ปลดล็อกความคิด ด้วยการตั้งคำถามชีวิต


I Think, therefore I wite.

ฉันคิด ฉันจึงเขียน #2

เมืองไทยมีนักคิดนักวิชาการมากมาย ทั้งมีสื่ออยู่ในมือทุกคน และ พร้อมเผยแพร่ได้ตลอดเวลา คนเหล่านี้พยายามอธิบายสภาพสังคม เหตุการณ์บ้านเมือง แต่ขาดบางสิ่งบางอย่าง นั่นคือ โลกทัศน์และการตั้งคำถามเชิงปรัชญา ซึ่งบางทีการขาดหายไปในส่วนที่ว่านี้ อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลหลัก ที่ทำให้บรรยากาศทางปัญญาของบ้านเมืองนี้จึงมักใช้อารมณ์ เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างไม่ลืมหูลืมตา ใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหา หรือ แบ่งข้างกันมากกว่าการใช้เหตุผล

คำตอบในศาสตร์อื่นนอกจากปรัชญา อย่างเช่นศาสนา เป็นคำตอบในแง่ที่ว่า พอปฏิบัติตามในสิ่งที่ศาสนาสอนไว้ไปถึงจุดหนึ่งแล้วเราจะไม่สงสัย หรือไม่ควรที่สงสงสัย เพราะถ้าเราสงสัย เราก็จะเป็นศาสนิกที่ดีของศาสนานั้นไม่ได้ อย่าว่าแต่ศาสนา แม้แต่ความคิดทางการเมืองถ้าหากเลือกข้างหรือ เลือกแนวทางใดแล้ว พอถึงจุดหนึ่งเราก็จะไม่ถาม...

มีคำกล่าวว่า “หากท่านอยากเป็นคนดีของระบบ ความคิดนี้ท่านจะต้องไม่สงสัยนะ อย่าถามอะไรนะ” ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดานักปรัชญาไม่ยอมรับ รับไม่ได้ เพราะไม่มีเหตุผล ไม่ใช่ต้องการให้ฟังดูโก้เก๋อะไร แต่เป็นเพราะเนื้อหาและหลักการของปรัชญาเป็นอย่างนั้น คนทั่วไปอาจสงสัยว่าการถามอะไรไปเรื่อยแบบนี้ มันมีคุณค่าตรงไหนกัน ซึ่งมันก็แล้วแต่มุมมอง แต่ผมเห็นคุณค่าของการรู้จักถาม แม้เมื่อบวชอยู่ ก็มีคำถามหลายอย่างที่ผมเคยถามตนเองเกี่ยวกับคำสอนของพุทธศาสนา

สิ่งที่พุทธศาสนาสอนจำนวนมากตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีใครเคยเห็นนรก สวรรค์ เทวดา หรือ ความเชื่อเรื่องการตายแล้วเกิดใหม่ ก็ยังถือว่าเป็นความเชื่อ เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าจริงหรือเท็จ นักธรรมะอาจแย้งว่าต้องนั่งสมาธิจนได้ฌานระดับหนึ่งจึงเห็นนั่นนี่ได้ด้วยตนเอง
หรือหากจะตรวจสอบได้บางทีต้องผ่านมาตรฐาน วิธีการ หรือ หลักสูตรที่ทางสำนักอบรมให้เท่านั้น เอาเข้าจริงแต่ละสำนักก็อธิบายการเห็นที่ว่าต่างกันเหลือเกิน  แต่สำหรับชาวพุทธทั่วไป การที่พุทธศาสนาสอนในเรื่องที่ตรวจสอบไม่ได้ ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะถ้าตั้งต้นว่า หากเราเชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง แปลว่าพระองค์ทรงเห็นสิ่งเร้นลับที่ว่านี้จริง แล้วทรงนำมาบอกกับเรา ความสงสัยดังกล่าวก็เป็นอุปสรรคต่อการเป้นชาวพุทธที่ดี ยิ่งเป็นพระเป็นเณร ยิ่งไม่ควรสงสัย  ผมเข้าใจในเหตุผลที่ว่ามานั้น แต่ความเข้าใจนั้นก็ไม่มีผลต่อความสงสัยของตนเอง ผมก็ยังสงสัยอยู่อย่างนั้นเรื่อยมา เมื่อได้มาศึกษาปรัชญาก็รู้สึกได้ทันทีว่าเป็นศาสตร์ที่ดูเหมือนจะเข้าได้กับความรู้สึกนึกคิดลึกๆของตัวผมที่เฝ้าถามตัวเองมาตลอด

ศาสนานั้นเราส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นของดี แต่ก็น่าแปลกเมื่อมาดูประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ สงครามใหญ่ๆ มักเกิดจากศาสนาที่ต่างกัน หรือแม้จะเป็นศาสนาเดียวกันก็เกิดสงครามปะทะกัน ระหว่างนิกายที่เชื่อต่างกัน นิกายเดียวกัน แต่มีหลักปฏิบัติ แนวทางแต่ละสำนักต่างกันก็ไม่วายจะหาเรื่องทะเลาะกัน จนทำให้ผมรู้สึกว่า การวิวาทกันระหว่างคนที่นับถือศาสนา เป็นการวิวาทกันระหว่างคนดีด้วยซ้ำไป ทำไมศาสนาถึงเป็นอย่างนี้ล่ะ... มันทำให้คิดว่าท้ายที่สุดแล้ว แนวคิดใดก็แล้วแต่ ต่อให้บอกว่ามีหลักการ และ มีเหตุผล เมื่อมาถึงจุดหนึ่งแล้วก็อย่าสงสัย... เช่น เมื่อเราเป็นลูกศิษย์สำนักใดสำนักหนึ่ง เราก็จะไม่สงสัยอาจารย์ตัวเอง เมื่อทุกคนบอกลูกศิษย์แบบนี้ แต่เมื่ออาจารย์แต่ละสำนักสอนไม่ตรงกัน แน่นอนการปะทะกันย่อมเกิดขึ้นได้ทางใดทางหนึ่ง  แต่แปลก ไม่เคยมีสงครามระหว่างปรัชญา นักปรัชญาไม่เคยฆ่ากันตาย แต่อาจจะโดนภัยทางอื่น เช่นการเมืองเล่นงาน นักปรัชญาเพียงแต่โต้แย้งกันทางความคิด

สิ่งที่ศาสนาเรียกร้องคือต้องการ ความไม่สงสัย นักบุญออกัสติน ปราชญ์ของศาสนาคริสต์ พูดประโยคสำคัญว่า “เชื่อก่อนแล้วท่านจะรู้” แม้แต่ศาสนาที่เราเชื่อกันว่าใช้เหตุผลมากๆอย่างพุทธศาสนา พอถึงจุดหนึ่งก็จะมีคำตอบว่าบางเรื่องเราก็ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า เพราะถ้าไม่เชื่ออย่างนั้นเราก็ไปต่อไม่ได้ในระบบของศาสนา เราเชื่อกันว่าพระศาสดา หรือศาสนาเราถูก แน่นอนการปะทะกันย่อมมีได้วันใดวันหนึ่งเมื่อสองความเชื่อเดินทางมาพบกัน แต่ในทางปรัชญาต่างจากนั้น นักปรัชญาไม่ใช่ศาสดา บางทีจะกลุ้มใจซะด้วยซ้ำถ้าหากมีคนมาเชื่อตัวเองมากๆ แล้วไม่ถาม แล้วรู้สึกว่ามันไม่ถูกที่ทำให้เขาเชื่อโดยไม่ตั้งคำถาม นักปรัชญาจึงไม่ต้องการคนติดสอยห้อยตามจำนวนมากในฐานะสาวก จนสร้างความขัดแย้งก่อสงครามรุนแรงในภายหลัง

ความเป็นมนุษย์ของพวกเราคือสภาพชีวิตที่เราเป็นในทางชีววิทยา กลไกเหล่านี้สร้างเราให้เป็นสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการมีครอบครัว มีสายพันธ์ และสัญชาตญาณที่เป็นพลังในการขับเคลื่อน ผลักดันให้สรรพชีวิตในโลกนี้แข่งขันต่อสู้กัน คือ เราต่างต่อสู้เพื่อตัวฉัน และ ครอบครัวหรือสายพันธุ์ของฉันนั่นเอง อาจบอกได้ว่า เราจะไม่เข้าใจการเมืองอย่างถ่องแท้เลยหากไม่สนใจชีววิทยา แน่นอน เวลาที่เราเรียนพุทธประวัติ เหตุการณ์ต่างๆที่บันทึกในนั้น ถูกเล่าต่อเป็นข้อความหรือถ้อยคำ แสดงให้เราเห็นหลายๆเรื่องว่า ท้ายที่สุดมนุษย์ทุกคนต่อให้ประเสริฐสูงส่งปานใดก็ไม่น่าจะเป็นอิสระโดยสิ้นเชิง เช่น ข้อปฏิบัติของพระพุทธเจ้าที่ทรงประพฤติธรรม ข้อหนึ่งที่เรียกว่า ญาตตฺถจริยา แปลว่า ทรงประพฤติเพื่อประโยชน์ของญาติพี่น้อง ซึ่งเป็น ๑ ใน ๓ ของพุทธจริยา หรือ อย่างน้อยที่สุดเวลาที่พระพุทธเจ้าประชวร ก็ยังทรงรักษาพระองค์เอง พระอรหันต์ป่วย ปวดหัวตัวร้อน ก็ยังต้องกินยา มันเป็นไปตามกลไกของธรรมชาติ ถ้าอธิบายตามทฤษฎีนี้ ก็คือท้ายที่สุดพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ก็ตกอยู่ภายใต้กฎทางชีววิทยาของตัวเอง ยังมีความผูกพันธ์ที่ต้องดูแลคนที่เกี่ยวข้องทางชีววิทยาของตัวเอง

การกำเนิดขึ้นของทุกๆศาสนามีเหตุผลบางประการ เช่น ศาสนาคริสต์ หรือศาสนายิวในยุคของโมเสส  ในตอนนั้น ชาวยิวเป็นทาสของชาวอียิปต์ โมเสสได้นำจิตใจชาวยิวด้วยการปลูกฝังความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้าว่า แม้ชีวิตจะยากลำบางแค่ไหนก็ยังมีคนคอยดูแลพวกเขาอยู่ นั่นก็คือพระเจ้า แน่นอนว่าเมื่อสอนกันอย่างนั้น เรื่องความเชื่อจึงเป็นหลักการสำคัญ โมเสสก็ต้องเชื่อว่าพระเจ้ามีอยู่จริง เพราะถ้าสงสัยก็จะเป็นผู้นำศาสนาไม่ได้ แม้จะเป็นได้ ก็เป็นแค่ผู้นำปลอมๆ เพราะสอนในสิ่งที่ตัวเองไม่เชื่อ และการที่จะเป็นผู้นำศาสนาได้จึงต้องมีหลักปฏิบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ต้องไม่สนใจเรื่องบางเรื่อง ต้องไม่สนใจหรือใส่ใจใดๆในการต้งคำถาม ซึ่งคือค่อนข้างต่างจากปรัชญาและวิทยาศาสตร์

ปรัชญาเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการตั้งคำถามกับชีวิต กับโลก กับตัวตน กับทุกสิ่ง หลายคนมองว่ามีแต่การตั้งคำถาม แต่ไม่มีคำตอบชัดเจนอะไรเลย ต่างจากจากศาสนา เช่น ศาสนาคริสต์ อิสลาม จุดมุ่งหมายก็คือพระผู้เป็นเจ้า หรือการได้หลอมรวมกับพรหมัน ของศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธก็มุ่งสู่นิพพาน หรืออะไรก็ตาม หากจุดหมายที่ว่านั้นคือการเข้าใกล้มันแล้วเราจะมีชีวิตที่สมบูรณ์ขึ้น นั่นคือจุดหมายที่พบทั่วไปในทางศาสนา แต่ในทางปรัชญา เราไม่ได้นิยามจุดหมายแบบนั้น แต่อธิบายการใช้ชีวิตแบบใดแบบหนึ่งแล้วมันทำให้เรามีความสุขอย่างลึกๆมากขึ้นในแต่ละวัน มีความรู้สึกว่าการที่ได้เกิดมาเป็นคนนี้เป็นสิ่งมีค่า เห็นความสวยงามน่าอยู่ในโลกใบนี้ และไม่เสียใจถ้าหากวันหนึ่งจะต้องตายไป นี่คือจุดหมายของชีวิต บางทีมันอาจจะดีกว่าการรู้สึกว่าจะต้องเดินไปหาหรือไขว่คว้าอะไรบางอย่าง เช่น นิพพาน โมกษะ หรือ พระเจ้า อะไรทำนองนี้ด้วย

บางทีการที่คนๆหนึ่งมีความเข้าใจว่าได้เข้ามาอยู่ในสภาพที่พบคำตอบกับสิ่งที่แสวงหาแล้วมาอย่างยาวนาน อาจจะหลายปี เป็นสิบยี่สิบปี หรือทั้งชีวิตของเขา ซึ่งได้เห็นอะไรต่อมิอะไรก็อาจทำให้ปลาบปลื้มปีติว่าได้พบสิ่งที่ตัวเองค้นหาแล้ว ผ่านรูปแบบ กิจกรรม พิธีกรรม วัตถุบูชา สิ่งปลูกสร้างต่างๆ แต่แล้วเขาก็เริ่มไม่แน่ใจในข้อสรุปเดิมของตน  เริ่มไม่มีความสุขในสถานะบางอย่างที่เป็น หรือ สถานะที่เขาต้องการจะเป็น ซึ่งการที่ความสุขด้านนี้น้อยลงก็อาจจะเป็นข้อดีก็ได้ เพราะมันทำให้เราคิดได้ลึกขึ้นในบางเรื่อง และ ส่งผลให้เราพบกับความสุขในบางเรื่องอีกแบบ เช่นท้ายที่สุดเราก็พบว่าชีวิตเรานั้นช่างตลกสิ้นดี น่าขันตรงที่ก่อนหน้านั้นเราเคยทุ่มเทชีวิตแบบเอาเป็นเอาตายให้กับอะไรบางอย่างได้อย่างเหลือเชื่อ แต่ตอนนี้เราถอยออกมาแล้ว ไม่ใช่การถอยหนี แต่เป็นการถอยออกมาแล้วรักษาระยะห่างระหว่างเรากับสิ่งนั้น ในแบบที่จะไม่ทำให้เราเป็นทาสอีกต่อไป  และมันอาจจะดีเพราะทำให้การใช้ชีวิตประณีตมากขึ้น เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น แม้จะยังต้องอยู่ร่วมและใช้ชีวิตกับสิ่งนั้น

เวลานี้ผมมีความสุขกับชีวิตมากขึ้นทีเดียว แต่คงไม่เหมือนกับความสุขของพระนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แต่ความสุขของผมคือการที่ได้ “เข้าใจ” อะไรบางอย่างซึ่งไม่เป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่โตหรือสูงส่งเวอร์วังอะไรเลย.


ธันรบ วงศ์ษา

หมายเลขบันทึก: 689860เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2021 17:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2021 18:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท