ใต้ฉากหลังสัปเหร่อรุ่นสอง : เคล็ดลับทำเรื่องบ้าน ๆ ให้ฟรุ้งฟริ้งฟลามิงโก


ใต้ฉากหลังสัปเหร่อรุ่นสอง : เคล็ดลับทำเรื่องบ้าน ๆ ให้ฟรุ้งฟริ้งฟลามิงโก

‘สัปเหร่อรุ่นสอง’ หนี่งในสิบเอ็ดเรื่องสั้นจากรวมเรื่องสั้น คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ” ของ จเด็จ กำจรเดช นักเขียนหนุ่มใหญ่    ไฟแรง ที่ได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน   หรือรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓  ในเรื่องสั้นนี้เห็นภาพของเรื่องบ้าน ๆ ซ้ำซากจำเจจน   อาจเป็นที่น่าเบื่อหน่ายในหมู่นักอ่าน ถูกปรับประยุกต์วิธีการเล่าเรื่องให้เข้ากับเรื่องเล่าร่วมสมัยและบริบทของโลกยุคดิจิทัลปัจจุบันอย่างโดดเด่น

มองย้อนกลับไปที่เรื่องสั้น ‘มีเป็ดบนหลังคา’ ที่ได้วิจารณ์ไว้ว่า โครงเรื่องมีความแปลกใหม่ ไม่ยึดขนบการแต่งเรื่องสั้นแบบเดิม ซึ่งเป็นหนึ่งในรวมเรื่องสั้น คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ” เช่นเดียวกับเรื่องสั้นนี้ ส่วนตัววาดภาพก่อนลงมือวิจารณ์ไว้ว่าเรื่องสั้น ‘สัปเหร่อรุ่นสองก็คงเป็นเรื่องที่แหวกขนบเดิมในการแต่งเรื่องสั้นเช่นเดียวกัน คำตอบนี้ก็กระจ่างชัดแจ้งทันทีเมื่ออ่านจบทั้งเล่มของรวมเรื่องสั้นนี้ เพราะพบว่า เรื่องสั้นทุกเรื่องแหวกขนบในการแต่งเรื่องสั้นแบบเดิมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการผูกโครงเรื่อง ตัวละคร และกลวิธีการเล่าเรื่อง เป็นต้น ซึ่งขอยอมรับแต่โดยดีว่าเป็นงานยากและสร้างความท้าทายแก่ผู้วิจารณ์อยู่ไม่น้อย เหตุเพราะคุ้นชินกับงานวรรณกรรมแบบเดิม ยังมิคุ้นชินกับแนวการเขียนวรรณกรรมที่แปลกใหม่แบบนี้


จเด็จ กำจรเดช วางโครงเรื่องอย่างซับซ้อน มีโครงเรื่องย่อยซ้อนโครงเรื่องย่อยระหว่างเรื่องราวของชายหนุ่มที่มาสร้างเรือพนมพระกับเรื่องราวที่เขาจะแต่งขึ้นจากเค้าเรื่องของครอบครัวจ่าทวย ทว่าโครงเรื่องกลับมิได้มุ่งเน้นความสำคัญของเรื่อง ลักษณะแบบนี้เรียกว่าเป็นโครงเรื่องแบบใหม่หรือแบบเปิด (Open Plot) ซึ่งสร้างความรู้สึกในทำนองเดียวกับงานเขียนแบบต้านโครงเรื่อง (Anti-plot) ที่ทำให้ผู้อ่านมักจับต้นชนปลายไม่ถูก แบบถ้าไม่เก่งจริง อ่านเรื่องไปมีโอกาสหลงหลุมพรางที่ผู้เขียนวางไว้ได้ เพราะโครงเรื่องไม่เน้นความเป็นเหตุเป็นผลกัน ไม่มีการผูกปมปัญหาของเรื่อง ไม่มีการพัฒนาเรื่องไปสู่จุดสุดยอด (Climax) แต่มุ่งแสดงความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของตัวละครเป็นหลัก เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจสภาวะของตัวละคร และที่สำคัญช่วยให้ผู้อ่านเข้าถึงเจตนาของเขาได้อย่างเต็มที่และได้มุมมองที่มากกว่าเรื่องที่กำลังอ่าน

กลวิธีการดำเนินเรื่องนับว่าเป็นส่วนสำคัญยิ่งลำดับแรกที่จะดึงดูดความสนใจผู้อ่านได้ และ จะช่วยให้ผู้เขียนสามารถถ่ายทอดความคิดและประสบการณ์ให้ผู้อ่านรับสารเหล่านั้นได้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามเจตนาของผู้เขียน ซึ่งในเรื่องสั้นเรื่องนี้ จเด็จ กำจรเดช แฝงเจตนาในการส่งสารที่แท้จริงของตนไว้ นั่นก็คือ การแนะนำเทคนิควิธีการเขียนเรื่องสั้นให้มีความแปลกใหม่โดดเด่น ผ่านพื้นที่วรรณกรรมเรื่องสั้นนี้อย่างแนบเนียน ทั้งนี้อาจหมายถึงแนะนำวิธีการเขียนนวนิยายด้วย เพราะสิ่งที่แนะนำก็คือส่วนประกอบของโครงเรื่อง เช่น การเปิดเรื่อง สร้างตัวละคร ผูกปม คลายปม การปิดเรื่อง อีกทั้งเรื่องสั้นและนวนิยายก็ถูกจัดให้เป็นวรรณกรรม

เจตนาของจเด็จ กำจรเดช นับว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่น่ายินดีของแวดวงวรรณกรรมที่  กำลังซบเซา เพราะเป็นการสร้างความน่าสนใจให้กับวรรณกรรม ด้วยวิธีการนำเสนอการเล่า  เรื่องแบบใหม่ ๆ ที่ไม่ได้ยึดกฎเกณฑ์หรือสูตรสำเร็จของการเล่าเรื่องตามโครงสร้างแบบเดิม  อาจสร้างความฉงนสนเท่ห์ให้แก่ผู้อ่านที่ยังติดกรอบของขนบการแต่งเรื่องสั้นแบบเก่าได้ โดยนำเสนอผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ของตนเองอย่างลงตัว อันได้แก่ การวางโครงเรื่อง การสร้างตัวละคร การใช้บทสนนทนา การบรรยายความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร หรือแม้แต่ฉากและบรรยากาศ อันเป็นรายละเอียดสำคัญที่จะขาดไม่ได้ล้วนแต่ถูกนำมาปรับประยุกต์ให้แปลกใหม่ ล้ำสมัย จนส่งผลให้เรื่องสั้นนี้มีความซับซ้อนเป็นที่น่าสนใจและท้าทายมากขึ้น

ดำเนินเรื่องด้วยตัวละคร “ผม” ซึ่งเป็นตัวละครเอก ทำหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดภายในตัวบท เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวละครภายในเรื่องผ่านมุมมองหรือน้ำเสียงของตัวละคร “ผม” ซึ่งสอดคล้องเหมาะสมกับการวางโครงเรื่องข้างต้น เพราะการเลือกใช้มุมมอง “ผม” เล่าเรื่องช่วยเน้นไปที่ความคิดของตัวละคร เห็นการเติบโตทางความคิดของตัวละคร แต่ก็มีข้อเสียหรือข้อจำกัดด้วย ก็คือ ผู้อ่านต้องสวมรอยเป็นตัวละครตัวนั้นให้แนบเนียน และผู้อ่านจะโดนจำกัดให้ต้องรับรู้เรื่องราวเหตุการณ์ในมุมมองของตัวละครเพียงตัวเดียวเท่านั้น

เหตุการณ์ของเรื่องเริ่มที่ตัวละครผมมารับจ้างทำเรือพนมลากพระจนได้พบกับเหตุการณ์เรื่องราวของสังคมใกล้วัดเกี่ยวกับครอบครัวของ จ่าทวย เมื่อตัวละครผมได้รู้จักกับตัวละครน้องธีหนุ่มอนามัยที่กำลังสนใจการเขียนเรื่องสั้นอยู่ น้องธีขอร้องให้ช่วยแนะนำการเขียนเรื่องสั้น โดยนำเอาเค้าเรื่องมาจาก ‘ครอบครัวของจ่าทวย’ มาเขียนเป็นเรื่องสั้น จากนั้นตัวละครผม กับน้องธี  ได้ปรึกษาการเขียนเรื่องสั้นตลอดมา ตัวละครผมจึงเป็นตัวละครสำคัญที่มีหน้าที่หลักในการถ่ายทอดเจตนาของ จเด็จ กำจรเดช ผ่านน้ำเสียงของตัวละครในเรื่องสู่ผู้อ่าน ดำเนินเรื่องแบบตัดสลับเหตุการณ์ระหว่างเหตุการณ์จริงในเรื่องสั้นกับเหตุการณ์ที่ตัวละครผมวาดภาพเรื่องที่จะแต่ง อีกทั้งใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบเหนือจริง โดยนำเอาเรื่องตำนานปลาอานนท์มาเล่า ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนของเรื่องสั้น จนอาจเป็นกับดักที่ทำให้ผู้อ่านตกหลุมพรางของเรื่องได้ง่าย เพราะเรื่องมีความซับซ้อนกันหลายชั้น ซึ่งยุ่งยากต่อการทำความเข้าใจเรื่อง ต้องพะวงกับการแยกว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริงในเรื่องและเรื่องไหนที่กำลังจะแต่งเรื่องกันแน่ นับว่าเป็นการสร้างความท้าทายใหม่ให้ผู้อ่านตื่นตัวอย่างมาก

นอกจากตัวละครเอกจะเป็นผู้เล่าเรื่องแล้ว ยังมีตัวละครที่ไม่ได้เป็นตัวละครหลัก แต่เป็นตัวละครที่รับรู้เหตุการณ์จากผู้อื่นแล้วนำมาถ่ายทอดให้ตัวละครเอกฟัง ก็คือ ไอ้มอล น้องธี และชาวบ้าน ตัวละครเหล่านี้มีส่วนที่ทำให้ตัวละครเอกรับรู้เหตุการณ์และเรื่องราวความเป็นไปต่าง ๆ ของความสัมพันธ์ภายในครอบครัวจ่าทวย ซึ่งวิธีการเล่าเรื่องเช่นนี้เปรียบเสมือนกับคำให้  การของพยานในศาลที่เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ผู้พิพากษาฟัง จึงมีผู้เรียกผู้เล่าเรื่องแบบนี้ว่า ผู้เล่าเรื่องแบบพยานรู้เห็น (Witness Narrator) 

หากจะกล่าวให้นักอ่านคนอื่น ๆ เห็นการทำหน้าที่ตัวละครในเรื่องชัดเจนขึ้นนั้น ตัวละครผมก็เปรียบเสมือนภาพแทนของ จเด็จ กำจรเดช หรือครูบาอาจารย์ผู้มีความรู้และประสบการณ์ในด้านการเขียนเรื่องแต่งเรื่องที่มีเจตนาแนะนำวิธีการเขียนเรื่องสั้น ส่วนตัวละครน้องธีก็เปรียบเสมือนมวลมิตรนักอ่านไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือนักอ่านที่สนใจในการเขียนเรื่องสั้นนั่นเอง

การดำเนินเรื่องด้วยการนำเอาเรื่องสองเรื่องมาเล่าซ้อนกันเช่นนี้ นับว่าเป็นกลวิธีการสร้างความแปลกใหม่ของเรื่องที่เรียกว่าการเล่าเรื่องเล่าแบบซ้อนเรื่องเล่า (Metafiction)  เปรียบเทียบได้ว่าเป็นการแสดง “เบื้องหลังของเรื่องแต่งหรือเรื่องที่กำลังแต่ง”  ก็คือเป็น ฉากหลังของเรื่องสัปเหร่อรุ่นสอง ที่ทำให้เห็นว่าเรื่องสั้นนี้มีเค้าเรื่องจริงเป็นอย่างไร แล้วมีทิศทางที่จะพัฒนาไปสู่การแต่งเรื่องอย่างไรซึ่งโดยปกติแล้วบันเทิงคดี มักจะพยายามทำให้ผู้อ่านเชื่อว่าเรื่องที่เล่านั้นเกิดขึ้นจริง ๆ แต่ในเรื่องเล่าลักษณะนี้จะพยายามให้ผู้อ่านตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่ากำลังอ่านเรื่องที่ผู้เขียน “ผูก” ขึ้น หาใช่เรื่องจริงไม่ จุดเด่นของเรื่องของเรื่องเล่าที่ใช่กลวิธีการเล่าเรื่องนี้ คือ กระตุ้นให้ผู้อ่านตระหนักสำนึกในพลังอำนาจของความจริงและความลวง(รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. ๒๕๔๙ : ๗๒) สรุปแล้วการใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ทำให้ผู้อ่านไม่ “อิน” กับเรื่องแต่งหรือเรื่องเล่า แต่จะทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงเจตนาที่ผู้เขียนต้องการสื่อให้รู้

ตลอดระยะเวลาที่อ่าน ‘สัปเหร่อรุ่นสอง’ จะพบ ครอบครัวจ่าทวยเป็นผู้ถูกกระทำ กล่าวคือ  จ่าทวยถูกชาวบ้าน(คนอื่น)กล่าวหาว่ามีความความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับลูกสาวตนเอง ยังกล่าวหาว่าเมียของจ่าทวยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับชายอื่น เป็นที่รองรับอารมณ์ของผู้ชายทั้งบาง และจากคำเล่าลือของคนอื่นยังทำให้ตัวละครผมคาดคิดว่าเมียจ่าทวยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับลูกชายตนเองด้วย บรรยากาศในเรื่องจึงมีความรู้สึกสลดใจ อีกทั้งฉากเป็นฉากที่อยู่ใกล้กับวัด ภาพฉากและกลิ่นอายบรรยากาศของเรื่องกลับทำให้คิดถึงนวนิยายรางวัลซีไรต์เรื่อง คำพิพากษาของ ชาติ กอบจิตติ เพราะฉากและบรรยากาศภายในเรื่องครอบครัวจ่าทวยมีความคล้ายคลึงกันกับครอบครัวของฟักในคำพิพากษา ที่ถูกสังคมตัดสินว่าแอบมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับแม่เลี้ยงสติไม่สมประกอบของตน แสดงให้เห็นภาพของครอบครัวที่ถูกคนอื่นป้ายสีว่าเป็นพวกไร้ศีลธรรม ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นแน่ชัดว่าอะไรคือความจริงกันแน่ ซึ่งในเรื่องสั้นนี้ จเด็จ กำจรเดช ทิ้งหน้าที่ให้ผู้อ่านขบคิดเองเกี่ยวกับประเด็นที่ละเอียดอ่อนนี้ โดยที่เขาแทบไม่ตัดสินอะไรเลยว่าครอบครัวของจ่าทวยเป็นอย่างไร

จเด็จ กำจรเดช ยังแสดงทัศนะเชิงเสียดสีสังคม เห็นได้จากการกล่าวถึงประเด็นการใช้เงินบริจาคของวัด ดังที่เห็นได้จากเรื่อง ชาวบ้านมัก จะเสียดสีเจ้าอาวาสที่ใช้เงินบริจาควัด สนใจว่าเจ้าอาวาสเอาเงินบริจาคเหล่านั้นไปทำอะไร ซึ่งในสังคมปัจจุบันก็มักจะมีข่าวว่าเจ้าอาวาสและกลุ่มกรรมการของวัดอมเงินบริจาค ไม่ได้นำเงินมาใช้พัฒนาวัด แต่กลับแบ่งเงินเอาไปใช้จ่ายส่วนตน มีให้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งประเด็นการทำงานของหน่วยงานรัฐที่ทำเพียงแค่เปลือกนอกมิได้มุ่งแก้ปัญหาในสังคมอย่างจริงจัง สะท้อนให้เห็นว่ารัฐก็มองปัญหาของประชาชนตามประสารัฐ แก้ปัญหาตามประสารัฐ โดยมิได้มุ่งแก้ปัญหาของประชาชนให้ถูกต้อง และพาดพิงถึงการใช้อำนาจรัฐภายใต้นโยบายความรักชาติในยุครัฐบาลทหาร เสียดสีรัฐบาลในการใช้อำนาจเข้าข่มเหงรังแกเสรีภาพประชาชนผู้เห็นต่าง    

เรื่องสั้นนี้จึงเป็นเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่ทำหน้าที่ชี้ชัดถึงพื้นที่จริงนอกตัวบทได้ เพราะไม่เพียงแต่ทำหน้าที่มุ่งแนะนำเทคนิควิธีการเขียนเรื่องสั้นเท่านั้น ยังมุ่งกระตุ้นต่อมสำนึกของคนในสังคมอีกด้วย โดยการหยิบเอาประเด็นความผิดศีลธรรมในสังคมเรื่องพ่อเอาลูก แม่เอาลูกที่เห็นได้ในข่าวอย่างไม่ขาด สะท้อนให้เห็นถึงจิตใจที่หยาบช้าของปุถุชน ปัญหายิบย่อยในสังคมที่เกี่ยวข้องกับวัด ปัญหาการใช้จ่ายเงินบริจาควัดที่ตรวจสอบไม่ได้ ประเด็นการทำงานของหน่วยงานรัฐและการใช้อำนาจของรัฐบาล นับว่า เรื่องสั้นเรื่องนี้ทำหน้าที่กะเทาะเปลือกของสังคมที่กำลังเน่าเฟะอย่างเจ็บแสบ 

ใต้ฉากหลังสัปเหร่อรุ่นสองก็คือ “เบื้องหลังของเรื่องแต่งหรือเรื่องที่กำลังแต่ง เห็นได้ว่าการสร้างเรื่องแต่งขึ้นมาสักเรื่องนั้นไม่ง่ายทีเดียว จำเป็นต้องศึกษาบริบทความสมเหตุสมผลของเรื่อง สร้างเรื่องให้สมจริงเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตำหนิจากหมู่นักอ่าน การสร้างแต่ละองค์ประกอบของเรื่องล้วนต้องอาศัยความรอบรู้รอบคอบ เพื่อให้เรื่องแต่งมีความสมจริงและสัมพันธ์กัน อย่างสมเหตุสมผล และเพื่อให้ครองใจนักอ่านไว้ได้ 

จเด็จ กำจรเดช นำเสนอเรื่องราวของสัปเหร่อรุ่นสองพร้อมกับแนะนำกลวิธการแต่งเรื่องได้อย่างแยบยล ด้วยลีลาการประพันธ์อย่างมีชั้นเชิงของเขาที่นำพาผู้อ่านกระโจนลงไปสัมผัสกับรูปแบบกลวิธีที่แปลกใหม่ แม้ว่าจะสร้างโครงเรื่องซับซ้อน มีเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า ทว่ากลเม็ดในการนำเสนออันแนบเนียนของเขากลับทำให้เรื่องสั้นนี้ มีความสมบูรณ์และโดดเด่นในตัว การใช้ภาษาที่ตรงไปตรงมาแต่แฝงไปด้วยแก่นสารทุกบรรทัด การสร้างตัวละครแสดงภาพจำลองของคนในสังคมที่มีความรู้สึกนึกคิดดังปุถุชนทั่วไปถือว่าสมจริง การเลือกใช้กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร “ผม” ก็มีส่วนช่วยให้ผู้อ่านเข้าถึงแก่นสารที่ต้องการสื่อให้รู้ อีกทั้งยังโดดเด่นในด้านฉากและบรรยากาศที่ช่วยส่งเสริมให้เรื่องสมจริงยิ่งขึ้น นอกจากจะสร้างความเพลิดเพลินอารมณ์แก่ผู้อ่านแล้ว เรื่องสั้นนี้ยังทำหน้าที่กะเทาะเปลือกของสังคมที่กำลังเน่าเฟะไปในตัวบทอย่างแนบเนียนด้วย คงเป็นเหตุผลที่ยืนยันได้ว่ารวมเรื่องสั้น    คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ”
โดดเด่น ในตัวและเหมาะสมอย่างยิ่งแล้วที่ได้รับการประทับตรารางวัลซีไรต์บนปกหนังสือ

ผู้วิจารณ์ พิทยา สมาธิ นักศึกษาชั้นปีที่ ๓ สาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ 

รายการอ้างอิง

จเด็จ กำจรเดช. (๒๕๖). คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ. กรุงเทพฯ : ผจญภัย.

หมายเลขบันทึก: 689064เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2021 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2021 15:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท