ครู​คือใคร.. พุทธ​ทาส​ภิกขุ​



ครูคืออะไร

......

เมื่อถามว่าครูคืออะไร? ก็ต้องเล็งถึงประเทศอินเดีย ที่เป็นต้นตอของวัฒนธรรมนี้ ซึ่งมีอายุหลายพันปีมาแล้ว คนที่เขาเบื่อความเป็นอยู่อย่างซ้ำซากของความเป็นชาวบ้านนี้ เขาคิดว่ามันควรจะมีอะไรดีกว่า ฉะนั้นจะต้องออกไปแสวงหา จึงไปสู่ที่สงัด คือ ป่า ถ้ำ ภูเขา ไกลสังคมออกไปเพื่อแสวงหา

........

ผู้แสวงหา ภาษาบาลีว่า อิสิ หรือภาษาสันสกฤตคือคำว่า ริชจิ ฤษี (ออกเสียงเป็น ริชิ) เหมือนเราใช้คำว่า ฤๅษี ในภาษาไทย ผู้ใดออกแสวงหาความจริง เรียก ฤๅษี ทั้งนั้น ฤๅษีนี้ยังไม่ใช่ครู เพราะว่ายุคแรกยังไม่สอน พบความจริงอะไรบ้างก็ประพันธ์ เป็นคำประพันธ์ ที่เรียกว่า คาถา แล้วตัวเองก็ท่องไว้ มันง่ายกว่าจะท่องเป็นคำร้อยแก้ว ต่อเมื่อมีคนไปพบ ไปติดต่อด้วย ท่านจะบอกคาถานี้ให้บ้าง แต่ไม่ใช่เจตนาจะเป็นครู

.........

.ต่อมาสิ่งที่เรียกว่าคาถานี้ คนก็ได้รับมาในฐานะ ที่เรียกว่ามนต์ ได้รับคาถามาโดยไม่รู้ความหมายอะไรนัก จึงมีผู้ให้คำอธิบายขึ้นมาอีกพวกหนึ่ง เป็นยุคพราหมณะ คืออธิบายคาถา หรือสูตรต่าง ๆ ของพวกฤๅษี นี่ ความรู้จึงค่อย ๆ เกิดขึ้น และมีทุกแขนงวิชา จะเห็นได้ว่า ฤๅษีเป็นต้นกำเนิดของครู แต่ไม่ใช่ครู

.........

ส่วนที่เรียกว่า มุนี ดาบส เป็นเพียงความหมายแขนงหนึ่ง ๆ มุนีแปลว่าผู้รู้ เมื่อฤๅษีเป็นผู้รู้ ฤๅษีก็ได้ชื่อว่ามุนี ดาบส แปลว่า ผู้ทำตะบะ คือทำความเพียรอย่างแรงกล้า เพราะฉะนั้น ฤๅษีก็ได้ชื่อว่า ดาบส

........

.คำว่า สิทธา และคำว่า นักสิทธิ์ นี้ก็แปลว่า ผู้ประสบความสำเร็จ ฤๅษีพวกนี้ก็เป็นผู้ประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า สิทธา

........

ยังมีคำอื่นที่รองลงไปอีกมากมายหลายคำ กระทั่งถึงคำว่า วิทยาธร ซึ่งเป็นคำโบราณ แปลว่าผู้ทรงวิทยา แต่ก็ไม่ใช่ครู พวกวิทยาธรเป็นผีเจ้าชู้ เป็นเทวดาเจ้าชู้มากกว่า ก็ไม่ใช่กำเนิดครู

.......

ต่อมาสิ่งต่าง ๆ เป็นรูปเป็นร่างดีขึ้น จนมีผู้สอน รับแก้ปัญหา คือตอบคำถามในเรื่องนี้โดยตรง เหมือนกับเป็นสถาบันที่รับตอบปัญหาทางด้านจิต ด้านวิญญาณ บุคคลประเภทนี้ คือบุคคลที่เรียกว่า คุรุ หรือ ครู ในภาษาไทย ดิคชันนารีภาษาสันสกฤตที่เป็นมาตรฐานทุกเล่ม จะแปลคำว่าครูนี้ว่า Spiritual guide คือ เป็น GUIDE ในทางวิญญาณ ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีหน้าที่สอนหนังสืออย่างพวกเรา ต่อมาถูกยืมมาใช้ในภาษาไทย จึงเปลี่ยนความหมายเป็นสอนหนังสือ สอนวิชาชีพ; โดยเนื้อแท้ดั้งเดิม เป็นผู้นำในทางวิญญาณ

.......

คำว่า อุปัชฌาย์ เป็นครูสอนอาชีพ วิชาชีพอะไรก็ได้ เช่นวิชาดนตรีนี้ ผู้สอนสอนดนตรีก็เรียก อุปัชฌาย์ เดี๋ยวนี้พอมาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ก็เลยกลายเป็นพระอุปัชฌายะ ผู้ให้บรรพชาอุปสมบท นั้นเป็นอาชีพของสมณะ

.......

คำว่าครูแปลว่า หนัก อาตมาอยากจะพูดว่า “หนัก” คือมีบุญคุณอยู่เหนือศีรษะคนทุกคน สำหรับคำว่า ครู

.......

ทีนี้มาถึงคำว่า อาจารย์ แปลว่าผู้ช่วยฝึกมรรยาท นี่คือครูสอนจริยศึกษา ต้องมี ผู้เป็นอาจารย์ เพราะเราจะมีแต่ความรู้ความสามารถอย่างอื่น แต่ไม่มี อาจาระ หรือมรรยาทที่ดีนั้น เป็นคนไปไม่ได้; นี้คืออาจารย์สำหรับทำหน้าที่ฝึกมรรยาท

.......

ไกลออกไปถึงคำว่า ศาสดา สัตถา ในภาษาบาลี แปลตามตัวหนังสือว่า “ผู้ให้ซึ่งศาสตร์” คำว่าศาสตร์ นี้แปลว่าอาวุธ อาวุธทางนามธรรมหมายถึงปัญญา พระพุทธเจ้าเป็นบรมศาสดา คือผู้ให้อาวุธ หมายถึงวิชาที่จะตัดกิเลส

........

ที่อาตมาเอามาพูดให้ฟังนี้ ก็เพื่อจะได้ค้นดูที ว่า วิญญาณของความเป็นครูอยู่ที่ไหน คำว่า ครูแท้ ๆ ก็คือ ผู้นำในทางวิญญาณ

ถ้าวิญญาณของเด็กยังไม่สูง ก็ยังขาดครูตามอุดมคติของพระพุทธศาสนา ขอให้นึกถึงคำว่า “ครู” นี้ มีความหมายสำคัญ ๆ อยู่ที่ว่า “ยกสถานะทางวิญญาณให้สูงขึ้น นั่นคือประกอบอยู่ด้วยธรรมะ” แล้วสิ่งที่เป็นอุปัทวะต่าง ๆ ก็ไม่มี ถ้าสิ่งที่เป็นอุปัทวะต่าง ๆ ยังมีอยู่ ก็หมายความว่า เรายังไม่มีธรรมะ ในเรื่องของความเป็นครูที่สมบูรณ์นั่นเอง.

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา :หนังสือ ค่ายธรรมบุตร

ขอบคุณจากเพจ : Kanlayanatam

หมายเลขบันทึก: 688378เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2021 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มกราคม 2021 12:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท