17 องศาเหนือ สงครามทะลุองศาเดือด


“We are sleeping on a volcano…

A wind of revolution blows,

The storm is on the horizon.

เรากำลังนอนอยู่บนภูเขาไฟ

ลมแห่งการปฏิวัติพัดมา

                                            พายุอยู่ตรงเส้นขอบฟ้า” Alexis de Tocqueville

          บทวิจารณ์นวนิยาย

บทกวีภาษาอังกฤษที่แปลเป็นภาษาไทยในหน้าแรกบอกเล่าเรื่องราวในนวนิยายเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี “17 องศาเหนือ” เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่เล่าผ่านปลายปากกาของ “วินทร์ เลียววาริณ” เสมือนบันทึกที่บอกเล่าความเลวร้ายของสงครามระหว่างสองอุดมการณ์คือประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ โดยมีไทยไปเกี่ยวข้องโดยมิอาจเลี่ยงได้ ความรักชาติ รักแผ่นดินเกิด ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้โดยตลอดทั้งเล่มและยังมีการเสียดสีทางการเมือง การคอร์รัปชัน และการขัดแย้งกันของทั้งสองระบอบการปกครอง จนนำมาสู่สงครามกลางเวียดนาม นวนิยายแนวเสียดสีสังคมและการเมือง รวมทั้งการตีแผ่สัจธรรมความจริงของมนุษย์ดูเหมือนจะเป็นแนวคิดนิยมของ “วินทร์ เลียววาริณ” ที่ผู้อ่านต่างชื่นชอบและยอมรับนำมาซึ่งรางวัลซีไรต์ที่เขาได้รับเลือกถึงสองครั้งสองครา ครั้งแรก ได้แก่ ประชาธิปไตยบนเส้นขนานใน พ.ศ.2540 และสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน พ.ศ.2542 ลักษณะเด่นอีกอย่างของนักเขียนผู้นี้ก็คือการจบแบบหักมุม เห็นได้จากตั้งแต่หนังสือรวมเรื่องสั้นที่เขาแต่งในเรื่องแรก สมุดปกดำกับไม้สีแดง เรื่องสั้นที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ก็จบแบบหักมุมทุก ๆ เรื่อง “17องศาเหนือ”เองก็เช่นเดียวกันก็จบแบบหักมุมซ้อนกันอย่างที่ผู้อ่านคาดไม่ถึงกันเลยก็ว่าได้ ส่วนเรื่องประวัติส่วนตัวนั้น

...วินทร์ เลียววาริณ เกิดที่หาดใหญ่ สงขลา เมื่อปี 2499 จบปริญญาตรีสถาปัตยกรรมฯ จุฬาลงกรณ์ฯ และปริญญาโททางการตลาด ธรรมศาสตร์ ใช้ชีวิตเป็นสถาปนิกที่สิงคโปร์และนิวยอร์กรวมกว่าห้าปี ขณะอยู่ที่อเมริกา ศึกษาต่อภาคกลางคืนด้านคอมพิวเตอร์ กราฟิกและภาพยนตร์ไปด้วย ปี 2528 กลับเมืองไทย เริ่มทำงานสายโฆษณาและเขียนหนังสือไปพร้อมกัน ผลิตงานวรรณกรรมแนวทดลองและงานประเภทอื่น ๆ อย่างหลากหลาย ได้รับรางวัลสมาคมภาษาและหนังสือฯสองสมัย รางวัลช่อการะเกดยอดนิยมสามสมัย รางวัลคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติสี่สมัย รางวัลซีไรต์ (2540/2542) ได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ปี 2549 ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2556 ผลงานหลายเรื่องได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาต่างประเทศ...

       17 องศาเหนือเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ และยังเป็นภาคต่อของ “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” ดำเนินเรื่องโดย “ตุ้ย พันเข็ม” นายตำรวจฝีมือยอดเยี่ยม ผู้ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลไทยให้สืบสวนสาเหตุการตายของ “น.ท. ตรันวันดง” ซึ่งรัฐบาลไทยก็ได้รับคำขอร้องมาจากเหงียนเกากีอีกทอดหนึ่ง “เหงียนเกากี”เป็นบุคคลสำคัญในเวียดนามใต้ เนื่องด้วยเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาทหารอากาศของเวียดนามใต้ครั้งเมื่อไซ่ง่อนซึ่งเป็นเมืองหลวงของเวียดนามใต้ยังไม่แตก แต่ตอนนี้ผ่านไปราวสี่ปีแล้วที่ไซ่ง่อนแตกฝ่ายผู้พ่ายแพ้ก็กระจัดกระเจิงหนีออกนอกประเทศราวกับมดแตกรัง รวมทั้ง “ตรันฮุยอานห์” ภรรยาของน.ท.ตรันวันดง ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลีภัยในประเทศไทย ตุ้ย พันเข็ม ได้เริ่มสืบหาข้อมูลจากตรันฮุยอานห์ ในครั้งแรกเขาสงสัยเกี่ยวกับคนร้ายที่ปล้นเรือของตรันฮุยอานห์ จึงพยายามจะสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับคนร้าย โดยมีหน่วยแม่บ้าน ซึ่งประกอบด้วยเสธ.ปาน หรือมีนามจริงว่าพล.อ.รังสี อิศราพยัคฆ์ เป็นหัวหน้า และมีร.ท. หญิง รัชนี นิลนาท ทำหน้าที่เป็นเลขาของหัวหน้าหน่วย เป็นหน่วยงานที่คอยช่วยเหลือและต้องรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการสืบสวนในครั้งนี้ ตุ้ย พันเข็ม เสี่ยงชีวิตในการสืบสวนในครั้งนี้อยู่หลายครั้ง หากแต่ได้ร.ท.หญิง รัชนี นิลนาท ช่วยชีวิตถึงสองครั้งสองครา ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จึงก่อกำเนิดและพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ในท้ายที่สุดการสืบสวนในครั้งนี้ก็สิ้นสุด บทสรุปคือ น.ท. ตรันวันดง ยังมีชีวิตอยู่แต่เขาต้อการที่จะลบตัวตนของเขาทิ้ง เพื่อที่จะได้อยู่กับชายคนรักของเขาซึ่งเฉลยแล้วว่าชายผู้นั้นก็คือ น.อ. สนั่น สังเวียนสุข ทั้งสองเป็นผู้อยู่เรื่องเบื้องหลังการปล้นเรือของตรันฮุยอานห์ เพราะในเรือมีทองที่ขโมยมาจากธนาคารกลางของเวียดนามใต้ในตอนที่ไซ่ง่อนใกล้จะแตก และยังมีเรื่องบังเอิญที่ตุ้ย พันเข็มค้นพบจากการสืบสวนสอบสวนในครั้งนี้ นั่นก็คือ “หมีดำ” หัวหน้าหน่วยดักกงของเวียดนามเหนือ ซึ่งคนที่น่ากลัวที่สุดกลับเป็นคนที่ใกล้ชิดเขา และเป็นคนที่เขาชื่นชมและไว้ใจที่สุด นั่นก็คือ “พล.อ.รังสี อิศราพยัคฆ์ หรือ เสธ.ปาน”หัวหน้าหน่วยแม่บ้านแห่งนี้นี่เอง นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ตำรวจอย่าง “ตุ้ย พันเข็ม”คาดไม่ถึงก็คือร.ท. หญิง รัชนี นิลนาท เป็นลูกสาวของหมีดำ เมื่อตุ้ย พันเข็มรู้ความจริงทุกอย่างแล้วหมีดำในคราบของพล.อ.รังสี อิศราพยัคฆ์ หรือ เสธ.ปาน ก็สั่งให้ลูกสาวของเขากำจัดตุ้ย พันเข็มทันที แต่รัชนีก็ไม่ทำเช่นนั้นแล้วก็จากเขาไปพร้อมกับพ่อของเธอ

       17 องศาเหนือเริ่มเรื่องด้วยความร้อนระอุของไฟสงครามที่แผ้วพานทำลายชีวิตของผู้คนต้องระหกระเหินผลัดถิ่นจากบ้านเกิดเมืองนอนของตนมาอยู่ในต่างถิ่นต่างแดน ถิ่นที่ไม่มีใครเขาต้องการ หลังวันที่ไซ่ง่อนแตกท้องทะเลก็เต็มไปด้วยผู้คนหนีตายกันราวกับมดแตกรัง การเริ่มเรื่องจึงกล่าวถึงผู้อพยพจำนวนมากที่อยู่ตามชายแดนของประเทศไทย ทั้งชาวเขมร ลาว เวียดนาม ความอยากแค้นแสนอัตคัดของค่ายผู้ลี้ภัยผ่านความคิดของตัวละครที่พบเห็นสถานที่และความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยซึ่งสามารถสะท้อนความเป็นจริงอิงประวัติศาสตร์ได้อย่างชัดเจน ตัวละครตรันฮุยอานห์เป็นตัวแทนของผู้ลี้ภัยที่ถูกความเลวร้ายทั้งในประเทศและนอกประเทศกระทำต่อเธอทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการผลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักด้วยความตาย และการเบียดเบียนของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างโหดร้าย ไม่ว่าจะเป็นการปล้น ฆ่า ข่มขืน เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่มนุษย์เคยกระทำต่อกัน ตุ้ย พันเข็มนายตำรวจผู้ถูกส่งมาสืบหาความจริงเกี่ยวกับการตายของน.ท.ตรันวันดง ต้องรับฟังการกระทำอันโหดร้ายของเพื่อนร่วมชาติผ่านการบอกเล่าของตรันฮุยอานห์ เพื่อหาความจริงเกี่ยวกับการตายของตรันวันดงให้ได้กระจ่าง

       ปมขัดแย้งที่สำคัญในเรื่องนี้เห็นจะได้แก่ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เป็นสำคัญ ปมขัดแย้งหลักได้แก่ความขัดแย้งระหว่างคอมมิวนิสต์กับประชาธิปไตย ซึ่งยังเป็นปมขัดแย้งที่ทำให้เกิดปมอื่น ๆ ตามมา ปมขัดแย้งระหว่างคอมมิวนิสต์กับประชาธิปไตยเกิดขึ้นในแผ่นดินเวียดนาม เส้นรุ้งที่ 17 องศาเหนือหั่นเวียดนามออกเป็นสองท่อนโดยชั่วคราว คือเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ซึ่งเป็นเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์ การแบ่งเวียดนามเป็นไปตามข้อตกลงในสนธิสัญญาเจนีวา โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งเพื่อรวมประเทศในปี พ.ศ. 2499 แต่สหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนเวียดนามใต้ก็ล้มการเลือกตั้ง สงครามระหว่างอุดมการณ์เลยเกิดขึ้น นำมาสู่การลี้ภัยของชาวเวียดนามใต้ครั้งใหญ่ราวกับมดที่แตกรัง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของปมขัดแย้งในเรื่อง ได้แก่ ปมขัดแย้งเรื่องอำนาจ การแย่งชิงอำนาจในเวียดนามใต้เกิดขึ้นหลายครั้งจากการรัฐประหาร ปมขัดแย้งของการคอร์รัปชัน ปมขัดแย้งระหว่างตุ้ย พันเข็มกับกลุ่มคนที่ต้องการขัดขวางการสืบสวนการตายของน.ท.ตรันวัน ปมขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติรวมไปถึงเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ และปมขัดแย้งหนึ่งอีกหนึ่งเรื่องของตัวละครเอกที่น่าสนใจก็คือปมขัดแย้งเกี่ยวกับความรักของตุ้ย พันเข็ม ซึ่งก็เป็นปมที่สร้างปมขัดแย้งภายในใจของตัวละครที่ต้องเลือกระหว่างความจงรักภักดีต่อแผ่นดินเกิด หรือความรักครั้งใหม่ที่เกิดกับรัชนี การคลายปมแต่ละปมขัดแย้งมีเรื่องราวการสืบสวนของตุ้ย พันเข็มเป็นหลักจึงทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกคล้ายกับอยู่ในเหตุการสืบสวนสอบสวนนั้นด้วยและยังทำให้ผู้อ่านเกิดความลุ้นระทึก ความตื่นเต้น ความสนเท่ห์ ความเศร้า ความสงสาร และความคาดไม่ถึงที่เกิดขึ้นอย่างครบครันเรียกได้ว่าปมขัดแย้งในเรื่องนี้ได้สร้างอรรถรสให้แก่ผู้อ่านเป็นอย่างดี นอกจากจะอรรถรสของเรื่องราวที่ผู้อ่านจะได้รับแล้ว เป็นที่รู้กันดีนวนิยายเล่มนี้เป็นนวนิยายที่อิงประวัติศาสตร์ที่ไม่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เลยแม้แต่น้อย จึงทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้เกี่ยวกับสงครามเวียดนามไปอีกทางหนึ่ง การคลายปมแต่ละปมตัวละครหลักจะเล่าผ่านความนึกคิดแล้วเชื่อมโยงไปสู่สงครามเวียดนามที่เขาเคยรับรู้หรือเคยสัมผัสมา นวนิยายเล่มนี้จะค่อย ๆ ผูกปมและคลายปมเป็นลำดับไปเพราะเรื่องเป็นการสืบสวนสอบสวน ผู้เขียนจึงต้องทำให้เนื้อเรื่องเป็นการสืบสวนสอบสวนโดยแท้ คือการตั้งข้อสังเกตหรือข้อสงสัย ตามมาด้วยการหาหลักฐานหรือหาข้อมูล และรวมไปถึงการลงพื้นที่เพื่อหาบุคคลที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาสู่บทสรุปในที่สุด

          การปิดเรื่องของ 17 องศาเหนือเป็นแบบหักมุม หากใครเคยอ่านผลงานเขียนเรื่องอื่น ๆ ของ วินทร์ เลียววาริณแล้วคงจะไม่เป็นที่ตกอกตกใจเท่าไหร่นัก เพราะปรากฏให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ตามผลงานเขียนที่นักเขียนคนนี้ได้รังสรรค์ขึ้น ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ที่มีเสน่ห์ในผลงานเขียนของ วินทร์ เลียววาริณ แต่การปิดเรื่องในเรื่องนี้นั้นตามทัศนคติของผู้เขียนบทวิจารณ์นี้แล้ว บอกตามตรงเลยว่าไม่คาดคิดว่าจะจบหักมุมแบบน่าตกใจอย่างนี้ การหักมุมแบบซ้อนหักมุมจะปรากฎอยู่ในเรื่องนี้อย่างแนบเนียนทำให้ผู้อ่านไม่คาดคิดเลยว่าจะเกิดเหตุการแบบนี้ขึ้น ตามเนื้อเรื่องแล้วการสืบสวนของตุ้ย พันเข็มย่อมต้องมีบทสรุปและจุดจบ ในภารกิจที่เขาได้รับมอบหมายในครั้งนี้ทั้งเรื่องการตายของตรันวันดง การสืบหากลุ่มโจรสลัดที่ปล้นเรือของตรันฮุยอานห์ และความจริงเกี่ยวกับตัวตนของหมีดำ การปิดเรื่องจึงเป็นบทสรุปของเรื่องต่าง ๆ ที่ว่าหักมุมและน่าตกใจอย่างยิ่งของบทสรุปนี้ก็คือ ทุกเรื่องที่เขาสืบสวนสอบสวนในครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกันและเป็นคนใกล้ตัวของเขาเองที่กลายเป็นผู้ร้ายในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น น.อ. สนั่น สังเวียนสุข ที่เขากลายเป็นผู้อยู่เบื้องหลังผู้ร้ายในคดีที่ปล้นเรือของจรันฮุยอานห์นี้ไปเสียได้ และซ้อนด้วยการหักมุมอีกชั้นหนึ่งคือตรันวันดงยังไม่ตาย แต่จัดฉากเพื่อให้คนอื่นเข้าใจว่าตนตายไปแล้ว เพื่อที่จะหนีการตามล่าและอยู่กับ น.อ.สนั่น สังเวียนสุข ชายรักคนของเขาได้อย่างมีความสุข การซ้อนการหักมุมโดยกล่าวถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศของทั้งสองตัวละครนี้เป็นเรื่องที่เกินความคาดหมายอย่างมาก เพราะไม่เคยปรากฏอยู่ในงานเขียนเรื่องใดของ วินทร์ เลียววาริณ ถ้าลองมองในอีกแง่มุมหนึ่งอาจจะเป็นการสะท้อนสภาพสังคมในสมัยนั้นที่ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตยยังไม่เปิดรับความหลากหลายทางเพศนี้ โดยเฉพาะคอมมิวนิสต์ซึ่งดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรง เป็นที่สมเหตุสมผลว่าทำไมตรันวันดงจึงต้องหนีและจำเป็นต้องลบตัวตนของตนเองทิ้ง นี่ก็เป็นตัวอย่าง ๆ หนึ่งของการหักมุมในนวนิยายเล่มนี้ที่ขมวดปมจบแม้จะหักมุมแต่ก็หักมุมได้อย่างไร้ที่ติเลยทีเดียว

          ตัวละครที่อยู่ในเรื่อง 17 องศาเหนือ มีอยู่หลายตัวละครด้วยกัน แต่โดยหลัก ๆ แล้วมีอยู่หกตัวละครด้วยกันได้แก่ ตรันฮุยอานห์, ตรันวันดง คู่สามีภรรยาที่ต้องแยกจากกันเพราะสงคราม, ตุ้ย พันเข็ม ตัวละครเอกของเรื่องเป็นตำรวจที่ได้รับคำสั่งให้สืบสวนการตายของตรันวันดง, ร.ท. หญิง รัชนี นิลนาท เลขาหน่วยแม่บ้าน, พล.อ.รังสี อิศราพยัคฆ์หรือเสธ.ปาน หัวหน้าหน่วยแม่บ้าน , น.อ. สนั่น สังเวียนสุข ทหารหนึ่งในหน่วยจงอางศึกที่อาสาไปรบที่เวียดนาม แต่ละตัวละครมีลักษณะเฉพาะในแต่ละด้านที่แตกต่างกันออกไปจึงทำให้ตัวละครมีน้อยลักษณะ ตรันฮุยอานห์ หญิงชาวเวียดนามใต้ผู้ต้องประสบพบเจอกับความเลวร้ายของสงครามและการเบียดเบียนของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทั้งยังต้องมาพลัดพรากจากสามีอันเป็นที่รักเพราะเธอคิดว่าสามีเธอได้ตายไปแล้ว, ตรันวันดง ชายที่ได้ชื่อว่าเป็นสามีของตรันฮุยอานห์และยังเป็นทหารคนสำคัญของเวียดนามใต้ แต่ชายผู้นี้ก็มาพร้อมกับคำหลอกลวง เพราะเขาเองเป็นสายลับของเวียดนามเหนือตั้งแต่ต้น ถูกส่งมาเพื่อเป็นบ่อนทำลายเวียดนามใต้ ดังนั้นความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาระหว่างตรันวันดงและตรันฮุยอานห์จึงเริ่มด้วยความหลอกลวง มิหนำซ้ำเขายังชอบผู้ชาย ตัวละครนี้ถูกสร้างขึ้นโดยให้มีตัวตนและความเป็นมาที่ลึกลับซับซ้อนเพื่อยากต่อการคาดเดาของผู้อ่าน เพื่อให้เรื่องน่าติดตาม, ตุ้ย พันเข็ม นายตำรวจตงฉินผู้ได้รับหน้าที่ให้สืบเรื่องการตายของตรันวันดง ความเหงา ความเศร้า ความเปล่าเปลียวจากการสูญเสียลูกและภรรยาไปทำให้ชายผู้นี้ทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งหมดให้กับงาน เขาไม่กลัวแม้แต่ความตายที่กำลังคืบคลานมาหาเขาทุกขณะแต่ในทางกลับกันเขากลับโหยหามันเสียด้วยซ้ำ ตัวละครตัวนี้สร้างขึ้นจากความจงรักภักดีที่มีต่อประเทศชาติและนายของเขาเอง, ร.ท. หญิง รัชนี นิลนาท เลขาของหน่วยแม่บ้านที่หลงรักตุ้ย พันเข็ม โดยเปลือกแล้วเป็นเช่นนั้นหากแต่แท้จริงแล้วเธอคือลูกสาวของหมีดำ หัวหน้าใหญ่พวกดักกงของเวียดนามเหนือ ตัวละครนี้สร้างขึ้นเพื่อให้เห็นถึงทางที่ต้องเลือกระหว่างความรักหรืออุดมการณ์ และเธอเลือกที่จะทิ้งความรักไป, พล.อ.รังสี อิศราพยัคฆ์หรือเสธ.ปาน หัวหน้าหน่วยแม่บ้านผู้มีแผนการสูง สุขุมลุ่มลึก มีความคิดที่เฉียบขาด เป็นหัวหน้าหน่วยข่าวกรองที่เป็นกำลังสำคัญให้กับรัฐบาล แต่เสธ.ปานที่อยู่ตั้งแต่ต้นเรื่องเป็นตัวปลอมแท้จริงแล้วเขาคือหมีดำหัวหน้าหน่วยดักกงที่วางแผนยุทธศาสตร์ในการรบและยังเป็นหน่วยข่าวกรองของเวียดนามเหนืออีกด้วย เขาปลอมตัวมาเป็นพล.อ.รังสี อิศราพยัคฆ์ เพื่อเข้าถึงข้อมูลความลับของไทย, น.อ. สนั่น สังเวียนสุข ทหารชาวไทยที่อาสาไปรบที่เวียดนามในหน่วยจงอางศึก ดูเหมือนเขาจะเป็นผู้เสียสละ แต่แท้จริงเขาคือคนที่อยู่เบื้องหลังการปล้นเรือของตรันฮุยอานห์ ด้วยความรักที่มีต่อตรันวันดงชายคนรักของเขา ตัวละครนี้สร้างขึ้นคล้าย ๆ เป็นคู่ตรงข้ามของรัชนี คือเขามีทางต้องเลือกระหว่างความรักหรือประเทศชาติ และเขาก็เลือกในทางที่ต่างออกไปซึ่งก็คือความรัก จะเห็นได้ว่าตัวละครแต่ละตัวมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่ซับซ้อนอยู่ของแต่ละตัวละคร เพื่อไม่ให้เป็นการคลายปมที่ง่ายจนเกินไป จนที่ผู้อ่านสามารถคาดเดาตอนจบได้ง่าย ซึ่งนวนิยายของวินทร์ เลียววาริณเล่มนี้สร้างตัวละครแต่ละตัวได้ดีที่เดียว หากเป็นหนังเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนแล้วก็เรียกได้ว่าดูไปจนเกือบจะจบเรื่องแล้วยังหาตัวผู้ร้ายไม่ได้ และความพิเศษของนวนิยายเรื่องนี้ก็คือการผสานเรื่องราวระหว่างตัวละครที่มีชีวิตอยู่จริงกับตัวละครสมมุติได้อย่างลงตัวเลยทีเดียว ส่วนผสมอีกอย่างที่อาจขาดไม่ได้ในนวนิยายที่เป็นภาคต่อเช่นนี้นั่นก็คือตัวละครจากภาคอื่น ๆ ของประชาธิปไตยบนเส้นขนานที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในเรื่อง 17 องศาเหนือ ซึ่งอาจปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นกลยุทธ์การเขียน การขายของผู้เขียน หรือความจำเป็นของผู้เขียนที่จำเป็นต้องกล่าวถึง เพราะมีส่วนทำให้ผู้อ่านอยากทราบความเป็นมาของตัวละครเหล่านั้นด้วย

          แนวคิดหรือแก่นของเรื่อง แก่นหลักของเรื่อง 17 องศาเหนือก็คือการรักชาติ และฉายชัดให้เห็นว่าในความเป็นจริงประเทศมีทั้งคนที่เห็นเเก่ประโยชน์ส่วนตนเเละประโยชน์ส่วนรวม ในเรื่องนี้นอกจากจะเป็นเรื่องราวที่อิงประวัติศาสตร์ในสงครามเวียดนามที่ให้สาระความรู้แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพเวียดนามใต้ที่ต้องล่มสลายไป เหตุเกิดเพราะการแย่งชิงอำนาจในการปกครองประเทศ และปัญหาการคอร์รัปชันในเรื่องนี้จะกล่าวอย่างเด่นชัดในตอนที่เวียดนามใต้จัดการเลือกตั้งครั้งแรกก็มีการคอร์รัปชันอย่างใหญ่โต เมื่อฐานของประชาธิปไตยซึ่งก็คือการเลือกตั้งไม่แข็งแรงแล้ว การสร้างส่วนอื่น ๆ ก็ไม่อาจเป็นไปได้อย่างมั่นคงและล้มลงมาในที่สุด ซึ่งเป็นบทเรียนให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี เพราะประสบพบเจอกับปัญหาเดียวกันซึ่งก็คือปัญหาการรุกรานของลัทธิคอมมิวนิสต์และปัญหาการคอร์รัปชัน ตุ้ย พันเข็ม ตัวละครที่รักเเละภักดีต่อเเผ่นดินไทยอย่างเเท้จริงเห็นได้จากการยอมรับนับถือให้เป็นนายตำรวจที่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกของหน่วยแม่บ้านซึ่งโดยปกติแล้วจะมีแต่ทหารเท่านั้น นอกจากความรักต่อเเผ่นดินเกิดเเล้ว วินทร์ยังเขียนถึงความรักต่างวัยระหว่างตุ้ย พันเข็ม กับ รัชนี นิลนาถ ให้เห็นด้วย ประเด็นนี้สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือรักไม่มีพรมเเดน ไม่มีข้อยกเว้น เเละไม่มีเส้นกีดกั้น เเม้อีกฝ่ายจะอายุมากจนเป็นพ่อได้เเต่เมื่อหัวใจของทั้งสองสมยอมเเละหมายปองกัน พวกเขาก็รักกันได้โดยไม่จำเป็นต้องสนใจว่าใครจะยินดียินร้ายมากนัก นอกจากนี้ยังมีแก่นเรื่อง ๆ อื่น ๆ อีกเช่น วินทร์ยังฉายภาพให้เห็นความโหดร้ายของสงคราม ทุกคนนั้นต่างเป็นผู้สูญเสียทั้งคนเรารักและคนที่รักเรา จึงอาจสรุปได้ว่านวนิยาย 17 องศาเหนือวินทร์ต้องการปลุกจิตสำนึกในการรักชาติผ่านตัวละครต้นแบบอย่าง ตุ้ย พันเข็ม

          ต่อไปจะว่าด้วยเรื่องฉาก บรรยากาศและบทสนทนา ทั้งสามอย่างในเรื่องนี้ล้วนมีความสัมพันธ์กันที่ทำให้เรื่องดูสมจริงและสามารถตั้งข้อสังเกตได้ ฉากในเรื่องนี้ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นสถานที่ที่มีอยู่จริงอย่าง เช่น ฉากค่ายผู้ลี้ภัย สถานที่ตั้งฐานทัพอเมริกา ในเรื่อง 17 องศาเหนือนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน ดังนั่นสถานที่ที่ต้องได้เห็นภาพกันก็คือหน่วยงานลับต่าง ๆ ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ หน่วยแม่บ้าน ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ ใน สถานที่ลับแห่งนี้ก็จะเหมือนในหลายเรื่อง เช่น มีห้องแห่งความลับ มีกลไกแต่ละห้องที่ซับซ้อน แต่ที่อาจจะเป็นข้อสังเกตที่ทำให้ฉากนี้ไม่สมเหตุสมผลเท่าใดนักก็ดูจะเป็นเหมือนความเป็นมาของห้องหน่วยงานลับแห่งนี้ สังเกตได้จากข้อความจากบทสนทนาระหว่างเสธ.ปานและตุ้ยพันเข็มที่ว่า “เมื่อสามสิบปีก่อน ในห้องนี้ บอร์ดหน่วยแม่บ้านหลายคนถูกสังหาร ประกอบด้วยพระพิจารณ์บริบาล, พระโกศลวีรยุทธ, หลวงชาญไชยนิวัติ มือปืนเป็นชายลึกลับซึ่งภายหลังเรารู้ว่าเกี่ยวข้องกับหลวงรณยุทธสงคราม” (หน้า 63) หากจะให้สมเหตุสมผลด้วยแล้ว ห้องแห่งนี้จะต้องไม่ถูกใช้อีกต้องเปลี่ยนหน่วยงานลับแห่งนี้ไปอยู่ที่อื่น เพราะสถานที่นี้ถูกเผยตำแหน่งแล้วจึงอาจเป็นอันตรายต่อสมาชิกในหน่วย และอีกอย่างที่น่าตั้งข้อสังเกตก็คือเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับตำแหน่งของสมาชิก ในบางครั้งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการประชุม แต่ดูเหมือนผู้เขียนจะแตะเรื่องนี้น้อยมากจึงทำให้มองได้ว่าการรักษาความปลอดภัยในสถานที่แห่งนี้หละหลวม จนในตอนท้ายผู้ร้ายสามารถเข้ามาปลิดชีพนายทหารได้ถึงในหน่วยงานลับแห่งนี้อย่างง่ายดาย ซึ่งอาจจจะตรงข้ามกับความเป็นจริงหรือนวนิยายแนวสืบสวนของนวนิยายเรื่องอื่น ๆ บรรยากาศในเรื่องจะบรรยายลักษณะบริเวณโดยรอบที่ตัวละครเอกอยู่ เช่น ห้องของตุ้ย พันเข็ม สถานีรถไฟ ค่ายผู้ลี้ภัย นอกจากนี้บรรยากาศโดยรอบจะสื่อถึงอารมณ์ของตัวละครเอกที่รู้สึกในขณะนั้น ในนวนิยายเรื่องนี้จะใช้ฝนเป็นหลักเมื่อตัวละครรู้สึกเศร้า หรือรู้สึกสับสน เราจะพบเห็นคำว่า “ฝนหลงฤดู” กันได้บ่อย ๆ นั่นสามารถเสริมอารมณ์ผู้อ่านให้รู้สึกตามตัวละครเหล่านั้นได้จริง ๆ บทสนทนาในเรื่องนี้นั้นสอดคล้องกับแนวทางของเรื่อง บทสนทามีลักษณะเป็นการถามตอบ เพื่อถามหาข้อมูลเพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนเสียส่วนใหญ่

          ในเรื่อง 17 องศาเหนือผู้เขียนมีการใช้มุมมองในการเล่าเรื่องโดยให้ตัวละครตัวใดตัวหนึ่งเป็นตัวเล่าเรื่องนั่นก็คือ “ตุ้ย พันเข็ม” ซึ่งเป็นตัวละครเอกที่มีบทบาทสำคัญต่อเรื่อง การที่ผู้เขียนใช้กลวิธีการเขียนแบบนี้นั้นทำให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนได้อ่านความคิดและอารมณ์ของตัวละครเอง จึงทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกเหมือนเข้าไปมีส่วนร่วมในการสืบสวนสอบสวน ทั้งนี้ถึงแม้ว่านวนิยายนี้เป็นเหตุการณ์อิงประวัติศาสตร์จะมีเหตุการณ์สงครามเวียดนามมาแทรกอยู่ด้วยในหลาย ๆ บท แต่ผู้เขียนก็สามารถใช้ตัวละครที่อยู่ในเรื่องเล่าเสมือนเป็นประสบการณ์ของตัวละครนั้นได้อย่างแนบเนียนและไม่ขาดตกบกพร่อง

          17 องศาเหนือ จึงจัดเป็นหนังสือที่มีคุณค่าชวนอ่านอย่างยิ่ง เพราะประการเเรกเลย คือ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือชั้นเยี่ยมที่เขียนโดยนักเขียนรางวัลซีไรต์ ซึ่งการันตีความสนุกเเละความสละสลวยทางภาษาได้เเน่นอน  ประการที่สอง หนังสือเล่มนี้เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ระบุสาระเกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วงสงครามเวียดนาม ทั้งบทบาทไทย สหรัฐฯ สหภาพโซเวียต จีน เเละเวียดนาม เเละเมื่อตรวจสอบเเล้วพบว่าเป็นนวนิยายที่ไม่ได้บิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เลยเเม้เเต่น้อย จึงเหมาะมาก ๆ เเก่ผู้สนใจประวัติศาสตร์การเมือง นักเรียน นักศึกษา ประการสุดท้าย นวนิยายเล่มนี้เป็นนวนิยายหักมุม ที่เมื่ออ่านเเล้วให้ความรู้สึกคับคล้ายว่ากำลังอยู่ในสถานการณ์การสืบสวนอันเเสนลึกลับประหนึ่งการสืบสวนสอบสวนของซีไอเอ เเละเมื่ออ่านถึงตอนท้าย ๆ จะร้อง “ว้าว” อย่างคาดไม่ถึงกันเลยทีเดียวว่าเรื่องจะคลี่คลายเช่นนั้น และเนื่องด้วยเป็นนวนิยายที่เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน มีการใช้ความรุนแรง และมีการพูดถึงเรื่องเพศ ดังนั้นผู้อ่านที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีควรได้รับคำแนะนำ

หมายเลขบันทึก: 688959เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2021 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2021 15:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท