ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ อาจารย์ โทนี่ ปัญญโรจน์

คุณคือแบรนด์ วิทยากร นักพูด


 คุณคือแบรนด์

“นักพูด” คุณคือแบรนด์

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก

www.drsuthichai.com

          ท่านผู้อ่าน คงได้เห็นสินค้า ผลิตภัณฑ์ ในท้องตลาดหลากหลายชนิดมี ตรายี่ห้อ (Brand) ซึ่งแต่ละสินค้าและผลิตภัณฑ์ มักให้ความสำคัญในการสร้าง ตรายี่ห้อ(Brand) โดยการโหมโรงโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อต่างๆ

แต่จริงๆแล้ว การสร้างตรายี่ห้อหรือBrand ไม่ได้เกิดเฉพาะตัวของสินค้าที่ไม่มีชีวิตเท่านั้น คน สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตต่างๆ ก็สามารถสร้าง ตรายี่ห้อ(Brand) ในบทความฉบับนี้ เราจะพูดถึงการสร้างแบรนด์ “ นักพูด” กัน

แต่ก่อนจะลงไปในเรื่องรายละเอียด ผมขอแบ่งนักพูดออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆด้วยกัน ซึ่งขอแบ่งตามวัตถุประสงค์ของการพูด คือ 1.การพูดเพื่อการบรรยายหรือบอกเล่า 2.การพูดเพื่อความบันเทิงหรือเพื่อความสนุกสนาน 3.การพูดเพื่อจูงใจหรือเพื่อให้ผู้อื่นคล้อยตาม

1.การพูดเพื่อการบรรยายหรือบอกเล่า เช่น สรยุทธ สุทัศนะจินดา(นักเล่าข่าวชื่อดังในอดีต) , อาจารย์ที่สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือวิทยากรอบรมให้ความรู้ต่างๆ

2.การพูดเพื่อความบันเทิงหรือเพื่อความสนุกสนาน เช่น โน้ต อุดม เดี่ยวไมโครโฟน , จตุพล ชมภูนิช นักทอล์คโชว์ , โย่ง เชิญยิ้ม นักพูดตลก เป็นต้น

3.การพูดเพื่อจูงใจหรือเพื่อให้ผู้อื่นคล้อยตาม เช่น นักพูดทางด้านการเมือง ไม่ว่าจะเป็น คุณชวน หลีกภัย , สมัคร สุนทรเวช , วีระ มุสิกพงศ์ , เฉลิม อยู่บำรุง เป็นต้น

แต่สำหรับบทความนี้ จะพูดแต่เฉพาะ ข้อที่ 2.การพูดเพื่อความบันเทิงหรือเพื่อความสนุกสนาน

เริ่มจากยุคบุกเบิก อาจารย์ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ เป็นที่รู้จักดีจากการเป็นนักพูด เป็นบุคคลแรกที่จัดการทอล์คโชว์ขึ้นในประเทศไทย เป็นวิทยากรอบรมการพูดและสร้างเสริมบุคลิกภาพ จนทำให้ได้รับการขนานนามว่า "ต้นตำรับนักพูดเมืองไทย ได้เล่าว่า "เมื่อก่อนการพูดจะเป็นการให้เกียรติกัน พูดเสร็จก็จะได้โล่ห์ ได้กล่อง ได้ของขวัญไปเรื่อย ๆ แต่ในยุคผมนี้สามารถเรียกค่าตอบแทนได้เลยว่า ..เท่าไร"

ซึ่งตรงกับ อาจารย์อภิชาต ดำดี นักพูดพิธีกรชื่อดังได้เล่าว่า “ในการพูดของเขา เขาได้ต้นบอนไซกับเงินไม่ถึงร้อยบาทเป็นค่ารถสามล้อกลับบ้าน แต่ในยุคปัจจุบันนี้เขายอมรับว่าอาชีพนักพูดคืออาชีพที่เลี้ยงตัวได้”

ดังนั้น อาชีพนักพูด วิทยากร จึงเป็นที่นิยมกันอย่างมากในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากมีนักพูด วิทยากรหน้าใหม่เกิดขึ้นอย่างมากมายเพราะอาชีพนักพูด วิทยากร สามารถทำเงินได้ อีกทั้งยังทำให้เกิดการมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เป็นอาชีพอิสระ กำหนดเวลาการทำงานและสามารถเลือกรับงานหรือเลือกที่จะไม่รับงานพูดนั้นๆได้ เป็นอาชีพที่มีเกียรติ

หลังจากอาจารย์ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ได้เปิดหลักสูตรอบรม “การพูดและสร้างเสริมบุคลิกภาพ” ได้ไม่นานก็ได้มีรายการ ทีวีวาทีของ คุณกรรณิกา ธรรมเกษร เป็นผู้จัดและดำเนินรายการ ออกอากาศครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 ทางโทรทัศน์ (ช่อง 5) หลังจากนั้นก็ได้สร้างนักพูดมืออาชีพหลายคน ไม่ว่าจะเป็น อภิชาต ดำดี, วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์, สุรวงศ์ วัฒนกุล, พนม ปีเจริญ, นันทนา นันทวโรภาส, พะเยาว์ พัฒนพงศ์, จตุพล ชมภูนิช ,สุขุม นวลสกุล ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการพูดในลักษณะ แซววาที โต้วาที ยอวาที เลียนวาที

หลังจากนั้นก็มีนักพูดเกิดขึ้นมาอีกมากมาย เช่น โน้ต อุดม ได้เปิด เดี่ยวไมโครโฟน เป็นการแสดงสดพูดตลกคนเดียวบนเวที โดย อุดม แต้พานิช ทั้งการกำกับเวทีและเขียนบท ซึ่งเป็นผลงานที่สร้างชื่อให้กับอุดม แต้พานิช มีการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนมาแล้วอย่างมากมาย ตั้งแต่ปี 2538 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ผลตอบรับออกมาดีในการจัดการพูดในแต่ละครั้ง

ซึ่งการสร้างแบรนด์ของพี่โน้ต อุดม จะวางแผนมาเป็นอย่างดีเราจะสังเกตเห็นว่า เดี่ยวไมโครโฟน ไม่มีการทำออกมาหลายครั้ง แต่จะจัดครั้งหนึ่งหลายๆรอบ  กล่าวคือ ปีหนึ่งจัดแค่ครั้งเดียวแต่เปิดหลายรอบ หรือสองสามปีจัดแค่ครั้งเดียวแต่เปิดหลายรอบ เพื่อให้ทุกคนหรือแฟนคลับได้รอคอย อีกทั้งการที่นานๆจะจัดการแสดงทีหนึ่ง จะทำให้แฟนคลับเห็นคุณค่าและอยากจะเข้าไปซื้อบัตรดูการแสดง มากกว่าปีหนึ่งจัดหลายครั้ง อีกทั้งพี่โน้ต อุดม ยังเลือกช่วงจังหวะที่คนอื่นหรือนักพูดคนอื่นเขาไม่ออกการแสดงหรือเปิดการแสดง(ทอล์คโชว์ การแสดงตลกบนเวที) อีกด้วย เราลองมาดูข้อมูลเก่าๆ

จำนวนรอบการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน

ครั้งที่ 1 (เดี่ยวไมโครโฟน) เปิดการแสดงทั้งหมด 3 รอบ

ครั้งที่ 2 (อุดม โชว์ห่วย) เปิดการแสดงทั้งหมด 14 รอบ

ครั้งที่ 3 (อุดม การช่าง) เปิดการแสดงทั้งหมด 22 รอบ

ครั้งที่ 4 (เดี่ยว 4) เปิดการแสดงทั้งหมด 28 รอบ

ครั้งที่ 5 (ฉายเดี่ยว) เปิดการแสดงทั้งหมด 30 รอบ

ครั้งที่ 6 (ตูดหมึก) เปิดการแสดงทั้งหมด 43 รอบ

ครั้งที่ 7 (เดี่ยว 7) เปิดการแสดงทั้งหมด 44 รอบ

การเลือกงาน พี่โน้ต อุดม จะไม่รับจ้างเล่น โฆษณา ละคร ถ่ายแบบ หรือร้องเพลงแบบทุกงานหรือไม่เลือกงาน แต่จะเลือกเล่นเฉพาะงานที่ไปด้วยกันได้กับแบรนด์ส่วนบุคคล(โน้ต อุดม) เพราะการรับงานบางงานเมื่อเล่นไป งานบางงานอาจทำให้ภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างมาได้รับผลกระทบหรือสูญเสียไปด้วย ซึ่งแตกต่างกับดาราหรือแบรนด์บุคคลคนอื่นๆที่รับเล่นการแสดงต่างๆ ไม่เลือกจึงทำให้ทำลายภาพลักษณ์แบรนด์ของตัวเอง

อีกทั้งการพูด เดี่ยวไมโครโฟน โน้ต อุดม จะเลือกพูดเรื่องราวที่พวกเราได้เคยสัมผัส ได้เคยผ่านประสบการณ์ในอดีต ในมุมมองหรือแง่มุมที่ตลก บางมุมมองคนฟังอาจคาดไม่ถึง และพูดถึงข่าวสารในยุคปัจจุบัน  เช่น ข่าวการเมือง ข่าวดารา เป็นต้น

ดังนั้น นักพูด ดารา นักแสดง นักร้อง ศิลปิน ถ้ารู้จักการสร้างแบรนด์ ก็จะทำให้ตนเองมีชื่อเสียง และสามารถสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง เพราะ บุคคล ก็สามารถสร้างแบรนด์และเป็นสินค้าได้


หมายเลขบันทึก: 689035เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2021 01:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2021 01:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท