บางโก้งโค้ง : ปริศนาป่าอาถรรพ์ กับ ความเชื่อ ของ กำพล นิรวรรณ




“บางครั้งความตายก็กลายเป็นรางวัลสำหรับคนบางคน แต่บางครั้งการมีชีวิตอยู่กลับกลายเป็นโทษทัณฑ์สำหรับคนอีกบางคน”


          บางโก้งโค้ง1 ใน 12 เรื่องสั้นจากหนังสืออาถรรพ์ภาพวาดเสือดำและเรื่องราวอื่น ๆ ของนักเขียนผู้มากประสบการณ์ “กำพล  นิรวรรณ” เจ้าของรางวัลนักเขียนยอดเยี่ยมจากรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ประจำปี 2562

  หนังสืออาถรรพ์ภาพวาดเสือดำเป็นผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของกำพล นิรวรรณ ที่มีชื่อเข้าชิงรอบสุดท้ายของรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (S.E.A Write) ปี 2563 ภายในเล่มนี้ประกอบไปด้วยเนื้อหาที่น่าอัศจรรย์ใจ สนุกสนาน และน่าติดตาม เป็นเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดออกมาอันแฝงไปด้วยการเสียดสีทางการเมืองและสังคม โดยเฉพาะเรื่องบางโก้งโค้งที่มีเนื้อหามากที่สุดในบรรดา 12 เรื่องสั้น ถ่ายทอดเนื้อหาออกมาได้อย่างน่าประทับใจ มีทั้งการพูดเสียดสีทางการเมือง ระบบข้าราชการไทย และการล่าสัตว์ป่าของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกที่จังหวัดนครปฐม ปี 2516 เป็นเหตุการณ์ที่นายทหารและนายตำรวจชั้นสูงไปล่าสัตว์ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี

          กำพล นิรวรรณ นักเขียนผู้มากประสบการณ์ได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่เสียดสีการเมืองและระบบข้าราชการไทยผ่าน “บางโก้งโค้ง” เรื่องสั้นที่เสียดสีระบบข้าราชการในไทย ล้วนแต่เป็นคนที่มีหน้าที่การงานที่ดี มีหน้าที่ที่ต้องช่วยเหลือประชาชนและพัฒนาประเทศชาติ แต่กลับปฏิบัติตนอันเต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบชนชั้นคนรากหญ้าที่หาเช้ากินค่ำ ไม่เว้นแม้แต่สัตว์ป่าที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ยังถูกเอารัดเอาเปรียบ

          บางโก้งโค้ง เรื่องราวเกี่ยวกับการล่าสัตว์ซึ่งมีนายพรานคนหนึ่งที่เป็นชาวบ้านธรรมดาอาศัยอยู่ในเขตอำเภอเบี้ยซัด (ปัจจุบัน คือ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช) นายพรานผู้นี้ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นคนที่ชำนาญด้านการเดินป่าและล่าสัตว์ ใคร ๆ ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเขารู้จักป่าบางโก้งโค้งดียิ่งกว่าใคร ความมีชื่อเสียงของนายพรานผู้นี้เลื่องลือไปถึงหูของนายอำเภอคนใหม่ ผู้รักในการล่าสัตว์ป่าเหนือสิ่งอื่นใดจึงได้ตามตัวให้นายพรานพาไปล่าสัตว์ป่าอยู่บ่อยครั้ง ผู้เป็นเมียคอยย้ำเตือนบอกนายพรานอยู่เสมอว่าควรเลิกทำอาชีพนี้แต่นายพรานผู้นี้ยังล่าสัตว์มาโดยตลอด จนกระทั่งมีนายทหารและตำรวจเข้าร่วมสมทบการล่าสัตว์ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งเป็นการล่าสัตว์ครั้งสุดท้ายในชีวิตของเขารวมทั้งนายอำเภอและคณะ ผืนป่าที่พวกเขาเดินทางไปเป็นป่าบางโก้งโค้งที่ขึ้นชื่อว่าเป็นป่าอาถรรพ์และลึกลับซับซ้อนกว่าป่าไหน ๆ ผู้เป็นภรรยากล่าวเตือนนายพรานเป็นครั้งสุดท้าย เขาผู้ล่าสัตว์มาทั้งชีวิตเกิดขบคิดขึ้นได้ว่าสัตว์ป่าก็มีชีวิตและหัวใจผสมผสานกับความคิดที่ว่าเหล่าทหาร ตำรวจ และนายอำเภอชอบกดขี่ข่มเหง เหยียบย่ำศักดิ์ศรีชาวบ้านธรรมดา ๆ อย่างเขามาโดยตลอด จนเกิดความคิดที่อยากจะแก้แค้นนายอำเภอและคณะ เขาจึงพกกระสุนหัวกระดาษแทนกระสุนจริงไปเดินป่าในครั้งนี้

               “จิ้งจกหางด้วนตัวใหญ่นิสัยอันธพาลที่เข้าไปอยู่ในกระท่อมเมื่อหลายวันก่อนและมักไล่กัดตัวอื่นจนไม่มีตัวไหนกล้าเข้าใกล้นอนหงายท้องแน่นิ่งอยู่บนพื้นฟากหลังธรณีประตู เนื้อตัวของมันยังอิ่มเอิบ สีผิวยังเป็นสีของหลังคาจาก”

(หน้า 116)

          จากประโยคที่ปรากฏข้างต้นเป็นประโยคที่เล่าถึงฉากก่อนจะเดินทางไปล่าสัตว์เป็นครั้งสุดท้ายซึ่งกำพล นิรวรรณ ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องโดยใช้ฉากสื่อถึงความคิดสะท้อนให้เห็นความเชื่อในสังคมไทยซึ่งนำมาเป็นจุดดำเนินเรื่องเหมือนเป็นการบอกล่วงหน้าคร่าว ๆ ว่าเรื่องจะดำเนินไปเช่นไร ดังเช่น “จิ้งจกหางด้วนตัวใหญ่นิสัยอันธพาล” เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของนายอำเภอ นายทหารและนายตำรวจที่ชอบการล่าสัตว์ ชอบข่มเหงรังแกและเอาเปรียบชาวบ้านชนชั้นผู้น้อย แต่ “นอนหงายท้องแน่นิ่งอยู่บนพื้นฟากหลังธรณีประตู” เปรียบเสมือนเป็นการแพ้ภัยตัวเองของนายอำเภอ นายทหารและนายตำรวจเพราะความโลภมากของตนนำมาสู่หายนะแก่ชีวิตได้

          ถ้ามองภาพรวมของเรื่องทั้งหมดจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้เขียนนำเรื่องความเชื่อที่อยู่คู่กับสังคมไทยตั้งแต่โบราณและสิ่งลี้ลับที่มนุษย์เกรงกลัวมาเป็นจุดเด่นในการเล่าเรื่อง อันได้แก่ ความเชื่อเรื่องจิ้งจกร้องทักบอกลางร้าย การดูดวงโชคชะตา รวมทั้งความเชื่อที่ว่าผืนป่านั้นมีผีสางนางไม้ มีเจ้าป่าเจ้าเขาและเทวดาปกปักรักษาผืนป่าอยู่ เป็นต้น

          “วันนี้พวกท่านมาถึงบางโก้งโค้งแล้วจริง ๆ ครับ หนีเขาไม่พ้นหรอกครับนาย ถ้าไม่โก้งโค้งให้เขาดู”

(หน้า 125)

          ประโยคที่ปรากฏข้างต้นเป็นเหตุการณ์ที่มีพายุเข้า หากกล่าวแต่ว่าพายุเข้าเพียงอย่างเดียวอาจดูเป็นเหตุบังเอิญได้แต่กำพล นิรวรรณ ได้ใช้กลวิธีการเล่าโดยนำความเชื่อของสังคมไทยว่า ‘ป่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักรักษาจะต้องโก้งโค้งให้ป่าเพื่อทำความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์’ ซึ่งคณะนายทหาร ตำรวจ นายอำเภอได้โก้งโค้งทำความเค้ารพผืนป่า แต่ในทางกลับกันหากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง ฉากการโก้งโค้งเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นฉากที่สื่อถึงความคิดอีกอย่างหนึ่ง คือ การเสียดสีข้าราชการในสังคมไทยที่ผู้เขียนต้องการสอดแทรกในเรื่อง กล่าวคือ นายอำเภอ ทหาร ตำรวจ ยอมทำความเคารพในสิ่งที่มองไม่เห็นซึ่งแตกต่างจากชาวบ้านที่เป็นมนุษย์ด้วยกันกลับไม่ยอมก้มหัวหรืออ่อนน้อมให้ อีกนัยหนึ่งเป็นการเสียดสีคนในสังคมที่ยังเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากกว่าที่จะเคารพมนุษย์ด้วยกันเอง

           “เวลาผ่านไปพักใหญ่ ภูมิประเทศเริ่มลาดสูงขึ้นทีละน้อยจนกระทั่งพ้นน้ำ และในที่สุดก็พ้นจากความมืดทึบใต้ซุ้มโกงกางออกสู่เวิ้งโล่งซึ่งเป็นสันดอนเล็ก ๆ ปกคลุมด้วยป่าละเมาะเป็นหย่อม ๆ”

(หน้า 151)

          ผู้เขียนมีความประณีตในการสร้างฉากให้มีความเป็นเหนือธรรมชาติที่สมจริง กล่าวคือ ทั้งฉากป่าบางโก้งโค้งที่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมาราวกับว่าเป็นป่าที่มีอยู่จริงบนโลกมนุษย์ซึ่งการนำเรื่องความเชื่อและสิ่งลี้ลับที่มนุษย์กลัวมาผสมผสานกับฉากที่เป็นป่าโกงกางทำให้เนื้อเรื่องมีความสมจริง ดังเช่น “ฟ้าผ่าเปรี้ยงปร้างกลางทะเล คลื่นหัวเดิ่งโยนตัว ลมฝนเริ่มคะนอง ใบสนกรีดเสียงหวีดหวิวประหนึ่งเสียงครวญครางของปีศาจ ใบแห้งหลุดร่วงจากซอกกิ่งราวกับหิมะดำโปรยปรายจากฟากฟ้าของขุมนรก ลิ่วละล่องไปในม่านฝนขาวโพลน” (หน้า 128) นอกจากนี้ยังมีฉากที่แสดงให้เห็นถึงความอาถรรพ์ผสมกับความเชื่อที่ว่าในป่าทึบยังมีสิ่งลี้ลับอยู่ คือ ฉากป่าที่มีถ้ำลวงตา เป็นฉากที่เหนือธรรมชาติแต่เมื่ออ่านไปเรื่อย ๆ ผู้อ่านจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่ว่าป่าแห่งนี้อาจมีจริงและอาจมีสิ่งลี้ลับอยู่ในป่าผืนนี้เป็นได้ซึ่งเป็นการสร้างหลุมพรางให้ผู้อ่านเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องจริง

          “ผมรู้แต่ว่าบริเวรนี้พวกพรานป่าเรียกกันว่าถ้ำลวงตา เข้ามาแล้วจะเห็นอะไรผิดเพี้ยนไปจากปกติก็ดูอย่างเงาพวกนั้นสิครับ หรือจะว่าเป็นเงาของเราเองก็ไม่ผิดแต่มันทอดผิดทางไงครับ”

 (หน้า 149)

               กลวิธีการแต่งมีการเปิดเรื่องแบบย้อนหลัง กล่าวคือ การเปิดเรื่องที่เล่าถึงความเป็นปัจจุบันก่อนแล้วจึงเล่าถึงความเป็นมาของเหตุการณ์ที่ทำให้เป็นเช่นนั้นซึ่งในตอนเปิดเรื่องผู้เขียนได้บรรยายถึงลักษณะสภาพแวดล้อมของนายอำเภอ ตำรวจ และนายพรานว่าสภาพปัจจุบันเขาเป็นอย่างไร เมื่ออ่านในตอนแรกอาจจะสับสนได้ว่าผู้เขียนกล่าวถึงใครในตอนต้นเรื่องแต่เมื่ออ่านไปจนกระทั่งจบเรื่องจะทำให้ทราบต้นสายปลายเหตุได้ว่าในต้นเรื่องกล่าวถึงใคร “ชายร่างผอมแห้ง เนื้อตัวมอมแมม ท่อนบนเปลือยเปล่ากับกางเกงขาสั้นขาดกะรุ่งกะริ่ง... สักพักก็จะยืนจังก้าทำท่ายกปืนกระทบไหล่ เล็งไปยังความว่างเปล่าเบื้องหน้า” (หน้า 105) จากประโยคเป็นการกล่าวถึงนายอำเภอ อดีตผู้รักการล่าสัตว์ป่าแต่ปัจจุบันกลับเป็นชายยากไร้ที่ยังคงติดอยู่กับภาพเก่าว่ากำลังถือปืนล่าสัตว์ “ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยเมตตาธรรมอันเปี่ยมล้นของเจ้าอาวาสเหิน วัดบางกระเรียนระทมยังเป็นแหล่งพักพิงของผู้สูญเสียจริตจากทั่วทุกสารทิศ”(หน้า 107) เจ้าอาวาสเหินหรือนายพรานเฒ่าเหิน ผู้ซึ่งอดีตเคยเป็นนายพรานล่าสัตว์แต่ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัด “ยังมีไอ้ผิน ฟันทอง ผู้ซึ่งบัดนี้ไม่เพียงแต่ฟันหายไปทั้งปาก หากยังถูกชะตาชีวิตถอดหัวใจดวงเก่าทิ้ง เอาดวงใหม่ไปใส่ให้แทนทำให้มันเปลี่ยนจากคนที่เด็ก ๆ หวาดกลัวกลายเป็นคนกลัวเด็กเสียเอง”(หน้า 108) ส่วนนายตำรวจที่อดีตเคยชอบแกล้งเด็ก ชอบใช้อำนาจข่มเหงผู้อื่น ปัจจุบันได้กลายเป็นชายเสียสติ

          การเปิดเรื่องที่เป็นปัจจุบันดังกล่าวข้างต้นหากยังอ่านไม่จบเรื่องอาจไม่ทราบว่าผู้เล่ากล่าวถึงใครซึ่งเป็นการผูกปมและสร้างความสนใจใคร่รู้ให้แก่ผู้อ่านก่อนจะเข้าเนื้อหาได้อย่างน่าสนใจทำให้อยากติดตามอ่านเนื้อเรื่องต่อไป เมื่ออ่านไปจนถึงกลางเรื่องผู้อ่านจะสัมผัสได้ถึงความสนุกสนานของเรื่อง การเล่าเรื่องโดยการสร้างปมไปเรื่อย ๆ ทำให้ยากต่อการคาดเดาว่าจะจบเช่นไรซึ่งผู้อ่านอาจจะทราบแล้วว่านายอำเภอ นายพรานและนายตำรวจรอดจากการเข้าไปล่าสัตว์ในครั้งนั้นแต่ถึงกระนั้นก็ยังมิทราบได้ว่านายทหารที่เหลือหายไปไหนเนื่องจากตอนเปิดเรื่องผู้เล่ามิได้เล่าถึงนายทหารที่ไปล่าสัตว์ด้วยแต่อย่างใด ระหว่างที่อ่านอาจจะคาดเดาไปต่าง ๆ นานาว่าอาจถูกสัตว์ฆ่าตายหรืออาจฆ่ากันเองก็ย่อมเป็นได้ แต่กลับพลิกความคาดหมายเมื่อตอนจบไม่เป็นอย่างที่คาดเดาไว้

          ตอนจบของเรื่องผู้เล่าได้เล่าถึงฉากพิเศษที่มีสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติปรากฏว่าเทวดาได้กลายร่างมาเป็นกวางเพื่อล่อให้พวกเขาเข้าไปล่า นายพรานปล่อยให้นายอำเภอและคณะไปล่าสัตว์ป่ากันเองอีกทั้งยังเสียสละให้นำลูกปืนของตนไปใช้ซึ่งเป็นลูกปืนกระดาษที่เขาพกไป ขณะนั้นเองผู้เล่าได้เล่าถึงความสับสนภายในใจของนายพราน

“อะไรจะเกิดขึ้นถ้ามันเป็นลูกกวาง แต่เมื่อถูกยิงแล้วหนีรอดไปได้ แล้วถ้าเงาตะคุ่มนั้นเป็นเสือโคร่งล่ะ อะไรจะเกิดขึ้นถ้ามันถูกยิงแล้วไม่เป็นไรมิหนำซ้ำยังตะปบคนยิงจนดับดิ้นสิ้นชีพ”

(หน้า 157)

          การปิดเรื่องเป็นแบบโศกนาฏกรรมเนื่องจากในตอนจบนายพรานตามหานายอำเภอและคณะปรากฏว่าภาพของทหารหัวขาดปรากฏขึ้นแต่กลับไม่พบภาพของผู้อื่น ซึ่งคาดเดาว่าคนอื่น ๆ ถูกฆ่าตายหมดจากฝีมือของสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติและสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันที่เหลือรอดมาเพียงสามคน

               เมื่อพิจารณาตลอดทั้งเรื่องจะเห็นว่าความเชื่อในสังคมไทยส่งผลต่อความคิดของผู้แต่งเป็นอย่างยิ่งทั้งเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับจิ้งจกร้องทักเป็นลางบอกเหตุ ความเชื่อเรื่องผีสาง การทำนายโชคชะตา ความเชื่อเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ผู้แต่งนำความเชื่อมาใช้กับฉากในเรื่องได้อย่างแยบยล ส่งผลให้ฉากมีความสมจริงเพราะความเชื่อที่ปรากฏในเรื่องเป็นความเชื่อที่ฝังอยู่ในความคิดของคนไทยมาช้านาน การใช้ฉากที่มีความอาถรรพ์และลี้ลับซับซ้อนทำให้ฉากและบรรยากาศมีความสมจริง กลวิธีในการเล่าเรื่องมีความตื่นเต้น เนื้อเรื่องไม่น่าเบื่อ ชวนให้น่าอ่าน การเปิดเรื่องที่อาจสร้างความสับสนแก่ผู้อ่านในตอนแรก แต่ในตอนจบอาจทำให้เกิดความประทับใจที่ได้เลือกอ่านเรื่องนี้ เนื้อเรื่องที่เต็มไปด้วยการเสียดสีระบบข้าราชการไทย ความจำยอมที่ต้องทนกับบุคคลที่มีอำนาจเหนือกว่าข่มเหง สักวันหนึ่งความอดทนที่เกินขีดจำกัดอาจหล่อหลอมรวมกันดังพลุที่รอวันจุดให้ระเบิด  การเสียดสีที่เต็มไปด้วยเรื่องน่าเหลือเชื่อทำให้เรื่องสั้น ‘บางโก้งโค้ง’ มีเสน่ห์ที่แม้จะมีความยาวหลายสิบหน้าแต่ก็ทำให้รู้สึกว่าคุ้มค่าและควรค่าแก่การอ่านเป็นอย่างยิ่ง

หมายเลขบันทึก: 688393เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2021 00:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2021 00:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท