พุทธเศรษฐศาสตร์ : Ecotourism Part III (ให้อาหารปลา)



เมื่อช่วงเย็นวันนี้ได้รับมอบหมายภารกิจไปให้อาหารปลา ซึ่งปกติแล้วพวกเราก็จะไปให้กันเป็นประจำทุก ๆ วัน แต่วันนี้พิเศษ คือ เมื่อขับรถไปถึงบริเวณหอส่องสัตว์ก่อนที่จะลงไปบ่อปลา ก็เห็นน้อง ๆ กระทิงกำลังลัดเลาะเล็มหญ้าอยู่บริเวณบ่อน้ำนั้น...

เมื่อน้อง ๆ กระทิงเห็นมีรถมาก็มิได้แตกตื่นอะไร เพียงแต่ค่อย ๆ เดินขึ้นไปบนที่สูง เราก็ค่อย ๆ ขยับรถเข้าไปเรื่อย ๆ เพื่อให้อาหารปลาทั้งสองบ่อ

ต่างคนต่างก็มองกัน ต่างคนก็ต่างทำหน้าที่ของกันและกัน เราก็ไปให้อาหารปลา น้อง ๆ กระทิงก็ออกมาหาอาหารและน้ำตามปกติ

เมื่อกระทิงเดิน เราก็จะเห็นชีวิตน้อย ๆ อีกหลายชีวิตที่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวคอยบินไปเกาะหลังเพื่อหาอาหารจากบริเวณผิวหนังบนหลังของกระทิง

นกเอี้ยงตัวน้อย หรือบางครั้งก็จะมีนกกระสาตัวใหญ่ ๆ ค่อยติดตามฝูงกระทิงไปเพื่อคอยหากินสัตว์น้อย ๆ ต่อกันอีกที

นี่เป็นห่วงโซ่อาหารตามวัฏจักรของชีวิต... 

ตอนตกเย็น ใกล้พลบคล่ำ แสงสว่างเริ่มหายไป ความมืดเริ่มคืบคลานเข้ามา สัตว์ทั้งหลายที่ตอนกลางวันหลบอยู่ตามพงป่า ก็ออกมาเริงร่าเพื่อหากิน

อาหาร น้ำ และความปลอดภัย เป็นนโยบายของท่านผู้มีปัญญาที่มอบไว้ให้กับผืนป่าแห่งนี้

บ่อน้ำนี้เป็นบ่อน้ำที่ครูบาอาจารย์เมตตาขุดไว้ให้เพื่อขังน้ำไว้ให้สัตว์ทั้งหลายได้กินใช้ตลอดปี

ทำไมถึงต้องไปให้อาหารปลา..? ปลาทั้งหลายหากินเองมิได้หรือ

ตอบว่า... ได้ แต่คงไม่เพียงพอ

ปลาเหล่านี้ มิใช่ปลาตามธรรมชาติ แต่เป็นปลาที่ครูบาอาจารย์เมตตาให้เจ้าของร้านขายปลานำปลามาปล่อย...

การขายสัตว์เป็นนั้นถือว่าเป็น "มิจฉาอาชีพ" ตามหลักอริยมรรค

ดังนั้น คนที่ร่ำรวยโดยได้เงินมาจากชีวิตสัตว์อื่นนั้นจำเป็นต้อง "แก้กรรม"

เรื่องนี้อาจจะมองว่าเป็นความเชื่อในทางศาสนา แต่สำหรับผู้มีปัญญานั้นทุกอย่างมีเหตุมีปัจจัย

ปลาน้อย ๆ หลายหมื่นตัวได้ถูกปล่อยลงในบ่อหลายบ่อที่ถูกไว้ตามธรรมชาติ โดยปลาทั้งหลายถูกขึ้นป้ายให้เป็นเขตอภัยทาน เพื่อความปลอดภัยแห่งชีวิต

ทุก ๆ วันครูบาอาจารย์ท่านก็จะเมตตานำอาหารไปให้วันละ ๑ กระสอบ เมื่อได้ยินเสียงรถ ปลาทั้งหลายก็จะรีบว่ายมาข้าง ๆ บ่อ เพื่อรอรับซึ่ง "อาหาร"

หลาย ๆ คนที่ได้มาที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ ถ้ามีโอกาสข้าพเจ้าก็จะพานั่งรถไปเพื่อให้ทุกคนได้ "ทำความดี"

การปฏิบัติธรรมนั้นมิใช่เพียงพูดให้ฟัง แต่ต้องพาทำ พาปฏิบัติ

การให้ผู้อื่นได้อิ่ม เราก็อิ่มเหมือนกันคือ อิ่มอก อิ่มใจ

ธรรมะ คือ ธรรมชาติ...

ธรรมชาติของมนุษย์นั้นคือการให้ เพราะจิตใจเดิมของทุกคนนั้นประภัสสร เป็นจิตใจที่สะอาด บริสุทธิ์ ปราศจากความเห็นแก่ตัว

การให้ การเสียสละ เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เป็นการชำระล้างกิเลสที่ปกคลุมอยู่บนผิวของจิตใจ การให้จึงเป็นหัวใจของพุทธเศรษฐศาสตร์อย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 688898เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2021 19:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2021 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท