เรื่องสั้น


อำนาจของเงินลดคุณค่าของคน

อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำและเรื่องราวอื่น ๆ อีกหนึ่งผลงานของ กำพล นิรวรรณ หนังสือที่รวบรวมเรื่องสั้น ซึ่งได้รับพิจารณาจากคณะกรรมการรอบคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนให้เข้ารอบ Short List รางวัลซีไรต์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๓ อันเต็มไปด้วยเรื่องเล่าที่อาถรรพ์ ลึกลับ แต่แฝงไปด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องอย่างสร้างสรรค์ แหวกแนว มีการสร้างสัญญะโดยใช้สถานที่สื่อความหมาย ไม่ว่าจะเป็น ถ้ำ หรือสถานที่ที่มีอยู่จริง อีกทั้งยังมีข้อคิดเตือนใจที่เผยออกมาแทบทุกบรรทัด โรงสีไฟ จึงเป็นหนึ่งตัวอย่างที่เล่าเรื่องด้วยสัญญะที่ใช้สถานที่ที่มีอยู่จริง มีลักษณะที่เป็นเส้นแบ่งระหว่างอดีตกับปัจจุบัน อันเป็นเสน่ห์ที่สะท้อนให้เห็นถึงผลงานยอดเยี่ยมของกำพล นิรวรรณ

      โรงสีไฟ เรื่องราวของ ‘ผู้พิชิตบ้านผีสิง’ ที่รับพนันนอนตามบ้านผีสิงในย่านบางกระเรียนระทมเป็นประจำ ห่างจากบางกระเรียนระทมไปราวหนึ่งชั่วโมงเรือพาย มีซากโรงสีไฟแห่งหนึ่งยืนอยู่กลางหมู่ไม้และดงไทรรกทึบ โรงสีไฟแห่งนี้เคยรุ่งเรืองถึงขีดสุดเมื่อร้อยปีก่อน และเคยได้รับการยกย่องให้เป็นราชินีแห่งโรงสีไฟ ชาวบ้านในละแวกนั้นทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเรือนไม้บ้านผีสิง นั่นคือสาเหตุที่ทำให้พวกผีพนันชวนกันมาท้าทายข้าพเจ้าให้เข้าไปพิสูจน์ความจริง ข้าพเจ้าเข้าไปในโรงสีไฟพบกับ “มะลิ” อดีตรักเก่าของข้าพเจ้า ทั้งคู่พูดคุยถึงเรื่องราวในอดีตเกี่ยวกับโรงสีไฟ เสมือนกับได้หลุดเข้าไปห้วงเวลาของอดีตชาติ และหลับใหลในอ้อมกอดของกันและกัน เมื่อตะวันเริ่มขึ้นจากขอบฟ้า มะลิเคลื่อนกายออกจากอ้อมแขนข้าพเจ้า ณ ขณะนั้น เส้นแบ่งระหว่างอดีตกับปัจจุบันก็ขาดผึงลง ทว่านาทีนี้เงินตราไม่มีความหมายใด ๆ ต่อข้าพเจ้าอีกแล้ว ข้าพเจ้าหันหลังให้มันและวิ่งตามมะลิเข้าไปในม่านไทร

          ในเรื่อง โรงสีไฟผู้เขียนใช้กลวิธีการเล่าเหตุการณ์ต่างช่วงเวลาสลับกันไปมา การดำเนินเรื่องแบบนี้จะเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตแล้วย้อนกลับมาปัจจุบันสลับกันไปมา  แต่เรื่องราวสามารถดำเนินต่อเนื่องกันอย่างไม่ซับซ้อน ดังตัวอย่าง “แต่พี่หายไปนานเหลือเกิน นานจนมะลิถูกตัดขาดจากปัจจุบัน และถูกฝังไว้กับอดีต” และ “เจ้าของดวงหน้างดงามนั้นคือมะลิ ยอดรักของข้าพเจ้าในห้วงหนึ่งของชีวิตในปางอดีตอันไกลโพ้น” (กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๗๙) จากข้อความข้างต้นสังเกตได้ว่าผู้เขียนสร้างรอยต่อของห้วงเวลานั้นกับปัจจุบัน ซึ่งเป็นงานเขียนที่สร้างสรรค์ แปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร หากผู้อ่านหรือผู้วิจารณ์อ่านไม่ไตร่ตรอง อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าตัวละครหลงเข้าไปในอดีต แต่ความจริงแล้วตัวละครไม่ได้อยู่ในยุคอดีต เพียงแค่ผู้เขียนเล่าความเป็นมาในอดีตเป็นเช่นไร ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงมาอย่างไร อีกทั้งผู้เขียนยังสร้างตัวละครในยุคของอดีตนั้นมาเป็นผู้เล่าเรื่อง ซึ่งทำให้เรื่องดำเนินไปอย่างเข้มข้นชวนน่าติดตาม

          ผู้เขียนเปิดเรื่องโดยใช้ประโยคภายในเรื่อง ดังตัวอย่าง “และแล้วคืนแห่งความเป็นความตายก็มาถึงคืนพระจันทร์เต็มดวง คืนที่ข้าพเจ้าจะต้องเข้าไปนอนในอาณาจักรของอดีตราชินีแห่งโรงสีไฟ”(กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๖๓) สังเกตได้ว่าผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยถ้อยคำคมคายที่ชวนให้ผู้อ่านได้คิดตามว่าแก่นสารใจความหลักของถ้อยความนี้คืออะไร ? ผู้อ่านต้องคิดแน่นอนว่าอาณาจักรราชินีแห่งโรงสีไฟต้องเกี่ยวโยงกับเรื่องราวข้างหน้า ซึ่งเป็นการเปิดเรื่องที่ชวนให้ผู้อ่านเกิดฉงนสนเท่ห์น่าติดตามเรื่องราวตอนต่อไปได้มากเป็นพิเศษ กระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความใคร่อยากรู้ว่าราชินีแห่งโรงสีไฟมีความสำคัญอย่างไร ? และทำไมผู้เขียนถึงเลือกโรงสีไฟมาเป็นสัญญะสำคัญของเรื่อง

          ผู้เขียนเริ่มผูกปมตั้งแต่การเปิดเรื่อง เป็นการสร้างความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสังคม ดังตัวอย่าง “บ้านเมืองกำลังข้าวยากหมากแพง ผู้คนอดอยากกันทุกย่อมหญ้า ข้าพเจ้าจำต้องทำในสิ่งเหลือเชื่อเพื่อหาเงินประทังหิว” (กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๖๓) จะเห็นได้ว่าข้าพเจ้ายอมทำในสิ่งที่เหลือเชื่อเพื่อความอยู่รอดของตน เหตุเกิดจากอำนาจของเงินและความเลื่อมล่ำ เพราะสังคมรอบข้างบีบคั้นให้เขาต้องทำเช่นนั้น

          ปมความขัดแย้งต่อมาเป็นความขัดแย้งภายในจิตใจมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นกับข้าพเจ้าที่ต้องต่อสู้กับความนึกคิดของตนเอง เป็นความรู้สึกซับซ้อนและสับสนในการเลือกทางใดทางหนึ่ง ดังตัวอย่าง “ข้าพเจ้าเองพยายามหลบลี้หนีหน้าพวกมันมาโดยตลอด เพราะเรื่องราวที่ยินได้ฟังมาทำให้ความกลัวบดบังความกล้าไว้หมดสิ้น แต่ในที่สุด ด้วยความยากจนข้นแค้น ไม่มีข้าว ไม่มีเหล้ายาไส้มาหลายวัน ข้าพเจ้าจึงตกปากรับคำท้าไปด้วยความจำใจ” (กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๗๑) จากข้อความต้นจะเห็นได้ว่าข้าพเจ้าจะต้องเลือกระหว่างเข้าไปนอนในโรงสีไฟหรือเลือกที่จะไม่รับคำท้า แต่เมื่อข้าพเจ้าไม่มีทางเลือก เพราะความยากจนจึงทำให้ข้าพเจ้ารับคำท้าไป ผู้เขียนได้สร้างปมขัดแย้งที่สมจริง เสียดสีสังคมไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ การทำในสิ่งที่เหลือเชื่อ สิ่งที่ผิดกฎหมาย หรือสิ่งที่สามารถลดคุณค่าของคนได้ ไม่ว่าจะเป็นการขายยาเสพติด การขายบริการ ล้วนเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งคิดได้ว่าคนเหล่านั้นเขาอาจไม่อยากทำ แต่ด้วยความยากจนเขาจึงต้องทำสิ่งนั้นเพื่อความอยู่รอด

          นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ดังตัวอย่าง “มันไม่อยากให้ข้าพเจ้าเด่นดังเกินหน้าตามัน มันอิจฉาแม้แต่คนรับจ้างนอนบ้านผีสิง” (กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๗๒) จะสังเกตได้ว่าไอ้เคราอิจฉาข้าพเจ้าที่ได้ดิบได้ดีกว่า ซึ่งปมขัดแย้งนี้ผู้เขียนสามารถสะท้องให้เห็นคนในสังคมปัจจุบัน เป็นการเสียดสีสังคมที่สมจริง เพราะมนุษย์คนเราเห็นคนอื่นได้ดีกว่าไม่ได้ มักจะอิจฉาริษยากัน มากกว่ากล่าวคำชื่นชมยินดี นับได้ว่าผู้เขียนสามารถสื่อปมขัดแย้งผ่านตัวหนังสือออกมาได้อย่างแยบยลและสมเหตุสมผล

          จุดสุดยอดของเรื่องที่ได้ทวีความเข้มข้นมาจนถึงขีดสุด เป็นเหตุการณ์ตอนที่ข้าพเจ้าจะต้องเข้าไปในอาณาจักรแห่งโรงสีไฟ เพื่อพิสูจน์ความจริง “และแล้วคืนแห่งความเป็นความตายก็มาถึงคืนพระจันทร์เต็มดวง คืนที่ข้าพเจ้าจะต้องเข้าไปนอนในอาณาจักรของอดีตราชินีแห่งโรงสีไฟ” (กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๗๑) จะเห็นได้ว่าผู้เขียนได้ทวีความเข้มข้นมาจนถึงขีดสุด เพราะ “ชาวบ้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเรือนไม้หลังนั้นคือบ้านผีสิง และผีที่สิงอยู่ในบ้านหลังนั้นเป็นผีสาวที่ทั้งสวยทั้งดุ” (กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๗๐) ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกผีพนันยิ่งต้องมาท้าข้าพเจ้าไป ผู้เขียนสามารถสร้างจุดสุดยอดของเรื่องได้อย่างแปลกใหม่ เป็นการนำสถานที่ที่มีอยู่จริงมาสร้างเป็นฉากที่มีความลึกลับซับซ้อน ซึ่งทำให้ผู้อ่านเกิดความสนุกสนานตื่นเต้นไปกับเนื้อเรื่อง ผู้อ่านมีความอยากรู้ว่าเรื่องจะจบเช่นไร ? ตัวละครจะมีชีวิตรอดกลับมาหรือไม่ ? เช่นเดียวกับผู้วิจารณ์เองที่มีความใคร่อยากรู้ว่าเรื่องจะดำเนินต่อไปอย่างไร นับได้ว่าผู้เขียนสามารถสร้างจุดยอดของเรื่องที่ทวีความเข้มข้นได้สร้างสรรค์ 

          การคลายปมของเรื่องสั้นโรงสีไฟนี้ เป็นตอนที่ข้าพเจ้าได้เข้าไปพบกับ “มะลิ” อดีตคนรักเก่า ทั้งคู่ได้พูดคุยถึงความเป็นมาในอดีต ราวกับว่าได้หลุดเข้าไปในห้วงของเวลาหนึ่ง ทั้งสองหลับใหลในอ้อมกอดของกันและกัน มะลิบอกลาข้าพเจ้าและหายไปกับแสงสีทองของวันใหม่ แต่ ณ เวลานั้นเงินตราไม่ได้สำคัญสำหรับข้าพเจ้าอีกต่อไป ดังตัวอย่าง “ทว่านาทีนี้ เงินตราไม่มีความหมายใด ๆ สำหรับข้าพเจ้าอีกต่อไป ข้าพเจ้าหันหลังให้มัน” (กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๘๕) การคลายปมนี้ผู้เขียนสามารถคล้ายปมได้อย่างชัดเจน ทำให้ผู้อ่านเข้าใจปมขัดแย้งที่เกิดขึ้นในตัวของข้าพเจ้าและคลาดปมได้ในที่สุด เพราะท้ายที่สุดแล้วเงินตราก็ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต

          ผู้เขียนปิดเรื่องโดยการใช้กลวิธีแบบปลายเปิด ผู้อ่านสามารถคาดเดาเหตุการณ์เอาเองว่าเหตุใดผู้เขียนถึงปิดเรื่องเช่นนั้น อาจคิดว่าตัวละคร (ข้าพเจ้า) เห็นความรักที่มะลิมีให้สำคัญกว่าเงินตราใด ๆ หรือทำให้เข้าใจว่าเงินไม่ได้มีอำนาจมากพอที่จะเป็นทุกอย่างของชีวิต “ทว่านาทีนี้ เงินตราไม่มีความหมายใด ๆ สำหรับข้าพเจ้าอีกต่อไป ข้าพเจ้าหันหลังให้มัน หันหลังให้เรือนไม้ที่กำลังถล่มทลาย ปล่อยให้หัวใจบงการ วิ่งตามมะลิเข้าไปในม่านไทร” (กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๘๕) การปิดเรื่องแบบปลายเปิดนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าเป็นการไม่ปิดกั้นความคิดของผู้อ่าน ส่งผลให้ผู้อ่านเกิดการวิเคราะห์ วิจารณ์ นี่คงเป็นเรื่องสั้นที่ดีเรื่องหนึ่งที่เสริมสร้างความคิดจินตนาการแก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อย…

          จะเห็นได้ว่าโครงเรื่อง โรงสีไฟ มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกันอย่างเป็นเอกภาพ ถึงแม้ว่ากลวิธีการดำเนินเรื่องโดยการเล่าเหตุการณ์ต่างช่วงเวลาสลับกันไปมา การเปิดเรื่อง การผูกปมขัดแย้ง จุดสุดยอด การคลายปม และการปิดเรื่องแบบปลายเปิด นับได้ว่าผู้เขียนสะท้อนให้เห็นความสมจริงในแง่ความคิดของมนุษย์ทั่วไปส่งผลถึงการแสดงออกพฤติกรรม ทำให้ผู้อ่านเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง

          เรื่องสั้น โรงสีไฟจึงเปรียบเสมือนการเสียดสีสังคม จะเห็นได้จากผู้เขียนแสดงทรรศนะผ่านแก่นเรื่องที่มุ่งชี้ให้เห็นถึงลักษณะความเป็นอยู่ของคนในสังคม หากผู้อ่านอ่านอย่างถี่ถ้วนจะเข้าใจว่าเรื่องสั้นนี้ไม่เหมือนเรื่องสั้นทั่วไป เพราะผู้เขียนแฝงข้อคิดเตือนใจให้ผู้อ่านได้ย้อนกลับมามองตัวเองและเข้าใจเหตุการณ์ในเรื่องได้อย่างแท้จริง กล่าวคือ อำนาจเงินตราที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์ ทำให้มนุษย์อย่างเรานั้นทำในสิ่งที่เหลือเชื่อ แม้สิ่งที่ทำอาจจะเสี่ยงกับชีวิตหรือลดคุณค่าของตนก็คงต้องทำ เพื่อความอยู่รอดและปากท้อง ดังตัวอย่าง “ยามเข้าตาจน คนเราย่อมทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด และบางครั้งความอยู่รอดก็บังคับให้เราทำในสิ่งเหลือเชื่อ” (กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๖๓)และผู้เขียนก็ปิดท้ายด้วยการกล่าวว่าเงินไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต เพราะเรานั้นมีคนที่เรารักหรือคนที่รักเรา คนที่เห็นคุณค่าในตัวเราต่างก็เพียงพอแล้วในชีวิตที่ได้เกิดมา “ทว่านาทีนี้ เงินตราไม่มีความหมายใด ๆ สำหรับข้าพเจ้าอีกต่อไป ข้าพเจ้าหันหลังให้” (กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๘๕)

          อีกทั้งผู้เขียนยังสื่อให้เห็นถึงทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีวันเวลาของมันเอง นั้นก็คือ เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง และดับลง ไม่มีความจีรังยั่งยืน “มันก็ดีไปอย่าง เพราะทุกอย่างย่อมมีที่สิ้นสุด” (กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๗๕) ดั่งเช่น โรงสีไฟ ที่ผู้เขียนนำมาเป็นสัญญะสำคัญของเรื่องที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีตและเคยได้รับการยกย่องให้เป็นราชินีแห่งโรงสีไฟ แต่ปัจจุบันกลับเหลือเพียงแต่ซาก โรงสีไฟจึงเปรียบเสมือนชีวิตคนเราที่มีวันเกิดก็ต้องมีวันดับไป ไม่ต่างอะไรจากโรงสีไฟที่แม้แต่ซากก็ไม่อาจจะตั้งอยู่บนพื้นแผ่นดิน “ปัจจุบันซากแห่งความรุ่งเรืองเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกป่ากลืนกินซ้ำสองจนแทบไม่เหลือแม้แต่ร่องรอย”(กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๖๘)

          รวมไปถึงการชี้ให้เห็นถึงลักษณะนิสัยพื้นฐานหลักของมนุษย์ที่มีความอิจฉาริษยาต่อกัน เห็นใครทำดีเกินหน้าเกินตาตัวเองไม่ได้ ไม่อยากให้ใครได้ดีกว่าตนเอง “มันไม่อยากให้ข้าพเจ้าเด่นดังเกินหน้าตามัน มันอิจฉาแม้แต่คนรับจ้างนอนบ้านผีสิง” (กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๗๒) จะเห็นได้ว่าคนในสังคมเราก็ไม่ต่างอะไรกับ “ไอ้เครา” นับได้ว่าผู้เขียนถ่ายทอดการประชดประชันที่เห็นภาพได้ชัดเจน อีกทั้งยังประชดประชันถึงความอยากรู้อยากเห็นของคนไทย ที่แม้จะต้องเสี่ยงชีวิตหรือเสียเพื่อนมนุษย์คนใดคนหนึ่งไป ก็ไม่อาจเทียบเท่าความจริงที่ได้พิสูจน์ “อะไรหรือที่ทำให้คนยากเหล่านี้อยากเห็นเพื่อนมนุษย์คนยากด้วยกันเข้าไปลองดีกับผี คงมีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะตรัสรู้ได้ (กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๖๔)

          จะเห็นได้ว่าแก่นเรื่องของ“โรงสีไฟ ” นั้นมีความเป็นเอกภาพอันหนึ่งอันเดียวกัน เนื่องจากแต่ละองค์ประกอบมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงประกอบกัน ผู้เขียนแสดงแก่นเรื่องผ่านกลวิธีที่เผยออกมาจากพฤติกรรมของตัวละครต่าง ๆ ทำให้ผู้อ่านเข้าใจชีวิตของมนุษย์ได้ลึกถึงแก่นแท้ หากสังคมยังมีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สังคมเราก็คงไม่มีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น หากผู้อ่านได้อ่านเรื่อง โรงสีไฟแล้ว อาจจะช่วยให้เข้าใจเพื่อนมนุษย์มากขึ้น บางครั้งสิ่งที่เขาทำเป็นอาชีพอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากทำหรือควรจะทำ แต่เพื่อความอยู่รอดของพวกเขาที่จำเป็นต้องทำ อีกทั้งเรื่องสั้นเรื่องนี้ยังสามารถเป็นเครื่องเตือนใจให้แก่ผู้อ่าน

          สำหรับตัวละครในเรื่องโรงสีไฟมีตัวละครเอก คือ ตัวละคร “ข้าพเจ้า” “เมธ” มีลักษณะนิสัยหลายประการ เหมือนคนในชีวิตจริงที่มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม เป็นตัวละครที่สะท้อนให้เห็นคนในสังคมที่ยอมทำสิ่งที่เหลือเชื่อเพื่อแลกกับเงิน ดังตัวอย่าง “ข้าพเจ้าจำต้องทำในสิ่งเหลือเชื่อเพื่อหาเงินประทังหิว นั่นคือรับพนันนอนตามบ้านผีสิง” (กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๖๓) ตัวละคร (ข้าพเจ้า) จึงเปรียบเหมือนคนในยุคปัจจุบันที่หาเงินมาจากหนทางที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นพนัน ซื้อหวย เล่นเกมออนไลน์ หรือแม้กระทั่งการขายบริการ อีกทั้งผู้เขียนยังสร้างตัวละครข้าพเจ้าขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนความคิดของผู้อ่าน เมื่อผู้อ่านได้อ่านเรื่องโรงสีไฟแล้ว ก็อาจจะเข้าใจเพื่อนมนุษย์ขึ้น เพราะตัวละครข้าพเจ้าได้ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดออกมาว่าสิ่งที่เขาทำ เขาก็ไม่อยากทำแต่เพียงเพราะความอยู่รอดและความยากจนเท่านั้นบีบบังคับให้เขาต้องทำ หากผู้อ่านลองกลับมาย้อนดูผู้คนเหล่านี้ในชีวิตจริง อาจจะทำให้เข้าใจว่าความอดอยากนั้นน่ากลัวกว่าสิ่งใด “บางเวลายามไม่มีอะไรจะกิน ท้องไส้มันจะกล้าหาญชาญชัยยิ่งกว่าหัวใจ”(กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๖๕) อีกทั้งตัวละคร (ข้าพเจ้า) ได้แสดงบทบาทที่สำคัญ คือ เป็นผู้ดำเนินเหตุการณ์และเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้แก่ผู้อ่าน โดยผู้เขียนถ่ายทอดเนื้อเรื่องผ่านตัวละครข้าพเจ้าและความรู้สึกนึกคิดของตัวละครอื่นส่งไปยังผู้อ่านได้อย่างชัดเจน

          ต่อมาเป็นตัวประกอบที่คอยมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนตัวละครเอก คือ ตัวละคร (ไอ้เครา) เป็นตัวละครน้อยลักษณะที่มีส่วนเข้ามาเสริมบทบาทตัวละครเอก (ข้าพเจ้า) ให้ดำเนินเรื่องต่อไป ดังตัวอย่าง “ไอ้เครามันพาลูกน้องมาท้าข้าพเจ้าเมื่อสามวันก่อน” (กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๗๒)จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่าไอ้เคราเป็นคนมาท้าตัวละครเอก (ข้าพเจ้า) ให้ไปนอนตามบ้านผีสิง สามารถทำให้เรื่องดำเนินต่อไปได้

          ตัวละครประกอบต่อมา คือ “มะลิ” เป็นตัวละครน้อยลักษณะที่แสดงให้เห็นผู้หญิงในยุคสมัยก่อน สังเกตได้จากลักษณะการแต่งกาย “ร่างของสตรีในชุดเสื้อสีขาวคอกระเช้า โสร่งปาเต๊ะสีเขียวเข้ม” (กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๗๗) อีกทั้งมะลิยังเป็นตัวละครที่เข้ามามีบทบาทในการคล้ายปม เมื่อมะลิเข้ามาความคิดของข้าพเจ้าก็เปลี่ยนไป จากที่คิดว่าเงินเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต ก็คิดว่าเงินไม่ใช่สำหรับทุกสิ่ง การที่เรามีชีวิตอยู่ อยู่กับคนที่เรารักหรือรักเราทั้งนั้นก็เพียงพอต่อชีวิต “ทว่านาทีนี้ เงินตราไม่มีความหมายใด ๆ สำหรับข้าพเจ้าอีกต่อไป ข้าพเจ้าหันหลังให้มัน หันหลังให้เรือนไม้ที่กำลังถล่มทลาย ปล่อยให้หัวใจบงการ วิ่งตามมะลิเข้าไปในม่านไทร” (กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๘๕) ผู้เขียนนำจุดเด่นของตัวละคร (มะลิ) มาเป็นจุดขายของเรื่อง ทำให้เรื่องราวมีความสนุก น่าตื่นเต้น แม้แต่ตัวผู้วิจารณ์เองยังคงชอบตัวละครในรูปแบบนี้ กล่าวคือ ตัวละครที่มีลักษณะคล้ายกับคน แต่ทว่าตัวละครนั้นกลับเป็นภูตผีปีศาจ การสร้างตัวละครเช่นนี้จะทำให้เนื้อเรื่องน่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ นับได้ว่าผู้เขียนมีความคิดสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้เป็นอย่างดี

          กล่าวได้ว่าตัวละครแต่ละตัวในเรื่องสั้น โรงสีไฟ ทำให้รู้ว่าตัวละครใดมีส่วนช่วยเสริมบทบาทตัวละครเอก หรือตัวละครใดขัดแย้งกับผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ทุกตัวละครมีส่วนทำให้เนื้อเรื่องสามารถดำเนินต่อไปได้ ทั้งตัวละครเอกและตัวละครประกอบต่างมีส่วนเกี่ยวเนื่องกัน ทำให้เกิดเป็นเหตุการณ์ต่อ ๆ ไป รวมไปถึงตัวละครทุกตัวมีลักษณะสมจริง มีพฤติกรรมเหมือนกับมนุษย์ในชีวิตจริง มีพัฒนาการสมเหตุสมผล อีกทั้งตัวละครในเรื่องยังช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น เข้าใจธรรมชาติชีวิต รวมไปถึงตัวละครเอกของเรื่องได้แสดงบทบาทสำคัญต่อแก่นเรื่องอย่างตรงไปตรงมา ผู้เขียนสามารถถ่ายทอดลักษณะตัวละครผ่านการบรรยายภูมิหลังออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ แหวกแนว บ่งบอกประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียนออกมาได้อย่างแนบเนียน

         

          สำหรับฉากของโรงสีไฟนั้น ฉากส่วนใหญ่เป็นเกี่ยวข้องกับโรงสีไฟ สังเกตได้จากผู้เขียนนำชื่อโรงสีไฟมาตั้งเป็นชื่อเรื่อง ซึ่งทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ทันทีว่าเรื่องสั้นที่จะอ่านนั้นมีความสำคัญเกี่ยวกับโรงสีไฟ เมื่อผู้อ่านได้อ่านแล้วก็เข้าใจว่าโรงสีไฟนั้นเป็นสถานที่สำคัญของเรื่อง จะเห็นได้จากผู้เขียนเล่าเรื่องราวโรงสีไฟตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน “โรงสีไฟแห่งนี้เคยรุ่งเรืองถึงขีดสุดเมื่อร้อยปีก่อน และเคยได้รับการยกย่องให้เป็นราชินีแห่งโรงสีไฟ” (กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๖๗) และนำเรื่องราวประวิติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ ๒ มาเกี่ยวข้องกับโรงสีไฟ “หลังสงครามยุติได้ไม่นาน ราชินีแห่งโรงสีไฟก็พลอยต้องปิดตัวตามความยับเยินของบ้านเมืองไปด้วย” (กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๖๙)

          การที่ผู้เขียนนำสถานที่ที่โรงสีไฟมาเป็นฉากสำคัญของเรื่อง ผู้วิจารณ์คิดว่าอาจจะเพียงต้องการแฝงความรู้ความเป็นมาเกี่ยวกับโรงสีไฟให้ผู้อ่านได้รู้จักและเข้าใจความเป็นมา เพราะโรงสีไฟที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง ตั้งอยู่ในอำเภอปากพนัง เป็นของนายโค้ว ฮักหงี ในวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๘  สะท้อนภาพอดีตของพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ของปากพนังอำเภอหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเคยได้ชื่อว่า“เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของภาคใต้”รวมไปถึงการที่นำชื่อธารทองในเมืองนิวออลีนส์ เมืองหนึ่งในรัฐหลุยส์เซียนาของสหรัฐอเมริกา จากที่ผู้วิจารณ์ได้หาข้อมูลมานั้นทำให้ทราบว่าแท้จริงแล้วเรือธารทอง เป็นเรือกลไฟที่ชื่อว่า “ท่าทอง” ในประวัติศาสตร์เรือกลไฟท่าทองถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรยิงล่มในแม่น้ำปากพนัง นครศรีธรรมราช มีคนเสียชีวิตในเหตุการณ์นั้น ๑๙ คน ซึ่งนักเขียน “กำพล นิรวรรณ) ได้รับการบอกเล่าจากคุณแม่ว่าศพจากเหตุการณ์นั้นได้ถูกนำมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดใกล้บ้านของเขานั่นเอง

          กล่าวได้ว่าผู้เขียนนำสถานที่ที่มีอยู่จริงนั้นมาสร้างสรรค์ผลงาน นับได้ว่าเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จแก่ผู้อ่านอย่างยิ่ง ผู้อ่านไม่เพียงจะได้รับรสของเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นนั้นแล้ว ผู้อ่านยังได้รับความรู้เกี่ยวกับโรงสีไฟและประวัติศาสตร์ความเป็นมา แม้แต่ผู้วิจารณ์เองก็ได้รู้จักโรงสีไฟเป็นครั้งแรกจากเรื่องสั้นที่มีชื่อว่า โ ร ง สี ไ ฟ  

          บรรยากาศของโรงสีไฟ ผู้เขียนแสดงให้เห็นถึงภูมิความรู้และประสบการณ์ของผู้เขียนเกี่ยวกับบรรยากาศในเรื่อง ช่วยเสริมให้เรื่องราวดูสมจริงมากยิ่งขึ้น และสร้างอารมณ์ให้ผู้อ่านคล้อยตามอย่างเหมาะสมตามเนื้อเรื่อง จะสังเกตได้จากการเลือกใช้คำที่เหมาะสมกับช่วงเวลา มีการใช้คำที่สละสลวย ชวนให้ผู้อ่านเข้าใจบรรยากาศภายในเรื่องอย่างแท้จริง ยกตัวอย่าง “พระอาทิตย์จมหายลงไปในป่าโกงกางริมแม่น้ำฝั่งตะวันตก รัศมีแสงสีเลือดพุ่งขึ้นมาเป็นแฉกชำแรกเข้าไปในหมู่เมฆ ท้องฟ้าเหนือลำน้ำมืดทะมึน พระจันทร์ยังไม่เยี่ยมฟ้า อุณหภูมิเริ่มลดต่ำ ไอเย็นลอยมาจากแม่น้ำระลอก ๆ”(กำพล นิรวรรณ,๒๕๖๒.หน้า๑๗๓)

          โดยรวมแล้วฉากและบรรยากาศของเรื่องโรงสีไฟมีความสมจริงและสมเหตุสมผล เพราะสามารถทำให้ผู้อ่านคล้อยตามบรรยากาศที่สร้างไว้ได้ อีกทั้งยังช่วยเสริมเนื้อเรื่องให้ไม่อยู่ในโทนเดียวกันมากจนเกินไป อีกทั้งผู้เขียนยังนำสถานที่ที่มีอยู่จริงมาเกี่ยวข้องกับเรื่องราว จึงกลายเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ แปลกใหม่ และไม่น่าเบื่ออีกต่อไป กล่าวได้ว่าฉากและบรรยากาศของเรื่องมีความเหมาะสมต่อสถานที่ และมีความสัมพันธ์กัน ทำให้เนื้อหาในเรื่องน่าติดตามมากขึ้น

         

บรรณานุกรม

กำพล นิรวรรณ. (2562). อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำและเรื่องราวอื่นๆ. กรุงเทพฯ : ผจญภัย.

ข้อมูลโรงสีไฟ. สืบค้นเมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๔. จาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=379.

ข้อมูลธารทอง. สืบค้นเมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๔. จาก http://1ab.in/HwM.

ภาพหน้าปกหนังสือ.สืบค้นเมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๔.จาก https://1th.me/IfSjh.

หมายเลขบันทึก: 688461เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2021 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มกราคม 2021 11:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท