นักท่องเที่ยวต่างชาติ VS นักท่องเที่ยวไทย รัฐควรมองอย่างไร


คนไทยมีกำลังซื้อ ที่ผ่านมาให้คนไทยไปจ่ายเงินที่ต่างประเทศมามากแล้ว อาจจ่ายมากยิ่งกว่าที่เราได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเสียอีก การสนับสนุนไทยเที่ยวไทย ยังทำให้คนไทยยิ่งรักเมืองไทย ภูมิใจในทรัพยากรและรากเหง้าของตัวเอง ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น ก็ควรสนับสนุนกลุ่มระดับบนที่ยินดีใช้จ่าย มากกว่านับจำนวนแล้วได้แต่พวกแบกเป้ กินง่าย นอนถูก เน้นมาเก็บเกี่ยวทรัพยากรธรรมชาติและถ่ายภาพเอาไป เราจะเสียมากกว่าได้
ได้มีโอกาสอ่านรายงานสรุปสถานการณ์ปี ๒๕๖๓ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เสนอต่อสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีประเด็นที่อยากมาวิเคราะห์เล่าสู่กันฟัง ๒-๓ เรื่อง
๑) เรื่องแรก อาหาร street food 

ผลสำรวจว่าเป็นที่นิยมชมชอบของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาก มีถึงร้อยละ ๘๔ ให้คะแนนเและอีกร้อยละ ๕๙ เลือกกินอาหารตามผับบาร์ ส่วนร้านอาหารแบบภัตตาคารน้อยมาก

ในเรื่องนั่งดื่มกินตามผับบาร์นี่ไม่น่าแปลกใจนักสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะมาเที่ยวหย่อนใจก็หนีไม่พ้นต้องมีแอลกอฮอล์และดนตรี เมื่อเสียตังค์แพงไปกับผับบาร์แล้ว อาหารมื้ออื่นๆ ก็ต้องประหยัดหน่อยไปกินที่ street food แล้วกัน อาจมองได้ทำนองนั้น

แต่ที่ย้อนแย้งกันคือ ผลการสำรวจที่ถามนักท่องเที่ยวต่างชาติว่าพึงพอใจอะไรในการเที่ยวไทยมากที่สุด street food มาอันดับหนึ่ง ที่พักและอาหารรองลงมา ส่วนผลไม้และวัฒนธรรมน้อยที่สุด แต่ว่าร้อยละ ๕๔ กลับมองว่าอาหารไทยไม่สะอาด และร้อยละ ๒๖ บอกว่าการให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารไม่ชัดเจน ไม่มีภาษาที่นักท่องเที่ยวอ่านออก ไม่มีรูป เป็นต้น รายงานแนะนำให้ภาครัฐเร่งปรับปรุงมาตรฐานอาหาร street food

ก็ถ้านักท่องเที่ยวไม่มั่นใจในความสะอาดแล้ว เหตุใดจึงนิยมชื่นชอบมากที่สุด? 

เวลาเราไปเที่ยวต่างประเทศ ที่ได้รับการยอมรับว่าอาหาร street food สะอาด (แต่ก็ราคาสูงด้วย) เช่น ญี่ปุ่น หรือ ไต้หวัน เรามักได้ไปลิ้มลองในย่านที่เขาจัดให้ขายโดยเฉพาะ และเป็นเวลา เช่น ซุ้มอาหารตามสถานที่ท่องเที่ยวดังๆ night market หรือถนนคนเดินแบบเรานี่แหล่ะ ไม่ใช่ตามท้องถนนทั่วไป ซุ้มหรือรถเข็นขายอาหารเหล่านั้นก็ไม่ได้มีภาษาอื่นนะ บางร้านอาจมีรูปถ่ายติดประกอบบ้าง แต่ไม่ใช่ทุกร้าน แสดงว่าเขาไม่ได้เน้นต่างชาติ แต่เน้นบริการคนของเขาเอง เราก็ต้องไปเมียงมอง ถ้าคุ้นหน้าคุ้นตา ก็สั่งมาชิมเลย หรือถ้าดูแปลกๆ ก็เสี่ยงลองดู ก็อยากเรียนรู้นี่นา !!

เรื่องอาหารนี่ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม คนไทยเรามั่นใจว่าอาหารของเราสะอาดพอ ผัดต้มกันควันโขมง นักท่องเที่ยวน่าจะพอใจในระดับหนึ่ง ไม่เช่นนั้นคงไม่เป็นที่นิยมหรอก แต่ถ้าไปเจาะถาม คนเราก็คงต้องบอกความต้องการนู่นนี่นั่นโน่นสารพัดไป ที่พูดเช่นนี้ ไม่ใช่ต่อต้านการปรับปรุง แต่พูดเผื่อให้ภาครัฐหรือผู้มีอำนาจชั่งน้ำหนักให้ดีถึงวิธีการนึกย้อนไปตอนเรียนวิชามัคคุเทศก์ ได้รับการสอนว่า อย่าให้นักท่องเที่ยวต่างชาติซื้อผลไม้รถเข็น … ทั้งที่ภาครัฐทำการออกสุ่มตรวจเสมอๆ ก็ไม่พบเชื้อโรคจากผลไม้เหล่านี้ คนไทยเรากินกันสนุกสนาน แต่ต่างชาติสงสัยในความสะอาดหรือ?บางทีเพราะท้องเขาไม่เหมาะกับผลไม้รสเปรี้ยวบ้านเราก็เป็นได้

นี่ไม่ใช่เรื่องแปลก เปรียบเทียบกับเมื่อเราไปเที่ยวประเทศอื่น บางประเทศ เรามองว่า มอมแมม เอาอาหารใส่กระดาษบ้าง ใบไม้บ้าง ใช้มือจับอาหารบ้าง แต่เขาก็กินอยู่กันได้ … บ้านเรายังดีกว่านั้นเยอะแยะ

เคยไปเดินเล่นแถวด้านหลังวัดชนะสงคราม รู้สึกตกใจ นี่มันเป็นเมืองของพวกแบกเป้นี่นา!! เต็มไปด้วยเกสท์เฮ้าส์หน้าตาดี ราคาถูก ส่วนร้านอาหาร คาเฟ่ ก็มีมากมาย ที่สำคัญอาหารเครื่องดื่มราคาถูกทีเดียว เฉลี่ยแล้วถูกกว่า food court ตามห้างฯ เสียอีก แต่ละร้านมีรูปภาพประกอบ มีบรรยายกำกับทั้ง อังกฤษ หรือภาษาอื่น ตามแต่กลุ่มลูกค้าของเขา แสดงว่า ผู้ประกอบการไทยนั้นปรับปรุงแล้ว เป็นไปตามกลไกการแข่งขัน ในย่านที่แย่งนักท่องเที่ยว (แบกเป้) กัน เขาก็ต้องทำ แล้วก็ทำได้ดีด้วย แต่ว่าในพื้นที่อื่นทั่วๆ ไป ก็อย่าเพิ่งไปวุ่นวายกับชีวิตชาวบ้านเขาเลยนะ

ที่พูดนี่เพราะกลัวใจภาครัฐ !! โดยเฉพาะ กทม. (ยุคผู้ว่าแต่งตั้งที่ครองอำนาจต่อเนื่องมาหลายปี) ถนัดในการจัดระเบียบแบบไม่ดูความเหมาะสม เอะอะ ก็อ้างจัดระเบียบตามมุมมองมิติเดียว ผู้คนเดือดร้อนอย่างไรไม่สน หลายๆ อย่างนั้น เป็นสิ่งที่เดิมมันก็สวยงาม น่าชม น่าเดินเที่ยว มีระเบียบอยู่แล้ว เป็นระเบียบตามแบบวิถีชีวิตคนไทย เป็นย่าน เป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นช่วงเวลา… บ่นไปก็เท่านั้น คงต้องรอให้ได้เลือกผู้ว่า กทม. อีกเมื่อไร อะไร อะไร น่าจะได้รับการเยียวยาให้ดีขึ้น

๒) เรื่องที่สอง คือเรื่องโรงแรมที่พัก

รายงานวิจัยแสดงว่า นักท่องเที่ยวไทย กับนักท่องเที่ยวต่างชาติเลือกที่พักช่วงราคาใกล้เคียงกัน หมายถึงกำลังซื้อเท่ากันหรือ !!??

นักท่องเที่ยวไทยร้อยละ ๓๘ นิยมที่พักราคา ๕๐๐-๑,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๒๖ นิยมพักราคา ๑,๐๐๑-๑.๕๐๐ บาทนักท่องเที่ยวต่างชาติร้อยละ ๗๘ นิยมพักที่ราคาไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท และกองกันอยู่ที่ช่วง ๑.๐๐๑-๑,๕๐๐ บาท ถึงร้อยละ ๓๓ โดยนิยมท่องเที่ยว ภูเก็ต และกระบี่ มากที่สุด รวมกันถึงร้อยละ ๗๘ขนาดส่วนใหญ่เที่ยวภูเก็ต กระบี่ เมืองท่องเที่ยวที่ได้ชื่อว่าที่พักแพง ค่าครองชีพสูง เขายังเลือกพักกันในระดับราคานี้

หากมองให้ลึก เทียบกันหมัดต่อหมัดแล้ว นักท่องเที่ยวไทยน่าจะมีการใช้จ่ายที่มากกว่าหรือไม่? เพราะคนไทยช้อปสะบัด ในขณะที่ต่างชาติมาเที่ยวชมธรรมชาติ เก็บเกี่ยวเอาความสุขความบันเทิงจากทรัพยากรของเราเป็นหลัก แต่การซื้อของ การกินอาหารนั้น จ่ายสู้คนไทยไม่ได้แน่นอนพฤติกรรมของคนไทยนั้น ไม่ใช่แต่ไทยเที่ยวไทย แม้คนไทยไปเที่ยวนอก ก็ช้อปสะบัดกินสนุกเช่นกัน … นี่จึงเป็นเหตุให้ประเทศต่างๆ แย่งทำตลาดท่องเที่ยวกับคนไทยกันจัง

เช่นนั้นแล้ว แทนที่เราจะกังวลกับยอดนักท่องเที่ยวต่างชาตินักหนา หันมาพัฒนาตลาดไทยเที่ยวไทยให้มากขึ้น และอย่างต่อเนื่องด้วยดีไหม?

หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 ช่วงแรก รัฐต้องช่วยการท่องเที่ยวด้วยการหันมาหาตลาดคนไทยอย่างเต็มร้อย มีโครงการมากมาย “เที่ยวด้วยกัน” “คนละครึ่ง” “กำลังใจ (ให้บริษัททัวร์จัดพา อสม. เที่ยวฟรี)” โดยเฉพาะ เที่ยวดัวยกัน และ คนละครึ่ง ได้รับการตอบรับในวงกว้าง ช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวขึ้นมาได้มากทีเดียว ดูจากผลค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยในไตรมาส ๒/๒๕๖๓ อยู่ที่ ๑๒ ต่ำเตี้ยอย่าไม่เคยเป็นมาก่อน พอมาไตรมาส ๓/๒๕๖๓ กลับพุ่งขึ้นมาที่ ๖๒ (แต่ก็ยังต่ำเพราะดัชนีในปี ๒๕๕๘ อยู่ที่ ๙๑) เพราะไทยเราคุมโควิดได้ ตัวเลขเป็นศูนย์ต่อเนื่อง อารมณ์และความมั่นใจในการเดินทางของผู้คนพร้อม หลังจากอึดอัดไปไหนไม่ได้มาหลายเดือน ประกอบกับมาตรการของรัฐส่งเสริมเต็มที่ดังกล่าวแล้ว

ในฐานะผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายหนึ่ง (หน่อโพธิ์ แทรเวล) จากเดิมที่เน้นพาคนไทยเที่ยวนอก พอต้องหันกลับมาทำไทยเที่ยวไทย บอกเลยว่า เมืองไทยมีเสน่ห์มาก มีสถานที่อีกมากมายที่เราไม่รู้จักมาก่อน ไม่เคยคิดว่ามีอย่างนี้ในเมืองไทยด้วย สวยไม่แพ้หรือสวยกว่าสถานที่ในต่างประเทศเสียอีก แถมยังดีกว่าตรงที่อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ มั่นใจเพราะเป็นบ้านเรา สื่อสารแบบของเรานักท่องเที่ยวเองก็ประหลาดใจเช่นกันว่า เมืองไทยมีสถานที่แบบนี้ด้วยหรือ?

๓) เรื่องที่สาม คือเรื่องวัฒนธรรม

อย่างที่เล่ามาข้างต้น ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อวัฒนธรรมของไทยอยู่ในลำดับหลัง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ? ทั้งที่คนไทยเราภูมิใจนักหนาว่า ศิลปวัฒนธรรมของเรามีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยว

จะขอแบ่งการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมออกเป็น ๒ แบบ คือ รูปธรรมหรือจะอาจเรียกว่าจับต้องได้ กับนามธรรมหรือแบบจับต้องไม่ได้แต่สัมผัสด้วยความรู้สึกได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น

แบบรูปธรรม : ไปเที่ยวจังหวัดน่าน ใช้เวลาครึ่งวันเรียนรู้การทำตุงแล้วไปถวายวัด จัดเป็นแบบจับต้องได้ แบบนี้นักท่องเที่ยวต้องมีข้อมูลก่อน มีการนัดหมาย เตรียมอุปกรณ์ นักท่องเที่ยวต้องมีความรู้มากพอที่จะซาบซึ้งกับความหมายของการกระทำนี้ จึงจะสละเวลาและค่าใช้จ่ายร่วมกิจกรรม แต่ยังมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมไม่ซับซ้อนอย่างเช่น ทำอาหารไทย ร้อยพวงมาลัย ที่ถือเป็นรูปธรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถตัดสินใจเข้าร่วมได้ง่ายขึ้น และมีหลายแห่งเปิดขายกิจกรรมแบบนี้

แบบนามธรรม : พักโฮมสเตย์บ้านป่าเหมี้ยง จ.ลำปาง ชมธรรมชาติ เรียนรู้การปลูกเหมี้ยง เก็บเหมี้ยง การหมักและบริโภคใบเหมี้ยง การทำหมอนใบชา ชมวิถีเกษตรผสมผสานของชาวบ้าน ถือเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผสมธรรมชาติ และเป็นทั้งแบบรูปธรรมและนามธรรม ที่ว่ารูปธรรมคือ นักท่องเที่ยวสามารถทดลองทำกิจกรรมกับชาวบ้านได้ ส่วนที่เป็นนามธรรมคือ การได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่และความคิดของชาวบ้านอย่างแท้จริง โดยไม่มีการจัดแต่ง ซึ่งจับต้องไม่ได้แต่รับรู้ได้

การที่ผลสำรวจความพึงพอใจที่มีต่อการท่องเที่ยววัฒนธรรมมาอยู่ในลำดับหลังๆ นั้น อาจเป็นเพราะ ความคาดหวังก่อนเข้ามาท่องเที่ยวนั้นมีสูง จากการประชาสัมพันธ์ของ ททท ที่เผยแพร่ไปทั่วโลกอย่างอลังการ แต่พอเข้ามาจริง การจะได้ลงมือแตะต้องกับวัฒนธรรมเชิงรูปธรรมกลับทำได้ยาก เพราะขาดช่องทางการหาข้อมูล หรือขาดการสร้างความสนใจให้เกิดขึ้นกับพวกเขาจนอินถึงขั้นอยากลองทำ เช่นเดียวกันกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบนามธรรม หากขาดข้อมูลอย่างเพียงพอ ก็อาจจะเข้าใจผิด และเมื่อไปถึงแล้วอาจเจอปัญหาด้านการสื่อสาร และอื่นๆ เพิ่มขึ้นไปอีก ทำให้ความพึงพอใจลดลงเมื่อเทียบกับความคาดหวังที่มีอยู่แต่แรก

ปัญหาเหล่านี้อาจลดลงได้ หากนักท่องเที่ยวใช้บริการบริษัททัวร์นำเที่ยว ซึ่งจะมีไกด์และผู้เชี่ยวชาญที่แนะนำและจัดหาให้ แต่นักท่องเที่ยวในยุคนี้ส่วนใหญ่นิยมเข้ามาท่องเที่ยวเอง ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องส่งเสริมเรื่องการช่องทางและระบบการประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ไปยังนักท่องเที่ยว ให้มากพอ ชัดเจนพอ และเป็นเจริง เพื่อให้พวกเขาเข้าใจและเตรียมพร้อมที่จะพบกับอะไร อะไร ความคาดหวังกับความเป็นจริงที่ได้พบจะได้ไม่ห่างกันมากนัก

การส่งเสริมเรื่องข้อมูลสู่นักท่องเที่ยวนี้ ควรต้องเน้นมากกว่า จะไปเสียเงินกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชาวบ้าน เพื่อให้ถูกใจนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นปรับบ้านเป็นโฮมสเตย์ หรือแต่งหน้าทาปากชาวบ้านให้ทำโน่นทำนี่ สุดท้ายแล้ว ก็ทิ้งรื้อไปมากมายก่ายกอง ชาวบ้านต้องลงทุนตามนโยบายภาครัฐ ได้เงินสนับสนุนมาไม่พอกับที่ลงทุนไป แล้วก็ไม่ได้อะไรแล้วที่จริง การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมนี่ เหมาะกับไทยเที่ยวไทยมากทีเดียว คนไทยแม้จะต่างภูมิภาค ก็ยังรู้สึกอินกับวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นได้มากกว่าชาวต่างชาติ เพราะเรามาจากรากเดียวกัน ศาสนาเดียวกัน กินข้าวเหมือนกัน คนไทยโหยหาอดีตและรากเดิมของชนชาติ หากได้มีโอกาสย้อนกลับไปเมื่อไร พวกเขาไม่เคยปฏิเสธพิสูจน์ได้จากการทำทัวร์ไทยเที่ยวไทยในช่วงที่ผ่านมาของ หน่อโพธิ์ แทรเวล ทุกครั้งจะต้องมีกิจกรรมที่ได้สัมผัสวิถีวัฒนธรรมไทยอย่างชัดๆ อย่างน้อยหนึ่งรายการ นักท่องเที่ยวจะมีความสุขและภูมิใจมาก

ดังนั้น หากภาครัฐให้การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมกับนักท่องเที่ยวไทย อย่างมากพอและต่อเนื่อง กิจกรรมแบบนี้จะยั่งยืน มีความรู้และข้อมูลแพร่หลายในวงกว้าง คนไทยก็แนะนำนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ สิ่งเหล่านี้จะไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าถึงอีกต่อไป เสน่ห์ของการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมจะเป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกมาสู่ไทย มาแล้วไม่ผิดหวังและอยากมาเที่ยวซ้ำ เพราะเรามีมากเสียจนมาครั้งเดียวเที่ยวไม่พอ

บ่นมาครบสามเรื่อง ก็เพื่อจะบอกโดยสรุปว่า รัฐต้องให้ความสำคัญกับไทยเที่ยวไทยให้มากถึงมากที่สุด คนไทยมีกำลังซื้อ ที่ผ่านมาให้คนไทยไปจ่ายเงินที่ต่างประเทศมามากแล้ว อาจจ่ายมากยิ่งกว่าที่เราได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเสียอีก การสนับสนุนไทยเที่ยวไทย ยังทำให้คนไทยยิ่งรักเมืองไทย ภูมิใจในทรัพยากรและรากเหง้าของตัวเอง ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น ก็ควรสนับสนุนกลุ่มระดับบนที่ยินดีใช้จ่าย มากกว่านับจำนวนแล้วได้แต่พวกแบกเป้ กินง่าย นอนถูก เน้นมาเก็บเกี่ยวทรัพยากรธรรมชาติและถ่ายภาพเอาไป เราจะเสียมากกว่าได้

หมายเลขบันทึก: 688770เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2021 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2021 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท