ระหว่างการเจรจาและการต่อรอง


เป็นหมาป่า : ระหว่างการเจรจาและการต่อรอง

           คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ ผลงานที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี 2563 ผลงานของ จเด็จ กำจรเดช นักเขียนดับเบิ้ลซีไรต์คนล่าสุดซึ่งเรื่องเป็นหมาป่า เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นที่ถูกรวบรวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้เป็นหมาป่า เรื่องสั้นสุดซับซ้อนที่ชวนสงสัยแต่น่าติดตาม ด้วยกลวิธีการเขียนเรื่องสั้นซ้อนเรื่องสั้น เป็นเรื่องที่มีการผสมผสานรูปแบบการเล่าเรื่องที่เข้าถึงความเป็นมนุษย์ ผ่านภาพของหมาป่าที่กลายเป็นเหยื่อในเวลาเดียวกัน โดยทั้งหมดถูกซ่อนไว้ระหว่างการเจรจาและการต่อรองจากในเรื่องสั้นเป็นหมาป่า 

           เรื่องราวพูดถึงเรื่องสั้นสามเรื่องที่ถูกเล่าสลับสับตอนแต่ก็มีความเป็นเหตุเป็นผลกัน เปิดเรื่องด้วยเรื่องสั้น เรื่องราวแรกถูกเปิดมาด้วยมือปืนคนหนึ่งกำลังเตรียมตัวซุ่มยิงนักร้องที่ตนชอบ แต่ความพิเศษอยู่ที่ว่านักร้องคนนั้นก็ได้เขียนนิยายเกี่ยวกับมือปืนที่เป็นพลซุ่มยิง กำลังตามล่าสังหารอดีตผู้นำในทวีปแอฟริกา ในเรื่องเรื่องที่สอง ซึ่งในการอ่านช่วงแรก ๆ อาจต้องจับทางกันอยู่ ด้วยเนื้อหาถูกตัดสลับไปมาระหว่างทั้งสองเรื่อง แต่เมื่อเรื่องดำเนินมาได้สักระยะ เรื่องสั้นที่สามก็ถูกเปิดเผย เรื่องราวดูไม่น่าตื่นเต้นเท่าสองเรื่องก่อนหน้า เป็นเรื่องของนักเขียนซึ่งอยู่ในยุคโควิด-19 ที่กำลังพยายามเขียนเรื่องสั้นที่ตัดตอนมาจากตอนเริ่มต้นของนิยายเรื่องยาวของเขานั้น เรื่องราวเริ่มขยายปมปัญหาหลาย ๆ อย่างภายในเรื่องสั้นเป็นหมาป่านี้  หากมองตามทฤษฎีทางวรรณกรรม ถือว่าเป็นการเล่าเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง

          เป็นหมาป่าใช้การเล่าเรื่อวแบบเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า (Metafiction) เป็นเรื่องแต่งที่มีลักษณะการเล่าเรื่องซ้อนกัน เนื้อหาของเรื่องก็คือกระบวนการแต่งนั้นเอง หรืออาจเปรียบเทียบกับภาพยนตร์ได้ว่าเป็นการแสดง “เบื้องหลังการถ่ายทำ ” โดยปกติแล้วเรื่องเล่าบันเทิงคดีมักจะพยายามทำให้ผู้อ่านเชื่อว่าเรื่องที่เล่านั้นเกิดขึ้นจริง ๆ แต่เรื่องเล่าในลักษณะนี้จะพยายามให้ผู้อ่านตระหนักอยู่ ตลอดเวลาว่ากำลังอ่านเรื่องที่ผู้แต่ง “ผูก” ขึ้น ไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างไร จุดเด่นของเรื่องเล่าที่ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ คือ กระตุ้นให้ผู้อ่านอยากเข้าถึงพลังอำนาจของความจริงและความลวง (รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. 2549: 72)

          ในมุมมองที่มีการเล่าเรื่องแบบเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า (Metafiction) ผู้เขียนมีการเรียงลำดับของเรื่องเล่าได้อย่างเหมาะสม โดยค่อย ๆ วางจุดขัดแย้งในตอนต้นเรื่องเพื่อสร้างความสนใจให้ผู้อ่านอยากติดตาม อาจทำให้น่าเบื่อจนเกินไปแต่ก็ค่อย ๆ คลี่คลายปมปัญหาอยู่เป็นระยะ จนที่สุดก็ได้เปิดเผยเรื่องที่สามออกมา ประเด็นการเล่าเรื่องจึงกระจ่างขึ้น ทำให้ผู้อ่านจึงได้หันมาสนใจจับประเด็นที่เป็นนัยยะสำคัญที่ผู้เขียนวางแผนไว้เพื่อนำเสนอต่อไป และไม่ให้สับสน ผู้เขียนได้แบ่งเป็นตอนสั้น ๆ และตั้งชื่อซึ่งชื่อนั้นเป็นใจความสำคัญของเนื้อหาในตอน เรียงลำดับได้จาก มือปืน เป็นตอนเริ่มต้นเรื่อง กาแฟ เป็นส่วนที่เปิดเผยและเชื่อมโยงรายละเอียดเกี่ยวกับความต้องการ ทหารเด็ก ส่วนของเรื่องราวที่ค่อนข้างน่าตื่นเต้นและเป็นส่วนขัดแย้ง เจรจาเป็นเนื้อหาสำคัญที่ปรากฏอยู่ตลอดทั้งเรื่อง หมาป่า อีกหนึ่งเนื้อหาสำคัญซึ่งเป็นชื่อของเรื่องนี้และเป็นส่วนสำคัญที่จะเปลี่ยนเปิดเข้าสู่เรื่องสั้นเรื่องที่สาม ซึ่งเป็นเรื่องหลักของเรื่องสั้นเรื่องนี้ ต่อรอง บทที่แสดงเรื่องสั้นหลักที่ทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพมุมกว้างและรายละเอียดทั้งหมดนักเขียน เป็นศูนย์รวมของรายละเอียดและเป็นประเด็นที่เรื่องทั้งหมดมารวมตัวกัน และค่อย ๆ หาทางออกของเรื่องเพื่อคลี่คลายปมปัญหาทั้งหมด และบทสุดท้ายเป้ากระสุน เป็นบทสรุปของเรื่องราวทั้งหมดที่ผู้เขียนขมวดปมปัญหาต่าง ๆ เพื่อเสนอความคิดและบทสรุปที่ต้องการนำเสนอ“มีคำอธิบายเพิ่มอีกนิดว่าทำไมไม่ดำเนินเรื่องไปพร้อม ๆ กัน ทำไมปล่อยเนื้อหานิยายมายืดยาวคำตอบก็เพื่อไม่ให้งุนงงสับสนยังไงล่ะ เอาล่ะนะ เรื่องในนิยายพักมันไว้” (หน้า 426 ) จะเห็นได้ว่าจากตัวบทก็ได้มีการนำเสนอเกี่ยวกับการจัดลำดับการเล่าเรื่องไว้ด้วย

 ระหว่างการเจรจาและการต่อรอง      

         อีกส่วนสำคัญของเรื่อง เป็นหมาป่า คือการเจรจาและการต่อรองที่ตัวละครในเรื่องสั้นซ้อนเรื่องสั้นทั้งสามมีร่วมกัน และต้องเผชิญหน้าเหมือนกัน  การเจรจาและ การต่อรอง ใจความหลักที่ตัวละครหลักทั้งสามตัวมีร่วมกัน เพราะตัวละคร มือปืนปลายแถว และพลซุ่มยิ่ง ต่างเป็นตัวละครของนักเขียนผู้กำลังเขียนเรื่องสั้น ที่เรื่องสั้นทั้งสองซ้อนอยู่ นักเขียนในเรื่องใช้มุมมองมือปืนที่หนึ่งในเล่าถึงตัวละครทั้งสอง คือ “ผม” เป็นผู้เล่า และมักจะแทนตัวละครที่เป็นตัวละครตรงข้ามในเรื่องทั้งสอง เป็น “เขา” หรือตัวละครที่สองอื่น ๆ เช่น “ทหารเด็ก”,“หัวหน้ากบฏ”,“นักร้อง” และให้เขาเข้าไปร่วมเป็นตัวละครเองทุกตัว เพื่อให้ตัวละครเผชิญหน้ากับปัญหา แต่แตกต่างตรงบริบทแวดล้อมของฉากที่เป็นส่วนประกอบในเรื่องสั้นนั้น ๆ ความแตกต่างกันที่เรื่องที่สามนั้น เล่าในมุมมองที่อยู่สูง คือเห็นทุกอย่างเป็นภาพกว้าง ๆ ผู้เล่าเรื่องให้เห็นว่า เรื่องสั้นก่อนหน้าทั้งสองที่เล่าแบบมุมมองแคบเพราะเป็นเพียงมุมมองของนักเขียนในเรื่องที่สาม ในเรื่องนี้ใช้สรรพนาม “นักเขียน” และ “เขา”เพื่อนให้เห็นความแตกต่างของมุมมองในแต่ละเรื่องเล่า จุดนี้เองอาจเป็นการยากผู้อ่านในการแยกมุมมองอาจทำให้เกิดความสับสน และไม่เข้าใจเนื้อหาที่ผู้เขียนกำลังพยายามสื่อสาร และต้องการชี้ให้เห็น

         บทของทั้งสามเรื่องนั้นการเจรจา ถือว่าเป็นส่วนเริ่มต้นที่สำคัญ ของสาระสำคัญที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อถึงเพราะตัวละครทั้งสามนั้น ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือก ระหว่างความคิดบางอย่างที่มีอยู่ในตัวเอง หรือหน้าที่ควรจะเป็นไปตามความจริง เช่น นักซุ่มยิงที่ตามล่าอดีตผู้นำในทะเลทรายแอฟริกาต้องเจรจาเพื่อขอผ่านทางกับกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งทหาร เด็ก นักธุรกิจ คนนำทาง หัวหน้ากบฏ และหมาป่า ส่วนมือปืนในเรื่องที่สองนั้น เขาเจรจากับเป้าหมายที่เขาจะต้องไปสังหาร คือนักร้องที่เขาปลื้มในทุกด้าน ส่วนนักเขียนที่เป็นเรื่องหลัก เจรจากับชายที่ถูกกักตัวเพื่อป้องกันโควิด-19 ที่มาจากแอฟริกา ตัวละครหลักทั้งสามต่างอยู่ในสถานการณ์ที่มักจะหลีกเลี่ยงการเจรจาไม่ได้เพื่อให้ตนเองบรรลุเป้าหมายที่มีอยู่ภายในจิตใจ 

         การต่อรอง ของตัวละครหลักทั้งสามมักจะเกิดขึ้นหลังจากที่เจรจากันแล้วตัวละครพลซุ่มยิงเขาต้องแลกหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อให้ตนเองสามารถผ่านแต่ละด่านไปได้ ทั้งการฆ่าคน หมาป่า รวมถึงแลกด้วยสิ่งของทั้งหมดเพื่อตามล่าหาเป้าหมายที่เป็นอดีตผู้นำประเทศที่ต้องสังหาร ตัวละครนักเขียนยอมเสี่ยงกับความกลัวในการติดเชื้อโควิด-19 แลกกับการได้มาซึ่งข้อมูลของฉากในแอฟริกา เพื่องานเขียนที่สมบูรณ์แบบของเขา แต่ตัวละครมือปืนดูจะแตกต่างจากอีกสองตัวละครในเรื่องนี้ตั้งแต่การเจรจา เขาเลือกที่จะเจรจาพูดคุยกับนักร้องให้ระวังตัวเรื่องการลอบสังหาร เขาเลือกจะทำตามความรู้สึกด้วยความรักความชอบก่อนเป้าหมาย แต่เขาก็ไม่ทิ้งการงานทำหน้าที่ต่อไป  ซึ่งตัวละครทั้งสามมีเพียงนักเขียนที่เป็นตัวละครหลักของเรื่องหลักที่ประสบความสำเร็จของเป้าหมายในแง่ของการเจรจาต่อรอง

        

เป็นหมาป่า เป็นเรื่องที่ผู้เขียนกำลังบอกผู้อ่าน  ผ่านตัวละครและสิ่งที่เล่าในเรื่อง ความกลัว ความอยาก ความใคร่ และความลังเลคือสิ่งที่ครอบงำ ทำให้ไม่สามารถผ่านอุปสรรค์ต่าง ๆ ไปได้ ความพ่ายแพ้ของพลซุ่มยิง และ มือปืน เป็นตัวละครที่ถูกครอบงำ สภาพใจคือสิ่งที่ทำให้ยอมจำนนต่อเป้าหมาย พลซุ่มยิงเลือกการเจรจาต่อรองกับหัวหน้ากบฏทำให้ถูกจับไปทำงานในเหมือง เช่นเดียวกับมือปืนเลือกการเจรจากับเป้าหมายที่เป็นนักร้องที่เขาชื่นชอบและเขาต้องยิงเขาจึงถูกจับ  ทั้งสองเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่มักทำให้ผิดพลาดกับเป้าหมาย ทั้งคู่เลือกที่จะเจรจาต่อรองทั้งที่หน้าที่คือการยิง สุดท้ายแล้วจากที่เขาทั้งสองถูกมองว่าเป็นหมาป่า เป็นผู้ล่า กลับต้องมาเป็นเหยื่อ

ตัดกลับมาที่นักเขียนเขาทำหน้าที่ของคนเองได้อย่างเสร็จสมบูรณ์คือเขาเขียนจนจบ จุดเปลี่ยนสำคัญคือ ผู้ชี้นำทางหมาป่า อดีตอาสาผู้ช่วยเหลือสัตว์ที่ผ่านประสบการณ์สุดแปลกต่าง ๆ ที่ถูกกักตัวอยู่เป็นผู้ชี้นำ ซึ่งในประเด็นนี้เองสะท้อนภาพเป็นหมาป่าจัดเจนอย่างยิ่ง ตั้งแต่พลซุ่มยิงที่ยิ่งหมาป่ามากมายจนยอมแพ้กับชีวิตแต่ฝูงหมาป่าพวกมันไม่ฆ่าเขา หมาป่าแตกต่างจากสิงโตและเสือที่มันรู้จักเจรจาต่อรอง แต่ในบางทีมันก็เยือกเย็นและตัดสินใจได้เฉียบขาด เรื่องเล่าของชายคนนี้ที่ดูเหลือเชื่อแต่ไม่ยากเกินจะเชื่อ การซุกซ่อนในซากหมาป่า พูดคุยกับหมาป่า เป็นการรอดชีวิตอย่างเหลือเชื่อ

         กลวิธีการเขียนแบบอัตถนิยมมายา (Magical realism) เป็นการเขียนที่สอดแทรกความเหนือจริงเข้าไปในโลกของความสมจริงอย่างกลมกลืนจนแยกไม่ออกว่าอะไรคือโลกของความเป็นจริง และอะไรคือโลกของความเหนือจริง และที่สำคัญคือตัวละครเองก็ไม่มองว่าความเหนือจริงที่เขาประสบเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ทว่ายอมรับว่ามันคือความจริง (ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์.2536: 87)

         หากมองในภาพรวมจะเห็นว่าเรื่องสั้น เป็นหมาป่า มีความแปลกใหม่ในด้านการนำเสนอเรื่อง ทั้งการวางโครงเรื่อง สร้างความซับซ้อนในตอนแรก และค่อย ๆ คลายปมให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราว มีการนำเสนอแก่นเรื่องอย่างแยบยล มีการใส่รายละเอียดให้การกักตัวช่วง COVID เอาไว้ ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเป็นสถานการณ์ใกล้ตัว เรื่องจึงยิ่งดูน่าเชื่อถือ ท้ายที่สุดแล้วสุดท้ายหมาป่าก็ยังคงเป็นตัวร้าย ถึงอาจจะมีแง่สอนใจแต่การตัดสินใจที่เฉียบขาดและลงมือทำจึงจะพาเราไปสู้การประสบผลสำเร็จ เหมือนตอนจบของเรื่องสั้นที่กล่าวไว้ว่า

         “เพราะแบบนี้สงครามจึงไม่มีการเจรจาที่แท้จริง ฝ่ายตรงข้ามเราล้วนเป็นหมาป่า ซึ่งเราควรยิ่งทิ้งทันทีเมื่อมันปรากฏบนกล้องเล็งของเรา” (หน้า 451)

รายการอ้างอิง

จเด็จ กำจรเดช. (2563). คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆ.กรุงเทพฯ : ผจญภัย. 

รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. (2549). สุนทรียรสแห่งวรรณคดี. กรุงเทพฯ: ณ เพชร.

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. (2536). คนกับหนังสือ. กรุงเทพฯ: สารคดี.

หมายเลขบันทึก: 688547เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2021 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มกราคม 2021 09:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท