เรื่องสั้น


ลึกลงไปใต้กระแสแห่งความคิด

นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ)  หนึ่งในเรื่องสั้นชุด ในโลกเล่า ของ “วัฒน์ ยวงแก้ว” ที่ซ่อนเงื่อนไว้ในปมชีวิตให้ผู้อ่านแก้และหาคำตอบด้วยตัวเอง หนังสือเล่มนี้รวบรวมเรื่องสั้นที่ได้รางวัลเหล่านั้นผสมกับเรื่องที่ขึ้นมาแต่งใหม่ มีเนื้อหาว่าด้วยสภาวะที่ทำอะไรไม่ถูกกับชะตากรรมที่ประสบของผู้คนในชายแดนใต้ โดยนำเสนอไปพร้อม ๆ กับการเผยแรงปรารถนาของตัวละครที่ยังคงความเป็น วัฒน์ ยวงแก้ว ไว้ได้เป็นอย่างดี

  นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ) เรื่องราวของ  “นักเขียน” ที่ตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อทุ่มเททุกอย่างเพื่องานเขียน นักเขียนได้กลับมาที่บ้านเกิดเพื่อหาแรงบันดาลสร้างสรรค์ผลงานตามที่ต้องการ โดยการออกไปตกปลา เขาไม่ใช่ตกปลาเพื่อหาปลา แต่เขาตกปลาเพื่อการเขียนหนังสือ แม่ของเขาบอกว่า มีสวนยางพาราแปลงหนึ่งที่เพิ่งซื้อไว้ อยู่ติดแม่น้ำตาปี ที่นั่นมีบ้านพักลูกจ้างอยู่ในสวน นั่นเป็นที่มาให้เขาได้พบกับ “กร” และ “น้ำ”  กรกับน้ำเพิ่งมากรีดยางได้ปีกว่า ทั้งคู่ตั้งใจมาทำงานเพื่อเก็บเงินแต่งงาน กรมีอาชีพกรีดยางส่วนน้ำมีหน้าที่ทำกับข้าวรอกรกลับมา ทุก ๆ วันนักเขียนจะขับรถกระบะมาที่แม่น้ำตาปีเพื่อทำการตกปลา ซึ่งทำให้นักเขียนกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวกรและน้ำ  ในขณะที่กรออกไปกรีดยางและทำงานที่ร้าน น้ำจะมานั่งอ่านหนังสือกับนักเขียน เรื่องราวดำเนินต่อไปเช่นนี้ ซึ่งทำให้นักเขียนเกิดความรู้สึกดี ๆ ที่มีต่อน้ำ ส่วนน้ำก็มีความรู้สึกดี ๆ ต่อนักเขียนเช่นกัน แต่ด้วยที่นักเขียนมีครอบครัวแล้วและน้ำก็มีกรเป็นคู่ชีวิต นักเขียนจึงหยุดความรู้สึกดี ๆ ไว้และยอมถอยออกมา ตั้งแต่วันนั้นนักเขียนก็ไม่กลับไปตกปลาที่แม่น้ำตาปีอีกเลย

          เรื่องสั้น นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ) เป็นเรื่องสั้นที่มีความรักในแนวขนบของสัจนิยม ที่ผูกเรื่องจากปมกระแสความคิดและความรักอันเป็นกิเลสสำคัญที่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของมนุษย์ ผู้เขียนวางโครงเรื่องไว้อย่างกระชับ รัดกุม มีการวางลำดับเนื้อเรื่องสลับเหตุการณ์ไปมาแบ่งเป็นเนื้อหาในแต่ละบท ซึ่งการเปิดเรื่องใช้ชื่อบทว่า “บทที่ศูนย์ การต่อสู้ (บนพื้นผิว)” การเปิดเรื่องที่เริ่มต้นจากการพรรณนาเกี่ยวกับการตกปลา โดยใช้เบ็ดที่เหมาะสมกับการตกปลาที่มีความสอดคล้องกับชื่อเรื่อง นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ)เป็นการเปิดเรื่องที่ชวนให้เนื้อหาน่าติดตามตอนต่อไปและกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความอยากรู้เกี่ยวกับการตกปลาของนักเขียนที่จะดำเนินเรื่องต่อไปเช่นไร ดังตัวอย่าง “รอกกรีดเสียง สายเอ็นถูกลากออกไปอย่างรวดเร็ว หัวใจของนักเขียนเต้นแรง รีบพลิกตัวลงจากเปลผ้าใบที่ผูกไว้ระหว่างกอไผ่ วางคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คลงบนเสื่อ พุ่งตัวไปคว้าคันเบ็ด ตวัดสวนฉับพลัน ปลายคันไฟเบอร์ขนาดเล็กโค้งวูบ รู้ได้ทันทีว่าเป็นการต่อสู้ที่แบกน้ำหนักมากเกินไป ปรับเบรกหน้ารอกสปินนิ่ง ประเมินว่าหากแข็งเกินไป คันบอบบางอาจหักลงได้ทุกเมื่อ แต่ถ้าปล่อยเบรกอ่อนไป รอกขนาดเล็กจะคายสายเอ็นจนหมดสปูนอย่างรวดเร็ว ชั่วแวบหนึ่งรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้เลือกใช้ชุดคันเบ็ดขนาดใหญ่พอ ทว่านั่นไม่ใช่เหตุผลของนักเขียนตั้งแต่ต้น เขาตกปลาเพื่อการเขียนหนังสือ ไม่ใช่ตกปลาเพื่อปลา”  (นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ) : ๒๙)

          การดำเนินเรื่อง ผู้แต่งใช้กลวิธีในการดำเนินเรื่อง ๓ วิธี ได้แก่ การผูกปมหรือการสร้างความขัดแย้ง การเรียงลำดับเหตุการณ์และการเล่าเรื่อง

          การผูกปม คือ การสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นกับตัวละครหรือเหตุการณ์ในเรื่องเพื่อให้เกิดการต่อสู้ระหว่างสองฝ่ายขึ้นไป ความขัดแย้งที่ทำให้เกิดการต่อสู้นั้นนับเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องนำมาพิจารณาในส่วนของโครงเรื่อง เพราะเป็นส่วนที่แสดงให้เห็นทิศทางของเรื่องทั้งหมดว่าเรื่อง ๆ นั้น จะมีจุดหมายไปยังที่ใด หรือเพื่อเสนอแนวคิดใด ผู้เขียนใช้กลวิธีการสร้างความขัดแย้ง ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ความขัดแย้งภายในจิตใจของตัวละคร

          ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ เป็นความขัดแย้งของตัวละครในเรื่อง อาจจะเป็นความขัดแย้งทางความคิด การกระทำที่ทำให้เกิดการปะทะต่อสู้กันทั้งด้านกำลังหรือความคิด ความขัดแย้งประเภทนี้จะเห็นได้ชัดเจน เพราะนักเขียนนิยมใช้กันมาก ดังตัวอย่าง “ ‘แต่กรเองก็ไม่น่าจะลงไม้ลงมือกับน้ำนะ ดูทำสิ เจ็บมากไหม’ มองไปที่ท่อนแขนเขียวช้ำของหญิงสาว ‘กรไม่ได้ทำร้ายอะไรหนูหรอกค่ะ แค่จับแขนเขย่าด้วยความโมโห คงโมโหมาก…” (นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ) : ๓๓) จากข้อความข้างต้นผู้เขียนใช้กลวิธีสร้างความขัดแย้งระหว่างกรกับน้ำ เป็นการผูกปมที่ทำให้ตัวละครดำเนินเรื่องต่อไปอย่างเข้มข้น

          ความขัดแย้งภายในใจมนุษย์ เป็นการต่อสู้ที่เกิดขึ้นภายในใจของตัวละครเอง ทำให้ตัวละครเกิดความสับสนที่จะต้องตัดสินใจเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อาจเป็นความพอใจของตนกับความถูกต้องเหมาะสม ดังตัวอย่าง “ผมรู้สึกไร้คุณค่า แม้ว่าคุณรักผม และเป็นกำลังใจให้ผม แต่ผมห้ามความรู้สึกไม่ได้จริง ๆ ผมรักคุณ รักลูก แต่อยากให้คุณเข้าใจ ผมอยู่ในสภาพนี้ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว” (นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ) : ๕๘) จากข้อความข้างต้นผู้เขียนใช้กลวิธีสร้างความขัดแย้งภายในใจของนักเขียน ที่พยายามห้ามความรู้สึกดี ๆ ที่มีต่อน้ำ เพราะตนมีครอบครัว หลังจากนั้นนักเขียนจึงตัดสินใจเดินออกจากชีวิตของน้ำ

          เมื่อผู้แต่งได้สร้างความขัดแย้งให้มีการต่อสู้ประเภทต่าง ๆ เกิดขึ้นดังข้างต้นแล้ว ก่อนที่เรื่องจะเปลี่ยน

ทิศทางใหม่ ก็มักจะกำหนดให้มีอุปสรรคมาขัดขวาง เพื่อไม่ให้เรื่องดำเนินไปอย่างราบรื่นอุปสรรคนี้จะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกสนุก เพราะสนใจอยากจะรู้เรื่องราวว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

          การเรียงลำดับเหตุการณ์ ผู้แต่งใช้กลวิธีการลำดับเหตุการณ์หลายแบบ ได้แก่ การย้อนอดีตสลับไปมากับปัจจุบัน และการกล่าวถึงเหตุการณ์ต่างสถานที่สลับกันไปมา จึงทำให้เรื่องดำเนินไปอย่างน่าสนใจและชวนให้ติดตามอ่าน การย้อนอดีตสลับไปมากับเรื่องปัจจุบัน โดยเริ่มต้นจาการเล่าเรื่องในอดีตและมีการเปลี่ยนแปลงมาจนถึงปัจจุบัน ดังตัวอย่าง “ยี่สิบปีแล้วตั้งแต่คบหาจนกระทั่งแต่งงานกับภรรยา ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะนอกใจ แม้ความจริงตอนนี้ เขาย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิด โดยทิ้งภรรยาให้อยู่กับลูกสองคนที่กรุงเทพ ฯ” (นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ) : ๓๖) จากข้อความข้างต้นผู้เขียนใช่กลวิธีบรรยายความเป็นมาของนักเขียน โดยใช้วิธีการดำเนินเรื่องจากในอดีตเป็นเช่นไร ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร กลวิธีลักษณะนี้จะทำให้เห็นพฤติกรรมของตัวละครที่สมจริง ทำให้ผู้อ่านไม่สับสนกับการดำเนินเรื่องราวและติดตามเนื้อหาไปอย่างต่อเนื่องอย่างสมเหตุสมผล

          การกล่าวถึงเหตุการณ์ต่างสถานที่สลับกันไปมา ดังนี้ “นักเขียนชอบการตกปลา หลงเสน่ห์การรอคอยและการต่อสู้ ทว่าในเมืองหลวง เขาคุ้นเคยแต่กับปลาสวายตามบ่อตกปลา ยามเมื่ออยู่กับหมายธรรมชาติสายน้ำทั้งกว้างและลึก ปลาหลากหลายชนิด เขารู้สึกตื่นเต้น” (นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ) : ๔๑) จากข้อความดังกล่าวผู้เขียนได้ใช้กลวิธีในการบรรยายเหตุการณ์สถานที่เดิม (กรุงเทพ ฯ) ขณะที่นักเขียนกำลังอยู่ที่บ้านเกิด แต่ก็นึกถึงบ่อตกปลาในเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยปลาสวาย ต่างกับบ่อธรรมชาติที่ไม่สามารถรู้ได้ว่าปลาชนิดใดที่อยู่ใต้ผิวน้ำ เป็นการใช้กลวิธีในการกล่าวถึงเหตุการณ์ต่างสถานที่ ซึ่งทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกเช่นเดียวกับผู้แต่งและเกิดความสมจริงของลักษณะของตัวละคร

          การเล่าเรื่อง เป็นกลวิธีทำให้เนื้อเรื่องต่อเนื่องกัน ผู้เขียนใช้วิธีการเล่าเรื่องโดยใช้ตัวละครในเรื่องเป็นผู้เล่า คือ ผู้แต่งกำหนดให้ตัวละครตัวใดตัวหนึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องราวของตนเองโดยใช้คำว่า “นักเขียน” ซึ่งเปรียบเสมือนตัวละครนักเขียนเป็นผู้รู้เรื่องราวชีวิตของตัวละครทุกอย่าง ทั้งความรู้สึกนึกคิดในในใจของตัวละคร ดังตัวอย่าง “นักเขียนนึกถึงเด็กหนุ่มชาวกัมพูชาร่างผอม มักถือตัวหนังตะลุงติดมือด้วยเสมอเหมือนเป็นของขลังชักเชิดตัวหนังพูดคุยกับมันเหมือนมีชีวิต แต่ก้มหน้าอย่างเจียมตัวทุกครั้งยามพูดคุยกับคนอื่น” (นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ) : ๓๓)

          การหน่วงเรื่อง คือ หลังจากที่ผู้แต่งได้สร้างปมปัญหา ซึ่งประกอบด้วยข้อขัดแย้ง การต่อสู้และอุปสรรคให้เป็นหัวใจของโครงเรื่องได้แล้ว ผู้แต่งก็จะกำหนดให้เรื่องดำเนินต่อไป และค่อย ๆ ให้เรื่องทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ผู้อ่านสนใจอยากรู้เรื่องราวไปจนตลอดเรื่อง โดยการหน่วงเรื่องของนักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ)  คือ นักเขียนและน้ำมีความรู้สึกดี ๆ ต่อกัน เมื่ออยู่ใกล้ชิดกันทุกวัน ทั้งที่ตัวนักเขียนเองและน้ำต่างมีสามีภรรยา ดังตัวอย่าง “ ‘ทั้งหมดเป็นเพราะพี่หรือเปล่า’ นักเขียนก้มหน้า เลี่ยงหลบสายตาโดยสัญชาตญาณ คือคำถามที่ผลักตัวเขาและเธอออกจากที่หลบซ่อน มาเผชิญหน้ากันอย่างเปิดเผย ช่วงเวลาที่ผ่านมา นักเขียนหลีกเลี่ยงจะค้นหาคำตอบที่ชัดเจน ให้ทุกอย่างจมลึกอยู่ใต้ความคลุมเครือ จนเมื่อเขาเงยหน้าขึ้นสบตาเธออีกครั้งหลังจากคำถามนั้น ทุกอย่างจึงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” (นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ) : ๓๕)

          จุดสุดยอด คือ ความขัดแย้งหรือปัญหาที่ดำเนินมากอย่างต่อเนื่องนั้น ได้ทวีความเข้มข้นจนถึงขีดสุด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จะดำเนินไปไม่ยาวนัก เป็นเหตุการณ์ตอนที่นักเขียนและน้ำมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง ดังตัวอย่าง “นักเขียนรู้สึกเหมือนตัวเองถูกจัดวางไว้ผิดที่ผิดทางในสถานที่แห่งนี้ แต่ยังกอดจูบอย่างเร่าร้อน อารมณ์ปรารถนากระพือลุกโชน กระนั้นเขายังหวั่นเกรงที่จะชอนมือเข้าไปใต้เสื้อผ้า เพื่อสัมผัสเนื้อหนัง เหตุผลยังคงซ่อนตัวอยู่ใต้กระแสสำนึก จึงได้แต่เพียงลูบคลำจากภายนอก นักเขียนรู้ดีว่า นี่ไม่ใช่เหตุการณ์เกินความคาดหมาย แต่กลับรู้สึกหวาดหวั่นเมื่อมันกำลังดำเนินไป” (นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ) : ๓๖)

          การคลายปม คือ ตอนที่คลี่คลายเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาทั้งหมด ซึ่งผู้แต่งได้ผูกปมขัดแย้งไว้ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจเรื่องราวทั้งหมดก่อนปิดเรื่อง โดยการคลายปมของเรื่องสั้น นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ) ในตอนที่นักเขียนตัดความสัมพันธ์ของเขาและน้ำ รวมไปการตัดสินใจเดินออกมา เพื่อครอบครัวเขาเองและครอบครัวของน้ำ เป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุด ดังตัวอย่าง “เป็นเวลาที่นักเขียนพบว่าสายเอ็นถูกดึงออกไปจนใกล้หมดสปูน เขาต้องหมุนปรับเบรกหน้ารอกให้แน่นเรี่ยวแรงดึงมหาศาลโน้มคันลง สายเอ็นขาดผึง นักเขียนถึงกับผงะถอยหลังสองสามก้าวจากแรงดึง หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นแรงผลักจากสิ่งมีชีวิตใต้น้ำตัวนั้น มันหลุดหายไปแล้ว เขาเหลียวกลับไปมองยังที่พักลุกจ้างรถกระบะของเขาจอดอยู่ นักเขียนถอนหายใจ เก็บเบ็ดและอุปกรณ์ทุกอย่าง พรุ่งนี้เขาจะไม่มาที่นี่อีกแล้ว” (นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ) : ๕๙)

          การปิดเรื่อง ผู้เขียนใช้กลวิธีการปิดเรื่องแบบทิ้งท้ายให้ผู้อ่านขบคิด ซึ่งเป็นการจบที่ให้ผู้อ่านใช้จินตนาการคิดต่อไปว่าเรื่องจะลงเอยเช่นไร เป็นการยั่วยุที่ทำให้ผู้อ่านตั้งคำถามต่อเรื่อง เป็นการจบที่ค่อนข้างสมจริง เพราะผู้อ่านไม่สามารถคาดเดาชีวิตของตัวละครในเรื่องจะเป็นต่อไปอย่างไร ดังตัวอย่าง “เสี้ยวหนึ่งของความคิด เขานึกถึงปลาตัวนั้นที่หลุดหายไป ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นปลาอะไร เหมือนฉากเหตุการณ์ในมุ้งกับหญิงสาว ที่เหมือนจะสูญหายไป นึกเท่าไรก็นึกไม่ออก” (นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ) : ๖๐)

          จากโครงเรื่อง นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ) ที่กล่าวมาแล้วนั้น ล้วนมีความเชื่อมโยงกันก่อเกิดเป็นเนื้อเรื่องเดียวกัน ความขัดแย้งของปมต่าง ๆ ได้ถูกคลี่คลายลงในตอนจบ แม้จะเป็นการจบไม่สมบรูณ์ จบเรื่องแบบทิ้งท้ายให้ผู้อ่านขบคิด แต่นับได้ว่าเป็นเรื่องสั้นที่มีคุณค่ายิ่งต่อสังคมไทยในปัจจุบัน

          แก่นเรื่อง คือ สาระสำคัญที่ผู้แต่งมีจุดประสงค์ต้องการสื่อมายังผู้อ่าน สาระสำคัญนั้นมักจะเกี่ยวกับความเป็นจริงของชีวิต เพื่อให้ผู้อ่านเกิดการหยั่งรู้ เข้าใจ และเป็นข้อคิดเตือนใจ แก่นเรื่องของ “นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ)” ผู้เขียนแสดงทรรศนะที่มุ่งชี้ให้เห็นถึงลักษณะนิสัยพื้นฐานหลักของมนุษย์ กล่าวคือ กระแสสำนึกหรือความคิดของมนุษย์ที่ล้วนมีความซับซ้อนความจริงบางอย่างหลากไหลอยู่ใต้กระแสสำนึก โดยบางทีเจ้าตัวเองยังไม่อาจรู้ เปรียบเสมือนกับการตกปลาที่เราไม่อาจรู้ได้ว่าเบ็ดที่เราหย่อนเหยื่อลงไปใต้กระแสน้ำนั้นลงไปได้ลึกเพียงใด ก็คงไม่ต่างอะไรกับจิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง

          จะเห็นได้ว่าแก่นเรื่องของ“นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ)”มีความเป็นเอกภาพอันหนึ่งอันเดียวกัน เนื่องจากแต่ละองค์ประกอบมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงประกอบกัน ผู้เขียนแสดงแก่นเรื่องผ่านกลวิธีที่เผยออกมาจากพฤติกรรมของตัวละคร ซึ่งทำให้ผู้อ่านเข้าใจชีวิตของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง กล่าวคือ มนุษย์นั้นล้วนมีธรรมชาติส่วนลึกที่อยากควบคุมครอบครองสิ่งอื่นหรือคนอื่นเสมอ อีกทั้งมนุษย์เรานั้นยังมีกระแสสำนึกหรือความคิดที่ซับซ้อนเกินกว่าจะรับรู้ได้ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความจริงในสังคมที่เป็นสัจจะ อาจจะเกิดขึ้นกับคนรอบข้างหรือเกิดขึ้นกับตัวเราเอง เราก็คงมิอาจหยุดกระแสแห่งความคิดนั้นไว้ได้เช่นเดียวกับตัวละครในเรื่องนักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ)

บรรณานุกรม

ภาพปกหน้าหนังสือ ในโลกเล่า.ค้นเมื่อ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๓. จาก

http://www.mowojo.com/

หมายเลขบันทึก: 688183เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2021 23:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มกราคม 2021 11:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท