พุทธเศรษฐศาสตร์ : ยุทธศาสตร์หนึ่งครัวเรือน "สาม" วิถีการผลิต


ยุทธศาสตร์หนึ่งครัวเรือน "สาม" วิถีการผลิต

ครัวเรือน เป็นหน่วยการผลิตที่เล็กที่สุดของสังคม ปกติแล้วจะมีสองวิถีการผลิต คือ

๑. การผลิตเพื่อกินเพื่อใช้โดยตรง

๒. การผลิตเพื่อการแลกเปลี่ยน

แต่ยุทธศาสตร์ตามแนววิถีของชีวิตแห่งพุทธะ จักต้องมีแนวที่ "สาม"  คือ 

๓. การผลิตเพื่อการให้ การเสียสละ

--------------------------------------

หากหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม คือ ครัวเรือน การสร้างวิถีแห่งการให้ในจิตใจของหน่วยเล็กที่สุดนี้แหละ จะเป็นพื้นฐานที่ยิ่งใหญ่และสำคัญของชีวิต...

การให้ การให้เสียสละ เป็นการฝึกละตัว ละตน ตัวกู ของกู

วิถีของชาวพุทธ ทุก ๆ วันจะมีพระสงฆ์เดินผ่านหน้าบ้านเพื่อเปิดโอกาสให้เราได้ทำทาน คือการตักบาตร ทำบุญ 

การฝึกวินัยเป็นสิ่งสำคัญฉันใด การฝึกการให้ การเสียสละ ย่อมเป็นวินัยสำคัญของเราทุกคนที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ฉันนั้น

หากย้อนกลับไปที่การผลิตโดยปกติทั้งข้อที่ ๑. คือผลิตเพื่อใช้ และ ๒. คือ ผลิตเพื่อแลกเปลี่ยน ก็ยังถือว่าเป็นการผลิตเพื่อตัวเพื่อตน เพื่อเอา เพื่อมี เพื่อเป็น หากเราสั่งสมความคิดที่จะเอา จะมี จะเป็นไปเรื่อย ๆ เราก็ย่อมติดนิสัยของนายทุน คือ ทำสิ่งใดก็ต้องหวังผลตอบแทน

เรียนหนังสือก็หวังที่จะได้คะแนนดี ๆ เพื่ออนาคตจะได้งานดี ๆ เงินดี ๆ จะได้มีความมั่นคง มั่งคั่งในชีวิต การเรียนหนังสือจึงประกอบไปด้วยความเครียด เพื่อไม่ได้เป็นไปเพื่อให้ เพื่อเสียสละ

ถ้าหากเราตั้งใจเรียนเพื่อนำความรู้ นำปัญญามาใช้ในการให้และเสียสละแก่สังคม การเรียนของเราก็จะไม่เครียด การศึกษาของเราก็จะมีความสุข 

ยกตัวอย่างเช่น หากเราทำไปศึกษาหาความรู้เรื่องการทำคุกกี้ หรือทำอาหาร เพื่อนำมาทำให้ลูก ให้สามีภรรยาได้รับประทาน นี้คือการผลิตเพื่อการให้ การเสียสละ เราไม่ได้ไปเพื่อหวังเงินจากลูก หรือคนในครอบครัว แต่ทำไมจิตใจเราถึงมีความสุขที่เราเห็นเขาได้ทาน แม้แต่เพียงได้เห็นรอยยิ้มเมื่อเขากัดขนม หรือเคี้ยวอาหาร เพียงแค่นี้เราก็มีความสุขแล้ว

เราทุ่มเทพลังงานของเรา แรงกาย แรงใจ แรงสมอง ใช้ทุนทางเงินตราไปแลกเปลี่ยนให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบในการทำขนม เพียงเพื่อเราได้เห็นรอยยิ้มของคนในครอบครัว ความสุขนี้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ ระหว่างไปช้อปปิ้ง จับจ่ายซื้อวัตถุดิบ เราก็มีความสุข ระหว่างทำเราก็มีความสุข เมื่อเราเห็นเขาได้ทาน เราก็มีความสุข คิดย้อนกลับไปครั้งใด เราก็มีความสุข เรียกว่าเป็นความสุขอย่างเอนกอนันต์...

เช่นเดียวกัน หากนำเราจิตใจของผู้ให้แบบนี้ไปใช้ในการทำงาน ไม่ว่าเราจะทำอะไร จะผลิตสินค้า หรือทำงานในธุรกิจบริการ ก็ให้เราตั้งจิตโดยหวังไว้แต่เพียงว่า ให้คนที่มาใช้สินค้าหรือรับบริการทุกคนมีความสุข เพียงเราคิดแค่นี้ เราจะเข้าวิถีของเศรษฐศาสตร์แห่งพุทธะ คือ เศรษฐศาสตร์แห่งการให้ การเสียสละ นี้เองจึงเป็นการผลิตวิถีที่ "สาม" คือ การผลิตเพื่อการให้ การเสียสละ ที่เราทุกคนพึงมีพึงเป็น และควรจะเป็นวิถีแรกแห่งการผลิตของทุกชีวิตในสังคมนี้ เพื่อให้ทุกวินาทีมีแต่ความสุขใจ สบายใจ จากการที่ได้ให้ ได้เสียสละ...

หมายเลขบันทึก: 688487เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2021 19:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2021 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท