วิเคราะห์สารคดีท่องเที่ยวมิตรภาพต่างสายพันธุ์


สารคดีเรื่องมิตรภาพต่างสายพันธุ์ ของม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ประกอบด้วยเนื้อหาหลักคือประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้จากการลงพื้นที่ได้เรียนรู้และเข้าใจในการใช้ชีวิตอยู่ในป่าร่วมกับสัตว์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับคนในพื้นที่ เนื้อหารองคือ เรื่องราวที่เกี่ยวกับสัตว์ ทั้งรูปร่างลักษณะนิสัย รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์กับสัตว์ มนุษย์กับสัตว์ และมนุษย์กับมนุษย์ ในเนื้อหานอกจากจะมีเนื้อหาหลักและเนื้อหารองยังมีส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงและส่วนที่เป็นความคิดเห็น เมื่อพิจารณาแล้วอาจอาจแยกแยะข้อเท็จจริงและความคิดเห็นออกจากกันได้ดังนี้
       ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเรื่องมิตรภาพต่างสายพันธุ์คือ สถาบันสมิธโซเนียนคือ ศูนย์กลางแห่งเรื่องราวธรรมชาติและวัฒนธรรม อนุสัญญาแรมซาร์ เป็นอนุสัญญาเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำ กุหลาบพันปีเป็นดอกไม้ประจำชาติของเนปาล  สถานที่ที่เดินทางไปถ่ายภาพ เช่น ห้วยขาแข้ง ป่าในเทือกเขาบูโด ควนขี้เสี้ยนในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยที่ได้รับการประกาศให้เป็นเขตแรมซาร์ไซต์แห่งแรกของประเทศ ดอยอินทนนท์คือ ยอดดอยสูงสุดของประเทศ ภูเชียงทองเป็นยอดเขาในอุทยานแห่งชาติของแขวางสาละวัน เมืองคงเซโดน ลักษณะรูปร่างและนิสัยของสัตว์ เช่น นกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่ไม่มีขนรักคลุมบริเวณด้านใต้ของปีกรักความสะอาดมาก เศษอาหารหรือมูลของตัวเองจะถูกคาบออกมาทิ้ง ขี้ของลูกที่ติดอยู่ปากโพรง หลังจากป้อนอาหารเสร็จ พ่อแม่จะคาบออกไปทิ้งไกล ๆ เสือคือนักล่าหมายเลขหนึ่ง ทำงานเพียงลำพังอย่างโดดเดี่ยว รูปร่างลักษณะของเสือถูกออกแบบมาให้มีความเหมาะสมกับการเป็นนักล่า ลายของเสือในแต่ละตัวแตกต่างกัน เสือไม่ใช่สัตว์สังคมจะอาศัยอยู่เป็นคู่เฉพาะฤดูผสมพันธุ์ เสือโคร่งเป็นนักล่าขี้ร้อน ชอบเที่ยวเตร็ดเตร่อยู่ใกล้ ๆ แหล่งน้ำหรือที่ที่มีร่มเงาให้หลบแสง วิธีประกาศอาณาเขตของเสือคือรอยตะปบเป็นรอยเล็บลึก ๆ ไว้ตามต้นไม้ ลูก ๆ ของเสือจะอยู่กับแม่แค่สองปี โดยลูกตัวเมียจะอยู่กับแม่นานกว่า คำในภาษายาวี เช่น คำว่า ซือดะ แปลว่า อร่อย         ข้อเท็จจริงในสารคดีเรื่องนี้นับว่ามีความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก เพราะผู้เขียนทำงานเป็นช่างภาพสัตว์ป่าควบคู่กับงานเขียน ทำให้มีความรู้และประสบการณ์อย่างมากมายในการใช้ชีวิตอยู่ในป่าร่วมกับสัตว์ ในสารคดีเรื่องนี้ได้ระบุแหล่งข้อมูลอย่างชัดเจนและสามารถสืบค้นได้เพราะเป็นสากล เช่น เรื่องอนุสัญญาแรมซาร์ สถาบันสมิธโซเนียน สถานที่ที่ผู้เขียนได้ไปถ่ายภาพก็มีอยู่จริง  รวมทั้งได้กล่าวถึงลักษณะรูปร่างและนิสัยของสัตว์ได้อย่างถูกต้องชัดเจนเพราะเป็นสิ่งที่สามารถสังเกตได้ การที่ผู้เขียนได้ลงพื้นที่จริงบางพื้นที่ก็ไปอยู่หลายเดือนทำให้มีการติดต่อกับคนในพื้นที่ย่อมทำให้ผู้เขียนได้รับอิทธิพลภาษาถิ่น
       ความคิดเห็นที่ปรากฏในเรื่องมิตรภาพต่างสายพันธุ์คือ ความคิดเห็นที่ว่า “การพร่ำพูดของคนกลุ่มหนึ่งว่าจะต้องช่วยกันปกป้องคุ้มครองเสือนั้นไม่มีประโยชน์อันใด ถ้าคนส่วนใหญ่ยังคิดว่าในป่ามีสัตว์ดุร้าย มีเสือกินคน” ความคิดเห็นนี้น่าเชื่อถือ เพราะคนส่วนยังเห็นว่าเสือนั้นดุร้าย และอันตรายไม่สมควรแก่การถูกปกป้อง ดังนั้นการคุ้มครองเสือจึงเป็นไปได้ยาก “อยู่ในป่าหรือที่ใดในโลกก็ตามการได้ยินเสียงต่าง ๆ ไม่ว่าจะระรื่นหูหรือน่าตื่นตระหนก นับว่าเป็นเรื่องที่ดี” ความคิดเห็นนี้น่าเชื่อถือ เพราะแสดงให้เห็นว่าในป่านั้นยังมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งที่ให้สัตว์ป่าได้อยู่อาศัย “ทุกวันนี้ไม่มีที่ใดเหมาะสมสำหรับเสืออีกต่อไปไมว่าจะเป็นป่า ในกรง หรือแม้แต่ในวัด” ความคิดเห็นนี้น่าเชื่อถือ เพราะ คนส่วนใหญ่คิดว่าไม่ว่าเสือจะอยู่ที่ไหนก็ไม่ควรจะมีชีวิตอยู่เพราะมันเป็นสัตว์ดุร้าย ถ้าไม่ฆ่ามันก็มันอาจฆ่าเรา

กลวิธีนำเสนอเนื้อหา

ผู้เขียนมีการนำเสนอเนื้อหาออกเป็นตอน ๆ แต่ละตอนจะมีภาพประกอบ เพื่อให้ผู้อ่านเดาได้ว่าเนื้อหาในบทนั้นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ชื่อตอนแต่ละตอนสอดคล้องกับชื่อเรื่อง เนื้อหาในแต่ละตอนจะไม่ต่อเนื่องกันแต่ก็สามารถอ่านได้อย่างเข้าใจ แต่ละตอนเป็นย่อหน้าสั้น ๆ อ่านง่าย  
ผู้เขียนเริ่มเปิดเรื่องโดยการเขียนคำนำที่กล่าวถึงการถูกช้างป่าเข้าโจมตีในเบื้องแรกเพื่อจะเล่าถึงเรื่องราวแห่งมิตรภาพ กองไฟเป็นบทแรกที่มีเนื้อหาทำให้ผู้อ่านเริ่มรู้จักการใช้ชีวิตในป่า ค่อย ๆ ให้ผู้อ่านรู้จักผู้เขียนไปทีละน้อย ในตอนต่อ ๆ ไปจะนำเสนอประสบการณ์ที่พบเจอตอนอยู่ป่า การดำรงชีวิตของสัตว์ และเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ สัตว์กับสัตว์ มนุษย์กับมนุษย์ อันเป็นที่มาของชื่อเรื่อง มิตรภาพต่างสายพันธุ์ เมื่ออ่านจนจบครบทุกตอนจะเห็นได้ว่าผู้แต่งได้ทิ้งคำถามและข้อคิดเห็นผ่านน้ำเสียงแบบต่าง ๆ ให้ผู้อ่านได้คิดตามและยังทำให้ผู้อ่านรู้จักผู้เขียนอย่างแท้จริงเป็นการปิดเรื่อง ผู้เขียนใช้พรรณนาโวหารในการเปิดเรื่อง “สายลมร้อนอบอ้าวของยามบ่ายพัดผ่านบริเวณดงไผ่ริมลำห้วยอย่างต่อเนื่อง” (น.14) เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพและเข้าถึงความรู้สึกนั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในการดำเนินตลอดทั้งเรื่องส่วนใหญ่แล้วใช้บรรยายโวหาร การใช้อธิบายโวหารในการให้ความหมายของคำศัพท์ภาษายาวี เช่น ซือดะ แปลว่าอร่อย การใช้สาธกโวหารในการยกตัวอย่างประกอบ เช่น ในตอนชะตากรรมของนักล่า ผู้เขียนได้ยกความคิดเห็นของ จิม คอร์แบต มาประกอบ (น.64) การใช้เทศนาในการสั่งสอน เช่น ตอนจับลูกนกเงือกไปขายถือเป็นการพรากลูกไปจากพ่อแม่ถ้าเปรียบลูกนกเงือกเป็นลูกแบมุ แบมุจะรู้สึกอย่างไร นอกจากนี้ผู้เขียนยังมีการใช้ภาพพจน์บุคคลวัตการทำให้สิ่งไม่มีชีวิตให้มีกริยา อารมณ์ความรู้สึกเหมือนมนุษย์ เช่น “เปลวไฟร่ายรำ” (น.23) การใช้สัทพจน์เป็นการเสียงธรรมชาติ เช่น “ฟืนไหม้ส่งเสียงฟู่ ๆ” (น.27) อีกทั้งยังมีอุปมาเป็นการเปรียบเทียบของสองสิ่ง เช่น “สภาพป่าที่ถูกเมืองล้อมรอบนั้นเปรียบเสมือนเกาะกลางมหาสมุทร” (น.197) มีการใช้คำถามเชิงวาทศิลป์ให้ผู้อ่านได้คิดต่อ

ทรรศนะหรือความคิดเห็นของผู้เขียน

ผู้เขียนได้แสดงทรรศนะผ่านน้ำเสียงให้ผู้อ่านได้รู้และเข้าใจ ในฐานะที่ผู้เขียนได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในป่า ผู้เขียน มีการใช้น้ำเสียงการเสียดสีและน้อยใจกับระบบราชการ ทั้งเรื่องการจัดสรรในด้านของงบประมาณที่ไม่มีความเท่าเทียมและไม่ค่อยให้ความสำคัญกับทรัพยากรสัตว์ป่าที่นับวันยิ่งลดน้อยลง ไม่มีอาวุธ อุปกรณ์สื่อสาร เสบียง พาหนะอันเหมาะสมให้แก่ผู้พิทักษ์ป่า แต่กลับให้ความสำคัญกับพวกรถถังและเครื่องบิน ใช้น้ำเสียงสะเทือนใจและหดหู่กับสัตว์ที่ถูกมนุษย์ฆ่าตาย เช่น ผู้ชาย 7-8 คนร้องไห้อยู่ข้างซากสัตว์ป่าที่ถูกยิง ก็ไม่มีใครได้ยินเพราะป่านั้นกว้างเกินกว่าใครจะได้ยิน ใช้น้ำเสียงตื่นเต้นเมื่อเจอสัตว์ป่า เป็นต้น ผู้เขียนมีทรรศนะที่ดีต่อสัตว์ป่า เข้าใจว่าสัตว์ทุกชนิดก็มีความอ่อนโยน มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกับมนุษย์ นอกจากนี้ผู้เขียนยังมีทรรศนะที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ถึงแม้ว่าจะอยู่กันคนละภูมิภาค มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่ผู้เขียนก็เรียนรู้วัฒนธรรมของคนในพื้นที่นั้น ๆ และผู้เขียนยังเข้าใจถึงความหมายของชีวิตมนุษย์ที่แท้จริงว่าคืออะไร

แนวคิดที่ได้จากเรื่อง

จากที่ได้อ่านมิตรภาพต่างสายพันธุ์ ทำให้ได้รู้ว่ามนุษย์และสัตว์สามารถอยู่ร่วมกันได้ ถ้าลองเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ มองมุมใหม่ ๆ จนเกิดเป็นมิตรภาพ เมื่ออยู่ในป่าเราต้องรู้จักปรับตัวเข้าหาธรรมชาติแล้วชีวิตจะมีความสุข เราต้องเข้าใจว่าเราเป็นแค่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ใช่ธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของเรา การเดินทางมักมีอุปสรรค การคิดนอกกรอบมักทำให้เราเจอเรื่องใหม่ ๆ อย่าตัดสินใจว่าสิ่งนั้นดีไม่ดีเพียงแค่เห็นรูปลักษณ์ภายนอก แม้จะมีวัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่างกันแต่เราสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ ทุกสิ่งที่ดำเดินอยู่ในธรรมชาติล้วนมีเหตุผลเพียงแค่เราไม่เข้าใจ ปัจจุบันป่าไม้และสัตว์ป่ามีจำนวนลดลง ทำให้ระบบนิเวศน์เสียสมดุล  เราควรตระหนักให้มาก เพราะเราต่างใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ 

ขอบคุณภาพจาก : https://www.google.com/url?sa=...

หมายเลขบันทึก: 688032เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2021 07:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มกราคม 2021 07:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท