ความตายในเดือนตุลาคม



ความตายในเดือนตุลาคม เป็นผลงานของไพฑูรย์ ธัญญา หนึ่งในเรื่องสั้นของหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด ตุลาคม ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2537

โครงเรื่อง

      เรื่องสั้น “ความตายในเดือนตุลาคม” นี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “ผม” กับ “เพื่อน” ที่มิตรภาพระหว่างเพื่อนต้องขาดสบั้นลง อันเนื่องมาจากข่าวการฆ่าตัวตายของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ต้องการประท้วงรัฐบาล เมื่อความคิดเห็นเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของเด็กหนุ่มคนนั้นไม่ตรงกัน ก็พลอยที่จะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนไปด้วย

          การเปิดเรื่อง เรื่องสั้นเรื่องนี้เปิดเรื่องโดยตัวละคร “ผม” กำลังจะย้อนถึงความทรงจำระหว่างเขากับเพื่อน เป็นความขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้นระหว่างเขาสองคน เพื่อวอนให้ผู้อ่านช่วยตัดสินด้วยใจที่เป็นธรรม

          ความขัดแย้ง

          - ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ความขัดแย้งนี้แสดงให้เห็นเด่นชัดอย่างมากและเป็นการผูกปมหลักที่ทำให้เรื่องดำเนินไป ความขัดแย้งนี้ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างตัวละคร “ผม” กับ “เพื่อน” และความขัดแย้งระหว่างตัวละคร “เพื่อน” กับ “นิสิตปริญญาโท” โดยจะกล่าวถึงความขัดแย้งในแต่ละความขัดแย้งต่อไปนี้ ความขัดแย้งแรกคือความขัดแย้งระหว่าง “ผม” กับ “เพื่อน” เกิดขึ้นเมื่อมีข่าวการฆ่าตัวตายของเด็กหนุ่มเพื่อประท้วงรัฐบาลแพร่สะพัดไปทั่ว มีทั้งภาพที่ถูกเบลอและภาพที่คมชัดมาทั้งจากสำนักข่าวในและนอกประเทศ เพื่อนของผมซึ่งเป็นคนที่มีมนุษยธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันสูง มีความอ่อนไหวต่อภาพและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก “ผม”ซึ่งเขากล่าวกับตนเองว่าเขาเป็นกลางมาตลอดได้ถูกเพื่อนของตัวเองมองว่าเป็นพวกเดียวกันกับ “นิสิตปริญญาโท” จึงเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งระหว่าง “ผม” กับ “เพื่อน”

ดังที่ผมได้บรรยายลักษณะอาการของเพื่อนเขาเมื่อรู้ว่า “ผม” กำลังดูรูปภาพของเด็กหนุ่มที่ฆ่าตัวตายอยู่กับนิสิตปริญญาโทไว้ว่า “เขาจ้องผมอย่างคนแปลกหน้า ปั้นปึ่งมึนตึง เรานั่งเผชิญหน้ากันระยะไม่ถึงเมตร แต่ในความรู้สึก มันช่างห่างไกลกันเหลือ” (หน้า 125)  และความคิดของผมซึ่งกำลังหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองโดยกล่าวโทษเพื่อนว่า “บางทีการตายของเด็กหนุ่มคนนั้นอาจทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ขึ้นมาก็เป็นได้ ถ้าเป็นอย่างนี้จริง ไม่ใช่แต่ผมกับนิสิตปริญญาโทหรอกที่สนุกและหาผลประโยชน์จากชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ เขานั่นแหละตัวดี” (หน้า 127) การทะเลาะกันมีผ่านมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งผมเก็บเอาเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่ฆ่าตัวตายไปฝันแล้วเขาไปบอกเล่าแก่นิสิตปริญญาโท นิสิตปริญญาโทจึงนำไปซื้อหวยและบังเอิญถูก เขาทั้งสองจึงไปเลี้ยงฉลองกัน ด้วยความเมาขาดสติความขัดแย้งระหว่าง “ผม” กับ “เพื่อน” จึงมาที่จุดสูงสุดเมื่อเพื่อนถามว่า “นิสิตปริญญาโทเลี้ยงฉลองในโอกาสอะไร” (หน้า 131) ผมจึงเล่าให้เขาฟังอย่างละเอียด “ผมเล่าอย่างคะนอง สนุกและตลกขบขันสิ้นดี” (หน้า 132) เหตุการณ์นี้จึงนำมาสู่การคลายปมเมื่อเพื่อนของเขาได้จากไปโดยไม่เอ่ยลาในวันรุ่งขึ้น ความขัดแย้งระหว่าง “เพื่อน” กับ “นิสิตปริญญาโท” ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นก่อนความขัดแย้งระหว่าง “ผม” กับ “เพื่อน” เสียอีก ความขัดแย้งระหว่างเขาทั้งสองจะไม่แสดงออกมาโดยคำพูด แต่จะแสดงออกมาในรูปแบบของอารมณ์และการกระทำทั้งหมด “เพื่อน”มักจะพูดว่านิสิตปริญญาโทเมื่อเวลาอยู่กับ “ผม” เพียงเท่านั้น เมื่อข่าวแพร่ออกทางหนังสือพิมพ์ การชุมนุมในวันนั้นนิสิตปริญญาโทได้เปรียบว่าเหมือนการชมคอนเสิร์ต “คำพูดนี้เอง ที่ทำให้เพื่อนของผมหงุดหงิดขึ้นมาทันควัน” (หน้า 120) และนี่ก็เป็นปฏิกิริยาแรกที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง “เพื่อน” กับ “นิสิตปริญญาโท” ข่าวการฆ่าตัวตายก็ได้ลงหนังสือพิมพ์ ภาพเหล่านั้นทำให้เพื่อนถึงกับอาเจียนและไม่กลับไปห้องนิสิตปริญญาโทนั้นอีกเลย ความขัดแย้งเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อนิสิตปริญญาโทกำลังโอ้อวดสมุดภาพที่เต็มไปด้วยภาพของเด็กหนุ่มกำลังฆ่าตัวตาย และจากนั้น “เพื่อนของผมนั่นแหะคุณ เขาย่องเข้ามาแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ จ้องดูผมกับนิสิตปริญญาโทด้วยสายตาถมึงทึง และไม่ทันที่เราจะตั้งสติได้ เขาก็กระชากสมุดภาพจากข้างหน้าผม เหวี่ยงออกไปนอกห้องจนสุดแรง” (หน้า 124) นิสิตปริญญาโทโกรธมากดังที่ “ผม” ได้บรรยายว่า “ใบหน้าแดงก่ำและมือไม้สั่นริก สมุดภาพในมือของเขาเปียกน้ำและเปื้อนโคลน เขาจ้องหน้าเพื่อนผมและไม่พูดอะไรสักคำเดียว” (หน้า 125)

          - ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสังคมคือความขัดแย้งระหว่าง “เด็กหนุ่มที่ตาย” กับ “สังคม” เรื่องนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า เด็กหนุ่มคนนี้ได้เข้าร่วมการประท้วงรัฐบาลเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก หากไม่ทำตามที่เรียกร้องเขาจะฆ่าตัวตาย คำเตือนนี้มีมานานหลายอาทิตย์ แต่หลายต่อหลายคนกลับไม่สนใจ จนกระทั่งในวันชุมนุมวันหนึ่งเขาได้กรีดคอตัวเอง บนเวทีการประท้วงทุกคนตกใจอย่างมาก มีการบันทึกภาพอย่างล้นหลามแต่ไม่อาจมีใครช่วยเขาได้ โดยอ้างว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วมาก กระแสสังคมต่างตีความไปแตกต่างกันบ้างว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง บ้างว่าอากาศร้อนจึงเป็นเหตุให้ตัดสินใจฆ่าตัวตาย และบ้างก็ว่าเพราะวัยเบญจเพส

          การปิดเรื่องตอนจบของเรื่องนี้จบลงแบบโศกนาฏกรรม บีบคั้นหัวใจและชวนให้ผู้อ่านหดหู่เป็นอย่างยิ่ง บางคนสูญเสียทุกอย่างที่ไม่อาจกลับคืนมาได้ “ผม”สูญเสีย “เพื่อน” และในขณะเดียวกัน “เพื่อน” ก็สูญเสีย “ผม” เด็กหนุ่มที่ตายสูญเสียชีวิต เขาสังเวยชีวิตเพื่อปลุกไฟให้อุดมการณ์แต่ในท้ายที่สุด ทุกคนต่างกล่าวขานถึงการตายของเขาแต่อุดมการณ์กลับถูกมองข้ามและเขาก็ได้สูญเสียอุดมการณ์ไปในที่สุด นายกก็ยังดำรงตำแหน่งต่อไปเช่นเดิม ทุกอย่างกลับสู่ความว่างเปล่า

ตัวละคร

          ตัวละครหลัก

          “ผม” เป็นตัวละครเอกและมีบทบาทสำคัญในเรื่อง เป็นตัวละครที่ดำเนินเรื่องโดยใช้ปมขัดแย้งระหว่างเขากับเพื่อนเป็นหลักผ่านความทรงจำของตัวละคร ตัวละครตัวนี้เป็นตัวละครแบบแบน หรือตัวละครน้อยลักษณะ กล่าวคือ เป็นตัวละครที่แทนคนส่วนใหญ่ในสังคมที่เลือกจะเพิกเฉยต่อข่าวสารความรุนแรงที่เกิดขึ้นเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องของคนอื่น อาจจะกล่าวได้ว่าตนเองดำรงความเป็นกลางแต่จริง ๆ แล้วอาจแยแสต่อความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น หรือไม่เข้าใจถึงหลักสากลของคำว่า “มนุษยธรรม” ก็ได้ ดังที่ตัวละครผมได้กล่าวตั้งแต่ตอนเริ่มเรื่องไว้ว่า “เรื่องที่คุณจะได้ฟังต่อไป ดูไปแล้วก็เหมือนการทะเลาะกันของเด็ก ๆ ที่เกิดจากการโต้เถียงในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง” (หน้า 117) เขาว่าเรื่องที่เขาทะเลาะกันเป็นเรื่องของเด็ก ๆ ทั้งที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความตายของคน และเขาเองก็ได้สูญเสียเพื่อนไปในเหตุการณ์นี้ แต่เขาก็ไม่รู้ตัวว่าตนเองผิดอย่างไร การเพิกเฉยต่อชะตากรรมของมนุษย์เขากล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่าเป็น “ความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ” (หน้า 116) และ “ก่อนหน้านี้แม้ผมจะเห็นภาพพวกนี้มาบ้างแล้ว แต่ก็ไม่รู้สึกอะไรพิเศษ” (หน้า 124) ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นชัดแล้วว่า เขาแค่ต้องการเสพเพียงแค่เปลือกของข่าวสารเท่านั้น เสพข่าวเพื่อรับรู้ เขาไม่ได้พินิจพิจารณาถึงความจริงใด ๆ ที่มีอยู่ เพียงแค่อ้างว่ายังไม่รู้ข้อเท็จจริงไม่สามารถสรุปได้ แต่สุดท้ายเขาก็ไม่รู้อยู่ดี

          “เพื่อน” เป็นตัวละครหลักที่เป็นคู่ขัดแย้งของตัวละครเอก ตัวละครนี้เป็นตัวละครแบบแบน หรือตัวละครน้อยลักษณะ กล่าวคือ เป็นตัวละครที่แทนคนส่วนน้อยของสังคมที่มีคุณธรรม จริยธรรมสูง และตระหนักถึงหลักมนุษยธรรม ตัวละครตัวนี้เป็นบุคคลที่มีอุดมการณ์สูง เป็นบุคคลที่มีอารมณ์อ่อนไหวต่อเหตุการณ์ความรุนแรง และเหตุการณ์อันเปราะบางซึ่งจะนำไปสู่ความรุนแรง ตัวอย่างที่เห็นอย่างเด่นชัดประโยคที่ว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่เพื่อนของผมเกิดอาการผิดสำแดงต่อข่าวการฆ่าตัวตาย” (หน้า 121) คอยชี้ให้เห็นเมื่อบุคคลใดเพิกเฉยต่อความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น โดยเห็นความตายของผู้อื่นเป็นเรื่องธรรมดา ตัวอย่างเช่น “เพื่อนของผมว่านิสิตปริญญาโทเป็นเหยื่อที่อ่อนแอของข้อมูลข่าวสาร เป็นลูกค้าที่ดีของนักโฆษณา” (หน้า123) มีพฤติกรรมหลีกหนีซึ่งความรุนแรงและเหตุผลของคนรอบข้างที่ผิดเพี้ยนไป เห็นได้จากในท้ายที่สุดด้วยตรรกะการรับข้อมูลข่าวสารของ “ผม” เริ่มผิดเพี้ยนไปเขาก็เลือกที่จะจากไปแม้จะสูญเสียเพื่อนสนิทไปก็ตาม

          “นิสิตปริญญาโท”อาจเรียกได้ว่าเป็นตัวละครคู่ตรงข้ามกับตัวละคร “เพื่อน” ก็ว่าได้ ตัวละครตัวนี้เป็นตัวละครแบบแบนเช่นเดียวกับตัวละครทุกตัวหรือมีน้อยลักษณะ กล่าวคือ เป็นภาพแทนของคนในสังคมส่วนน้อยที่เสพติดภาพหรือข่าวสารความรุนแรง โดยไม่คำนึงถึงความเป็นความตายของเพื่อนมนุษย์หรือหลักมนุษยธรรมใด ๆ รู้เสพข่าวเพียงตอบสนองตัณหาของตัวเองเท่านั้น หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเพื่อความสะใจของตัวเองเท่านั้น ตัวละครตัวนี้ยังเกี่ยวข้องกับอบายมุขอีกด้วย นั่นก็คือการเล่นหวย ลักษณะเด่นที่แตกต่างจากตัวละครเพื่อนก็คือ เป็นบุคคลที่นิยมความรุนแรง ส่งเสริมให้มีความรุนแรง เสพติดความรุนแรง รับข่าวสารเพื่อสนับสนุนความรุนแรงในตัวเองเท่านั้น

ตัวละครรอง

          “เด็กหนุ่มที่ฆ่าตัวตาย”เป็นตัวละครที่สร้างขึ้นมาเพื่อนำไปสู่การผูกปมปัญหาของตัวละครหลัก มีลักษณะเป็นตัวละครแบบแบนหรือน้อยลักษณะ เป็นตัวละครที่มีอุดมการณ์อันแรงกล้าและรุนแรงไปในตัว เรียกได้ว่า ถวายชีวิตเพื่ออุดมการณ์ได้เลย ชีวิตเพื่ออุดมการณ์แต่อุดมการณ์ของเขาก็หายไปกับชีวิตของเขาเช่นเดียวกัน

          “นายกรัฐมนตรี”ตัวละครนี้เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างเด็กหนุ่มที่ฆ่าตัวตายเพราะต้องการให้เขาลาออกจากตำแหน่ง ตัวละครนี้เป็นตัวละครแบบแบนเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงผู้มีอำนาจ สุดท้ายแล้วเขาก็ไม่ได้ตระหนักถึงข้อเรียกร้องใด ๆ ของเด็กหนุ่ม กลับใช้ชีวิตตามปกติและได้พักผ่อนต่างประเทศอีกด้วย

แนวคิดหรือแก่นเรื่อง

          เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงกลุ่มบุคคลทั้งสามกลุ่มที่ได้รับข่าวสารชนิดเดียวกัน แต่ความคิดเห็นที่มีต่อข่าวสารที่รับนั้นต่างกัน กลุ่มแรก คือกลุ่มของคนส่วนใหญ่ ที่เลือกจะรับข่าวสารเพียงอย่างเดียว ดูเพียงเนื้อความไปตามกระแส เพื่อให้ทันข่าวต่าง ๆ เสพข่าวเพื่อรับรู้ เพิกเฉยต่อเหตุการณ์บ้านเมืองหรือความรุนแรงต่าง ๆ เป็นกลุ่มที่สงวนท่าทีในการแสดงความเห็น เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องที่อาจมีผลกระทบต่อตัวเอง กลุ่มสองคือกลุ่มของคนส่วนน้อย จะมีความคิดพิจารณาถึงหลักมนุษยธรรม คุณธรรม จริยธรรม ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ในกลุ่มนี้จะมีความอ่อนไหวในความเปราะบางของชีวิตมนุษย์สูง หลีกหนีภาพหรือเหคุการณ์ความรุนแรง รับสารน้อยแต่มีความคิดพิจารณา กลุ่มที่สามคือกลุ่มของคนส่วนน้อยเช่นเดียวกัน แต่กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคู่ตรงข้ามกับกลุ่มสอง คือ เสพติดความรุนแรง ส่งเสริมความรุนแรงไม่แยแสต่อหลักมนุษยธรรม เน้นการเสพข่าวเพื่อตอบสนองความรุนแรงภายในจิตใจ มีความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่น

          นอกจากนี้ยังมีเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ที่นำเสนอข่าวโดยไม่คำนึงถึงหลักมนุษยธรรมหวังเสนอข่าวเพื่อเรียกคะแนนนิยมของผู้อ่าน โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์บางสำนักไม่มีจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าว ซึ่งอาจทำให้สังคมเสพติดภาพความรุนแรงไปโดยไม่รู้ตัว

บทสนทนา

          บทสนทนาในเรื่อง ความตายในเดือนตุลาคม มีไม่มากนักเพราะเป็นการเล่าเรื่องของคำบอกเล่าของตัวละครหลัก “ผม” บทสนทนาในเรื่องนี้จึงมีเพื่อบอกลักษณะนิสัย และทัศนคติของตัวละครว่าเป็นอย่างไร และยังเสริมให้ปมขัดแย้งเด่นชัดยิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อบรรยายเหตุการณ์สำคัญในเรื่องด้วย

          บทสนทนาที่บ่งบอกลักษณะนิสัยและทัศนคติของตัวละคร

          “...เราได้สูญเสียดวงตาไปสิ้นแล้ว

          เราเห็นแต่เรามองไม่เห็น

          เราได้ยินแต่เราไม่ได้ยิน

          โอ้...ความตายในเดือนตุลาคม

          ดุจสายลมอ้างว้างจางหาย...

                  ..............................” (หน้า 118)

บทกลอนข้างต้นเป็นของ “เพื่อน” ที่ยังแต่งไม่เสร็จ ไว้เป็นเครื่องเตือนใจให้ “ผม” ได้ตระหนักและมองให้ลึกลงไปเกี่ยวกับข่าวการฆ่าตัวตายของเด็กหนุ่ม เตือนให้เพื่อนมองให้เห็นถึงสาระสำคัญของการตายในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีบทสนทนาเกี่ยวกับเพื่อน “ลามกที่สุด”(หน้า 123) “นายก็เหมือนคนพวกนั้น” “มันคงมีความสุขและสะใจมากสินะ ที่ได้เห็นความหายนะของคนอื่น... นายรู้ตัวมั้ยว่าได้ทำอะไรลงไป มันทุเรศ ทุเรศทั้งคนที่ถ่ายรูปและทั้งคนดู แต่ฉันว่าคนพวกหลังยิ่งดูทุเรศกว่า” “ ลามกกันทั้งเมือง ประเทศนี้เต็มไปด้วยภาพลามกและคนใจลามก”(หน้า 126) จะเห็นได้ว่า “เพื่อน” ได้ต่อว่า “ผม” อย่างหนักเมื่อรู้ว่าเขากำลังเสพภาพความรุนแรงซึ่งเป็นการฆ่าตัวตายของเด็กหนุ่ม ที่ไม่ถูกเบลอไว้ในสมุดบันทึกภาพของนิสิตปริญญาโท เขาจึงโกรธและต่อว่าผมอย่างหนัก เพราะเพื่อนตัวเองกำลังไม่แยแสต่อความเป็นความตายของเพื่อนมนุษย์ เขาตัดพ้อคนทั้งสังคมที่มีการให้เผยแพร่ภาพนี้ออกไป และทุกคนที่กำลังเสพภาพนี้กันอย่างแพร่หลาย และอีกบทสนทนาหนึ่ง “มันก็เหมือนกับการดูกีฬาสักอย่างหนึ่งนั่นแหละ” เขาพูด “ไม่ว่าจะดูจากรายการสดหรือดูจากเทปโทรทัศน์ คนที่ดูก็มีความรู้สึกเดียวกัน พวกนายตื่นเต้นและสนุกมากเลยใช่มั้ย... สาบานได้เลยว่าพวกนายต้องถึงจุดสุดยอดกันทุก ๆ คน” (หน้า 127) น้ำเสียงของเขาเป็นคำพูดที่ถากถาง ดูแคลนประชดประชัน เพื่อให้เพื่อนเลิกดูภาพเหล่านั้น เขารับไม่ได้เมื่อเพื่อนดูภาพนั้นวันแล้ววันเหล่า และยังมีสมุดเพื่อเก็บภาพเหล่านั้นไว้อีกด้วย จึงเป็นการให้เห็นปมขัดแย้งระหว่างเพื่อนและผมกับนิสิตปริญญาโทได้เป็นอย่างดี

ครั้งตอนที่พวกเขากำลังดูโทรทัศน์กันอยู่ “นิสิตปริญญาโท” ก็ได้พูดขึ้นว่า “เหมือนการแสดงคอนเสิร์ตของนักร้องยอดนิยม...”(หน้า 120) ทำให้เพื่อนของผมนั้นหงุดหงิดเป็นอย่างมาก และเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างนิสิตปริญญาโท และแสดงให้เห็นว่านิสิตปริญญาโทมองเห็นการประท้วงนี้เป็นเรื่องสนุก เช่นกับตอนที่เขาบอกว่า “บางทีเราอาจจะได้เห็นการลุกฮือของมวลชนอีกครั้งหนึ่ง” เขาพูดต่อว่า “ผมว่ามันจะสนุกกันใหญ่”(หน้า 123) ซึ่งคำพูดเหล่านี้ของเขานั้นช่วยสะท้อนถึงความนึกคิดของนิสิตปริญญาโทต่อเหตุการณ์ของสังคมได้เป็นอย่างดีว่าเขานั้นไม่ได้รู้สึกแยแสต่อสิ่งเหล่านั้นเลย

และบทสนทนาของนายกรัฐมนตรีที่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของเด็กหนุ่มคนนั้นว่า “ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีที่จะประท้วงและเรียกร้องได้ โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น...”(หน้า 132) ประโยคของนายกรัฐมนตรีอาจจะดูสวยหรู แต่ประโยคนี้เป็นประโยคยอดนิยมของผู้มีอำนาจเมื่อเกิดการประท้วง เมื่อมีคนพูดประโยคนี้แล้วผู้ถามก็ไม่อาจที่จะถามต่อไปได้ ถือเป็นประโยคที่จบและสมบูรณ์ในตัว แม้ประโยคนี้จะไม่ช่วยทำให้ปัญหาหรือคำถามที่ถามกระจ่างชัด

นอกจากนี้ยังมีการบรรยายเหตุการณ์ให้เห็นชัดขึ้น เหมือนตอนที่นิสิตปริญญาโทอ่านข้อความในหนังสือพิมพ์ให้ “ผม” กับเพื่อนฟังถึงเหตุการณ์การฆ่าตัวตายของเด็กหนุ่มโดยละเอียดว่า “เลือดจากลำคอของเขาพุ่งกระฉูดขึ้นไปในอากาศเป็นเส้นสายเหมือนน้ำพุ ละอองเลือดสีแดงฉานสะท้อแดดกล้าเป็นประกายเหมือนริ้วรุ้งสลับสี...” (หน้า 120) ซึ่งเป็นการบรรยายเหตุการณ์ได้อย่างเด่นชัดแม้จะอยู่ในหนังสือพิมพ์ในเรื่องอีกทอดก็ตาม

ฉากและบรรยากาศ

ฉาก

ฉากที่สำคัญในเรื่องคือห้องของ “ผม” กับ “เพื่อน” และห้องของนิสิตปริญญาโท ซึ่งทั้งสองห้องอยู่ติดกันเสมือนเป็นเพื่อนบ้านกัน ในห้องของนิสิตปริญญาโทจะมีโทรทัศน์ และมีหนังสือพิมพ์มาส่งอยู่เสมอทำให้ห้องของนิสิตปริญญาโทเป็นแหล่งรับรู้ข้อมูลข่าวสารของทั้งสามคน แสดงให้เห็นว่าแม้จะสภาพแวดล้อมเดียวกัน ข้อมูลข่าวสารมาจากแหล่งเดียวกัน เวลาเดียวกัน ทั้งสามคนก็ไม่อาจคิดเหมือนกันได้เพราะต่างคนต่างความคิด ต่างจิตสำนึก มโนสำนึกของแต่ละคนก็อาจไม่เท่ากันแม้บางคนจะมีการศึกษาที่สูงกว่าแต่มโนสำนึกอาจไม่ได้สูงตามไปด้วย เหตุการณ์ที่ทะเลาะกันส่วนใหญ่จึงมีเหตุเกิดจากห้องนี้ แต่เมื่อ “เพื่อน” กับ “ผม”ทะเลาะกันจะกลับไปยังห้องของพวกเขาเอง

บรรยากาศ

ผู้เขียนได้กำหนดช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ไว้ในเดือนตุลาคม ซึ่งนับว่าเป็นเดือนแห่งความสูญเสียและโศกเศร้า เนื่องด้วยเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม และ 14 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นการสูญเสียนักศึกษาปัญญาชนที่ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ เดือนนี้จึงเป็นสัญญาลักษณ์ของการต่อสู้ทางการเมือง “เรายังอยู่ในเดือนตุลาคม เดือนที่ฝนตกหนักและมักมีพายุร้าย” ประโยคนี้ก็กำลังสื่อให้เห็นพายุซึ่งก็คือความขัดแย้งระหว่างตัวละครทั้งสามกำลังโหมกระหน่ำ บรรยากาศในเดือนที่มีพายุฝนก็คือความขมุกขมัว ครึ้มฟ้าครึ้มฝน ซึ่งก็หมายถึงความอดทนอดกลั้น ความอึดอัด เนื่องด้วยความเห็นของทั้งสามตัวละครต่างกัน และการปาดคอฆ่าตัวตายของเด็กหนุ่มก็ชวนให้เวทนาสงสาร บรรยายกาศในเดือนนี้จึงเต็มไปด้วยความมืดครึ้มสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง

มุมมอง

มุมมองในเรื่อง ความตายในเดือนตุลาคม มีลักษณะเป็นตัวละครใดตัวละครหนึ่งเป็นผู้เล่า ซึ่งในเรื่องนี้จะเล่าผ่านตัวละคร “ผม” ผู้เขียนได้ใช้กลวิธีนี้ในการเขียนเพื่อให้ผู้อ่านสามารถรับรู้ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครได้เป็นอย่างดี และผู้เขียนได้เขียนเริ่มต้นว่า “ผมจะเล่าให้ฟัง...” และปิดท้ายย่อหน้าแรกว่า “บางทีคุณอาจจะพิจารณาเรื่องนี้ด้วยใจเป็นธรรมมากขึ้น” กลวิธีการเขียนนี้จึงเป็นการเขียนที่ใช้กลวิธีรูปแบบให้ เสมือนผู้อ่านเป็นที่ปรึกษา ทำให้ผู้อ่านตั้งใจอ่านและมีอารมณ์ร่วมด้วยเพื่อตัดสินในท้ายที่สุด

หมายเลขบันทึก: 688963เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2021 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2021 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท