โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

ปีใหม่ชีวิตใหม่2564


โสภณ เปียสนิท

.....................................................

    ตอนก่อนผมเขียนบันทึกบทสนทนากับพระอาจารย์วัดดัง (เลียนเรียกชื่อมาจากหนังสือพิมพ์) แห่งหนึ่งที่มีโอกาสสนทนากับท่าน ถือเป็นบทความส่งท้ายปีเก่าไว้ ถึงตอนนี้จึงเป็นการเขียนต้อนรับปีใหม่ 2564 อีกครั้งหนึ่ง สืบเนื่องจากเรื่องเดิม ความเดิมตอนที่ผ่านมา บันทึกการสนทนาธรรมเกี่ยวกับการทำบุญสามอย่าง “ทาน ศีล และภาวนา” ทางพระท่านเรียกว่า กุศลมูล รากเหง้าของบุญกุศล เปรียบง่ายเหมือนตะกร้าสามใบ ใส่สิ่งของที่เรียกว่า ความดีสามด้าน นำติดตัวไปข้ามภพชาติน้อยใหญ่กว้างไกลสุดคำนวณ ไม่รู้ว่าเริ่มต้นมาเมื่อใด และจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

            ถึงวันปีใหม่อีกครา วันวัยก็ก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ ไม่หยุดหย่อนรอใคร สัตว์ตัวไหน ตนไหนเลย ปลายทางที่มองไปเหมือนอยู่ในเงามืดมองไม่เห็น เห็นแต่ความว่างเปล่า เหมือนดังคนและสัตว์ต่างเดินกันอยู่บนสะพานขาดด้วน ที่ค่อนข้างยาวไกล แต่ระบุไว้ว่าจะขาดกุดลงตรงไหน มีเพียงน้อยรายจะอยู่ได้นานกว่าร้อยปี ชีวิตคนและสัตว์ก็เป็นเช่นนี้มานาน เป็นอยู่ให้เห็นกันต่อหน้าต่อตามานานนัก แต่มีคนสักกี่คนที่มีความพร้อมต่อความเป็นธรรมของชีวิต ตายกันทีก็ร้องไห้กันที ต่อว่าต่อขานว่า ทำไมต้องตาย ทำไมต้องตายเร็วขนาดนี้ ทำไมต้องตายแบบนี้ ไม่น่าเลย อะไรอย่างนี้

            กลับไปพบหลวงพ่อที่วัดแห่งนั้นอีกครั้งท่ามกลางอากาศหนาวจัดอย่างที่ไม่เคยเป็นมานานมากแล้ว ลมหนาวพัดโชยจนใบไม้ในวัดปลิวปรายร่วงหล่นลงมากองอยู่โคนต้น หลายใบพลิกพลิ้วไปไกลเลยเขตวัดเขาไปในไร่นาของชาวบ้านข้างวัด ฝุ่นสีนวลติดอยู่ตามโต๊ะเก้าอี้ที่พระอาจารย์เคยนั่ง พระอาจารย์ยังคงเก็บตัวอยู่ในห้อง หลบลี้จากลมหนาวด้านนอกกุฏิชายเขา แดดอ่อนฉานฉายส่องลอดต้นมะม่วงมาที่โต๊ะหินหน้ากุฏิของท่าน

            ผมหยิบผ้าผืนเก่าใต้โต๊ะมาเช็ดเก้าอี้หินรอบโต๊ะเสร็จแล้วนั่งอาบแดดอ่อนคอยพระอาจารย์สักครู่ศิษย์วัดวัยชราเดินเข้ามาหาด้วยอัธยาศัย “มาหาพระอาจารย์หรือครับ” เขาถามอย่างอารีย์ “ใช่ครับ สองสัปดาห์ที่แล้วมาพบท่านคุยยังไม่จบเลยมาสนทนาธรรมกับท่านอีกครั้ง” ผมตอบยาวเหมือนเท้าความหลังให้เขาทราบไปด้วย เขาพยักหน้า “ครับ เดี๋ยวผมไปเรียกพระอาจารย์ให้นะครับ” “ขอบคุณครับ” ผมกล่าวขอบคุณความมีปฏิสันถารธรรมของเขา

            เขาเดินหันหลังกลับไปที่กุฏิพระอาจารย์ อ้อมไปทางด้านหลังแล้วร้องเรียกพระอาจารย์อยู่สองสามครั้ง แล้วเดินเลยไปด้านในวัดลับเงาต้นไม้ ระหว่างนั่งรอผมถือโอกาสมองรอบๆ บริเวณวัดกุฏิหลังเล็กสามสี่หลังเรียงรายอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ค่อนข้างแน่นหนา คิดถึงคำว่า “อาราม” ที่แปลว่าร่มเย็น ร่มเย็นเพราะร่มเงาไม้ ร่มเย็นเพราะเงาแห่งธรรมปฏิบัติของผู้อยู่อาศัยในอาราม วัดจึงเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวพุทธ เป็นที่พึ่งพิงของชาวพุทธมาเนิ่นนาน

            ขณะที่ความคิดของผมยังคงเดินทาง พระอาจารย์เดินเข้ามาใกล้โดยไม่ทันสังเกต “มาถึงนานแล้วหรือโยม” ท่านทักทายอย่างเป็นกันเอง คิดว่าท่านคงจำผมได้ “เมื่อสักครู่ครับท่าน กะว่าจะมาสนทนาธรรมกับท่านอีกครา ต่อเนื่องจากของเดิม” พระอาจารย์ยิ้มกว้าง มองไปที่พื้นเก้าอี้หินเหมือนตรวจเช็คดูความสะอาดก่อนนั่งลงอย่างช้าๆ

 “อ่อ ว่าแต่ว่าจะจำได้หรือว่าคุยเรื่องอะไรกันไว้บ้าง” “พอจำได้ครับว่า สนทนาธรรมไปถึงเรื่องของบุญสามกอง กองทาน กองศีลได้สนทนากับท่านอาจารย์ไปบ้างแล้ว และพอเข้าใจบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้คุยเรื่องกองสุดท้าย คือกองภาวนา ทำไมต้องภาวนาครับ” ถือโอกาสตอนหลวงพ่อกำลังนั่งถามไว้ก่อน ท่านจะได้มีเวลาคิดหาคำตอบ

“ทานกับศีลเป็นรากฐานของความสงบแห่งจิตใจ ผู้ใดก็ตามทำทานกับศีลมาอย่างพอเพียงแล้ว เรียกได้ว่ามีฐานของจิตที่สงบดีแล้ว ควรแก่การก้าวสู่การภาวนา เพราะภาวนาเพื่อความสงบแห่งจิตใจ การงานของคน โดยแท้แล้วคือการทำใจให้สงบ แต่อาชีพการงานที่คร่ำเคร่งของแต่ละคนแย่งชิงพื้นที่ในชีวิตของคนไปจนหมด จิตใจของคนเราจึงวุ่น วุ่นหนักเข้าก็พากันเดือดร้อน คนมีปัญญาก็หาทางหลบหนีความเดือดร้อนด้วยการภาวนา” พระอาจารย์เทศน์ยาว “หวังว่า อาตมาตอบคำถามของคุณโยมแล้วนะ” ท่านถามเหมือนไม่แน่ว่าตอบได้ตรงคำถามของผมหรือไม่

“พอเข้าใจครับ ทานและศีลเป็นพื้นฐานของการภาวนา การภาวนาเพื่อให้ใจสงบ” ผมสรุปง่ายๆ ตามที่เข้าใจให้พระอาจารย์ฟัง แถมด้วยคำถามตามที่สงสัยว่า “ภาวนาก็เป็นบุญหรือครับ” พระอาจารย์นั่งนิ่งสักครู่จึงว่า “บุญใหญ่และสำคัญที่สุด” ผมถึงกับงง เพราะคิดแต่เพียงว่า เป็นชาวพุทธ ตั้งใจบริจาคทานอยู่เป็นประจำก็ถือว่าเป็นชาวพุทธชั้นดีอยู่แล้ว “ทำไมภาวนาจึงเป็นบุญใหญ่และสำคัญที่สุดเล่าครับ”

พระอาจารย์มองหน้าผมนิ่งๆ สักครู่ เหมือนกำลังหาคำอธิบายที่เข้าใจง่ายๆ ให้คนที่ฉลาดในทางธรรมน้อยฟัง “คำโบราณอธิบายไว้ง่ายๆ ว่า ทานทำให้มีทรัพย์ ศีลทำให้สวย ภาวนาทำให้มีปัญญา โยมมีทรัพย์แล้ว มีความหล่อสวยแล้ว ไม่มีปัญญาโยมคิดว่าพอไหมล่ะ โยมต้องมีปัญญาด้วยใช่ไหม ปัญญาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดไง” พระอาจารย์อธิบายได้ง่ายดี

นิ่งฟังพระอาจารย์แล้วเกิดคำถามในใจ จึงถามท่านว่า “ปัญญาที่ว่านี้ คือการเรียนรู้อย่างเดียวกับนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยทั่วไปหรือเปล่าครับ” พระอาจารย์มีสีหน้ายินดีที่ผมถามถึงเรื่องนี้ “ปัญญาในที่นี้ มิได้หมายถึงการเรียนจบปริญญาตรี โท หรือเอกตามที่ทางโลกเขาจบกันหรอกโยม แต่มันหมายถึงการรอบรู้ในกองสังขาร คือกายของเรา ยาววา หนาคืบ กว้างศอกนี่แหละ” “รอบรู้อย่างไรครับ ผมก็รู้ก็เห็นดังที่มันเป็นอยู่ทุกวันนี้” ผมคิดเอาง่ายๆ ตามที่เข้าใจจนพระอาจารย์ต้องหยุดคิดสักครู่ ก่อนจะกล่าวคำอธิบายตอบมา

“คุณโยม สังขารคือสิ่งที่ประกอบกันขึ้นมา ด้วยธาตุทั้งสี่ ส่วนที่แข็งๆ เกิดจากแคลเซี่ยมเราก็เรียกว่าธาตุดิน ส่วนที่เอิบอาบไหลไปไหลมาในร่างกายของเราก็เรียกว่าธาตุน้ำ ส่วนที่เป็นอากาศในร่างกายของเราก็เรียกว่าธาตุลม ส่วนที่มีอุณหภูมิ มีความร้อนอยู่ก็เรียกว่าธาตุไฟ ดินน้ำลมไฟ ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกาย เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ ในที่สุดก็ดับไป ธาตุทั้งสี่แยกตัวกัน คนโบราณเรียกว่า ตายเพราะกายแตก ธาตุทั้งสี่แยกทางกัน ต่างคนต่างไป ดินไปส่วนดิน น้ำไปส่วนน้ำ ลมไปส่วนลม ไฟไปส่วนไฟ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป จึงมีชื่อว่า ไตรลักษณ์ สามัญลักษณะสามประการ คุณโยมพอเข้าใจนะ” พระอาจารย์สอบถามความเข้าใจของผมในตอนท้าย

เพื่อไม่ให้เสียฟอร์มนักจึงเรียนท่านว่า “พอเข้าใจบ้างครับ ภาวนาเกี่ยวข้องสังขารนี่ด้วยหรือครับ” “อ้าว ใช่ซิโยม ภาวนาเพื่อให้ใจสงบ สงบแล้วจึงนำมาพิจารณาให้รู้ถึงความไม่เที่ยงแท้ เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องปกติ จิตสงบก็เรียกว่ามีสมาธิ สงบแล้วเราก็พิจารณาการเกิดแก่เจ็บตายให้เข้าใจมากขึ้นตามลำดับ เราก็เรียกว่า วิปัสสนา”

“อ้าว มีคำว่า วิปัสสนาเข้ามาอีกคำแล้ว” พระอาจารย์มองผมอย่างเข้าใจ “วิปัสสนาก็คือความคิดไปในทางลดละเลิกยึดติดอยู่กับสังขารของเรานี่แหละ ทำได้มากก็เป็นวิปัสสนามาก ทำได้น้อยก็เป็นวิปัสสนาน้อย ทำได้มากก็เป็นวิปัสสนามาก ขยันมากได้มาก ขยันน้อยได้น้อย”

“ภาวนาเล่าครับหลวงพ่อ ทำอย่างไรหรือ” ผมถามแบบยิงตรง เอาให้ง่ายที่สุด “ภาวนาแปลว่าทำให้เจริญ ทำมากๆ ทำบ่อยๆ เช่นโยมภาวนาว่า “พุทโธ” หรือคำใดๆ ที่อยู่ในแดนบวก ไม่ใช่แดนลบ อยู่ในใจ ว่าให้ต่อเนื่องกันไป จะในใจ หรือเสียงดังพอได้ยินก็ได้ ว่าไปเรื่อย ไม่หยุด มากเข้าจิตก็จะนิ่ง จิตนิ่งก็เป็นควรแก่การพิจารณาลดละตัดตัวอุปาทานยึดมั่นในสังขารนี้ได้ เรียกว่าจิตมีกำลัง นิ่งมากกำลังมาก นิ่งน้อยกำลังน้อย”

“สวดมนต์เล่าครับหลวงพ่อ เป็นการภาวนาไหม” ผมถามตามความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะนั้น พระอาจารย์ตอบทันทีว่า “เป็นแน่นอน ไม่ต้องสงสัย แต่มีพระอาจารย์บางรูปท่านบอกว่า สวดมนต์เป็นยาทา ภาวนาเป็นยากิน ยาทาแก้ปัญหาได้น้อยหน่อย ภาวนาแก้ปัญหาได้มากกว่า หมายความว่า ภาวนาดีกว่า” ผมพนมมือกล่าว “สาธุครับ” ด้วยความเข้าใจดังที่พระอาจารย์ว่ามา

“ภาวนาว่า พุทโธ สัมมา อรหัง พอหนอ ยุบหนอ หรือ อย่างอื่น หลายสำนักต่างก็ว่ากันไป อันไหนดีกว่ากันครับ” ผมถามตามที่ได้รู้มา “ต่างแต่คำภาวนา ความหมายไม่ค่อยจะต่างกันเท่าไรหรอก ภาวนาเพื่อยึดใจให้คิดอยู่ในอารมณ์อันเดียว ไม่เที่ยวไป ไม่ฟุ้งซ่านคิดโน่นนี่นั่น เท่านั้นพอ หลวงปู่หลวงพ่อบางรูปท่านภาวนาว่า “ไม่มาอีกแล้วๆๆๆๆๆๆ” พอว่าแล้ว จิตของท่านคุ้นเคยกับการภาวนา จิตมันภาวนาต่อเนื่องกันไปไม่หยุดจนเกิดสมาธิ จิตรวมเป็นหนึ่ง จิตออกไปเที่ยวนรกสวรรค์ได้ในคราวแรกเลยก็มีมาแล้ว” ผมนึกอัศจรรย์ใจว่า เอ อย่างนี้ก็มีด้วยหรือ เราพยายามจะฝึกภาวนาตั้งนานมาแล้วก็ยังไม่เคยเป็นแบบนี้เลย

“แล้วแบบที่กำหนดอาการพองยุบของท้อง หายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องยุบ เล่าครับท่านอาจารย์เป็นภาวนาด้วยเปล่า” ผมเรียนถามท่านตามที่สงสัย “เป็นโยม เป็นการฝึกเน้นไปที่สติ กำหนดรู้อาการของร่างกาย กำหนดรู้ให้ติดต่อกันไป เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตามดูกายว่ามีอิริยาบถน้อยใหญ่เคลื่อนไหวอย่างไร สติกับสมาธิก็มาคู่กันเหมือนพี่กับน้อง สติมี สมาธิก็มี สมาธิมี สติก็มี สติเหมือนพี่ ยิ่งมามากยิ่งดี สมาธิเหมือนน้อง ต้องให้พอดีๆ มากเกินนานเกินไม่ดี พระอาจารย์เก่าๆ จึงมีคำเตือนแก่ศิษย์ที่มีสมาธิดีว่า อย่าติดสมาธิ แต่หมายถึงมีที่มีสมาธิอยู่แล้วนะ มิได้หมายถึงผู้ยังไม่มีสมาธิเลย แต่ดันไปกลัวติดสมาธิ อันนี้ไม่ถูก เพราะยังไม่ทันมีเลย กลัวเสียแล้ว ทั้งสองอย่างนั้น ใช้ให้พอดี ถูกที่ถูกเวลา สลับกันไปมา เกิดประโยชน์มาก”

“สาธุครับท่านอาจารย์ ขอพรสำหรับปีใหม่ไปฝากญาติมิตรหน่อยครับหลวงพ่อ” ผมขอพรเอาดื้อในตอนท้าย เพราะคิดว่ารบกวนท่านมามากพอแล้วในวันนี้ “ก็ที่อธิบายมาทั้งหมดนั่นและคือพอ บุญสามทาง ทานทำให้มีทรัพย์ ศีลทำให้สวยทำให้หล่อร่างกายแข็งแรง ภาวนาทำให้เกิดปัญญา ให้ญาติโยมดำเนินตามนี้ตลอดปี ถือว่าเป็นพรอันประเสริฐแล้ว ทำได้มากได้น้อยแล้วแต่ญาติโยมจะพากเพียรทำเอานะ” สาธุ ผมกราบลาพระอาจารย์ออกมาด้วยความตั้งใจว่าจะทำบุญให้ครบสามกองให้มากเท่าที่จะทำได้






หมายเลขบันทึก: 688603เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2021 09:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2021 09:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท