มหาวิทยาลัยกับงานวิจัย การปรับเปลี่ยนเพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา ตอน 2 (3)


นักวิชาการส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างปริมาณ กับคุณภาพ เช่น จะให้ผลงานวิชาการที่มีคุณภาพระดับ "ดี" 2 ชิ้น มีค่าเท่ากับผลงานระดับ "ดีมาก" 1 ชิ้น

         < เมนูหลัก >

         ตอน 2 (3)

         "ปฏิวัติวัฒนธรรม" เพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา

         คุณภาพ – ปริมาณ

         วัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งที่ต้องปฏิวัติ คือ การที่สังคมไทยไม่ค่อยเน้นคุณภาพ แต่มักเน้นเรื่องปริมาณเป็นหลัก และแวดวงวิชาการ-วิจัยก็ตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมนี้

         การพิจารณาผลงานวิชาการ เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการ มีแนวโน้มจะเน้นที่ปริมาณของผลงานมากกว่าเน้นคุณภาพ จนในหลายวงการหลายสถาบัน นักวิชาการส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างปริมาณ กับคุณภาพ เช่น จะให้ผลงานวิชาการที่มีคุณภาพระดับ "ดี" 2 ชิ้น มีค่าเท่ากับผลงานระดับ "ดีมาก" 1 ชิ้น

         ในการรวบรวมผลงานทางวิชาการเพื่อยื่นเสนอขอตำแหน่งทางวิชาการมักถามกันว่า ต้องการผลงานกี่ชิ้นกี่หน้าแทนที่จะถามที่ดัชนีคุณภาพของผลงาน

         เมื่อกำหนดให้ผู้จะเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการต้องมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร นักวิชาการจำนวนหนึ่งจะพยายามส่งไปตีพิมพ์ในวารสารที่รับตีพิมพ์ง่าย ๆ ไม่เคร่งครัดต่อการตรวจสอบคุณภาพเป็นการสะท้อนสภาพของวัฒนธรรมที่ไม่เน้นในเรื่องคุณภาพ

         หากจะให้วงการวิชาการ – วิจัยเจริญก้าวหน้า สังคมไทยจะต้องสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมคุณภาพเน้นคุณภาพในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นงานด้านคุณภาพของสินค้าคุณภาพของบริการ คุณภาพของการศึกษา การเรียนการสอนรวมทั้งการวิจัย

         ผลงานที่มีคุณภาพต่ำจะต้องถูกแยกแยะออกไป และไม่ได้รับการยกย่อง ในทางตรงกันข้าม ผู้มีผลงานที่มีคุณภาพสูง จะต้องได้รับการตอบแทนสูงทั้งในด้านลาภ ยศ และสรรเสริญ

         คุณภาพของผลงานวิจัยมีมาตรฐานเดียว คือ มาตรฐานนานาชาติ ผลงานวิจัย จึงควรพิสูจน์คุณภาพ โดยการส่งไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ

         หากสังคมไทยสามารถเปลี่ยนไปเป็นสังคม ที่ไม่ยอมรับสิ่งที่ด้อยคุณภาพ  นิยมยกย่องสิ่งที่มีคุณภาพสูง คนในสังคมจะถูกชักจูงโดยปริยาย ให้ต้องทำงานสร้างสรรค์คุณภาพ นั่นคือการวิจัยและพัฒนา

         บทความพิเศษ ตอน 2 (3) นี้ ได้ จากหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ 9 ล.2788 (104) 9 พ.ค. 39 พิเศษ 6 (บทความไอที)

         เขียนโดย ศ.นพ.วิจารณ์   พานิช

         วิบูลย์  วัฒนาธร

 

หมายเลขบันทึก: 6905เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2005 15:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท