ประแป้งไหมคะ : เธอรักช่วงเวลาแบบนี้ที่สุด (จริง ๆ หรอ?)


ประแป้งไหมคะ : เธอรักช่วงเวลาแบบนี้ที่สุด (จริงหรอ?)

เป็นหนังสือประเภทรวมเรื่องสั้นที่ไม่เพียงแต่ให้ความเพลิดเพลินและอรรถรสเพียงอย่างเดียว แต่การได้ขบคิดและเติบใหญ่ในโลกแห่งการสร้างสรรค์และจินตนาการของ “จเด็จ กำจรเดช”เจ้าของรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ปี พ.ศ.๒๕๖๓ และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆ เป็นเรื่องสั้นที่มีขนาดยาวประกอบด้วยเรื่องสั้น ๑๑ เรื่อง ในการวิจารณ์ครั้งนี้จะเป็นการวิจารณ์เรื่อง“ประแป้งไหมคะ” ซึ่งเป็นเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งใน ๑๑ เรื่อง ของหนังสือเล่มนี้

ประเด็นแรกที่จะกล่าวถึงในเรื่องประแป้งไหมคะคือการใช้ภาษาของ จเด็จ ซึ่งถือว่ามีลักษณะโดดเด่น ด้วยเนื้อเรื่องในเรื่องนี้จะเป็นเรื่องแนวไซบอร์กหรือหุ่นยนต์จึงทำให้เนื้อเรื่องมีคำทับศัพท์ค่อนข้างมาก เช่น อัพเกรด ไวไฟ เครดิตการ์ด ไฟล์ ฯลฯ ผู้อ่านจึงจำเป็นที่จะต้องรู้จักคำศัพท์เหล่านี้เพราะถ้าหากผู้อ่านไม่รู้จักหรือไม่เคยเห็นผ่านหูผ่านตามาเลย อาจจะทำให้เมื่ออ่านเรื่องแล้วเกิดความไม่เข้าใจเนื้อเรื่องหรือเข้าใจเนื้อเรื่องผิดแผกไป ซึ่งจะส่งผลให้ผู้อ่านเข้าใจแก่นเรื่องที่ผู้แต่งต้องสื่อไปอย่างผิดวิสัย จเด็จ ยังใช้ตัวละครที่เป็นหุ่นยนต์มาเป็นสัญญะแทนมนุษย์ในปัจจุบัน จึงทำให้เรื่องประแป้งไหมคะต่างออกไปจากเรื่องสั้นเรื่องอื่น ๆ ในหนังสือคืนปีเสือ นอกจากนี้ จเด็จ มักใช้ประโยคประชดประชัน “เธอกำลังจะตาย เธอรักช่วงเวลาแบบนี้เสมอ รักช่วงเลาที่ต้องดิ้นรน รักช่วงเวลาที่ต้องไขว่คว้า” (หน้า๑๔๒) หากพิจารณาดี ๆ จะพบว่าตัวละครเหล่านั้นไม่ได้หลงรัก ไม่ได้ต้องการชีวิตและสภาพความเป็นอยู่เช่นนี้แม้แต่น้อย จเด็จ ต้องการใช้ประโยคนี้ประชดชีวิตของตัวละคร ความเหลื่อมล้ำของสังคม ซึ่งตัวละครปาลที่เป็นภาพแทนของคนจนหรือคนชนชั้นรากหญ้า ที่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีวิตด้วยความยากลำบาก แม้ร่างกายเจ็บป่วยก็ไม่มีเงินที่จะไปรักษา เป็นการเสียดสีสังคมปัจจุบันได้อย่างดี ซึ่งสามารถทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันได้อย่างชัดเจน   

จเด็จ กำจรเดจ ในประแป้งไหมคะใช้กลวิธีการเปิดเรื่องโดยการบรรยายเหตุการณ์ของตัวละครปาล ซึ่งเป็นตัวละครครึ่งคนครึ่งหุ่นยนต์ในขณะที่เขากำลังใกล้ตาย “เธอมีเวลาอีกสามสิบนาทีเพื่ออัพเกรดโปรแกรม หรือไม่ก็ปล่อยให้อวัยวะทุกส่วนในร่างกายหยุดทำงาน” (หน้า๑๔๑) การเปิดเรื่องด้วยกลวิธีนี้สามารถนำผู้อ่านเข้าสู่เนื้อหาได้เป็นอย่างดี สามารถสร้างความสงสัยใคร่รู้ให้แก่ผู้อ่านว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับตัวละครปาล และส่งผลให้ผู้อ่านมีความสนใจและอยากที่จะอ่านเนื้อหาต่อไป

ประแป้งไหมคะ จเด็จ ใช้กลวิธีการดำเนินเรื่องโดยลำดับเวลาตามปฏิทิน เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามลำดับเวลาก่อนหลัง โดยใช้มุมมองการเล่าเรื่องผ่านตัวละครปาล ซึ่งการเล่าเรื่องตามลำดับเวลาของเหตุการณ์ทำให้ผู้อ่านไม่เกิดความสับสนกับลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง สามารถอ่านเรื่องเข้าใจได้โดยไม่ต้องอ่านหลาย ๆ รอบแม้จะเป็นผู้อ่านที่มีประสบการณ์ในการอ่านน้อยหรือมาก นอกจากการดำเนินเรื่องตามลำดับเวลาแล้วเรื่องนี้ยังพบการดำเนินเรื่องด้วยการย้อนอดีต (flashback) โดยการเล่าอดีตของตัวละคร “แอชคิดถึงช่วงเวลาที่เด็ก ๆ จะวิ่งออกไปที่สะพาน ปากร้องประแป้งไหมคะให้นักท่องเที่ยว แอชก็เคยเป็นแบบนั้น พี่สาวเขาด้วย” (หน้า๑๖๕) ซึ่งการเล่าถึงอดีตเช่นนี้สามารถทำให้ผู้อ่านเห็นภูมิหลังของตัวละคร สามารถเข้าใจถึงสาเหตุและเหตุผลที่ทำให้ตัวละครแอชมีลักษณะนิสัยที่เปลี่ยนไปจากตอนเด็กได้ดีมากขึ้น “ปลาไม่ตอบ เธอเพิ่งสิบหก ยังจำได้ดี ก่อนนั้นเธอเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ แต่โลกนี้ผ่าตัดดัดแปลงเธอตลอดเวลา” (หน้า๑๔๔) การเล่าถึงอดีตของตัวละครปาลสามารถสะท้อนสังคมได้ราวกับกระจกเงา ทำให้ผู้อ่านได้คิดตรึกตรองข้อเท็จจริงว่าโลกนี้หรือสังคมนี้ทำให้คนเปลี่ยนไปมากแค่ไหน บางคนต้องตัดความเป็นมนุษย์เพื่อให้อยู่ต่อได้ในโลกที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว สามารถทำให้ผู้อ่านได้มองย้อนตัวเองคิดทบทวนตัวเองเกี่ยวกับประเด็นนี้ได้มากขึ้น

ส่วนของการปิดเรื่อง จเด็จ ปิดเรื่องแบบสร้างความประหลาดใจแก่ผู้อ่าน จากที่ตัวละครแอชกำลังจะพาปาลซึ่งเป็นครึ่งคนครึ่งหุ่นยนต์ที่ยังคงมีหัวใจอยู่ ไปหามนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุดที่อยู่ในวังเพื่อจะเอาหัวใจของปาลใส่ให้ภรรยาของเขาที่ถูกแช่เอาไว้รอหัวใจเพื่อทำให้เธอมีชีวิตอีกครั้ง ซึ่งผู้อ่านมักจะคาดเดาตอนจบไปว่าปาลจะต้องตายและสูญเสียหัวใจเพราะถูกแอชหลอก แต่ จเด็จ ใช้ตอนจบแบบหักมุมโดยตัวละครแอชหักหลังและฆ่ามนุษย์ที่สมบูรณ์แบบคนนั้นเพราะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำ แอชไม่ต้องการให้มนุษย์มีวิถีแบบเดิม ซึ่งการปิดเรื่องแบบหักมุมเช่นนี้ จเด็จ สามารถทำได้ดีถึงแม้จะจบแบบหักมุก แต่เนื้อเรื่องก็ยังมีความสอดคล้องและมีความเป็นไปได้ สามารถสร้างความประหลาดใจให้กับผู้อ่าน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ทำให้โครงเรื่องเสียทิศทางหรือทำให้แก่นของเรื่องเปลี่ยนแปลงไป นอกจากการปิดเรื่องแบบหักมุมแล้ว จเด็จ ยังทิ้งท้ายด้วยประโยค “แอชจะรักช่วงเวลาแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน” (๑๖๖) ซึ่งทำให้ผู้อ่านได้ขบคิดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของประโยคนี้ ว่าตัวละครแอชรักช่วงเวลาแบบนี้จริง ๆ หรือ? ช่วงเวลาที่เขาต้องพบเจอกับความโหดร้ายของชีวิต สังคมทำให้เขาต้องปรับเปลี่ยนเติมแต่งตัวเองให้เป็นคนโหดร้ายเพียงเพราะโลกนี้มันโหดร้ายต่อเขาก่อน ซึ่งการปิดเรื่องโดยทิ้งคำถามไว้เช่นนี้นอกจากทำให้ผู้อ่านได้ขบคิดแล้ว ยังสามารถทำให้ผู้อ่านเห็นถึงแก่นเรื่องชัดเจนขึ้นอีกด้วย

เมื่อกล่าวถึงปมความขัดแย้ง จเด็จ สร้างปมความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ (man against man) ระหว่างตัวละครปาลและตัวละครแอช ที่มีความขัดแย้งกันในช่วงแรก ๆ ของเนื้อเรื่อง ในตอนที่ปาลเริ่มเชื่อและไว้ใจแล้วว่าแอชคือพวกเดียวกัน จึงบอกแอชว่าตนยังมีหัวใจอยู่ซึ่งขณะนั้นการที่ใครจะมีหัวใจอยู่เป็นสิ่งที่พบได้ยาก แต่แอชกลับประกาศแก่ไอบอทเหล่านั้นว่าปาลมีหัวใจ จึงทำให้ปาลถูกโน้มน้าวให้ไปพบมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งแอชบอกกับปาลว่าปาลจะได้รับการดูแลและสบายไปตลอดชีวิต อีกปมความขัดแย้งหนึ่งคือปมความขัดแย้งระหว่างแอชกับมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ เมื่อแอชพาปาลมาให้แก่มนุษย์สมบูรณ์แบบเขากลับรู้สึกว่าเขาทั้งสองมีความคิดที่ไม่ตรงกันจึงทำให้เกิดการทะเลาะกันขึ้น “โลกของแกจบเห่แล้วแอช ต่อให้แขนแกสวย จากวันนี้ไม่ใช่ยุคสมัยของแกแล้ว จบคือจบ แกจะไสหัวไปไหนก็ไป” (หน้า๑๖๐) ความขัดแย้งทั้งสองปมค่อย ๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนในที่สุดปาลก็ถูกควักหัวใจและรู้ว่าตนถูกแอชหลอกมาเพื่อที่จะเอาหัวใจ “ขณะเคลิบเคลิ้มอยู่ในฝันหวาน หัวใจเธอก็ถูกควักออกไป โดยมีแอชเป็นผ็ช่วยอย่างดี” (หน้า๑๖๒) ส่วนแอชก็ได้ฆ่ามนุษย์สมบูรณ์แบบด้วยมือเหล็กของเขาเพราะแอชคิดว่ามนุษย์สมบูรณ์แบบจะสร้างมนุษย์ขึ้นแต่แอชกลับถูกหลอกใช้ “เขาวางแผนมานานปี ถ้าเขาไม่ถูกมือเหล็กแทงทะลุหน้าอก มือที่อัพเกรดแล้วของแอชปักลอดกระดูกซี่โครงเสียบหัวใจพอดี” (หน้า๑๖๔) จึงถือได้ว่าการยุติของปมปัญหาทั้งสองปมเช่นนี้เป็นการคลายปม แม้จะเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมขึ้น แต่ทุกฝ่ายก็ได้รู้ความจริงของแต่ละฝ่าย แต่ผู้ที่น่าเห็นใจที่สุดคือปาลที่ไม่รู้เห็นเป็นใจกันแผนของทั้งสองแต่ต้องมาจบชีวิตของตนลง ซึ่งสะท้อนสังคมปัจจุบันอีกเช่นเคย ผู้ที่อ่อนแอ ไม่มีความรู้หรือผู้ที่ไม่มีอำนาจมักจะตกเป็นเหยื่อของผู้ที่อยู่เหนือกว่าเสมอ ทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงปัญหาในสังคมที่ไม่อาจแก้ได้นี้ว่าคนจนศึกษาเล่าเรียนมาน้อย จึงส่งผลให้ความรู้น้อยและมักตกเป็นเหยื่อของผู้ที่อยู่เหนือกว่าได้ง่าย เพียงแค่เสนอสิ่งที่ต้องการมาให้ก็หลงเชื่อเช่นเดียวกับปาล ถือได้ว่าการผูกปมเช่นนี้ของ จเด็จ สามารถทำให้ผู้อ่านได้ขบคิดในประเด็นดังกล่าวได้อย่างมาก

 ส่วนของตัวละคร จเด็จ ถือว่าสร้างตัวละครได้ดีเช่นกัน ตัวละครที่สำคัญอย่างมากและถือว่าเป็นตัวละครเอกในเรื่องที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้แก่นเรื่องดำเนินไปได้ตรงตามที่ จเด็จ ต้องการ คือ ตัวละครปาล ตัวละครปาลอาจดูเหมือนตัวละครน้อยลักษณะ (flat character) กล่าวคือตัวละครปาลไม่มีความซับซ้อน ไม่มีพัฒนาการทางลักษณะนิสัยไปตามเรื่องที่ดำเนิน เช่น ตอนที่ปาลถูกแอชหลอกจนยอมบอกว่าตนมีหัวใจ แต่ปาลก็ยังหลงเชื่อแอชอีกครั้งเมื่อแอชใช้กลอุบายหลอกปาลเพื่อจจะเอาหัวใจ แต่ถึงกระนั้นแม้ตัวละครปาลจะเป็นตัวละครน้อยลักษณะและเป็นตัวละครครึ่งคนครึ่งหุ่นยนต์ที่ไม่มีอยู่จริงในโลกความจริง แต่ จเด็จ สร้างตัวละครตัวนี้ได้อย่างสมจริงด้วยการสร้างลักษณะนิสัย พฤติกรรมของตัวละครที่มีความสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง ซึ่งตัวละครตัวนี้เป็นภาพแทนของคนจนที่เคยได้กล่าวไปข้างต้น ทำให้ผู้อ่านเห็นถึงการดูถูกเหยียดหยามจากผู้คนที่อยู่เหนือกว่า “พวกนั้นมองปาลด้วยสายตาเหยียดหยาม รักช่วงเวลาแบบนี้จัง” (หน้า๑๔๘) ซึ่งในปัจจุบันการดูถูกหรือในสมัยนี้มักใช้คำว่า บูลลี่ (bully) ผู้อื่นเพื่อให้ตนเองสูงกว่านั้น เป็นเรื่องที่พบเจอได้ง่ายในปัจจุบัน แน่นอนว่าไม่มีใครชอบช่วงเวลาที่ตนเองถูกดูถูก ปาลเองก็เช่นเดียวกัน ซึ่งสามารถทำให้ผู้อ่านเล็งเห็นถึงความโหดร้ายของการดูถูกผู้อื่น ซึ่งแนวคิดที่ จเด็จ แฝงเข้ามาในเนื้อเรื่อง

จเด็จ สร้างฉากเรื่องประแป้งไหมคะ โดยใช้ฉากเป็นเมืองนีโอสังขละ ซึ่งฉากที่ จเด็จ สร้างนี้ดัดแปลงมาจากสถานที่จริง คืออำเภอสังขละบุรี ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่โด่งดัง คือสะพานมอญ ซึ่งเป็นหนึ่งในฉากของจเด็จเช่นกัน และข้ามสะพานไปแล้วจะพบกับภูเขาที่มีพระราชวังโดมแก้ว ซึ่งสถานที่จริงคือ บ้านแม่น้ำ เป็นเกสต์เฮ้าส์ที่มีลักษณะหน้าต่างเป็นกระจกใสอยู่รอบ ๆ สามารถมองเห็นวิวบริเวณรอบ ๆ ได้อย่างดี การสร้างฉากจากสถานที่จริงเช่นนี้ทำให้ผู้อ่านมีความคุ้นเคยหรือหลายท่านอาจเคยไปสถานที่จริง สามารถสร้างแรงกระตุ้นในการอ่านให้แก่ผู้อ่านได้อย่างดี และเมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่ จเด็จ นำอำเภอสังขละบุรีมาเป็นฉากนั้น อาจเพราะว่าต้องการให้เข้าใจถึงบรรยากาศของวิถีชีวิตชาวบ้านที่อยู่ตามชนบท ที่ต่างออกไปจากวิธีชีวิตในพระราชวังโดมแก้ว ที่มีทั้งความสะดวกสบาย ฉากของสะพานมอญ จเด็จ ได้นำการร้องเรียกเชิญชวนนักท่องเที่ยว “ประแป้งไหมคะ” ของเด็ก ๆ บนสะพานมาเขียนในเรื่องและนำมาตั้งเป็นชื่อเรื่องด้วย สามารถทำให้ผู้อ่านเห็นถึงการนำเอาเอกลักษณ์ของผู้คนบริเวณมาช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวแต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปรผัน การให้เด็ก ๆ ประแป้งก็ต้องมีค่าประแป้งตอบแทนแก่เด็ก ๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งโดยปริยาย เมื่อเป็นเช่นนี้เด็ก ๆ เหล่านั้นก็ไม่ต่างอะไรจากเครื่องจักรที่คอยประแป้งให้นักท่องเที่ยวเพื่อแลกเงิน “นักท่องเที่ยวจ่ายเงินให้เด็กตอบแทน พวกเด็ก ๆ มีเครื่องตรวจเครดิต ขอแค่นักท่องเที่ยวมีเนื้อเยื่อหลงเหลือ แต่ปาลก็รู้พวกเด็ก ๆ ไร้ชีวิต พวกเธอถูกเปลี่ยนเป็นเครื่องจักรหมดแล้ว” (หน้า๑๕๖) ดังนั้นฉากในเรื่องประแป้งไหมคะจึงมีสำคัญต่อเนื้อเรื่องและมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเสนอแก่นเรื่องมีความชัดเจนขึ้น

เนื่องด้วยจเด็จเขียนเรื่องนี้ช่วงที่รัฐบาลประชุมสภาที่มีการพูดถึงคนจน ช่วงนั้นมีการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 300 บาท จึงทำให้แก่นเรื่องของเรื่องนี้ที่จเด็จต้องการสื่อคือ ชนชั้นชั้นทางสังคม ความเหลื่อมล้ำ ความลำบากของคนจน “นโยบายรัฐบาลผลักดันให้คนเปลี่ยนมาใช้เครดิตการ์ดสังคมไร้เงินสดถูกเสนอในสภา” (หน้า๑๔๔) รัฐบาลได้กำหนดนโยบายโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือเรียกอีกอย่างว่าบัตรคนจน โดยให้เงินช่วยเหลือเพียงเดือนละ 300 บาท ตามรัฐบาลกำหนด “เครดิตที่เอารหัสดีเอ็นเอเป็นประกันจะสั่งจ่ายเครดิตแต่ละครั้งต้องมีเลือดเนื้อเจ้าของบัญชีเพื่อยืนยันมนุษย์ค่อยค่อยศูนย์เลือดและเนื้อเยื่อชีวภาพไป” (หน้า๑๔๕) การที่จะได้รับเงินก็ต้องแลกมาด้วยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือแลกมาด้วยศักดิ์ศรี ผู้คนชนชั้นรากหญ้าถูกตราหน้าว่าเป็นคนจน จเด็จต้องการสื่อถึงคนจนที่แม้จะจนจริง ๆ แต่ไม่ควรถูกย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นคนที่มีเท่ากันทุกคนไม่ว่าจนรวยหรือจน สามารถทำให้ผู้อ่านได้ขบคิดว่าไม่มีใครรักและชอบช่วงชีวิตที่ลำบาก ชีวิตที่ถูกเหยียดยาม ชีวิตที่ต้องแลกความอยู่รอดมาด้วยศักดิ์ศรี ซึ่งแก่นเรื่องที่จเด็จต้องการนำเสนอนี้ถือเป็นประเด็นที่สดใหม่ และสามารถ ส่องสะท้อนสังคมได้อย่างแจ่มชัด

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของเรื่องแล้ว จึงสามารถกล่าวได้ว่าเรื่องสั้น “ประแป้งไหมคะ” ด้วยงานเขียนที่มีเนื้อหาสดใหม่ทันสมัย มีความโดดเด่นและความแปลกใหม่ จึงเป็นงานเขียนอีกเรื่องหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ที่ยืนยันความสามารถ ของ “จเด็จ กำจรเดช” ผู้แต่งหนังสือรวมเรื่องสั้น “คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์ต่าง ๆ” ที่มีลักษณะการเขียน การวางโครงเรื่องอย่างพิจารณามาเป็นอย่างดี ใช้กลวิธีการเขียนแนวใหม่ที่ไม่ซ้ำกับใคร ตัวละคร โครงเรื่อง ตัวละคร ฉากและแก่นเรื่องถูกสร้างมาอย่างสมจริง เสียดสีสังคมอย่างมีเหตุผล สามารถทำให้ผู้อ่านเพลิดเพลินไปกับเนื้อเรื่อง พร้อมกับได้รับข้อคิดที่แฝงมาให้ผู้อ่านได้วิเคราะห์อยู่ตลอดทั้งเรื่อง

หมายเลขบันทึก: 689164เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2021 00:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2021 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท