พฤติการณ์ของคนเป็นหมาป่า


       “ดุร้าย เจ้าเล่ห์ อันตราย น่ากลัว

เมื่อพูดถึงหมาป่าแล้วทุกคนอาจนึกถึงพฤติกรรมดังกล่าวของหมาป่า เพราะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันหมาป่ามักเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งชั่วร้าย รวมไปถึงไสยศาสตร์ แม่มด ปีศาจ ที่ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่า นิทานท้องถิ่น หรือแม้แต่ปรากฎอยู่ในภาพยนต์ของชาวตะวันตก

       คุณเคยได้ยินเรื่องราวของมนุษย์หมาป่าบ้างหรือไม่?

เชื่อว่ามีคนหลายคนเคยได้ยิน แล้วเคยตั้งคำถามกันหรือไม่ว่าเหตุใดมนุษย์หมาป่าจึงต้องเป็นผู้ชาย บทวิจารณ์นี้มีคำตอบให้คุณ เมื่อ “หมาป่า” ถูกอุปมากับผู้ชายแล้วนั้น ย่อมหมายถึงผู้ชายที่เจ้าชู้ เจ้าเล่ห์ อันธพาล โดยรวมแล้วคือผู้ชายอันตราย แต่ในเรื่อง “เป็นหมาป่า” มีมุมมองที่ต่างออกไป

“เป็นหมาป่า” เป็นเรื่องสั้นที่อยู่ในรวมเรื่องสั้น “คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ” เป็นผลงานจากปลายปากกาของ จเด็จ กำจรเดช นักเขียนผู้มากความสามารถที่คว้ารางวัลซีไรต์มาถึงสองครั้งสองคราด้วยด้วยกันจากผลงานรวมเรื่องสั้น “แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ” รางวัลซีไรต์ 2554 และเล่มล่าสุดอย่าง “คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ” รางวัลซีไรซ์ 2563 ถ้าเปรียบกับขนมปังเหมือนเพิ่งออกจากเตา สด ใหม่ กลิ่นหอมอันยั่วยวนชวนให้บรรดานักอ่านทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่อยากลองอ่านกัน 

       พฤติการณ์ของผู้เขียนก็ไม่ต่างจากหมาป่า

“เป็นหมาป่า”เป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่านยากเรื่องหนึ่งในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ของ จเด็จ กำจรเดช เนื่องด้วยการวางโครงเรื่องที่สลับซับซ้อนทั้ง ฉาก เวลา ตัวละคร และเรื่องราวในฉากแต่ละฉากแตกต่างกันอย่างมาก มีการแทรกสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันลงไปอย่าง “ไม่มีปี่มีขลุ่ย” และลักษณะของเรื่องดูคล้ายกับเรื่องสั้นซ้อนนิยายกับการเล่าย้อนกลับไปกลับมา การใช้กลวิธีในการเขียนแบบใหม่และการเล่าเรื่องผ่านตัวละคร “ผม” (มือปืน) สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง แล้วยังใช้ตัวละคร “ผม” (พลซุ่มยิง) ซ้อนในเรื่องอีกทีหนึ่ง ยิ่งทำให้ความสับสนเพิ่มขึ้นในทุกขณะที่กำลังอ่านไปในแต่ละหน้า หากผู้อ่านเกิดความสับสนแล้วจงตระหนักไว้ว่าคุณนั้นกำลังจะกลายเป็นลูกแกะน้อยของนักเขียนไปเสียแล้ว ส่วนนักเขียนกำลังทำหน้าที่ให้เป็นหมาป่าโดยสมบูรณ์

       พฤติการณ์หมาป่าของผู้อ่าน

“เพื่อจะรู้ลึกถึงหัวอกเขา ดูเหมือนว่าแค่ถลกผิวหนังเขามาหุ้มตัวเองจะยังไม่พอ นอกจากเป็นเขาแล้ว ผมต้องไปอยู่ในนิยายของเขา”(จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 397) เป็นประโยคเริ่มต้นบทที่ดี ซึ่งเป็นการแนะนำเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจลึกถึงแก่นแท้ของเรื่องสั้นเรื่องนี้ นอกจากเหนือจากการอ่านโดยละเอียดแล้ว การอ่านเสมือนเอาตนเองเข้าไปอยู่ในนิยายหรือเรื่องสั้นเรื่องต่าง ๆ จะทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจความรู้สึกของตัวละครมากขึ้น หรือเรียกได้อีกอย่างว่าผู้อ่านนั้นจำเป็นต้องมีพฤติการณ์เลียนแบบหมาป่า คุณนั้นคือผู้ล่าที่ต้องหาสารัตถะสำคัญของเรื่องที่อ่านแบบ กระหายเหยื่อตลอดเวลา นั้นคือสิ่งที่คุณต้องทำเพื่อให้มีแรงเสริมที่สามารถอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ได้จนจบเรื่อง และกว่าจะหาสารัตถะของเรื่องได้ หมาป่าตัวนี้คงต้องอาศัยความอดทนมากพอจึงจะได้เหยื่อตัวนี้มา ซึ่งมันขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะตัวของหมาป่าแต่ละตัว กับประสบการณ์และการฝึกฝน

       พฤติการณ์หมาป่าของมือปืน

“มือปืน” อักษรตัวหนาสีดำเข้มลอยเด่นอยู่ต้นบท เป็นการบ่งบอกว่าการดำเนินเรื่องนั้นมีตัวละครใดเกี่ยวข้องอยู่ มือปืนอดีตตำรวจชายแดนที่ผันตัวเองมาเป็นมือปืน ใช้สรรพนาม “ผม” ในการเล่าเรื่องที่เขากำลังกระทำอยู่ ขณะนี้เขาคือหมาป่า ผู้ล่าอันดับสูงสุดที่กำลังจะฆ่าลูกแกะนั่นคือนักร้องขวัญใจของเขาแต่ในระวังที่เขากำลังรอนักร้องขึ้นเวทีคอนเสิร์ตอยู่นั้นเขาได้อ่านนิยายที่นักร้องคนนี้เขียนขึ้น แต่แท้จริงแล้วนักร้องคนนี้ได้จ้าง “นักเขียนผี” เขียนนิยายเล่มนี้ขึ้น (เป็นเหตุผลว่าทำไมเรื่องนี้จึงได้เป็นเรื่องสั้นซ้อนนิยาย)

ในระหว่างที่เขากำลังอ่านนิยายอยู่นั้นเขาได้แทรกความคิดเห็นของตัวเองลงไปเกี่ยวกับตัวละครในนิยาย ซึ่งทำให้เราได้รู้ว่านอกจากที่เราตีความได้ว่าเขาเป็นหมาป่าโดยอาชีพของเขาแล้ว ในชีวิตความเป็นจริงเขายังคิดว่าตัวเองนั้นเป็นหมาป่าและผู้หญิงนั้นเป็นลูกแกะ ดังในประโยคที่ว่า “อย่างผมเคยมีแฟนคนหนึ่ง เราจะสมมติว่าเธอเป็นแกะน้อยแล้วผมเป็นหมาป่า เวลาเรามีอะไรกัน ตอนอยู่ไกล ๆ ผมจะส่งข้อความสองแง่สองง่าม เธอจะถามว่าเป็นหมาป่าเหรอ ใช่ผมเป็นหมาป่าอยากกินแกะน้อย” (จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 404)  นอกเหนือจากการแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมาแล้ว เขายังมีการวิจารณ์ถึงความสมเหตุสมผลของนิยายเรื่องนี้ด้วย เช่นประโยคที่ว่า “ถึงตรงนี้ผมสงสัยนิดเดียวว่ากล้องเล็งมันติดตั้งง่ายดายบนปืนทุกชนิดหรือ นักเขียนมั่วเอาอีกแล้วใช่ไหม” (จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 419)

เมื่อนิยายที่อ่านของเขาจบลง เขาก็เริ่มจดจ่อไปที่กล้องเล็งบนปืนของเขา เขาเห็นนักร้องคนที่เขารักขึ้นเวที ทั้งที่เขาเองได้ไปบอกนักร้องแล้วว่าให้ไปซ่อนตัว เพราะมีคนสั่งฆ่าเขาแต่นักร้องเลือกที่จะร้องขึ้นร้องเพลงในวันนี้ นักร้องจะรู้หรือไม่ว่าคนที่เขาสั่งให้ฆ่าก็คือภรรยาของนักร้องเองที่จับได้ว่าเขาไปมีภรรยาน้อยอยู่สถานทูตที่เคนยา และฉากคองโกก็คือสถานที่ที่พวกเขาไปเที่ยวกัน เมื่อนิยายเล่มนี้ออกวางขายเขาก็ถูกภรรยาจับได้  จนกระทั่งเพลงจบเป็นเวลาที่เขาต้องจบภารกิจ แต่เขาก็ถูกจับเสียก่อน เขาเพิ่งได้รู้ว่าเขากลายเป็นลูกแกะเสียตั้งแต่เขาไปถ่ายรูปกับนักร้องคนนั้นแล้ว

พฤติการณ์หมาป่าของทหารพลซุ่มยิง

“ทหารพลซุ่มยิง” กำลังเดินทางผ่านทะเลทรายอันร้อนระอุในเอธิโอเปียเพื่อไปยังคองโก เป้าหมายในการสังหารในครั้งนี้มีรหัสว่า “พลูโต” ระหว่างทางเขาได้เล่าเรื่องระหว่างทางในทะเลทรายเอธิโอเปียให้กับ “กลุ่มทหารเด็กของกลุ่มกบฏ” ที่เฝ้าด้านชายแดนคองโก เขาไม่มีอาวุธพอที่จะเป็นค่าผ่านทางเพราะเขาได้นำปืนของเขาเป็นค่านำทางในเอธิโอเปียไปแล้ว เมื่อกลุ่มทหารเด็กดูมือที่สากของเขาแล้วก็รู้แล้วว่าเขาเป็นมือปืน จึงจ้างให้ช่วยฆ่าหัวหน้าที่มีชื่อว่างูเห่าของเขาเพื่อเป็นค่าผ่านทาง เขาตกลง แต่ในระหว่างที่กำลังจะจบภารกิจ เขาก็ได้ฉุดคิดขึ้นมาว่าหากเขานำเรื่องที่กลุ่มทหารเด็กทรยศ เขาน่าจะได้รับการอำนวยความสะดวกไปยังเป้าหมายได้มากกว่า และนี่ก็ไม่ใช่เรื่องของเขา เขาจึงไปต่อรองกับหัวหน้ากลุ่มกบฏ แต่ในท้ายที่สุดเขาก็ถูกส่งไปทำงานที่เหมืองกับกลุ่มทหารเด็กโดยที่ภารกิจไม่อาจสำเร็จ

พฤติการณ์หมาป่าของนักเขียน

“นักเขียน” ได้รับการว่าจ้างให้เขียนนิยายจากนักร้อง สิ่งที่อยากที่สุดของนักเขียนหลีกเลี่ยงไม่พ้นเรื่องฉากทะเลทรายที่เขาต้องการรายละเอียดเพื่อทำให้ฉากนั้นสมจริง ในตอนนี้ผู้เขียนได้พยายามเอาสถานการณ์ในปัจจุบันเพิ่มเข้ามาในเรื่องสั้นเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กับการแก้ปัญหาของรัฐบาล เช่น “โรคระบาดนั้นมันเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา” (จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 434) จากประโยคดังกล่าวแม้ผู้เขียนจะไม่ได้กล่าวถึงเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยตรงแต่สมารถทำให้ผู้อ่านทราบได้เพราะเป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นทำให้ผู้อ่านมีประสบการณ์ร่วมกับผู้เขียน และยังทราบอีกด้วยว่าคำพูดข้างต้นยังเป็นของรัฐมนตรีสาธารณสุขคนปัจจุบัน หลายประโยคดูเหมือนคล้าย ๆ กับทัศนคติของผู้เขียนที่มีต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาลในทางที่ไม่ดีอีกด้วย ตัวอย่างประโยค “รัฐบาลของคุณทำอะไรบ้าง จู่ ๆ เขาก็ถาม พวกเขาปล่อยให้เราเผชิญปัญหาและความกลัวนี้เอง” (จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 446)  (มาถึงตอนนี้ผู้อ่านการวิจารณ์เรื่องนี้คงสับสนระหว่าง“นักเขียน” กับ “ผู้เขียน” ที่ผู้อ่านอ้างถึง “นักเขียน”คือตัวละครในเรื่อง ส่วน “ผู้เขียน” คือผู้เขียนเรื่องสั้นเรื่องนี้ หรือ จเด็จ กำจรเดช) เมื่อนักเขียนรู้ว่า คนข้างบ้านของเขากลับมาจากแอฟริกา เขาตั้งใจจะสอบถามรายละเอียดของทะเลทรายในแอฟริกาซึ่งเขาคิดว่ามันคงคล้ายกันกับฉากทะเลทรายในเอธิโอเปียในเรื่อง “ทหารพลซุ่มยิง" แต่ตามมาตรการของผู้ที่มาจากต่างประเทศแม้ไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงก็จำเป็นต้องกักตัว นักเขียนรอคอยที่จะได้สอบถามจากคนข้างบ้านโดยตรง

ในบทบาทระหว่างนักเขียนและคนข้างบ้านตอนนี้ก็ไม่ต่างกับหมาป่าที่ได้กลิ่นหมาป่าด้วยกันเอง คือต่างฝ่ายต่างระแวงซึ่งกันและกัน นักเขียนต้องการล่าข้อมูลแต่ในทางกลับกันก็กลัวโรคระบาดที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน

ตอน “นักเขียน” นี้ดูเหมือนเป็นตอนเดียวในเรื่องที่กล่าวถึงหมาป่าตัวจริง ๆ เพราะคนข้างบ้านของเขาทำงานในกลุ่มองค์กร Four Paws ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องอพยพสัตว์หนีไฟแห่งสงคราม ในการอพยพครั้งนี้ต้องมีคนปลอมตัวเป็นสัตว์ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของกลุ่มผู้ก่อการร้าย กลุ่มคณะทำงานเลือกที่จะสละหมาป่าเพื่อให้สัตว์ตัวอื่น ๆ รอด แต่หมาป่ามีไม่ครบจำนวนจึงทำให้คนในคณะทำงานต้องปลอมเป็นหมาป่า ในฉากนี้มีบทบรรยายทำให้ผู้อ่านเหมือนปลอมตัวไปกับตัวละครและได้กลิ่นสาบของหมาป่าอย่างแท้จริง ความว่า “แต่ตอนอยู่ในกรงนั้น ภายใต้หนังหมาป่าที่คลุมอยู่...ในกรงซึ่งอวลด้วยกลิ่นสาบหมาป่า ขนและขี้ของมัน เลือดและน้ำลาย” (จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 443)

ในบทบาทของหมาป่าตัวจริงในครั้งนี้ดูเหมือนจะแตกต่างกับพฤติกรรมที่มันเป็นเมื่อครั้งอยู่ในป่าคือในป่ามันเป็นผู้ล่า แต่ในครั้งนี้มันกลับโดนล่าเสียเอง

     พฤติการณ์ของคนเป็นหมาป่ายังไม่สมบูรณ์

เมื่อวิเคราะห์โดยละเอียดแล้วผู้เขียนต้องการแสดงสารัตถะของเรื่อง โดยกำหนดให้ตัวละครแต่ละตัวมีพฤติกรรมเป็นหมาป่าหรือเป็นผู้ล่าในตัวเอง กำลังล่าแกะซึ่งก็คือฝ่ายตรงข้าม แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ตัวละครมีพฤติกรรมเป็นหมาป่ายังไม่สมบูรณ์ คือ “การต่อรอง” ในความเป็นหมาป่าที่แท้จริงแล้วการต่อรองกับเหยื่อไม่เคยเกิดขึ้น เมื่อหมาป่าอยู่ตัวเดียว(ในเรื่องนี้ตัวละครแต่ละตัวทำภารกิจคนเดียว) พฤติกรรมของมันจะคอยซุ่มรอเหยื่อ เมื่อสบโอกาสเหมาะมันก็จะลงมือจัดการเหยื่อทันทีโดยไม่ลังเล และอีกอย่างที่ทำให้มนุษย์หรือตัวละครในเรื่องเป็นหมาป่าไม่สมบูรณ์อีกอย่างก็คือ “ความเห็นแก่ตัว” หมาป่าที่แท้จริงมักล่าเหยื่อเพื่อฝูงของมันตัวอื่น ๆ เมื่อส่วนผสมของทั้งสองอย่างซึ่งอยู่ในจิตใต้สำนึกของความเป็นมนุษย์โดยปกติอยู่แล้ว รวมกับความเป็นหมาป่าจึงทำให้การเป็นหมาป่าหรือผู้ล่าของมนุษย์ไม่สมบูรณ์ในที่สุด ซึ่งตัวละครแต่ละตัวก็แสดงพฤติกรรมเหล่านี้ออกมา

“มือปืน” เขาเลือกที่จะไปบอกนักร้องขวัญใจของเขา เพื่อต่อรองไม่ให้นักร้องขึ้นเวทีและหนีไป ซึ่งเป็นสิ่งที่พลาดที่สุดของการเป็นมือปืน เมื่อบอกให้เป้าหมายรู้ตัวแน่นอนสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเป้าหมายไหวตัวทัน และท้ายที่สุดเขาก็โดนตลบหลัง

“ทหารพลซุ่มยิง” เขาเลือกที่จะไม่ยิงหัวหน้ากลุ่มกบฏตามที่ได้ตกลงไว้กับกลุ่มทหารเด็ก เพื่อหวังจะไปถึงเป้าหมาย “พลูโต” ของเขาได้โดยสะดวก เขาเลือกการต่อรองจึงทำให้เขามีจุดจบไม่ต่างกับกลุ่มทหารเด็ก

“นักเขียน” อาจไม่เด่นชัดเมื่อวิเคราะห์จากตัวละครนักเขียน แต่ที่เห็นได้ชัดคือคนข้างบ้านของเขาที่ทำงานกับกลุ่มองค์กร Four Paws เมื่อหมาป่าตัวจริงกลายเป็นผู้ถูกล่า และเมื่อหมาป่าถูกใช้เป็นเครื่องต่อรองเพื่อการรอดชีวิตของสัตว์อื่น ๆ

“เพราะแบบนี้สงครามจึงไม่มีการเจรจาที่แท้จริง ฝ่ายตรงข้ามเราล้วนเป็นหมาป่า” (จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 450-451)

ในบทบรรยายข้างต้นผู้เขียนก็เฉลยแล้วว่าสารัตถะของเรื่องที่แท้จริงก็คือเราทุกคนล้วนเป็นหมาป่า ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหมาป่าตลอดไป และในทางตรงข้ามก็ไม่มีใครที่จะเป็นลูกแกะของหมาป่าตลอดไป ต่างฝ่ายต่างเปลี่ยนสถานะกันได้ตลอดเวลา ดังนั้นผู้เขียนจึงแสดงทัศนะว่า

“ซึ่งเราควรยิงทิ้งทันทีที่ภาพมันปรากฏบนกล้อง”(จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 451) คือเมื่อเราสบโอกาสหรือเรากลายเป็นผู้ล่าก็ควรจัดการทันที

       ฉากประกอบพฤติการณ์ของคนเป็นหมาป่า

 ฉากที่ปรากฏอยู่ในเรื่องสั้น “เป็นหมาป่า” มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือมีทั้งฉากในและต่างประเทศปรากฏอยู่ โดยฉากที่ผู้เขียนใช้ถือได้ว่าทันสมัยต่อเหตุการณ์และสัมพันธ์กับตัวละคร อย่างเช่น “กลุ่มทหารเด็ก” ในประเทศคองโกที่ถูกบังคับให้ทำงานในเหมือง เมื่อผู้วิจารณ์ได้หาข้อมูลเพิ่มเติมแล้วพบว่าเหตุที่ผู้เขียนใช้ตัวละครเป็น “กลุ่มทหารเด็ก”สัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในคองโก มีการใช้แรงงานเด็กในการทำเหมืองแร่ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ใช้ทำแบตเตอรี่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ตรงกับฉากในเรื่องนี้ดังในบทบรรยายหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า “ซึ่งในคองโกมีเหมืองที่ส่งแร่ให้บริษัทโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ดัง ๆ ทั่วโลก”(จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 425)  ถือได้ว่าผู้เขียนหาข้อมูลเพื่อประกอบรายละเอียดของฉากได้อย่างครบถ้วนและทันสมัย

     นอกจากนั้นยังมีการอ้างถึงกลุ่มองค์กร Four Paws ที่ตั้งขึ้นในกรุงเวียนนาในประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ส่วนหน้าที่ที่แท้จริงขององค์กรนี้เกี่ยวกับการอพยพสัตว์หนีสงครามเป็นความจริงหรือไม่ ผู้วิจารณ์ไม่สามารถตัดสินได้เพราะการหาข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรนี้เป็นไปในวงจำกัด เนื่องด้วยไม่มีข้อมูลเป็นภาษาไทยจึงยากแก่การค้นหาข้อเท็จจริง

     ฉากต่างประเทศในเรื่องนี้ส่วนใหญ่เป็นฉากแห่งไฟสงครามและความขัดแย้ง ได้แก่ ฉากทะเลทรายในเอธิโอเปีย ฉากเหมืองในคองโก ฉากอเลปโปในซีเรีย ซึ่งเป็นฉากที่เสริมให้ตัวละครในเรื่องบีบบังคับให้ตัวละครกลายเป็นผู้ล่าเพื่อหลีกหนีการตกเป็นเหยื่อในไฟแห่งสงครามได้เป็นอย่างดี ถือว่าผู้เขียนศึกษาโดยละเอียดและเข้าใจที่จะต้องนำฉากเหล่านี้มาใช้เพื่อเสริมการสื่ออารมณ์ให้แก่ผู้อ่านได้เข้มข้นยิ่งขึ้น

     ฉากในประเทศของเรื่องนี้เมื่อวิเคราะห์แล้วเป็นสถานการณ์ที่แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้เขียนได้เปรียบมันเหมือนหมาป่า ใครได้ยินชื่อผู้คนก็ต่างพากันหวาดกลัว ฉากนี้เหมือนผู้เขียนจะเอาเข้ามา “เสียดื้อ ๆ” อาจเป็นเพราะในช่วงที่ผู้เขียนกำลังเขียนนิยาย แล้วโรคระบาดนี้มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้เขียนเป็นอย่างมาก จึงนำเอามาใส่ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ด้วย แม้จะดูฉงนเมื่อผู้อ่านได้อ่านในครั้งแรก แต่เมื่ออ่านไปแล้วผู้เขียนกลับทำให้มันเข้ากับเรื่องได้อย่างประหลาด  ฉากในเรื่องนี้จึงสมเหตุสมผลมีผลให้ส่งเสริมตัวละครให้เด่นมากยิ่งขึ้น และยังทำให้ครบรสในการอ่าน

        พฤติการณ์ของจุดร่วมและจุดจบ

เรื่องสั้นเรื่องนี้คล้ายกับเรื่องสั้นซ้อนนิยายดังที่ได้กล่าวไปตอนต้น แต่ใช่ว่าจะมีความเป็นเอกเทศกันเสียทีเดียว ผู้เขียนยังสามารถเชื่อมจุดร่วมกันของเรื่องได้เป็นอย่างดี

      จุดร่วมอย่างแรกก็คือ “มือปืน” และ ทหารพลซุ่มยิง” เหมือนกันโดยหน้าที่ที่เขาต้องทำคือสังหารเป้าหมาย แต่ก่อนหน้านั้นก็เกิดการต่อรองจนนำไปสู่จุดจบเช่นเดียวกัน การวางโครงเรื่องมีการซ้อนกันระหว่างตัวละครกับเนื้อเรื่องจึงคล้ายกับเป็นตัวละครตัวเดียวกัน

     จุดร่วมอย่างที่สองก็คือจุดจบของตัวละคร “ทหารพลซุ่มยิง”และ คนข้างบ้านนักเขียน” เขามีจุดจบร่วมกันคือ ทำงานอยู่ที่เหมือง การขมวดปมจบของนักเขียนดูเหมือนจะไม่เข้าท่าสักเท่าไหร่สำรับผู้วิจารณ์เอง เรื่องมันดูเกินจริงสำหรับผู้วิจารณ์ที่ฉากจบในนิยายของนักเขียนจะเหมือนกันเรื่องเล่าของคนข้างบ้านนักเขียน ด้วยการเรียงลำดับโครงเรื่องแบบสลับไปสลับมาและยังมีการแสดงความคิดเห็นของตัวละครแทรกกันอยู่ การวางโครงเรื่อง ดำเนินเรื่องแบบใหม่ของนักอ่านจึงไม่ค่อยน่าภิรมย์เท่าไหร่นักสำหรับตัวผู้วิจารณ์เอง

     จุดร่วมอย่างที่สามคือจุดร่วมระหว่างเป้าหมาย “พลูโต” ระหว่าง “นักเขียน” และ “คนข้างบ้านนักเขียน” บทบรรยายที่ว่า

“ตั้งแต่ตอนที่นายกรัฐมนตรีคนก่อนหนีไป นิยายของนักเขียนส่งมือสังหารตามฆ่าไม่ลดละ” (จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 428)  

“เป้าหมายทำธุรกิจคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ในประเทศไทย” (จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 425)  

“คนในประเทศนั้นกำลังจะฆ่ากันตายสงครามกลางเมืองแบบซีเรียหรืออัฟกานิสถานกำลังจะเกิด ผมต้องหยุดเขา” (จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 423)  

เมื่อวิเคราะห์โดยละเอียดแล้วผู้เขียนอาจสื่อถึงอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งเป็นทัศนคติที่ผู้เขียนมีต่ออดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้ในอดีต และมีบทบรรยายที่บอกว่า “บอกมือปืนของคุณให้กลับมาเถอะ เป้าหมายอยู่ในประเทศนี้แล้ว” (จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 448)  บทบรรยายนี้สามารถแสดงให้ว่าทัศนคติของผู้เขียนเปลี่ยนไปแล้ว

     จุดร่วมอย่างที่สี่คือตัวละครหลักเป็นผู้ชาย ทำไมถึงมีการเปรียบหมาป่ากับผู้ชาย? ทุกคนอาจสงสัย นั่นก็เพราะในอดีตมีการปกครองแบบปิตาธิปไตย ความเจ้าเล่ห์ น่ากลัว น่าเกรงขาม การมีอำนาจ จึงอธิบายลักษณะของผู้ชายได้ดี ผู้ชายส่วนใหญ่มักคิดว่าตัวเองคือนักล่าในเรื่องเซ็กส์ ซึ่งในเรื่อง “เป็นหมาป่า” นี้ก็กล่าวถึง และยังไม่รู้ว่าผู้หญิงนั้นก็เป็นหมาป่าได้เช่นกัน นั่นแสดงให้เห็นบทบาทของทั้งสองต่างก็เท่าเทียมกันในปัจจุบัน 

    “เป็นหมาป่า” อาจเป็นเรื่องที่ทำความฉงนให้แก่ผู้อ่านส่วนใหญ่ ด้วยการวางโครงเรื่องแบบใหม่ของ “จเด็จ กำจรเดช” และการดำเนินเรื่องที่สลับซับซ้อน ทำให้ผู้วิจารณ์ต้องใช้ความอดทนกับการอ่านหลายรอบเพื่อเข้าใจถึงสารัตถะของเรื่องอย่างแท้จริง นอกจากนั้นผู้วิจารณ์ยังต้องอาศัยการปะติดปะต่อเรื่องเข้าด้วยกันเพื่อให้เข้าใจด้วยว่าเรื่องราวมันเป็นมาอย่างไร ถึงแม้เป็นการอ่านที่ยากพอสมควรแต่หากจับประเด็นได้แล้ว เรื่องราวต่าง ๆ ที่ผู้เขียนได้แทรกลงไปล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์และทันต่อสถานณ์ปัจจุบันอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้นแต่ยังมีเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เกิดจากอีกมุมหนึ่งของโลก ทำให้ผู้อ่านรับรู้เรื่องราวที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน หรือเป็นการส่งเสียงจากอีกมุมหนึ่งของโลกเพื่อให้เรารับรู้ ดังนั้นเรื่องนี้จึงควรค่าแก่การอ่านอย่างยิ่ง

อ้างอิง

จเด็จ กําจรเดช. (2563). คืนปีเสือและเรื่องเล่า

ของสัตว์อื่น ๆ. กรุงเทพฯ : ผจญภัย.

    

ผู้วิจารณ์

นายวรรธนปกรณ์ คตมรคา

นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หมู่ 2

สาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 688962เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2021 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2021 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท