ข่าวว่านกจะมา


       วรรณกรรมเรื่องสั้น “ข่าวว่านกจะมา” เป็นหนึ่งในรวมเล่มเรื่องสั้น "คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ" ของ “จเด็จ กำจรเดช” นักเขียนที่สร้างผลงานที่ประทับใจผู้อ่านเป็นอย่างมาก ซึ่งได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ปี ๒๕๕๔ และสามารถคว้ารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ ประจำปี ๒๕๖๓เป็นดับเบิลซีไรต์คนที่ ๕ ของเมืองไทย ถือเป็นงานเขียนที่ท้าทายขนบการเขียนเรื่องสั้นเดิมๆ ของไทย

       "คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ" คือรวมเรื่องสั้นที่ไม่เพียงมีอรรถรสต่อการรับรู้ในรู้สึก...แต่คือสัญญาณแห่งการขบคิดที่เติบใหญ่ในโลกแห่งการสร้างสรรค์ใหม่ของ "จเด็จ กำจรเดช" แสดงถึงสถานะและบทบาทในภาพวาดทางมโนทัศน์ที่เร้นลึก...ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอาณาจักรแห่งบทสะท้อนของศิลปะการประพันธ์ผ่านความคิด จิตใจ และอารมณ์ รวมทั้งผ่านมายาคติของชีวิต ที่ต้องทำสงครามแห่งจิตวิญญาณต่อกันและกันอย่างท้าทาย

       ข่าวว่านกจะมาเป็นการถ่ายทอดแนวคิดของผู้เขียนที่ต้องการสื่อให้ผู้อ่านได้ตีความในสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อ ในเรื่องนี้ผู้เขียนสะท้อนภาพสังคมไว้หลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสะท้อนสังคมในเรื่องของความต้องการอิสรภาพ การใช้ชีวิตร่วมกันในครอบครัว สลับกับน้ำเสียงเสียดเย้ย วิพากษ์สังคม และให้แนวคิดกับผู้อ่านได้เป็นอย่างดี

         ผู้เขียนใช้วิธีการเล่าเรื่อง โดยผู้เล่าคือตัวละคร “ผม”  เล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตของเขา ว่าเกิดเรื่องราวอะไรกับตัวเขาบ้าง มีการนำเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องและใช้สัญญะโดยใช้สัตว์นั่นก็คือ นก เพื่อสื่อความหมายแอบแฝงอะไรบางอย่างให้ผู้อ่านได้ขบคิดตลอดทั้งเรื่อง ทั้งยังเล่าถึงเรื่องราวชีวิตครอบครัวที่ต้องอย่ากับภรรยาของเขา  เหตุการณ์ดังกล่าวที่กล่าวมานั้นผู้เล่าหรือตัวละคร “ผม” เล่าโดยฟังจากผู้อื่นมาอีกทอดหนึ่งจำเรื่องราวทั้งหมดที่ผู้อื่นเล่าให้ฟังมาเล่านั่นเอง

         ข่าวว่านกจะมาเป็นเรื่องราวชีวิตของตัวละคร “ผม” เขาเป็นนักเขียน วันหนึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาค้นบ้านถามถึงการหายตัวไปของภรรยาเขา เขาและภรรยามีปัญหากันบ่อยมีความคิดไม่ตรงกันแม้การสร้างบ้านการจัดส่วนต่าง ๆ ของบ้านเขาเป็นคนคิดทั้งหมดส่วนภรรยาเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายในบ้านจากเงินเดือนข้าราชการครู พักหลังเขากลับบ้านดึกไม่ชอบอยู่บ้านเขาเองก็มีผู้หญิงคนอื่นจนทำให้ทั้งสองตกลงหย่ากัน เขาออกไปอยู่นอกบ้านเป็นเวลา ๑ ปี ปล่อยลูกกับเมียอยู่ที่บ้านสองคน แล้ววันหนึ่งเขาถูกแฟนใหม่ทิ้งผิดหวังและเสียใจมากขอกลับมาอยู่ที่บ้านค้นพบว่าการอยู่นอกบ้านไม่ได้ดีอย่างที่คิด รู้ซึ้งถึงชีวิตที่ขาดบ้าน ขาดลูกขาดเมียเขาจึงมีข้อเสนอให้ภรรยาออกไปข้างนอกบ้างไปที่ที่เขาอยากไปเธอจะได้รู้ว่าคนที่เป็นฝ่ายไปก็ไม่ได้อยู่อย่างมีความสุข เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้สึกกัน เขาจะดูและบ้านกับลูกเอง หลังจากที่ภรรยาเขาไปเธอก็เพียงแค่อัพรูปเพื่อส่งข่าวว่าเธออยู่ที่ไหน ให้เขาสร้างบ้านรอเธอบอกว่าจะกลับมาแต่ก็ไม่กลับมาจนตอนนี้ตัวละครผม หรือผู้เล่านี้อายุ ๑๑๒ ปี ก็ยังรอวันที่เขานั้นจะกลับมา สิ่งที่เล่าไปทั้งหมดเกี่ยวกับชีวิตตัวละครผมผู้เล่าก็ฟังผู้อื่นก็เล่าต่อ ๆ มาอีกที

         จากการพิจารณาเรื่องสั้นเรื่องนี้จะเห็นว่าผู้เขียนมีการใช้สัญลักษณ์สัตว์เพื่อเชื่อมโยงกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ มีการเล่าเรื่องถึงสถานที่ต่าง ๆ  จากตัวละคร “ผม” ที่เคยไปพบเจอมา และมีการกล่าวถึงเหตุการณ์เรื่องของนกนางแอ่นในเกาะกงตลอดทั้งเรื่อง เพื่อเป็นภาพแทนในการสะท้อนสังคมในเรื่องได้เป็นอย่างดี

          ดังจะเห็นในการเปิดเรื่องโดยนำเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเกาะกงที่คนไทยต้องตกอยู่ใต้อำนาจของเขมร ถูกกวาดต้อนไปใช้แรงงานอย่างหนัก ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และมีการหนีอพยพออกมาจากที่นั่นมีเพียงไม่กี่คนที่รอด เพราะถูกเขมรแดงตามฆ่าทิ้ง ส่วนคนที่หนีรอดก็กระจายไปอยู่กับญาติในจังหวัดใกล้เคียง “นกอยากมีบ้านแทนรังบ้างแล้ว” (หน้า ๗๑) ซึ่งจะนำไปสู่ในส่วนของการดำเนินเรื่อง ดำเนินโดยเล่าถึงชีวิตของ “ผม” ที่หย่ากับภรรยา ไปอยู่นอกบ้าน ทำให้เห็นความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ คือ “ผม” และภรรยาที่ไม่เข้าใจกันในหลาย ๆ เรื่อง จนทำให้ทั้งสองต้องหย่ากัน และต่างคนก็ต่างอยู่

          หลังจากหย่ากันได้เป็นเวลา ๑ ปี “ผม” ก็กลับมาอยู่บ้านบ้านดังเดิมได้รู้ถึงความรู้สึกที่ขาดอะไรบางอย่างในชีวิตไป อยู่อย่างไม่มีความสุขสุดท้ายก็ต้องกลับมาอยู่บ้าน และให้ภรรยาไปอยู่กับโลกภายนอกบ้างเพื่อที่จะได้เข้าใจในความรู้สึกที่ “ผม” รู้สึก

         ในตอนท้ายของเรื่องผู้เขียนปิดเรื่องด้วยการความรู้สึกนึกคิดของตัวละครที่มีต่อคำว่าครอบครัวที่เฝ้ารอคอยภรรยากลับมา “คุณอาจจะเอาเรื่องผมไปเล่าต่อ ผมอยู่มานานจนหลงลืมเรื่องราวของตัวเองไปหมดแล้ว ที่ผมจำเรื่องที่พวกเขาเล่าต่อ ๆ กัน มันแก่ลงนี่นะ หลง ๆ ลืม ๆ ไป ว่าแต่เขาเล่ามาแบบไหนล่ะ ช่วยเล่าให้ผมฟังหน่อยนะ” (หน้า ๑๓๘) และทิ้งข้อความของ “ผม” เป็นการสรุปเหตุการณ์ทั้งหมดว่าสิ่งที่เล่าทั้งหมด “ผม” ก็จดจำจากผู้อื่นมาเล่า

         จากเรื่องเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันในครอบครัว ทุกครอบครัวย่อมมีปัญหาอุปสรรคความไม่เข้าใจกัน ซึ่งคำว่า ครอบครัว ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างเพื่อที่จะประคับประคองกันไป ต้องมีความซื่อสัตย์ เอาใจใส่ให้ความสำคัญกัน รับฟังความคิดเห็นและเหตุผลของกันและกัน จึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งเรื่องราวชีวิตคู่ของตัวละครผม ในเรื่องข่าวว่านกจะมานี้ก็เป็นเรื่องราวที่ทำให้ผู้อ่านได้เห็นตัวอย่างของการใช้ชีวิตคู่ ระหว่างที่มีกันอยู่ก็ควรที่จะดูแลกันรักกันจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจกับสิ่งที่ผิดพลาดหรือเสียมันไปทีหลัง

        เมื่อพิจารณาจากเรื่องแล้วจะเห็นได้ว่ามีการนำเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องตลอดทั้งเรื่องโดยเล่าถึงสถานที่ในเกาะกงที่มีนกอาศัยอยู่ ซึ่งผู้เขียนต้องการพูดเสียดสีสังคมโดยใช้นกเป็นภาพแทนของคนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนไทยแล้ววันดีคืนดี ก็ไปเป็นคนเขมรเปลี่ยนจากสัญชาติไทยเป็นสัญชาติเขมร ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ผู้เขียนต้องการที่จะสื่อให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่หลายคนมองข้ามเรื่องเหล่านี้ไป เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือความช่วยเหลืออย่างจริงจัง จึงมีการนำเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาเล่าผ่านเรื่องราวของชีวิตตัวละคร ในยุคล่าอาณานิคมเกิดสงครามความไม่สงบในกัมพูชา ขณะนั้นมีกลุ่มคนไทยส่วนน้อยอพยพหนีมาอยู่ฝั่งไทย ในการกลับมาของคนกลุ่มนี้ทางไทยไม่ถือว่าเป็นการกลับบ้านเกิดแต่ถือว่าเป็นต่างด้าว จึงเรียกกันว่า คนไทยพลัดถิ่น ไม่ได้ให้สิทธิใด ๆ มีแค่บัตรชั่วคราวหรือบัตรคนกลุ่มน้อย  ไม่มีสัญชาติทำให้ไม่มีความเท่าเทียมกันกับผู้อื่น คนกลุ่มนี้หวังว่าจะได้รับสัญชาติจากหน่วยงานรัฐที่บอกว่าจะเร่งแก้ไข ผ่านไปหลายสิบปียังไม่มีวี่แววหรือความคืบหน้าเลย

          จากข้อความข้างต้นจึงทำให้ประวัติศาสตร์และชื่อเรื่องมีความเชื่อมโยงกัน ซึ่ง นก ให้เป็นสัญลักษณ์กับคนกลุ่มนี้ว่า นกนางแอ่น  เป็นนกที่ซื่อสัตย์ รักเดียวใจเดียว จะครองคู่กันไปตลอด หากฝ่ายใดตายก่อน จะนอนกกเฝ้าศพจนตาย นกเป็นสัตว์ที่มีปีกมันเป็นอิสระมันจะบินไปที่ใดก็ได้แต่สุดท้ายมันก็จะกลับมาที่รังของมันดังเดิมก็เหมือนกับคนกลุ่มนี้ชาวเกาะกงเกิดในผืนแผ่นดินไทยแม้จะไปตกเป็นของชาติอื่นแต่ใจก็ยังเป็นไทยรักในความเป็นไทยแม้จะตายก็ขอตายในแผ่นดินไทย และ การสร้างรังนก นั้นคือ บ้านหรือผืนแผ่นดิน ในเรื่องจะเห็นว่ารังนกมันมีราคาคนก็อยากได้ไปขโมยรังมันแทงรังมันบีบบังคับมันสร้างรังให้เป็นการเบียดเบียนสัตว์ สิ่งไปเชื่อมโยงกับตอนที่ชาวเกาะกงถูกใช้แรงงานอย่างหนักอยู่อย่างอดอยาก ถูกฆ่าตายเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน จากเรื่องมีการกล่าวถึงประโยคหนึ่งที่ว่า “นกก็อยากมีบ้านแทนรังบ้างแล้ว”ทุกคนก็อยากมีบ้านเป็นของตัวเองอยากอยู่ในแผ่นดินเกิดของตัวเองไม่มีใครอยากเร่ร่อนสร้างบ้านไปทั่วหรืออพยพไปเรื่อย ๆ และคงไม่มีที่ใดสุขใจเท่ากับอยู่บ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง

        ในชื่อเรื่องที่ว่า “ข่าวว่านกจะมา” ผู้เขียนใช้กลวิธีการใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์ในการดำเนินเรื่อง ซึ่งจะสามารถให้ความหมายของชื่อเรื่องได้หลายเรื่อง เพราะในการเล่าเรื่องนั้นมีการเล่าเกี่ยวกับชีวิตของตัวละครและมีการใช้สัญลักษณ์ที่ต้องการสะท้อนสังคมโดยตัวละครเป็นผู้เล่า นั่นก็คือ “นก” จะเห็นได้ว่ามีการพูดถึงเรื่องนกแทรกเข้ามาตลอดทั้งเรื่องเพื่อบอกอะไรบางอย่าง นกในเรื่องนี้มี ๒ ความหมายคือ นกที่หมายถึง ภรรยาของตัวละครผม และนกที่หมายถึง อิสรภาพ ความเท่าเทียม คำว่า “ข่าวว่านกจะมา” และ “เขาว่า…”  ในความสัมพันธ์ของสองสองคำนี้ให้ความหมายคล้ายคลึงกัน เป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น  อาจมีสิ่งนั้นเกิดขึ้นแต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่  ฉะนั้น คำว่า “ข่าวว่านกจะมา” จึงมีความหมายว่า การรอคอยว่าภรรยาจะกลับมาบ้าน และ การรอคอยอิสรภาพรอคอยสัญชาติไทยและสิทธิที่ควรจะได้รับของคนกลุ่มหนึ่งที่รอแล้วรอเล่าก็ไม่ได้สักที

         แก่นเรื่องข่าวว่านกจะมาปรากฏอยู่ในบรรทัดสุดท้ายของเรื่องว่า “ที่ผมพูดทั้งหมดนี่ก็ฟังเขาว่ามาเหมือนกัน” (หน้า ๑๓๘)  พิจารณาจากเรื่องจะเห็นได้ว่าก่อนจะเล่าถึงเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง จะมีคำขึ้นต้นว่า เขาว่า ตลอดการเล่าเรื่อง ผู้เขียนต้องการสะท้อนถึงสังคมไทยที่เป็นคนหูเบาเชื่อคนง่ายฟังจากผู้อื่นมาแล้วไม่ได้มีการหาข้อมูล ข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ ใครพูดเรื่องอะไรก็หลงเชื่อและนำไปพูดต่อ ๆ กัน ซึ่งผู้เขียนใช้เรื่องสั้นข่าวว่านกจะมาเป็นเครื่องเตือนสติผู้อ่าน ให้มีสติ เป็นคนที่คิดให้รอบคอบไตร่ตรองให้ดีก่อน หากเป็นคนหูเบาหรือเชื่อคนง่ายอาจจะเกิดภัยต่อตัวเราเองได้

         ตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่อง และเป็นตัวละครที่มีความขัดแย้งคือ “ผม”  ผมเป็นตัวละครหลายลักษณะมีทั้งด้านดีและไม่ดี ในส่วนของด้านที่ไม่ดี จะเห็นได้ว่า “ผม” เป็นผู้ชายที่เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ทำตามความคิดของตัวเอง ไม่ใส่ใจครอบครัว และยังโกหกภรรยาเกี่ยวกับเรื่องที่เขาตกงาน ออกจากบ้านไปจอดรถที่ปั้มน้ำมันเพื่อเขียนงาน เขากลับบ้านดึกดื่นทุกวันจนทำให้มีปากเสียงกับภรรยาจนทำให้ต้องหย่ากัน แต่ในส่วนของด้านดีของ “ผม” คือ ระหว่างที่ไปจอดรถที่ปั้มน้ำมันนั้นเขาได้ทบทวนความผิดของตัวเองและผู้คนรอบด้าน ซึ่งเขารวบรวมเป็นหนังสือที่สร้างกำลังใจให้กับผู้ที่หมดหวังหรือมีปัญหาชีวิตที่มีผลต่อจิตใจเป็นการช่วยเหลือคนเหล่านี้พ้นทุกข์ และสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ ผู้คนชื่นชอบในผลงานเขาจนทำให้เขาเป็นนักเขียนเสริมสร้างกำลังใจชื่อดัง

         ตัวละครไม่มีความสมจริง เพราะตัวละคร “ผม” ที่เล่าเรื่องราวและเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ เป็นการจำเรื่องราวที่ผู้อื่นเล่าให้ฟัง มาเล่าต่ออีกที ซึ่งตัวละครผมเอง มีอายุมากอยู่ในวัยชรามีอายุถึง ๑๑๒ ปี เมื่อพิจารณาดูแล้วเป็นไปได้ยากที่จะจดจำเรื่องราวทั้งหมดที่ผู้อื่นเล่าให้ฟังได้มากเพียงนี้โดยปกติวัยชราทั่วไปจะจะมีความจำค่อนข้างสั้น เป็นคนหลงลืมง่าย ดังนั้นตังละครผมอาจมีความหลงลืมเล่าข้ามเรื่อง หรือมีการแต่งเรื่องเพิ่มเข้าไปเองก็เป็นไปได้ จึงกล่าวได้ว่าตัวละครในเรื่องนี้ไม่มีความสมจริง

         วรรณกรรมเรื่องสั้น ข่าวว่านกจะมา เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนซึ่งมีการกล่าวถึงประวัติศาสตร์และเรื่องราวราวของตัวละครสลับไปมาต้องอาศัยความเข้าใจในเรื่องของประวัติศาสตร์ถึงจะเข้าใจในเนื้อเรื่อง แต่เมื่อพิจารณาจากเรื่องจะเห็นได้ว่า โครงเรื่อง แก่นเรื่อง ตัวละคร และองค์ประกอบต่าง ๆ มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกันใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายสะท้อนให้ข้อคิดต่าง ๆ ให้ผู้อ่านได้เห็นปัญหาของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

รายการอ้างอิง

จเด็จ กำจรเดช. (๒๕๖๓). คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ.

ฐานิดา บุญวรรโณ  ใครคือคนไทยพลัดถิ่นเชื้อสายไทยจากเกาะกง

     สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๓. จาก https://prachatai.com/journal/2012/02/39041

หมายเลขบันทึก: 688334เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2021 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2021 14:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท