกติเป็นพื้นฐาน และเกิดความเจ็บปวดอื่นๆ ประกอบแดกต่างกัน เรียกชื่อโรคว่า "มาร" แบ่งเป็น ๑๘ ประการ คือ

      มารน้ำ ๔ เกิดจากเลือดและน้ำเหลืองไหลซึมชาบอยู่ในกระเพาะหรือขังอยู่ในท้อง

       มารลม ๔ เกิดจากลมที่เป็นโทษพัดหรือขังอยู่ในท้อง ทำให้แน่นและเกิดอาการเจ็บปวด

       มารหิน ๔ เกิดจากลมที่เป็นโทษ ๓ กอง มาระคนกัน

       มารโลหิต ๔ เกิดจากเลือดระดูร้าง เลือดตกหมก เลือดเน่า และเลือดจาง

       มารเกิดแต่ดาล ๒ เกิดจากกองดาลที่ชื่อว่า ทักขิณะมาร อยู่ข้างขวา และกองดาลที่ชื่อว่า อุตระมาร อยู่ช้างซ้าย

               อาการของโรค "มาร" มักทำให้ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องพองบวม กินอาหารไม่ได้ ขับถ่ายหนักเบาไม่ปกติ หรือขับถ่ายไม่ได้

ตามตำราได้บอกยาแก้ไว้หลายขนานรวมทั้งยาถ่ายด้วย

หมายเลขบันทึก: 690665เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2021 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2021 23:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท