พุทธเศรษฐศาสตร์ : งานแห่งรอยยิ้ม...


ถ้าหากเรามีโอกาสเป็นหัวหน้างานหรือผู้บริหาร ถือว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้กำหนดทิศทางในการทำงาน ในการคิด การวางแผนงาน ถ้าหากมุ่งเป้าหมายไปที่ให้ทุกคนมีความสุขในการทำงาน นั่นเองคือการปฏิบัติตามหลักการแห่ง "พุทธเศรษฐศาสตร์"

หัวใจแห่งพุทธเศรษฐศาสตร์คือการให้ การเสียสละ ทำไปเพื่อละอัตตาตัวตน

ความสุขจากการให้ การเสียสละ ทำให้เรามีความสุขในปัจจุบัน ในทุก ๆ ขณะที่ขยับเขยื้อนร่างกาย ยกมือยกไม้เพื่อทำความดี

หลาย ๆ ครั้งที่ข้าพเจ้าคิดงานว่าจะอะไรดีในช่วงเวลาที่มีคนมาที่นี่ หัวใจหลัก ๆ คือ งานเหล่านั้นจะต้องเป็นการให้ทุกคนได้ร่วมรวมกันสร้างความดี โดยมีเป้าหมายแห่งความสำเร็จคือ "รอยยิ้ม..."

หลักการสำคัญคือ "นำงานภายนอก มาฝึกงานภายใน"

งานภายนอกที่เราเคยทำทั่วไปตามนโยบายแห่งเศรษฐกิจกระแสหลักนั้น กระตุ้นให้เราขวนขวายในการแก่งแย่ง ชิงดี ชิงเด่น ทำเพื่อเอา เพื่อมี เพื่อเป็น งานภายนอกที่ร้อนเร่าเหล่านั้นจึงเปรียบเสมือนสิ่งเร่าให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นภายใน

ความเครียดจากการทำงาน ความเครียดจากการบริหาร ความเครียดจากการต้องประสานงานกับบุคคล ทำให้จิตใจของเราวุ่นวายสับสน ทำให้ร่างกายของปุถุชนเป็นแหล่งที่สะสมของโรคภัย

ถ้าหากเราปรับจิตปรับใจ สร้างทัศนคติใหม่ โดยให้การงานทุกอย่างทำด้วยจิตใจที่สดใส เบิกบาน ชีวิตของเราย่อมเกษมสำราญ มีความสุขทุกย่างก้าวในชีวิตประจำวัน

การพูดให้ฟังร้อยครั้ง ไม่เท่ากับการทำให้ดูเพียงครั้งเดียว การทำให้ดูเป็นร้อยครั้ง ก็มิเทียบเท่ากับการให้ทุก ๆ คนได้ลงมือลงไม้ เพื่อให้ได้สัมผัสด้วยกายด้วยใจของตนเอง

การคิดงานไว้ในเบื้องต้น ผสมกับการเตรียมอุปกรณ์ไว้ให้พอที่จะเริ่มดำเนินงานได้ ส่วนกระบวนการวิธีทำทั้งหลาย ให้ใช้การมีส่วนร่วมในความคิดความเห็นของผู้ที่ลงมือทำ

ข้าพเจ้าเพียงแค่จะบอกโจทย์ไว้ให้... อย่างเช่นในวันนี้ ก็บอกว่า "ทำไส้กรอกกันนะ" ข้าพเจ้าก็เตรียมสั่งไส้เทียมมาให้ โดยสั่งจาก Shoppee ส่วนอุปกรณ์ในการทำต่าง ๆ ก็ถามแม่ว่า ต้องใช้อะไรบ้าง มีอะไรอยู่บ้าง แม่ก็บอกว่าข้าวมีอยู่แล้ว วุ้นเส้นมีอยู่แล้ว พริกไทยก็มี กระเทียมก็มี โปรตีนเกษตรก็มี และแถมทั้งแม่ยังมีการเพิ่มเมนูอีกว่า "ทำไส้อั่วด้วยนะ" 

จากเดิมที่จะมีไส้กรอกข้าวเฉย ๆ กลับเกิดกลายมีเพิ่มเติม คือ ไส้กรอกวุ้นเส้น และ ไส้อั่ว...

เต็มที่ ตามสบาย... การให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมทางความคิดนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ ข้าพเจ้าเพียงแต่บอกโจทย์หลัก ๆ ในส่วนของการลงมือทำนั้นให้ธรรมชาติของกลุ่มนั้น ๆ นำพา...

เพราะบางครั้งก็ไม่สามารถจะคาดคิดว่า ใครจะเสนอตัวเองเข้ามาร่วมทำความดีบ้าง อย่างเช่นเมนูไส้กรอกครั้งนี้ ข้าพเจ้าก็คิดว่าจะมีแม่และผู้แจ้งความประสงค์หลักอีก ๒ คน รวมกันเป็น ๓ คน ตอนแรกก็คิดว่ามีแค่นั้น

แต่พอมีโจทย์ มีงาน ทุก ๆ คนที่มีจิตใจฝักใฝ่ในความดีก็วิ่งเข้ามา กลายเป็นว่ามีคนมาร่วมทำความดีเกือบสิบคน

ถ้าหากทัศนคติแบบเดิม ๆ คนส่วนใหญ่คิดว่าการทำงานคือความทุกข์ เมื่อเห็นว่ามีงานก็จะวิ่งหนี แต่ถ้าเราวางแผนเราดีไซน์งานนั้น ๆ เป็นงานแห่งความดี ผู้ที่มีจิตใจดีจะ "วิ่งชนงาน"

การขันอาสา การเสนอตัว จะได้เห็นอยู่เป็นประจำในสถานที่แห่งนี้

เพราะสิ่งที่เราทำนั้น มิได้ทำไว้เพื่อขาย เพื่อหาเงิน หาสตางค์ แต่เราเอาการงานทั้งหลายเหล่านั้นมาเป็นโอกาสในการสร้างความดี

ยิ่งยาก ยิ่งลำบาก ยิ่งเยอะ ก็ยิ่งดี เพราะเราได้สู้ ได้สร้าง ได้สั่งสมคุณงามความดีเพื่อพัฒนาจิตใจดีให้งดงาม

ดังนั้น การคิดงานตามหลักการของพุทธเศรษฐศาสตร์ จึงเน้นงานที่จะต้องมีงานเยอะ ๆ ให้ทุกคนได้ออกแรงออกกำลังกันมาก ๆ 

เช่น กระเทียมที่ใช้ใส่ในไส้กรอกนี้ มีทีมผู้ใหญ่ใจดีมาร่วมกันปลอกตั้งแต่สิบโมงเช้า 

เราจะไม่ใช้อะไรที่เป็นของสำเร็จรูป... กระเทียมกลีบยิ่งเล็กยิ่งดี เผ็ดด้วย งานเยอะด้วย พริกไทยก็ซื้อแบบเป็นเม็ด ๆ มาบดเอง เผ็ดด้วย ได้พริกไทยแท้ ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วย และที่สำคัญผู้ที่จะได้ทานนั้นย่อมได้ทานสิ่งที่ดีที่สุดด้วย

นี่เองคือความคิดหลักของผู้ให้ ผู้เสียสละ คือ คิดจะให้ผู้ที่ได้ทานนั้น "มีความสุข..."

เราไม่ได้ทำไส้กรอกนี้เพื่อหวังเงิน หวังสตางค์ เราทำงานด้วยจิตใจของผู้ให้ ผู้เสียสละ โดยหวังให้ผู้ที่ได้ทานนั้น "มีความสุข"

เมื่อสักครู่ระหว่างในยัดไส้กรอกกัน ก็เริ่มพูดคุยกันต่อว่า จะทานกับอะไรดี ต่างคนก็ต่างเสนอผักชนิดโน้นชนิดนี้ แต่ข้าพเจ้าคิดว่าได้ที เสนองานที่ยาก ๆ ไปเลย

"ทำขิงดองสิ..."

ทุกคนตอบว่า "ใช่" และก็วางแผนว่า พรุ่งนี้จะออกไปตลาดไปซื้อขิงมาดองกัน

ขอขยายความในการซื้อให้เห็นภาพเพิ่มเติม... การซื้อของ เช่นขิงนี้ ทุกคนออกเงินกันเองนะ อ้อ... ไส้เทียมไม่พอด้วย ทุกคนก็หาข้อมูลว่า ไส้เทียมมีขายที่ไหน และตรรกะเดิม "จ่ายเงินเองด้วยนะ" ข้าพเจ้าไม่มีเงินให้ ทุกคนที่คิด ต้องออกเงินเอง แต่ทุกคนก็พร้อมที่จ่ายเงิน จ่ายสตางค์ของตนเอง นำทรัพย์ภายนอก มาสร้างสั่งสมอริยทรัพย์ภายในจิตใจ ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อให้ผู้รับสัมผัสกับความสุขอย่างแท้จริง

งานทั้งหลายที่พูดมา มิได้รับผลตอบแทนเป็นเงินตรา หรือว่ารสชาดของอาหาร แค่ได้เห็นรอยยิ้มของผู้ที่ทำงาน ทุกอย่างก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

การให้ คือ ความสุข

การเสียสละ คือ ความดับทุกข์

รอยยิ้ม คือ เป้าหมายอันสูงสุด

ความงามอันมั่นคงถาวรที่สุด คือ ความงามที่จิตใจ...

หมายเลขบันทึก: 689266เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2021 17:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มีนาคม 2021 17:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท