ข่าวว่านกจะมา : จากข่าวลือสู่ความจริงของนก


“ผมต้องฟังเรื่องตัวเองจากคนอื่น พวกนั้นรู้เรื่องของเราดีกว่าตัวเราอีก ที่ผมพูดทั้งหมดนี้ก็ฟังเขาว่ามาเหมือนกัน” (หน้า๑๓๘)


ข่าวว่านกจะมา : จากข่าวลือสู่ความจริงของนก

คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆเป็นหนังสือประเภทรวมเรื่องสั้นที่ไม่เพียงแต่ให้ความเพลิดเพลินและอรรถรสเพียงอย่างเดียว แต่การได้ขบคิดและเติบใหญ่ในโลกแห่งการสร้างสรรค์และจินตนาการของ “จเด็จ กำจรเดช” เจ้าของรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ปี พ.ศ.๒๕๖๓ และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆ เป็นเรื่องสั้นที่มีขนาดยาวประกอบด้วยเรื่องสั้น ๑๑ เรื่อง มีการสร้างสัญญะโดยใช้สัตว์สื่อความหมายต่าง ๆ ในการวิจารณ์ครั้งนี้จะเป็นการวิจารณ์เรื่อง “ข่าวว่านกจะมา” ซึ่งเป็นเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งใน ๑๑ เรื่อง ของหนังสือเล่มนี้

การเปิดเรื่องผู้เขียนเลือกใช้วิธีการอธิบายถึงลักษณะการเจริญเติบโตของนก ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความสัมพันธ์กับชื่อเรื่อง “ตอนแรกขนอ่อนจะงอกจากนิ้วมือ ขนอ่อนค่อย ๆ กลายเป็นขนเต็มสีดำขลับสะท้อนไฟ จากนั้นอวัยวะที่มีขนนั้นแยกออกขนาดเท่า ๆ ตัวนก” (หน้า๖๙) จัดเป็นกลวิธีเปิดเรื่องที่น่าสนใจที่สามารถทำให้ผู้อ่านเห็นถึงจุดเริ่มต้นของนกก่อนจะโผบินสู่ท้องฟ้า นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในประวัติศาสตร์ของเขมรแดงหรือกองกำลังคอมมิวนิสต์กัมพูชาในสมัยนั้น “ทั้งหมดที่เกิดขึ้นแค่ชั่ววินาทีก่อนที่กระสุนจากทหารเขมรแดงพุ่งพ้นปากกระบอกปืน”(หน้า๖๙) การแทรกเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีตไว้ในเนื้อเรื่องสามารถเร้าอารมณ์ความรู้สึกสะเทือนใจในเหตุการณ์เขมรแดงของผู้อ่านได้อย่างดี แต่ถึงอย่างนั้นการแทรกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เช่นนี้ ผู้อ่านก็จำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานในเรื่องเขมรแดงอยู่บ้าง หากผู้อ่านไม่มีความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ก็อาจจะทำให้เกิดความสับสนและไม่สามารถเข้าใจเนื้อเรื่องได้อย่างครบถ้วน

การดำเนินเรื่องถือว่าทำได้ดี“ข่าวว่านกจะมา” เป็นเรื่องสั้นที่มีขนาดยาวมากเรื่องหนึ่ง แต่ผู้แต่งก็ได้มีการตั้งชื่อบทขึ้นในแต่ละใจความสำคัญของเรื่อง ทำให้ผู้อ่านสามารถทราบได้ว่าในส่วนนี้ผู้แต่งกำลังจะกล่าวถึงอะไร ผู้แต่งใช้กลวิธีการดำเนินเรื่องแบบตัดสลับเหตุการณ์ประกอบกับการใช้คำ “เขาว่า” ในการขึ้นต้นย่อหน้าในเกือบทุกย่อหน้าของเรื่อง “เขาว่าผมย้อนกลับไปเกาะกงในอีกสองวันเพราะอยากรู้เรื่องราวของหญิงร่ำรวยที่สุดในเกาะกง”(หน้า๙๐) “เขาว่านกนางแอ่นเริ่มบินวนมากขึ้นแล้ว” (หน้า๑๐๕) ถือเป็นกลวิธีการดำเนินเรื่องได้อย่างน่าติดตาม สามารถทำให้ผู้อ่านอยากรู้ความหมายแฝงที่ผู้แต่งต้องการจะสื่อ การดำเนินเรื่องเช่นนี้จึงกลายเป็นจุดเด่นของเรื่อง

การปิดเรื่องในเรื่องข่าวว่านกจะมา มีการปิดเรื่องที่เสียดสีสังคมในปัจจุบันได้อย่างดี โดยจะเห็นได้จากการดำเนินเรื่องของผู้แต่งแล้วว่ามักจะใช้คำ “เขาว่า” ขึ้นต้นย่อหน้าในหลาย ๆ ย่อหน้า ในการปิดเรื่องทำให้เห็นว่าสิ่งที่ตัวละครผมได้เล่าเรื่องของตัวเองมาทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องที่ผมฟังจาก “เขา” มาอีกที ซึ่งอาจเป็นเรื่องจริงเท็จมากแค่ไหนก็ไม่มีใครทราบ หรือเป็นเพียงข่าวลือกันมาโดยไม่มีมูลเหตุ “ผมต้องฟังเรื่องตัวเองจากคนอื่น พวกนั้นรู้เรื่องของเราดีกว่าตัวเราอีก ที่ผมพูดทั้งหมดนี้ก็ฟังเขาว่ามาเหมือนกัน”(หน้า๑๓๘) จากข้อความนี้สามารถสะท้อนสะคมได้อย่างชัดเจนและเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้อ่านอาจพบเจอได้อยู่บ่อยครั้ง หรือผู้อ่านหลายท่านอาจจะเคยเป็น “เขา” ในเรื่อง ที่พูดเรื่องผู้อื่นเพียงแค่เห็นเป็นเรื่องสนุก โดยไม่ได้คำนึงถึงความจริงและความรู้สึกของผู้อื่น การปิดเรื่องเช่นนี้จึงสามารถทำให้ผู้อ่านได้ขบคิดและเข้าใจถึงแก่นของเรื่องที่ผู้แต่งต้องการสื่อได้ดีมากยิ่งขึ้น

ปมความขัดแย้งในเรื่องเป็นปมความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั่นคือ ผมและภรรยา โดยตัวละครทั้งสองจะทะเลาะกันอยู่บ่อยครั้ง “หลังทะเลาะกันครั้งใหญ่ ผมและเธอได้หย่ากันในที่สุด ซึ่งนั่นเป็นเพราะผมคิดได้ว่าไม่อยากอยู่กับเธอแล้ว อาจเป็นเพราะเธอบอกผมให้ไปตายไกลๆ เธอเกลียดผมแล้ว” (หน้า๘๑) ซึ่งสาเหตุของการหย่ากันส่วนหนึ่งมาจากลักษณะนิสัยของทั้งสองที่ต่างกันมาก แต่สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ภรรยาตัดสินใจหย่าหลังจากที่ทั้งสองทะเลาะกันบ่อยครั้ง ภรรยารู้ว่าผมนอกใจเธอไปมีผู้หญิงคนอื่น “เมื่อเธอจับได้ว่าผมไปมีผู้หญิงอื่น เธอก็โกรธ เมื่อผมกลับมาเราก็ทะเลาะกันแล้วหย่ากัน” (หน้า๑๐๘) การสร้างปมความขัดแย้งของผู้แต่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาชีวิตคู่ของสามีภรรยาที่เกิดขึ้นมากในสังคมปัจจุบันได้อย่างดี

ความขัดแย้งอีกปมหนึ่งเป็นปมความขัดแย้งภายในจิตใจของตัวละครผม ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่ผู้แต่งไม่ได้บอกออกมาโดยตรง แต่ผู้อ่านก็สามารถรับรู้ได้จากน้ำเสียงของตัวละคร “บ้านของผมก็มีบางอย่างหายไป ผมคิดขณะถือแก้วกาแฟยืนดูงาน” (หน้า๗๖) หลังจากที่ผมบอกให้ภรรยาลองออกไปเที่ยวดูบ้าง เขาเริ่มรู้สึกว่าบางอย่างในชีวิตเขาขาดหายไป เป็นสิ่งที่เขาไม่เคยสนใจและใส่ใจมาตลอด เมื่อภรรยาไม่อยู่ทำให้เขารับรู้ถึงความรู้สึกโดดเดี่ยวแบบเดียวกับที่ภรรยเขาเคยรู้สึกมาตลอดหนึ่งปีที่เขาไม่อยู่

การหน่วงเรื่องผู้แต่งสามารถทำได้ดีพอสมควร ผู้แต่งใช้อินสตาแกรมเข้ามาใช้ในการหน่วงเรื่อง การใช้สื่อโซเชียลเข้ามาช่วยในการเล่าเรื่องทำให้ตัวละครและเนื้อเรื่องมีความทันสมัย ทำให้สามารถเข้าถึงผู้อ่านในยุคปัจจุบันได้อย่างดี ผู้แต่งบอกเล่าเรื่องราวของภรรยาในช่วงที่หายไปผ่านรูปภาพในอินสตาแกรมของภรรยาที่ละรูป ทำให้ผมรู้ว่าภรรยาได้ออกเดินทางตามหนังสือ “ฮาวทูฟราย” ของเขาที่เคยเขียนขึ้น ในขณะเดียวกันที่รูปภาพปรากฎที่ละรูปก็เริ่มมีฝูงนกนางแอ่นบินมาที่บ้านผมเรื่อยๆ การหน่วงเรื่องเช่นนี้ทำให้เนื้อเรื่องทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ สามารถสะกดผู้อ่านให้อยู่กับเรื่องได้เป็นอย่างดี

เมื่อรูปสุดท้ายในอินสตาแกรมของภรรยาปรากฏขึ้น ซึ่งเป็นรูปถ่ายบ้านของผมและภรรยา ถือได้ว่าเป็นจุดยอดของเรื่อง ผมมีโอกาสได้คุยกับภรรยาผ่านทางคอมเม้นต์รูปภาพในอินสตาแกรมทำให้ผมได้รู้เรื่องราวของภรรยาอยู่บ้าง หลังจากรูปสุดท้ายปรากฏขึ้นนกก็เริ่มบินอพยพมาฝูงแรก “มากันแล้วนกอพยพฝูงแรก บินว่อนจนฟ้าดำมืดเหมือนกลางคืน พวกมันบินวนเต็มท้องฟ้าเหนือบ้านของผม” (หน้า๑๑๓)

ข่าวว่านกจะมา ไม่พบการคลายปมปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นเรื่องสั้นที่ผู้แต่งไม่ได้เขียนขึ้นโดยยึดตามองค์ประกอบของโครงเรื่องทั้งหมด แม้จะไม่มีการคลายปมของปัญหาแต่ก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าและแก่นสารที่ผู้แต่งต้องการจะสื่อถูกลดทอนแต่อย่างใด กลับกลายเป็นลักษณะเด่นที่ทำให้เรื่องมีความแปลกใหม่ ไม่ซ้ำซาก จำเจ

การจะทำให้เรื่องสั้นเป็นเรื่องที่ดีนั้นไม่เพียงแต่มีแก่นเรื่องที่น่าสนใจหรือโครงเรื่องที่ดึงดูดผู้อ่านเพียงอย่างเดียว การสร้างตัวละครตัวละครอย่างมีประสิทธิภาพก็มีความจำเป็นเช่นกัน ตัวละคร คือบุคคลที่ผู้แต่งสร้างขึ้นมาเพื่อให้กระทำพฤติกรรมในเรื่อง เพื่อเรื่องให้ดำเนินไปตามทิศทางที่ผู้แต่งต้องการ

ตัวละครผม ผู้แต่งเล่าเรื่องผ่านสายตาของตัวละครผมซึ่งเป็นตัวหลักของเรื่อง มีลักษณะตัวละครแบบหลายมิติ ตัวละครมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ทั้งด้านอารมณ์ จิตใจ ตลอดจนพฤติกรรมของตัวละคร “อย่างน้อยตอนนี้เธอน่าจะรู้ซึ้งถึงความคิดถึง เหมือนที่ผมเริ่มรู้ว่าคนอยู่บ้านก็ไม่สนุกนัก” (หน้า ๑๑๐) “ผมเริ่มรู้ว่าเธอเหนื่อยแค่ไหนกับการที่ต้องอยู่บ้านดูแลลูก ผมจึงเริ่มเข้าใจว่าชีวิตคนมีสองด้านจริง ๆ” (หน้า๑๑๐) จะเห็นได้ว่าตัวละครผมเป็นตัวละครที่มีความสมจริง มีความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรม ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์เฉกเช่นราวกับคนจริง ๆ

ตัวละครผมมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อแก่นเรื่อง ช่วยให้ผู้แต่งถ่ายทอดแก่นเรื่องได้ตรงตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้อย่างสมบูรณ์ ผู้แต่งแนะนำตัวละครผมโดยใช้คำ “เขาว่า” ในการแนะนำตัวละคร เขาว่าผมนอนอยู่ที่ลานกว้างข้างแม่น้ำ บนก็อี้พับ สวมแว่นตาดำ มีหูฟังอันใหญ่สีฟ้าครอบหูตลอดเวลา เขาว่าผมไม่ได้หูหนวกแต่ก็ใกล้เคียง(หน้า๗๓) เป็นการแนะนำตัวละครโดยให้ตัวละครพูดถึงตนเองแต่เป็นในแง่มุมที่รับฟังผู้อื่นพูดถึงตนเอง ถือได้ว่าเป็นกลวิธีที่แปลกใหม่ ไม่น่าเบื่อ ทำให้ตัวละครมีความน่าสนใจและชวนติดตาม ทั้งยังมีความสัมพันธ์และชี้ให้เห็นแก่นเรื่องอีกด้วย

ตัวละครภรรยาจัดเป็นตัวรองที่มีความสำคัญอย่างมาก นอกจากจะช่วยส่งเสริมให้ตัวละครหลักอย่างตัวละครผมมีบทบาทที่เด่นชัดขึ้นแล้ว ตัวละครภรรยายังมีบทบาทสำคัญต่อแก่นเรื่องเช่นกัน หากขาดตัวละครภรรยาอาจส่งผลให้เนื้อหาและแก่นเรื่องที่ผู้แต่งต้องการสื่อไม่สมบูรณ์ตามที่ตั้งใจไว้ ผู้แต่งใช้กลวิธีแนะนำตัวละครโดยใช้คำ “เขาว่า” เหมือนเช่นเคย ใช้ตัวละครเอกหรือผมเป็นผู้บอกเล่าถึงลักษณะนิสัย บุคลิกต่าง ๆ ของภรรยา เห็นได้จากตัวละครผมมักจะกล่าวถึงเรื่องราวต่าง ๆ ของภรรยา ทำให้ผู้อ่านได้รู้จักตัวละครภรรยาผ่านมุมมองของตัวละครผม “เขาว่าเธอเป็นครูโรงเรียนประถม ไม่ใช่คนมีระเบียบเรียบร้อย เธอจึงไม่ได้ดูแลบ้านช่องให้ดี(หน้า๙๘) ตัวละครภรรยาถือได้ว่าเป็นตัวละครที่มีความสมจริงอีกตัวหนึ่ง เนื่องจากตัวละครมีพัฒนาการทางด้านลักษณะนิสัยอย่างเห็นได้ชัด “เธอไม่เคยมั่นใจมากเท่าที่ข้อความนี้แสดงออกมา หนังสือพวกนั้นทำให้เธอเปลี่ยนไปจริงหรือ เธอกลายร่างเป็นอะไรไปแล้ว” (หน้า๑๑๕)

ด้านแนวคิดหรือแก่นเรื่อง ผู้แต่งมีเจตนาที่จะชี้ให้เห็นถึงความจริงในความลวงของคำยอดฮิต “เขาว่า” เมื่อมีคำนี้ขึ้นต้นประโยคจะสามารถทำให้ผู้ฟังสนใจใคร่รู้เรื่องราวมากเป็นพิเศษการแต่งสี เติมกลิ่นเพื่อให้ได้ “รส” ตามที่ใจปรารถนา ก็เช่นเดียวกับ “ข่าวลือ” ที่ผู้พูดมักจะแต่งเติมเรื่องราวจริงเท็จปะปนกับไป เพื่อให้ได้อรรถรสตามที่ตนต้องการ

แก่นเรื่องของเรื่อง “ข่าวว่านกจะมา” เป็นกระจกเงาที่สะท้อนสังคมปัจจุบันที่หาความจริงได้ยาก ผู้แต่งใช้คำ “เขาว่า” ในการเสียดสีสังคมที่มักจะใช้คำนี้ในการหลีกเลี่ยงที่จะบอกแหล่งที่มาของข้อมูลที่ได้รับหรือจริง ๆ แล้ว อาจจะไม่รู้ที่มาจริง ๆ ของข้อมูลเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย ไม่รู้ว่าข้อมูลนั้นมีความจริงเท็จแค่ไหนคงเพราะได้ฟังต่อ ๆ กันมา แล้วนำเล่าต่อกันแพร่กระจายเป็นข่าวลือในที่สุด ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า การเสพข่าวง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว การเผยแพร่หรือส่งต่อเพียงแค่กดแชร์ เช่นเดียวกับในเรื่องที่ผู้แต่งได้หยิบยกการโพสต์รูปในอินสตาแกรมมาแทรกในเนื้อเรื่อง “เขาว่ามาทั้งนั้นว่าเมืองนั้นสวยเมืองนั้นดี คุณก็ต้องไปเที่ยวและบอกต่อ คุณจะถ่ายรูปผมไปลงอินสตาแกรมก็ได้นะ คุณอาจเอาเรื่องผมไปเล่าต่อ” (หน้า๑๓๘) การส่งต่อข่าวสารต่าง ๆ ควรจะไตร่ตรองพิจารณอย่างถี่ถ้วนให้ดีเสียก่อน หากไม่เป็นความจริงอาจทำให้ผู้ที่เป็นต้นเรื่องเช่นเดียวกันกับตัวละครผมได้รับผลกระทบได้

นอกจากแก่นเรื่องที่สะท้อนสังคมแล้ว “ข่าวว่านกจะมา” เสียดสีประเด็นสังคมอยู่หลายประเด็น ทั้งความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ การกระทำเพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทน ผู้แต่งใช้นกเป็นสัญญะแทนคนหรือคนแทนนกในลักษณะของความคิดและจินตนาการของตัวละครผม ผู้แต่งกล่าวถึงการอพยพของนกนางแอ่นที่อพยพในทุก ๆ ปี ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันการเก็บรังนกนางแอ่นขายถูกปฏิบัติสืบทอดกันมาตลอด “ผมอาจจะชวนคุยเรื่องที่นกสร้างรังปีละสองครั้ง หลังถูกขโมยไปจนมันต้องสร้างรังที่สามซึ่งมีเลือดเพิ่มเข้ามา” (หน้า๗๔) จะเห็นได้ว่าความจริงแล้วนกต้องเร่งสร้างรังที่สามขึ้นโดยมีเลือดปนมาด้วย รังนกรอบที่สามหรือรังนกสีเลือดนี้จะมีราคาสูงกว่ารังนกที่เก็บรอบหนึ่งและสอง นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้คนต้องเก็บรังนกถึงสามครั้งในขณะที่นกสร้างรังได้เพียงสองครั้งและทำให้คนทำรังนกสีเลือดปลอมขึ้นมาโดยการทาสีแดง ก็เพราะความละโมบโลภมากทั้งสิ้น ในปัจจุบันมีการสร้างบ้านเพื่อให้นกนางแอ่นเข้ามาทำรัง เพื่อต้องการเก็บรังนกไปขาย “เริ่มจากเมื่อไหร่ที่ผู้คนรู้สึกดีใจเมื่อนกมาทำรังในบ้าน มีตึกหลายตึกปิดร้าง แต่พวกเขาเหล่านั้นยินดีที่สุดแล้วเมื่อไหร่กันที่คนสร้างตึกใหม่เพื่อให้นกทำรัง”(หน้า๑๓๒) ช่วงแรกคนไม่ได้ยินดีให้นกมาอยู่โดยหลายคนมองว่านกเป็นพาหะนำเชื้อโรคต่าง ๆ แต่เมื่อพบว่าการให้นกเข้ามาอยู่สามารถสร้างรายได้อย่างมหาสาร การสร้างตึกเพื่อให้นกมาอยู่จึงเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ผู้แต่งได้กล่าวถึงความจริงของการใช้นกทำธุรกิจ การใช้ประโยชน์จากนกในเชิงการท่องเที่ยวโดยให้นกเป็นเอกลักษณ์ของสถานที่“เขตเบตงมีนกเกาะสายไฟเป็นหมื่นรอนักท่องเที่ยวถ่ายรูป ต้องยกเลิกโครงการฝังสายไฟลงดินเพราะจะไม่มีที่ให้นกพวกนั้นเกาะ นักท่องเที่ยวจึงยังได้ถ่ายรูปนกเกาะสายไฟอัพลงอินสตาแกรม” (หน้า๑๓๔) ผู้แต่งสะท้อน “ความจริง” ของนกที่ถูกเหล่ามนุษย์กระทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อหาผลประโยชน์ แต่ความจริงก็ไม่ใช่แค่กับนกแต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถให้ประโยชน์แก่มนุษย์ได้ การที่ผู้แต่งนำประเด็นนี้มาตีแผ่สามารถทำให้ผู้อ่านย้อนกลับไปมองตนเองและวิเคราะห์เรื่องด้วยความคิดที่ต่างออกไปจากเดิม ช่วยขัดเกลาผู้อ่านได้เป็นอย่างดี

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของโครงเรื่อง ตัวละครและแก่นเรื่องแล้ว กล่าวได้ว่าเรื่องสั้น “ข่าวว่านกจะมา” เป็นงานเขียนอีกเรื่องหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ที่ยืนยันความโดดเด่น ความแปลกใหม่ ของ “จเด็จ กำจรเดช” ผู้แต่งหนังสือรวมเรื่องสั้น “คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์ต่าง ๆ”  ผู้แต่งมีลักษณะการเขียน การวางโครงเรื่องอย่างพิจารณามาเป็นอย่างดี ใช้กลวิธีการเขียนแนวใหม่ที่ไม่ค่อยซ้ำกับใคร ตัวละครและแก่นเรื่องถูกสร้างมาอย่างสมจริง เสียดสีสังคมอย่างมีเหตุผล ผู้อ่านสามารถเพลิดเพลินไปกับเนื้อเรื่องได้ตลอดทั้งเรื่องพร้อมกับได้รับข้อคิดที่แฝงให้ผู้อ่านได้คิดวิเคราะห์อยู่เกือบทุกบรรทัด

หมายเลขบันทึก: 689163เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2021 00:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2021 00:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท