นวนิยายไทย


สัญชาตญาณอยู่เหนือสายสัมพันธ์

ความรักเป็นความรู้สึกที่มีใจผูกพัน เกิดขึ้นภายในจิตใจของมนุษย์ ไม่สามารถบังคับกันได้ อาจจะเป็นความรักที่มีต่อบุคคล สัตว์  สิ่งของ หรือสถานที่ เนื่องด้วยความรักสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา จึงเป็นที่มาของความรักที่ไม่สมหวัง เพราะความรักไม่สามารถกำหนดเวลาที่จะรักได้ ความรักที่มีมากกว่าสองคนย่อมทวีความรู้สึกของแต่ละคนเข้าไป ทำให้เกิดเป็นรักสามเส้า สี่เส้า หรือแล้วแต่จำนวนบุคคล นำมาซึ่งความเจ็บปวด ดังคำกล่าว “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” เป็นสัจธรรมของชีวิตที่วนเวียนกับ รัก โลภ โกรธ หลง และในบางครั้งความรักที่ไม่สมหวังก็อาจตามมาด้วยความแค้น ดังจะเห็นจากข่าวสารหรือบุคคลรอบตัวในชีวิตประจำวันที่วนเวียนอยู่กับสัจธรรมนี้ ไม่รู้จักปล่อยวาง ไม่รู้จักหักห้ามใจ เป็นเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมตามมา

  จากผลงานของนักเขียนมากด้วยความสามารถทางวรรณศิลป์ “อำไพ สังข์สุข” นักเขียนเจ้าของนามปากกา “เงาจันทร์” หนึ่งในนักเขียนหญิงที่มีผลงานคุณภาพ การันตีจากรางวัลหลายเวที เธอเป็นน้องสาวของ เสน่ห์ สังข์สุข หรือ “แดนอรัญ แสงทอง” นักเขียนซีไรต์ พ.ศ.2557 ที่มีผลงานโด่งดังในต่างประเทศ ปัจจุบันเธอยังคงทำงานเขียนอย่างต่อเนื่องและใช้ชีวิตเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนมัธยมเล็ก ๆ ริมแม่น้ำเพชรบุรีมากว่า 20 ปี

  เงาจันทร์ ได้เขียนนวนิยายเรื่อง “ในรูปเงา” ขึ้นมา ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ปี 2554 รางวัลชนะเลิศเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ปี 2555 และเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี 2555  ในปี พ.ศ. 2548 ผลงานเล่มแรก คือ งานเขียนรวมเรื่องสั้นชื่อ “หัวใจดอกไม้” ได้รับรางวัลชมเชยประเภทรวมเรื่องสั้นในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ นอกจากนวนิยายเรื่อง ในรูปเงา ท่านก็มีผลงานต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมเยาวชน เรื่องสั้น โดยเฉพาะนวนิยายนับได้ว่ามากกว่า 5 เรื่อง เช่น “ชีวิตเหมือนฝันอันอาดูร”  “ฤดูฝนอันแสนสั้น” “ด้วยเหตุแห่งเสน่หา” “รอยโศกบนกาลเวลา” “แพรจันทร์” และ “รักในรอยบาป” เป็นต้น ผลงานของเงาจันทร์จึงเป็นที่น่าสนใจและมีความโดดเด่นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการนำเสนอกลวิธีการวางโครงเรื่องที่แปลกใหม่ หักมุม สะเทือนอารมณ์ผู้อ่านได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการใช้ภาษาพรรณนาโวหารที่สละสลวยที่ยังคงความเป็นเงาจันทร์ได้เป็นอย่างดี

      นวนิยายเรื่อง ในรูปเงา โดยผู้เขียน เงาจันทร์ หนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ของความรักที่ไม่สมหวังผ่านตัวละครเอกสามตัว คือ พร้อม พลิ้ว และว่าน ซึ่งมาในรูปแบบรักสามเส้า เมื่อความรักคือสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่กลับไขว่คว้าไว้ไม่ได้ ผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมในที่สุด  ซึ่งผู้เขียนนำเสนอความรักโดยซ้อนปมของความรัก คือ ความรักของพร้อม พลิ้ว และว่าน พลิ้วรักว่านแต่ว่านรักพร้อม ส่วนพร้อมก็รักลูกชายของตน โดยนวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ปี 2554 รางวัลชนะเลิศเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ปี 2555 และเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี 2555  ที่แสดงถึงคุณภาพของงานเขียนที่ละเอียดอ่อนทั้งในด้านเนื้อหา ภาษา แนวคิด และวรรณศิลป์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของนวนิยายเล่มนี้

          ในรูปเงา เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างสองพ่อลูก “พร้อม – พลิ้ว” ที่ใช้ชีวิตตามประสาชาวบ้านนา ทุก ๆ วันพ่อกับพลิ้วจะออกไปทำนา ภาพที่ชาวบ้านเห็นอยู่เป็นประจำและตลอดมาคือภาพของสองพ่อลูกที่ติดตามกันไปทุกที่ราวกับต่างเป็นเงาของกันและกัน ทุกปีพ่อจะกลายเป็นคนขายวัวเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวในนาเสร็จ วันหนึ่งพ่อกลับมาพร้อมกับวัวตัวหนึ่งเป็นของขวัญสำหรับพลิ้ว มันมีขวัญร้ายถึงสองแห่งชื่อ “ทับแอก” ซึ่งอยู่บนบ่าเชื่อกันว่าเลี้ยงไว้จะทำให้เจ้าของได้รับความทุกข์หนักตลอดชีวิต ขวัญร้ายอีกหนึ่งแห่งของเจ้าวัวตัวนี้ชื่อ “จำกวน” เป็นขวัญอยู่ระหว่างใต้หัวเข่ากับข้อเท้า เชื่อกันว่ามันเป็นขวัญร้ายยิ่ง เพราะจะให้โทษกับผู้เลี้ยงถึงขนาดถูกจับกุมคุมขัง พ่อตั้งชื่อใหม่ให้มันว่า “เจ้าดอกรุงรัง” ชีวิตของทั้งคู่จึงเปลี่ยนไปเมื่อพ่อถูกเจ้าดอกรุงรังทำร้ายจนบาดเจ็บปางตาย และการเข้ามาของ “ว่าน” เด็กหญิงที่พ่อเคยให้ความช่วยเหลือเมื่อครั้งยังเยาว์วัย เธอกลับมาช่วยรักษาพยาบาลในฐานะเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ว่านและพลิ้วช่วยกันดูแลพ่อจนกระทั่งพ่อกลับมาหายดี พลิ้วตัดสินใจสารภาพรักกับว่านและตกลงแต่งงานกัน แต่แล้วความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็จบลง เมื่อพลิ้วรักว่านแต่ว่านรักพร้อม ส่วนพร้อมก็รักลูกชายของตน พร้อมและว่านจึงยอมเก็บความลับไว้ เมื่อพลิ้วล่วงรู้ความลับของทั้งคู่โศกนาฏกรรมจึงเกิดขึ้น เจ้าดอกรุงรังและว่านจึงพรากสายสัมพันธ์ระหว่างพร้อมและพลิ้วให้จากกันชั่วนิรันดร์กาล 

          นวนิยายเรื่อง ในรูปเงา เป็นนวนิยายรักในแนวขนบของสัจนิยม กึ่ง ๆ แนวนิยายพาฝัน ที่ผูกเรื่องจากปมความรักและความแค้นอันเป็นกิเลสสำคัญที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตมนุษย์จากหน้ามือเป็นหลังมือ ผู้เขียนวางโครงเรื่องไว้อย่างกระชับ รัดกุม มีการวางลำดับเนื้อเรื่องแบ่งเป็นเนื้อหาในแต่ละบท ซึ่งการเปิดเรื่องใช้ชื่อบทว่า “พ่อและลูกชาย” การเปิดเรื่องที่เริ่มต้นจาก”พลิ้วรู้มาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าพ่อจะไม่พูดอะไรกับเขาให้ยาวความ จะมีก็แต่คำที่ได้ยินบ่อยที่สุด คือ ใช่กับไม่ (หน้า ๗ ) ” เป็นการเปิดเรื่องที่ชวนให้เนื้อหาน่าติดตามตอนต่อไปและกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความอยากรู้ว่าพ่อของพลิ้วมีลักษณะเช่นนี้เพราะเหตุใด การดำเนินเรื่องเป็นการดำเนินไปตามลำดับเหตุการณ์ ไม่ซับซ้อน กลวิธีลักษณะนี้จะทำให้เห็นพฤติกรรมของตัวละครที่สมจริง ทำให้ผู้อ่านไม่สับสนกับการดำเนินเรื่องราว รวมไปถึงการติดตามเนื้อหาอย่างต่อเนื่องและสมเหตุสมผล บทสนทนาของตัวละครส่วนใหญ่เป็นภาษาพูด แต่เนื่องจากจุดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่การใช้ภาษาในการบรรยายและการพรรณนา ทำให้มีบทสนทนาน้อย แต่บทสนทนาในแต่ละครั้งสามารถสื่อถึงอารมณ์ของตัวละครในขณะนั้นได้อย่างชัดเจน การปิดเรื่องผู้เขียนได้ปิดเรื่องแบบโศกนาฏกรรม ตัวละครพบกับความผิดหวังและความตาย ซึ่งเป็นการจบที่สะเทือนใจผู้อ่านได้เป็นอย่างยิ่ง เพราะท้ายที่สุดแล้วการชำระแค้นตามสัญชาตญาณของสัตว์ที่ถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสกับการคุมแค้นของมนุษย์ จนสามารถปล่อยให้ความตายเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาโดยไม่แยแส กลมกลืนรวมเป็นเนื้อเดียวกันจนไม่มีอะไรแตกต่าง ไม่ว่าคนหรือสัตว์ล้วนมีความดิบเถื่อนของสัญชาตญาณมืดเช่นกัน

          กลวิธีการใช้ภาษาของนวนิยายเรื่องในรูปเงา มีความเด่นชัดในเรื่องของการใช้ภาษา ผู้เขียนมีความประณีตในการเลือกใช้ถ้อยคำที่ไพเราะเพราะพริ้ง มีการเล่นคำ เล่นอักษร ใช้ประโยคที่สละสลวยและการนำเสนอภาษาที่หลากหลาย เพื่อทำให้ผู้อ่านรู้สึกเกิดภาพพจน์ชัดเจนและเข้าถึงอารมณ์ของผู้เขียนได้อย่างลึกซึ้ง มีการสอดแทรกบทเพลงเพื่อความสมจริงของเนื้อหา

“นางเอ๋ยนางเจ้าฟังหรือเปล่า…

หากฟังแล้วโปรดเอ็นดู

พี่ยังรักอยู่ไม่หาย..ไม่หน่ายอาวรณ์

รักของพี่ยังเหมือนก่อน…”

                                                 เงาจันทร์ (93)

          อีกทั้งเนื้อเรื่องที่สะท้อนจิตใจภายใน เล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่าน เนื้อหาและภาษามีความเป็นปัจจุบัน มีสำนวนภาษาที่แยบคายเป็นเสน่ห์ของเรื่อง เมื่อพิจารณาแล้วพบว่าผู้เขียนได้มีการใช้การบรรยายและการพรรณนามากที่สุด ดังตัวอย่าง “หมู่เมฆยามสนธยาในฤดูฝนนั้นแปรสีสันไปไม่สิ้นสุด ผืนฟ้าที่อยู่ไกลโพ้นเป็นสีครามใสเย็นตา กลุ่มเมฆกระจัดกระจายเป็นสีชมพูฟูฟ่อง แทรกแซมอยู่กับสีส้ม แต่ตรงใกล้ดวงตะวันที่เพิ่งลับหายนั่นสิ ท้องฟ้าเรืองอร่ามเป็นสีทองสุกปลั่งรังรอง (หน้า 9) ” จะเห็นได้ว่าผู้เขียนเลือกใช้คำที่สละสลวยเพื่อทำให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพตามความรู้สึกของผู้เขียน โดยผู้เขียนนำเสนอการพรรณนาได้อย่างละเอียด ชัดเจน ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงภูมิความรู้ของผู้เขียนได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการถ่ายทอดอารมณ์ผู้เขียนถึงผู้อ่านอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นกลวิธีช่วยทำให้เนื้อเรื่องเด่นชัดขึ้น ดังนั้นนวนิยาย “ในรูปเงา” จึงเป็นนวนิยายที่สามารถตรึงผู้อ่านไว้กับตัวหนังสือตั้งแต่หน้าแรกไปจนถึงหน้าสุดท้าย

          เรื่องนี้มีฉากที่สะเทือนอารมณ์ของผู้อ่านแทบจะทุก ๆ ฉาก “เงาจันทร์” ใช้วิธีการสร้างฉากและบรรยากาศที่สมจริงและสมเหตุสมผลเชื่อมโยมไปยังเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงภูมิความรู้และประสบการณ์ของผู้เขียน กล่าวคือ การบรรยายและการพรรณนาฉากธรรมชาติท้องทุ่งนาที่มาจากเมืองเพชรบุรีบ้านเกิดของผู้เขียนและวิถีการเป็นอยู่ของผู้คนในชนบท และบรรยากาศในนวนิยายช่วยเสริมให้เรื่องราวดูสมจริงมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการสร้างอารมณ์ให้ผู้อ่านคล้อยตามอย่างเหมาะสมตามเนื้อเรื่องและมีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง ให้ความรู้สึกหดหู่ตลอดทั้งเรื่อง เนื่องจากการใช้ชีวิตของตัวละครล้วนมีอุปสรรคเข้ามาขัดขวาง จวบจนถึงฉากตอนสุดท้ายของเรื่องก็ยังไม่สมหวังและยังคงเป็นฉากที่สะเทือนอารมณ์ผู้อ่าน อีกทั้งยังถือเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง “ในรูปเงา” เพราะเป็นฉากที่สะท้อนให้ผู้อ่านเห็นว่ามนุษย์ในเรื่องก็มีสัญชาตญาณแทบไม่ต่างจากสัตว์หากขาดสติและการยับยั้งชั่งใจของตน

          นวนิยายเรื่อง ในรูปเงา มีตัวละครเอกสามตัว คือ ตัวละคร “พร้อม” เป็นตัวละครที่มีหลายลักษณะ มีลักษณะนิสัยหลายประการ มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดีปะปนกัน เหมือนกับคนในชีวิตจริงที่มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้จากพร้อมเป็นคนที่ชอบช่วยเหลือชาวบ้าน แต่ด้วยความที่พร้อมมีเรื่องคับแค้นในใจต่ออดีตและคำพูดของเพื่อนพร้อมในวัยหนุ่ม ซึ่งย้ำว่าพลิ้วหน้าตาไม่เหมือนพ่อสักนิด พร้อมจึงเฆี่ยนตีเจ้าดอกรุงรังอย่างรุนแรงเพื่อระบายความเจ็บแค้นในใจ ตัวละคร “พลิ้ว” เป็นตัวละครที่มีหลายลักษณะ มีความแปรปรวนทางอารมณ์  จะเห็นได้จากพลิ้วเป็นลูกกตัญญูเลี้ยงดูพ่อในยามเจ็บไข้อยู่เป็นประจำ พลิ้วมักจะสงสารพ่อเสมอเมื่อถูกชาวบ้านนินทาว่าร้าย แต่เมื่อเขารู้ว่าพ่อมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับหญิงสาวที่ตนหลงรัก  พลิ้วจึงปล่อยให้พ่อถูกวัวขวิดจนถึงแก่ชีวิตต่อหน้าต่อตา ตัวละครเอก (พลิ้ว) ได้แสดงบทบาทที่สำคัญ คือ เป็นผู้ดำเนินเรื่องราวให้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยผู้เขียนถ่ายทอดเนื้อเรื่องผ่านตัวละครพลิ้วและความรู้สึกนึกคิดของตัวละครอื่นส่งไปยังผู้ได้อย่างชัดเจน  ส่วนตัวละคร “ว่าน” เป็นตัวละครหลายลักษณะเช่นเดียวกับพร้อมและพลิ้ว จะเห็นได้จากว่านอาสาที่จะดูแลพร้อมจนกลับมามีอาการปกติและตกลงปลงใจแต่งงานกับพลิ้ว แต่ท้ายที่สุดแล้วเธอกลับแต่งงานกับพลิ้วเพราะอยากอยู่ใกล้พร้อม ซึ่งเธอเป็นตัวต้นเหตุที่ทำให้พร้อมและพลิ้วจากกันตลอดกาล อีกทั้งตัวละครว่านยังสะท้อนให้เห็นถึงผู้หญิงที่มีมารยาร้อยเล่มเกวียน ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะของผู้หญิงทั่วไป ดังนั้นตัวละครทุกตัวจึงมีความสมจริงและมีชีวิตชีวา มีการจัดวางบุคลิกลักษณะและอุปนิสัยของตัวละครได้อย่างเหมาะสมกับเพศ รวมไปถึงการพัฒนาบุคลิกตั้งแต่ตอนยังเป็นเด็กไปจนถึงวัยปัจจุบัน ซึ่งมีใกล้เคียงกับมนุษย์ในโลกของความเป็นจริงอย่างมาก        

          แนวคิดเรื่อง “ในรูปเงา” คือ มนุษย์เราถือตนว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญาในการใคร่ครวญหาเหตุผล  มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีและปัญญาในการตัดสินใจว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนี้ชั่ว แต่ทว่ามนุษย์นั้นขาดสติยับยั้งก็จะแสดงออกถึงสัญชาตญาณที่ไม่ต่างอะไรกับสัญชาตญาณสัตว์ มีความรัก ความแค้น ความโกรธ และความโหดร้าย เพียงแค่วาบเดียวของโทสจริตที่แสดงออกตามสัญชาตญาณของมนุษย์ก็สามารถทำลายความรักและบุคคลที่เรารักได้ หากมนุษย์เรายังคงมีสติและรู้จักยับชั่งใจ ไม่ว่าสิ่งใดก็ไม่อาจสามารถพรากทุกอย่างไปจากเราได้ อีกทั้งผู้เขียนยังสะท้อนให้เห็นธรรมชาติอันอ่อนแอของมนุษย์ เพราะธรรมชาติให้กิเลสมนุษย์มาเพื่อดำเนินชีวิตสืบเผ่าพันธุ์ให้ดำรงอยู่ สัจธรรมของชีวิตที่วนเวียนกับ รัก โลภ โกรธ หลง ที่มิอาจมีใครหลีกเลี่ยงได้

           จากการพิจารณานวนิยายในรูปเงานั้น มีความสัมพันธ์เป็นเอกภาพ มีความสอดคล้องกับโครงเรื่องตลอดทั้งเรื่อง ตัวละครแต่ละตัวของนวนิยายในรูปเงาเป็นลักษณะเฉพาะของตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นตัวละครที่มีหลายลักษณะ กล่าวคือ เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของเรื่อง ซึ่งตัวละครทุกตัวมีส่วนทำให้เรื่องสามารถดำเนินต่อไป กลวิธีการใช้ภาษานวนิยายเรื่องในรูปเงามีความเด่นชัดในเรื่องของการใช้ภาษา มีการใช้คำ ใช้ประโยคที่สละสลวย มีการนำเสนอภาษาที่หลากหลาย เนื้อหาและภาษามีความเป็นปัจจุบัน มีสำนวนภาษาที่แยบคายเป็นเสน่ห์ของเรื่อง ส่วนฉากและบรรยากาศของเรื่องมีความสมจริงและสัมพันธ์กันตลอดทั้งเรื่องให้ความรู้สึกหดหู่ตลอดเรื่อง รวมทั้งแนวคิดสำคัญของเรื่องที่มุ่งสะท้อนให้เห็นถึงสัญชาตญาณของมนุษย์ไม่ต่างอะไรกับสัตว์ หากขายสติและการยับยั้งใจตัวเอง

          สำหรับนวนิยายในรูปเงามีความโดดเด่น คือ การนำความเชื่อของลักษณะของวัวมาผูกเป็นโครงเรื่อง ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงภูมิความรู้ของนักเขียนที่รู้จักวิธีสังเกตขวัญวัวได้อย่างละเอียด ดังตัวอย่าง "เจ้าของไม่ต้องการมัน เพราะมันมีขวัญร้ายถึง 2 แห่ง ขวัญแรกชื่อ  “ทับแอก”  ซึ่งอยู่บนบ่า เชื่อกันว่าเลี้ยงไว้จะทำให้เจ้าของได้รับความทุกข์หนักตลอดชีวิต ขวัญร้ายอีกหนึ่งแห่งของเจ้าวัวตัวนี้ชื่อ  “จำกวน”   เป็นขวัญอยู่ระหว่างใต้หัวเข่ากับข้อเท้า เชื่อกันว่ามันเป็นขวัญร้ายยิ่ง เพราะจะให้โทษกับผู้เลี้ยงถึงขนาดถูกจับกุมคุมขัง (หน้า 23) "  จะเห็นได้ว่าผู้เขียนแสดงภูมิความรู้ตำแหน่งขวัญร้ายของวัวตามความเชื่อที่สืบต่อกันมา รวมไปถึงการนำประเพณีวิ่งวัวลานและกีฬาพื้นบ้านประจำจังหวัดที่จัดขึ้นหลังฤดูเก็บเกี่ยว มาเพิ่มบทบาทให้เจ้าดอกรุงรังได้อย่างแนบเนียน ช่วยให้เรื่องราวมีความหลากหลาย ไม่น่าเบื่อ ซึ่งผู้เขียนนำเสนอกลวิธีการแต่งได้อย่างโดนเด่นและยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของชาวเมืองเพชรไว้อย่างเด่นชัด

          สำหรับข้อบกพร่องในรูปเงา ผู้อ่านมองว่าผู้เขียนใช้ภาษาบรรยายและพรรณนาในการดำเนินเรื่องราวมากเกินไป ซึ่งทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย อีกทั้งยังเป็นการบรรยายและการพรรณนาธรรมชาติท้องทุ่งนาในชนบทที่เป็นภาษาท้องถิ่น หากผู้อ่านไม่ใช่คนในชนทบอาจจะต้องทำความเข้าใจกับวิถีชีวิตของคนในชนบทควบคู่ไปด้วย รวมไปถึงการมีบทสนทนาของตัวละครที่น้อยจนเกินไป  ซึ่งทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสนกับความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร เพราะผู้อ่านส่วนใหญ่มักจะรับรู้ความรู้สึกของตัวละครผ่านบทสนทนา ส่วนข้อบกพร่องของตัวละครยังคงมีความขัดแย้ง คือ ตัวละครพร้อมที่มีอาชีพเลี้ยงวัวและขายวัว โดยทั่วไปแล้วผู้ขายวัวมักจะต้องระมัดระวังในการเลือกซื้อวัวและต้องรู้จักลักษณะของวัวที่ดีหรือไม่ดี แต่ทว่าพร้อมกลับไปซื้อวัวที่มีขวัญร้ายถึงสองแห่งมาและมอบวัวให้เป็นของขวัญแก่ลูกชายที่ตนรัก แต่โดยรวมแล้วการบรรยายกาพรรณนาและความขัดแย้งของตัวละครก็ยังคงสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่ดำเนินมาทั้งเรื่องให้กลมกลืนข้อบกพร่องอย่างลงตัวเช่นกัน

          “ในรูปเงา” เป็นนวนิยายที่มีคุณค่าชวนในการอ่านอย่างยิ่ง เนื่องจากความรักเป็นเรื่องใกล้ตัว ผู้อ่านจะได้รับความตื่นเต้นระทึกใจแทบจะทุก ๆ ฉาก ซึ่งล้วนเป็นภาพสะท้อนพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์อย่างแนบเนียน ผู้เขียนได้แฝงแนวคิดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตอย่างมีสติ หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสมแก่ผู้อ่านทุกคน อีกทั้งผู้อ่านยังได้พิจารณาการใช้ภาษา รวมไปถึงขนาดรูปเล่มไม่หนาและไม่บางจนเกินไป หลาย ๆ คนคงเคยได้สัมผัสนวนิยายรักมามากมาย ส่วนใหญ่นั้นมักจะเป็นเรื่องราวที่พาฝันและจบแบบสุขนาฏกรรม แต่สำหรับนวนิยายรักในรูปเงานั้นกลับต่างจากนวนิยายรักเรื่องอื่น เพราะความรักในเรื่องของตัวละครที่ต้องพบเจอกับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมในตอนจบที่บดขยี้และฉีกขาดหัวใจผู้อ่านได้อย่างสะเทือนอารมณ์และยังคงตราตรึงใจผู้อ่านไม่รู้ลืม

บรรณานุกรม

ภาพปกหน้าในรูปเงา.ค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2563. จาก https://readery.co/97861681320...

หมายเลขบันทึก: 688178เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2021 23:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มกราคม 2021 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท