ในการทำงานยุคใหม่ หมดยุคของข้ามาคนเดียวหรือเก่งคนเดียวแล้ว นั่นคือWE สำคัญกว่า ME ในโรงพยาบาลชุมชนจะมีความจำกัดของบุคลากรอยู่มาก เราต้องทำอย่างไรให้ทีมงานของโรงพยาบาลที่มีอยู่ทำงานอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากที่สุด ในสภาพความเป็นข้าราชการที่มีแนวคิดอยู่กับการยื่นบริการที่ประชาชนต้องมาขอ ต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ที่เป็นสิทธิของประชาชนโดยเราอาสามาจัดให้เขา จึงต้องจัดให้ตรงใจประชาชนมากที่สุด แต่ต้องภายใต้ความจำกัดของทรัพยากร
เมื่อปี 2540 ที่ผมก้าวเข้ามาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาก จากประสบการณ์เดิมที่เคยเป็นผู้อำนวยการที่แรกที่แม่พริกมาแล้ว และพบว่าช่วงที่มาเป็นใหม่นั้นจะใกล้กับการพิจารณาความดีความชอบ(มาเดือนเมษายน-พฤษภาคม ประเมินเดือนสิงหา-กันยายน) จะพบว่าคนที่ช่างพูด พูดเก่งจะพยายามเสนอหน้าเข้ามาเพื่อให้เราเห็นว่าเขาขยันนะ เขาเก่งเพราะคิดว่า เราเพิ่งมาใหม่ คงจะมองอะไรไม่ออก ผมจึงใช้วิธีให้คณะกรรมการบริหารร่วมกันพิจารณาเพราะถ้าผมพิจารณาคนเดียวคงจะลำเอียงเข้าข้างบางคนได้ง่าย การพิจารราโดยมีเกณฑ์การให้คะแนนละเอียดยิบแล้วนำคะแนนนั้นมารวมกัน การพิจารณาช่วงแรกจึงเครียดมาก ต้องพกเครื่องคิดเลขเข้าห้องประชุมพอทำมาสองสามปี เชื่อมั่นในตัวกรรมการบริหารมากขึ้นก็ใช้เกณฑ์กว้างๆแทนให้แต่ละคนมีฐานคิดที่เหมือนกัน กติกาเหมือนกันแต่มองในภาพรวมออกมาเลยว่าใครควรจะมีความดีความชอบที่โดดเด่นโดยใช้ระบบความเห็นร่วมแล้วพิจารณาถ่วงน้ำหนัก
จากแรกเริ่มที่กรรมการบริหารไม่ค่อยคุ้นเคยกับการรับผิดชอบและตัดสินใจเรื่องเหล่านี้ก็ต้องเข้ามาตัดสินใจ ต้องมองในภาพรวม ไม่มองเฉพาะฝ่ายของตนเอง ลูกน้องของตนเอง ให้กรรมการบริหารได้ร่วมในการวางแผนประจำปี แผนงบประมาณต่างๆ จากการที่ร่วมทำงานกันมาจนถึง ณ วันนี้ บอกได้เลยว่ากรรมการบริหารของบ้านตากมีคุณภาพพอ แม้จะไม่เก่งโดดเด่นสุดยอดก็ตาม บรรยากาศของการพิจารณาความดีความชอบที่ร่วมกันพิจารณา มองความดีมากกว่าความไม่ดี(เพราะพิจารณาความดีความชอบ) หลายครั้งที่หลายฝ่ายเสนอลูกน้องตัวเองเพราะผลงานยังไม่เด่นเท่าฝ่ายอื่น หลายครั้งที่หลายฝ่ายยอมไม่ซื้อเครื่องมือหรือสร้างสิ่งก่อสร้างเนื่องจากมีเงินจำกัดและมองเห็นว่าฝ่ายอื่นมีความสำคัญมากกว่า หากทำแล้วโรงพยาบาลได้ประโยชน์มากกว่า ทำให้กรรมการบริหารทุกคนมีการมองเป้าหมายร่วม นึกถึงส่วนรวมมากกว่าฝ่ายหรือตนเอง
คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลบ้านตากมี องค์ประกอบดังนี้
- ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ประธานกรรมการ
- หัวหน้างานเวชกรรมทั่วไปหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย รองประธานกรรมการ
- หัวหน้ากลุ่มงานทุกกลุ่มงาน กรรมการ
- หัวหน้างานเภสัชกรรม กรรมการ
- หัวหน้างานทันตกรรม กรรมการ
- หัวหน้างานวิชาการ กรรมการ
- หัวหน้างานประกันสุขภาพ กรรมการ
- ผู้แทนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอื่นๆที่ได้รับมอบหมาย กรรมการ
- หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป กรรมการและเลขานุการ
- หัวหน้างานสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
โดยให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตากเป็นผู้เสนอรายชื่อผู้ที่เหมาะสมเป็นกรรมการ ดังกล่าวต่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เพื่อดำเนินการแต่งตั้งต่อไป
สำหรับกรรมการในข้อ 4 นั้น อาจได้มาจากการคัดเลือกตัวแทนจากข้าราชการหรือลูกจ้างตามจำนวนที่เหมาะสม และมีกำหนดวาระของคณะกรรมการเป็นระยะเวลา 2 ปี
หน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลบ้านตาก ให้คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลมีหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหารจัดการงานของโรงพยาบาลและเป็นคณะที่ปรึกษาสนับสนุนผู้อำนวยการโรงพยาบาลในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
- กำหนดทิศทางและเป้าหมายในการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนโดยทุกคนมีส่วนร่วม
- พิจารณาจัดทำแผน จัดสรรทรัพยากร ควบคุม กำกับ วิเคราะห์ประเมินผลการปฏิบัติงานของโรงพยาบาล
- พิจารณาจัดแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ มอบหมายงาน ประสานงาน เสริมสร้างขวัญและกำลังใจ พิจารณาเสนอหลักเกณฑ์การพิจารณาความดีความชอบ และพิจารณาให้คุณให้โทษแก่เจ้าหน้าที่
- พิจารณาเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวปฏิบัติ กฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่ใช้ในโรงพยาบาลตามความเหมาะสม ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดต่อระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือสั่งการต่างๆ ของราชการ
- พิจารณาหาทางพัฒนา รวมทั้งพิจารณาคัดเลือกคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานเพื่อปฏิบัติงานเฉพาะกิจของโรงพยาบาล
- ร่วมพิจารณาหาทางแก้ไขต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงพยาบาล
- หน้าที่อื่น ๆ ตามที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปรึกษา หรือมอบหมาย
คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลนี้ จะต้องมีการประชุมปรึกษาข้อราชการอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และจัดให้มีการบันทึกการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร
คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล มีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางและพัฒนาโรงพยาบาลบ้านตากมาก ทุกคนทำงานอย่างทุ่มเท ทำงานมากกว่างานประจำ เหนื่อยกายเหนื่อยใจมากกว่าปกติ แถมยังต้องถูกต่อว่าจากเจ้าหน้าที่บางส่วนที่ไม่ได้ตามที่ต้องการ กรรมการบริหารจึงต้องมีความอดทนสูง มีวุฒิภาวะ มีความเป็นผู้ใหญ่ มีความมุ่งมั่นและหมั่นเรียนรู้ ในเรื่องการบริหารจัดการซึ่งผมได้นำความรู้ใหม่ๆทางการบริหารจัดการมาแจ้งให้ในวาระแจ้งให้ทราบของการประชุมกรรมการบริหารทุกเดือน ทำให้เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ต้องไปหาอ่านเอง จึงทำให้ทีมตามกันทันง่ายขึ้น
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Dr. Phichet Banyati ใน PracticalKM
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก