ไผ่แดง : คอมมิวนิสต์ฉบับนักอนุรักษ์นิยม


“...ตราบใดที่สมภารกร่างยังไม่ทิ้งวัด ชีวิตของไผ่แดงก็ยังคงดำเนินไปในลักษณะที่มีดุลยภาพ มีความดีเป็นเครื่องถ่วงความชั่ว มีความมั่นคงในทางใจอันเกิดจากศรัทธาและความรู้สึกบาปบุญคุณโทษ...ถึงน้ำจะท่วม ไฟจะไหม้ ฝนจะตก ฟ้าจะผ่าอีกสิบเท่า สมภารกร่างก็เห็นจะไม่ทิ้งวัด...”(หน้า 241)

          นวนิยาย“ไผ่แดง” เป็นผลงานยอดนิยมและทรงคุณค่าเรื่องหนึ่งของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ได้รับความนิยมไม่น้อยไปกว่าผลงานชิ้นเอกที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักจากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง “สี่แผ่นดิน” ได้รับการตีพิมพ์มากกว่าสิบครั้งและถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครจวบจนปัจจุบัน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2528 เป็นทั้งนักการเมือง นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชนและนักเขียนด้วย

          “ไผ่แดง” เป็นเรื่องราวที่กล่าวถึงชุมชนเล็ก ๆ ชื่อว่า ไผ่แดง โดยมี “สมภารกร่าง” พระเจ้าอาวาสวัดไผ่แดง ผู้ครองตัวเป็นสมณเพศในร่มเงาศาสนาแต่ก็ยังหลงเหลือสิ่งที่เรียกว่า “กิเลส” เนื่องจากยังไม่หลุดพ้นจากความวุ่นวายของสังคม ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ จึงเป็นที่มาของเสียงในใจจาก “พระประธาน”เสมือนการสร้างสมดุลความคิดขั้วตรงข้าม 2 ขั้ว ที่ตอบโต้กันภายในจิตใจของสมภารกร่างเอง ด้วยวัฒนธรรมชาวบ้านกับวัดซึ่งผูกพันใกล้ชิดกัน สมภารจึงเป็นหลักพักพิงแก่ผู้อื่นทั้งทางโลกและทางธรรม ที่ต้องคอยต่อกรกับ “แกว่น แก่นจำจร” สหายเก่าแก่ของสมภารกร่างตั้งแต่วัยเยาว์

          เมื่อแกว่นกลายเป็นผู้ล้มเหลวในการดำเนินชีวิต จึงเลือกหันเข้าใช้หนังสือปลุกระดม “คอมมิวนิสต์” เป็นเพื่อนที่ช่วยปลอบใจให้ไปโทษระบบสังคม ระบบศักดินา แทนที่จะโทษตัวเอง ซึ่งทำให้เขายึดมั่นในอุดมการณ์ต่างขั้วที่เขาเองก็ไม่เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริง จนถึงขนาดลืมสำนึกถึงผิด ชอบ ชั่ว ดี และความเป็นจริงของชีวิต เขาลุกขึ้นมาปลุกระดมชายหนุ่มเพื่อนฝูงในหมู่บ้าน ให้ต่อต้านแนวคิดของฝ่ายอาณาจักรหัวเก่า ตามอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์ที่เขาได้ยินได้ฟังมา เกิดแนวคิดเรื่องชนชั้นนายทุนและชนชั้นกรรมาชีพขึ้นในไผ่แดง วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวไผ่แดงจึงถึงคราววุ่นวาย เดือดร้อนเป็นเรื่องเป็นราวหลายต่อหลายครั้ง กำนันเจิมผู้นำชุมชนไม่อาจควบคุมพฤติกรรมของเหล่าคนหนุ่มนักอุดมการณ์ทั้งหลายได้ จึงต้องหันมาพึงพาและขอให้สมภารกร่างช่วยเหลือ สมภารกร่างจึงเลือกที่จะต่อสู้กับ “คอมมิวนิสต์ ” ด้วยความดีทั้งปวงที่เรียกว่า พระพุทธศาสนา จนท้ายที่สุดเสรีชนอย่างแกว่นก็ยอมจำนนต่อความรัก ความผูกพันและความดีของผู้คนชาวไผ่แดงที่มีต่อเขา

      นวนิยายไผ่แดง เป็นนวนิยายที่ ผู้เขียนหยิบเอาวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายของคนไทยมาเขียน มีการเปิดเรื่องด้วยการจำลองหมู่บ้าน ไผ่แดง เป็นชื่อสมมุติของหมู่บ้านขนาดสิบหลังคาเรือนที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯนัก และดำเนินเรื่องด้วยปมขัดแย้งของแกว่น แก่นกำจร ผู้มีแนวคิดฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ที่มองว่ากำนันเจิม คือ ตัวแทนของระบบศักดินาและนายทุนผู้น่ารังเกียจ ส่วนสมภารกร่าง คือ ตัวแทนของชนชั้นศักดินาผู้ค้ายาเสพติดที่เรียกว่า ศาสนา ดังนั้นแกว่นจึงตั้งตนเป็นศัตรูขัดขวางทั้งสองคนทุกวิถีทางอย่างไม่ลดละ แม้ว่าท้ายที่สุดเขาจะต้องยอมจำนนต่อเหตุผลอันเป็นรูปธรรมของสมภารกร่างก็ตาม ด้วยเหตุนี้ตัวละครจึงมีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่องตลอดทั้งเรื่อง เพราะผู้เขียนมีการสร้างตัวละครให้อยู่ฝ่ายตรงข้ามกันทางอุดมการณ์ แต่ในทางกลับกันก็สร้างพื้นหลังของความสัมพันธ์ให้ตัวละครมีความผูกพันกันฉันมิตร เป็นผลให้การปะทะคารมกันระหว่างสมภารกร่างกับแกว่น และระหว่างแกว่นกับกำนันเจิม มีทั้งความขับเคี่ยวและประนีประนอมกันอย่างลงตัว และเสริมให้เกิดมิติของตัวละครให้มีความเป็นปุถุชนคนธรรมดา ที่มีทั้งมุมที่ดีและชั่ว บทสนทนาในเรื่องค่อนข้างจะพบมากในเนื้อเรื่องและมีความโดดเด่น  มีวิธีสร้างบทสนทนาสื่อนิสัยใจคอและภูมิรู้ของตัวละครได้อย่างน่าติดตาม ผู้เขียนใส่ความคิดเห็นของตนที่ว่าสังคมไทยเองนั้นไม่เหมาะกับคอมมิวนิสต์ เพราะมีความเป็นพุทธและพึ่งพากันกันและกัน เพื่อเสียดสีแนวคิดคอมมิวนิสต์ด้วยอารมณ์ขบขันและมีสีสันตลอดทั้งเรื่อง ตรึงให้ผู้อ่านเพลิดเพลินและแฝงแง่คิดแม้จะเป็นการโต้ตอบอย่างคนเห็นต่างกันก็ตาม

              ฉากและบรรยากาศของนวนิยายเรื่อง ไผ่แดง ส่วนใหญ่กล่าวถึงสังคมในไผ่แดงแทบตลอดทั้งเรื่อง ผู้เขียนมีการใช้ฉากชุมชนไผ่แดงที่เกิดความวุ่นวายจากลัทธิคอมมิวนิสต์ที่แกว่นต้องการเผยแพร่แก่ชาวบ้านอย่างไม่รู้จริง เปรียบเสมือนภาพสะท้อนสังคมไทยที่กำลังเผชิญกับความระส่ำระสายทางการเมืองตามบรรยากาศในช่วงยุคสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ซึ่งคำนำสำนักพิมพ์สยามรัฐ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 141 ระบุไว้ว่า “ไผ่แดง” เป็นวรรณกรรมที่ถูกสร้างขึ้นในยุคสมัยที่ฝ่าย “อาณาจักร” กำลังใช้นโยบายต่อต้านลัทธิ “คอมมิวนิสต์” อย่างสับสนอลหม่าน ทั้งยังมีพฤติกรรมมากมายหลายประการที่สำแดงถึงความตื่นกลัวภัยนั้นๆ เช่น การหลีกเลี่ยงไม่ยอมใช้กระเบื้องสีแดงมุงหลังคาอาคารสถานที่ราชการ และการเปลี่ยนชื่อจากสะพานแดงเป็นสะพานบางซื่อ เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลักที่ผู้เขียนที่ต้องการให้เราตระหนักว่า คอมมิวนิสต์ไม่ได้น่ากลัว คนไทยยังมีความเป็นไทยและมั่นคงด้วยการพึ่งพาศาสนาพุทธมากกว่า การตั้งชื่อว่าหมู่บ้านไผ่แดง  โดยจงใจใช้คำว่า แดง เพื่อตั้งชื่อ นอกจากจะสร้างความน่าสนใจให้แก่ชื่อหมู่บ้านในเรื่องเพราะไผ่โดยทั่วไปไม่มีสีแดง อีกทั้งสีแดงยังเป็นสัญญะของคอมมิวนิสต์ที่กำลังขยายสู่พลเมืองในสังคม  การที่ผู้เขียนกล้าตั้งชื่อว่า ไผ่แดง อาจจะกำลังสื่อความว่าเขามิได้เกรงกลัวคอมมิวนิสต์พร้อมกับกำลังเสียดสีความตื่นกลัวอันไร้แก่นสารของอาณาจักรอย่างแยบยล

           กลวิธีการแต่งของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีการใช้วิธีการที่แตกต่างจากวรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ ด้วยการใช้ความขัดแย้ง เพื่อทบทวนความคิดให้แก่ตัวละคร จะเห็นได้จากการที่ผู้แต่งสร้างให้สมภารกร่างสนทนากับพระประธานในโบสถ์เมื่อเกิดความคับข้องใจ ลักษณะเช่นนี้เป็นการสร้างข้อถกเถียงแสดงความรู้สึกนึกคิดระหว่างความรู้สึกผิดชอบชั่วดีและความรู้สึกที่ยังมีกิเลสครอบงำของตัวละคร ทำให้ผู้อ่านได้ขบคิดตามไปพร้อมกับการสนทนาตัวละครอย่างแยบยล ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ใน “คำตาม” ว่า

          ธรรมดาคนเราที่บวชเรียนอยู่ในสมณเพศนั้น มักจะปรากฏว่ามีตนเกิดขึ้นสองตน คือตนหนึ่งเป็นตนแห่งโลก ที่สมภารกร่างมักจะแสดงให้ประจักษ์แก่คนทั้งหลาย อีกตนหนึ่งนั้นคือตัวเองในฐานะที่เป็นสมณะอยู่ห่างจากโลก ตนทั้งสองนี้ย่อมจะพูดจาทักถามกันอยู่เสมอ

...การแสดงออกซึ่งความรู้สึกผิดชอบ โดยวิธีทำให้พระประธานพูดได้นี้ จะเรียกว่าเป็นวิธีการประพันธ์ก็ได้ แต่ผู้เขียนก็เขียนด้วยความจริงใจ และอย่าว่าแต่สมภารกร่างเลย ถ้าหากปุถุชนคนใดมีโอกาสเข้าไปนั่งสงบนิ่งในโบสถ์ ทำใจให้พร้อมด้วยศรัทธาและสมาธิ บางทีก็จะได้พูดกับพระประธานบ้างกระมัง  (หน้า 244)

             ผู้เขียนมีลีลาของการใช้ภาษา สำนวน และโครงเรื่องที่โดดเด่น ผนวกกับการเสียดสีทางการเมืองที่ยั่วล้อ ทำให้นวนิยายเรื่องไผ่แดงดึงดูดผู้อ่านด้วยสำนวนภาษาที่สละสลวย และแฝงความขบขันแก่ผู้อ่าน ดังเช่น ตอน “ข้าหวิดไม่แพ้”  แกว่นปลุกระดมชายในหมู่บ้านเพื่อรวมกลุ่มต่อสู้กับกลุ่มนักเลงที่เสี่ยเหล็งส่งมาคุกคามไล่ที่ชาวบ้านในไผ่แดง ทำให้กลุ่มชายฉกรรจ์ต่างพากันไปขอพระและวัตถุมงคลจากสมภารกร่าง แกว่นจึงสบประมาทว่าการที่สมภารกร่างแจกวัตถุเหล่านั้นให้ชาวบ้าน เป็นการฉวยโอกาสเผยแพร่ลัทธิที่เรียกว่า ศาสนา ในยามผู้คนเดือดร้อน ทว่าพอถึงคราวที่แกว่นต้องเผชิญหน้ากับปืน อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่มีก็หดหายสหายแกว่นเองก็ยังขอพระจากสมภารกร่างอยู่ดี ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้ไผ่แดงชวนให้คนอ่าน เพราะความขบขัน ทำให้บรรยากาศการเมืองที่ตึงเครียดผ่อนเบาลง

          อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นบางไผ่แดงที่ต้องเผชิญกับการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ของแกว่น แก่นกำจร ผู้แต่งมีแนวคิดยึดถือแนวคิดอนุรักษ์นิยม ไผ่แดงจึงถูกเขียนเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า วิถีชีวิตแบบไทยแท้แต่ดั้งเดิมนั้น เป็นสิ่งที่ดีและเหมาะสมแล้วกับคนไทย ซึ่งนับถือคุณงามความดีตามหลักพระพุทธศาสนา มีสมภารกร่างเป็นตัวแทน ขณะเดียวกันภาพของนักอุดมการณ์หัวก้าวหน้าอย่างนายแกว่น จึงสะท้อนออกมาอย่างคนโง่เขลา รู้ไม่จริง และไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล  ฉะนั้นหากมองโดยผิวเผินอาจมองว่าผู้เขียนกำลังเหยียดหยามวิถีชีวิตของชาวบ้านผู้มีอุดมการณ์ ว่าเป็นพวกไม่รู้จริง ถึงแม้ว่าผู้เขียนออกจะเชียร์ฝั่งสมภารกร่าง แต่ในเนื้อเรื่องเองก็มีหลายฉากหลายตอนที่สมกร่างต้องจำนนด้วยเหตุผลของนายแกว่นเช่นกัน ไผ่แดงไม่เพียงแต่เป็นนวนิยายที่ผู้แต่งต้องการเสียดสีสังคมและการเมืองยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์ ผ่านการโต้ตอบ ถกเถียงของตัวละคร อีกทั้งยังแสดงให้เห็นทัศนะของผู้เขียนที่แฝงผ่านความสนุกสนานด้วยการเล่าเรื่องคอมมิวนิสต์ตามแบบฉบับคนที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมผ่านนวนิยายอย่างแยบยล 

หมายเลขบันทึก: 687971เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2020 23:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2020 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท