หนองอีด่อน : ดินแดนที่เราต่างพร้อมเหนี่ยวไกปืนใส่กันและกัน


หากมันได้กินใครสักคนหนึ่ง วันดีคืนดีปืนจะง้างนกเอง

         เรื่องสั้นเรื่อง “หนองอีด่อน” เป็นหนึ่งในรวมเรื่องสั้นไร้สัญชาติและตัวละครอื่น ๆ ของ บัญชา อ่อนดี ได้รับการคัดเลือกเป็น Short List 8 เรื่องสั้นเข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี 2563  ด้วยประสบการณ์กว่าสี่สิบปีในวงวรรณกรรมร่วมกับการกลั่นกรองสังคมไทย จนเกิดเป็นเรื่องสั้นที่หยิบยกเรื่องราวชายขอบสังคมมาเล่าผ่านสายตาของตัวละครได้อย่างน่าสนใจ ผ่านลูกเล่นการนำเสนองานที่สะกดให้ผู้อ่านติดตามตลอดเรื่อง และเสียดสีสังคมผ่านดินแดนสมมติที่เรียกว่า หนองอีด่อน ได้อย่างแยบคาย

            หนองอีด่อน เป็นเรื่องสั้นที่มีโครงเรื่องไม่ซับซ้อน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความขัดแย้งและการแก้แค้นของคนในพื้นที่หนองอีด่อน ที่เกิดขึ้นอย่างไม่จบสิ้นกว่าห้าสิบปี ผ่านสายตาของ “ผม” รองผู้บัญชาการตำรวจที่เคยเติบโตที่หนองอีด่อน เมื่อเขาได้ฟังเหตุการณ์แดงควายยิงสารวัตรกำนันเมื่อสองปีก่อนและหลบหนีหายไปผ่านการบอกเล่าของเพื่อน ทำให้เขาหวนนึกถึงการตายของเสือวินเมื่อสามสิบปีก่อนขณะที่เขาอายุย่างเข้ายี่สิบเอ็ดปี  วินได้ลั่นไกปืนยิงเบผู้เป็นหัวขโมยไก่สาวและเป็นลูกพี่ลูกน้องของเขาเอง จนเกิดที่มาของฉายา “เสือวิน” อันโด่งดัง สิบสี่ปีต่อมาเพิกผู้เป็นน้องชายของเบจึงล้างแค้นให้ผู้เป็นพี่ด้วยการบุกไปฆ่าวิน ขณะที่เขากำลังเพลิดเพลินกับการตีตะโพนและสูบกัญชาในหนองอีด่อน นั่นจึงทำเพิกต้องถูกเหล่าญาติสนิทรุมไล่ล่าและฆ่าตายในที่สุด ทำให้คนลงมือทุกคนต้องหนีออกจากหมู่บ้านไปเพราะเกรงว่าตนจะถูกฆ่าเช่นเดียวกัน เหลือเพียงซันเพื่อนสนิทของเพิกที่ไม่ได้ร่วมลงมือ  ต่อมาซันถูกพ่อของสิงห์และสักฆ่าล้างแค้นเพราะซันมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของลูกชายทั้งสอง เมื่อลงมือฆ่าซันชายชราก็หนีหายไป ทว่าเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันกลับไม่ได้หายไปจากหมู่บ้านเมื่อเกิดเหตุการณ์ของแดงควาย ผ่านไปสองปีแดงควายกลับมาที่หนองอีด่อนในนามว่าพระแดง นั่นทำให้ผมรู้สึกเบาใจว่าหนองอีด่อนคงจะหมดสิ้นเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว เพราะพระแดงกลับใจและหันเข้าสู่พระธรรม แต่ท้ายที่สุดแล้วพระแดงก็ยังถูกลอบฆ่าล้างแค้นเช่นกัน

               การดำเนินเรื่อง มีการเปิดเรื่องโดยการเล่าเรื่องย้อนหลังจากตอนจบเรื่องแล้วเริ่มเล่าเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้น ที่เกี่ยวพันกับปัญหาความขัดแย้งซึ่งเป็นจุดสำคัญของเรื่อง  เป็นบรรยายเท้าความถึงเหตุการณ์แดงควายยิงแสกหน้าสารวัตรกำนัน เพราะรุ่นน้องที่เพิ่งรู้จักถูกสารวัตรกำนันตบบ้องหูในงานวัด  ด้วยวาจา “ปืนกู กูต้องยิงเอง” ทำให้แดงควายเป็นที่กล่าวถึงของผู้คนหนองอีด่อนจำนวนมากเมื่อสองปีก่อน การเปิดเรื่องดังกล่าวเป็นใช้การบรรยายสถานการณ์และวางฉากสำคัญของเรื่องคือ หนองอีด่อน อันเป็นสถานที่สำคัญที่เป็นฉากของดำเนินเรื่องตลอดทั้งเรื่อง นอกจากนี้ยังมีการใช้การบรรยายตัวละครแดงควายประกอบเกี่ยวกับชื่อเสียงของแดงควายที่ผู้คนกล่าวถึง  เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การกล่าวถึงตัวละครอื่นที่มีลักษณะการกระทำเหตุการณ์คล้ายกับการเหนี่ยวไกปืนยิงสารวัตรกำนันของตัวละครแดงควาย ได้แก่ เหตุการณ์ของวินกับเบและเพิก  ซันกับพ่อของสิงห์และสัก ทว่าแม้จะเกิดจากความขัดแย้งเล็กน้อยแต่กลับลุกลามจนเกิดการการเข่นฆ่ากันในที่สุด

               ความขัดแย้งสำคัญของเรื่อง คือ ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างตระกูลของวินและเบ ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึงอย่างตรงไปตรงมาอีกทั้งมีการใช้กลวิธีการเล่าอย่างไม่เป็นไปตามลำดับเวลา  แต่แสดงผ่านการเล่าของตัวละครผมไว้ค่อนข้างชัดเจน ผ่านคำพูดของตัวละครเพิกน้องชายของวินมักเอ่ยปากเมื่อมีโอกาสเสมอว่า “ไอ้วินไม่น่าทำเลย” ในช่วงสิบกว่าปีที่ผมได้พบกับเพิก และยิ่งเด่นชัดขณะที่ผมร่วมวงเหล้าว่า “จนบัดนี้ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดเรื่องคนกล้าหาญชาญชัยขนาดบุกยิงเสือวิน...แต่มีหลักฐานพอบอกได้เพียงเลือนราง ได้แก่ บนพื้นดินบริเวณหน้าศพเสือวินนอนหงายจมกองเลือด เห็นรอยรองเท้ายี่ห้อดังจากต่างประเทศปรากฏอยู่ ” (หน้า 165 ) ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เพิกยืมรองเท้าอาดิดาสของผมขณะผมพบกับเพิกที่ร้านอาหารตามสั่ง จึงเป็นการเฉลยปมว่าเพิกเป็นผู้ลงมือฆ่าวิน ด้วยแรงจูงใจจากความแค้นที่วินลงมือฆ่าเบผู้เป็นพี่ชายของเพิก เมื่อเพิกลงมือเหนี่ยวไกปืนแล้ว จึงทำให้เขาเองต้องกลายเป็นผู้ถูกเหนี่ยวไกปืนจากญาติของเขาเองด้วยเช่นกัน ต่อมาคือความขัดแย้งระหว่างซันและตระกูลของสิงห์และสัก เป็นความขัดแย้งในลักษณะคล้ายกับความขัดแย้งระหว่างตระกูลของเบและวิน กล่าวคือ ซันมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของสิงห์และสักในหนองอีด่อน เป็นเหตุจูงใจให้ชายชราผู้เป็นพ่อต้องลงมือฆ่าซันเพื่อแก้แค้นให้ลูกของตนเช่นเดียวกับที่เพิกแก้แค้นแทนพี่ชาย ความขัดแย้งดังที่กล่าวในข้างต้น จึงนำไปสู่ปมขัดแย้งสำคัญของเรื่อง คือ การแก้แค้นกันระหว่างผู้คนสองฝ่ายที่เกิดอย่างไม่จบไม่สิ้น

                ผู้เขียนให้ตัวละครผมเล่าถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งของผู้คนที่ได้พบในเวลากว่าสามสิบปีที่เขาพบ เป็นการเร้าความสนใจผู้อ่านและกล่าวถึงภูมิหลังของพื้นที่หนองอีด่อน เหตุการณ์แดงควายยิ่งสารวัตรกำนันยิ่งตอกย้ำว่าปมความขัดแย้งสำคัญของเรื่องว่ายังคงดำเนินอยู่เสมอ จนนำไปสู่จุดสูงสุดเมื่อแดงควายกลับมาอยู่ที่หนองอีด่อนกลับตัวกลับใจเป็นคนใหม่  แต่สุดท้ายพระแดงก็ถูกฆ่าตาย ซึ่งแสดงให้เห็นทัศนะของผู้เขียนที่มีต่อความขัดแย้งว่า แม้เวลาจะดำเนินไปกี่ยุคสมัย ความขัดแย้งย่อมเกิดอย่างไม่มีจบสิ้นหากเวรยังคงระงับด้วยการจองเวรอยู่เช่นเดิม เรื่อสั้นดังกล่าวไม่ได้คลายปมขัดแย้ง แต่ดำรงปมขัดแย้งดังกล่าวต่อไปเรื่อย ๆ

                นับว่าเป็นการลำดับเหตุการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผล จนนำไปสู่การปิดเรื่อง เป็นการปิดเรื่องในลักษณะความสมจริง เหตุการณ์ที่กล่าวถึงเป็นเหตุการณ์ปัจจุบันที่เกิดต่อจากที่กล่าวถึงในตอนที่เปิดเรื่อง โดยเฉลยตัวละครผมว่าเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจและกล่าวถึงลูกชายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เมื่อสองปีก่อน โดยเชนคือเด็กที่เป็นสาเหตุความขัดแย้งให้แดงควายยิงสารวัตรกำนัน และทิ้งท้ายเหตุการณ์ว่าตัวละครผมกำลังจะต้องเดินทางไปแถลงข่าวคดีพระแดง เพื่อให้ผู้อ่านคาดเดาเหตุการณ์ต่อเองโดยผู้เขียนไม่ได้สรุปหรือบอกกล่าวโดยตรง ดูเหมือนเรื่องจะยังไม่จบบริบูรณ์ คล้ายกับว่าเป็นเพียงการปิดฉากของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนหนึ่งเท่านั้น จะเห็นว่าโครงเรื่องไม่ได้สลับซับซ้อนแต่ประการใด ทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวได้ง่าย มีการสร้างปมให้น่าติดตาม จึงถือเป็นเรื่องสั้นที่มีโครงเรื่องที่ดีอีกเรื่องหนึ่ง

                  เนื้อเรื่องของเรื่องสั้น หนองอีด่อน เป็นการแสดงทัศนะของผู้เขียนที่มีต่อสังคมไทยด้วยเนื้อหาที่สะท้อนความโหดร้ายของสังคมมนุษย์ได้อย่างสมจริง โดยใช้ฉากหลังของความเป็นชนบท ที่ยังยากจนและไร้ศึกษา เพื่อเป็นภูมิหลังขับเคลื่อนให้การกระทำของตัวละครที่เลือกใช้ความรุนแรงอย่างการใช้ปืนเข่นฆ่ากันแม้จะมีความขัดแย้งด้วยเรื่องเล็กน้อยมีความสมเหตุสมผล ดังเช่น การที่วินฆ่าเบเพราะเบขโมยไก่เพียงแค่ตัวเดียว หรือแดงควายยิงสารวัตรกำนันเพียงเพราะรุ่นน้องถูกสารวัตรกำนันตบบ้องหู อีกทั้งยังแฝงทัศนะที่มีต่อสังคมปัจจุบันว่ายาเสพติดเป็นภัยต่อสังคมอย่างมาก เห็นได้จากแดงควายติดยาเสพติด จึงทำให้เขาใช้ความรุนแรงกับคนในครอบครัวและผู้อื่นจนนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงขึ้น คือ การฆ่าสารวัตรกำนัน

                 การตั้งชื่อเรื่องว่า “หนองอีด่อน” เป็นการตั้งชื่อเรื่องที่มีความสอดคล้องกับฉากของเรื่องที่เป็นภูมิหลังของความขัดแย้งทั้งหมดที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเรื่อง แม้ชื่อเรื่องจะคล้ายกับการตั้งชื่อของหมู่บ้าน ไม่ได้มีลักษณะของการชี้ชวนให้ผู้อ่านติดตามเรื่องสั้นมากนัก แต่กลับมีความสอดคล้องกับแก่นของเรื่อง  ชื่อเรื่องหนองอีด่อนเปรียบเสมือนการจำลองสังคมไทย ในรูปแบบของชุมชนสมมติ เพื่อสะท้อนความเลวร้ายและความป่าเถื่อนในสังคมได้อย่างตรงไปตรงมามากกว่าการกล่าวถึงสังคมโดยตรง

                  แก่นของเรื่องต้องการเสียดสีและกล่าวถึงสังคมไทย ที่แม้จะผ่านมากี่ยุคสมัยคนไทยก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับหนองอีด่อน  ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติเมื่อผู้คนที่มาอยู่ร่วมกันในสังคมมีความปรารถนาที่แตกต่างกัน ย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้งได้เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งบางครั้งเราเลือกใช้ความรุนแรงมายุติความขัดแย้ง เป็นเหตุให้เกิดความคิดว่าความรุนแรงคือความขัดแย้ง หรือหนักกว่านั้นคือเกิดความเข้าใจว่าความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมชาติไปด้วย จึงทำให้สังคมด่วนที่จะตัดสินปัญหาด้วยความรุนแรงมากกว่าการเลือกที่จะประนีประนอมกัน เปรียบเสมือนทุกคนกำลังเลือกปกป้องตนเองด้วยการพร้อมที่จะเหนี่ยวไกปืนใส่ฝ่ายตรงข้าม ฉะนั้นจึงมักเกิดความสูญเสียก่อนที่จะตระหนักถึงผลกระทบจากความรุนแรงที่กระทำลงไป เมื่อสังคมไทยยังเลือกที่จะหันกระบอกปืนเข้าคุยกันมากกว่าจับเข่าคุยกัน ไม่ว่าหนองอีด่อนหรือสังคมไทยก็ย่อมจะมีเสียงปืนนัดต่อไปไม่มีสิ้นสุด

รายการอ้างอิง

บัญชา อ่อนดี. (2563). รวมเรื่องสั้นไร้สัญชาติและตัวละครอื่นๆ.กาญจนบุรี : บ้านแม่น้ำ

หมายเลขบันทึก: 687973เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2020 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2020 23:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท