อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ กับการเปลี่ยนแปลงบทบาทเป็นผู้ล่า


ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย หากพวกเดนมนุษย์หมดไปจากสังคม

ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน วรรณกรรมเสียดสีสังคม ถือกำเนิดขึ้นจำนวนมาก ในห้วงเวลาที่นักเขียนมีเสรีภาพต่อการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ทำให้วรรณกรรมเสมือนเป็นการแสดงจุดยืนของนักเขียนหลายคน เช่นเดียวกับ กำพล นิรวรรณ นักเขียนผู้มีอุดมการณ์ต่อต้านเผด็จการอย่างแรงกล้า อดีตผู้ร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ หลังออกจากป่า กำพลผันตัวเป็นนักเขียน ซึ่ง“อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ และเรื่องราวอื่น ๆ” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นแนวสะท้อนและเสียดสีสังคมเล่มแรกและเล่มเดียวของ กำพล นิรวรรณ

หากติดตามงานเขียนของ กำพล นิรวรรณ นักเขียนรางวัลยอดเยี่ยม ‘กนกพงศ์ สงสมพันธุ์’ จะทราบว่าเป็นนักเขียนที่มีฝีมือในการหยิบเอาสถานการณ์และความทรงจำในอดีตของตนมาเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ปัจจุบันได้อย่างสมจริง จนนักอ่านหลายคนตกหลุมพลาง แยกไม่ออกว่าเรื่องสั้นแต่ละเรื่องของกำพลเป็นเรื่องแต่งหรือเรื่องจริงกันแน่

อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำเป็น ๑ ใน ๑๒ เรื่องสั้นที่รวมไว้ในหนังสือ “อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ และเรื่องราวอื่น ๆ” หนังสือรวมเรื่องสั้นที่ได้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ปี พ.ศ.๒๕๖๓ เรื่องสั้นทั้ง ๑๒ เรื่องถูกแบ่งออกเป็น ๓ ภาค ได้แก่ ภาค ‘คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด’ที่เน้นเล่าเรื่องราวจากประสบการณ์เข้าป่าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รวมถึงมุมมองด้านอำนาจและการเมือง ภาค ‘ความลับแห่งหุบเขาเซียน็อก’กลุ่มเรื่องสั้นที่เสมือนนำพาผู้อ่านออกนอกประเทศไปท่องโลก และภาค ‘อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ’กลุ่มเรื่องสั้นที่ให้อารมณ์ลึกลับ เล่าด้วยบรรยากาศชวนสยองขวัญ

เรื่องสั้น อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ มีลักษณะเด่นที่ผู้วิจารณ์สนใจคือ เนื้อเรื่องที่ถูกเล่าออกมามีความสัมพันธ์กับอดีตของตัวผู้เขียนเอง และอีกประการที่น่าสนใจคือเรื่องสั้นเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นในปีเดียวกับเหตุการณ์ ล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ในปี พ.ศ.๒๕๖๑ ซึ่งเคยมีเหตุการณ์คล้ายกันในปี พ.ศ.๒๕๑๖ สะท้อนให้เห็นว่าผู้เขียนอาจจะต้องการใช้เรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชีวิตเสือดำและสัตว์ป่าอื่น ๆ การเขียนให้เสือดำเป็นฝ่ายล่าบ้าง ทำให้เรื่องสั้นเรื่องนี้เสมือนเป็นการแก้แค้นคนฆ่าเสือดำ ซึ่งอาจสอดคล้องกับความต้องการของผู้อ่านที่มีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์ดังกล่างเช่นเดียวกับผู้เขียน อาจกล่าวได้ว่า ผู้เขียนประสบความสำเร็จในการสื่อสารให้ผู้อ่านเข้าใจแก่นแท้ของเรื่องได้อย่างดี

การกลับมาของภาพวาดเสือดำ

อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ เป็นเรื่องราวของ “เขา” เด็กชายจากภาคใต้ที่ตัดสินใจหนีออกจากบ้านเข้าเมืองกรุง โดยอาศัยห้องใต้ถุนกุฏิหลวงน้าวัดราชาเป็นที่หลับนอน หลังจากได้งานเป็นลูกมือช่างทำกรอบรูป การได้มองและพินิตความหมายที่แอบแฝงในภาพต่าง ๆ กลายเป็นงานอดิเรกของเขา กระทั่งได้เห็นภาพเสือดำ ภาพที่ดึงดูดให้เขาหลงจ้องมองนัยน์ตาเสือดำ และรู้สึกหลงใหลในความสง่างามที่สะท้อนออกมา เป็นเหตุให้เขาเริ่มฝึกวาดภาพเสือดำ โดย จ่าง แซ่ตั้ง ศิลปินอับจนแต่รวยเมตตาที่มักเอาภาพเขียนและบทกวีมาเข้ากรอบที่ร้าน ช่วยสอนเขาวาดภาพเสือดำจนสามารถวาดภาพเสือดำให้เสมือนมีชีวิตได้ และแนะนำให้เขาเข้าไปดูนิทรรศการ ‘วันสังหารสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร’ จัดโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความสงสารต่อชะตากรรมการเป็นผู้ถูกล่า เป็นเหตุให้เขามองเสือดำนอกเหนือไปจากความสง่างาม และสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกผ่านการเขียนบทกวี “เสือดำ เสือดำ เสือดำ เสือดำ อยากแก้แค้นแทนเพื่อน......ที่ทุ่งใหญ่” เขาวาดภาพเสือดำเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อแจกจ่ายให้คนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นับร้อยภาพ กระทั่งหลังเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง เขาสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย เช่นเดียวกับภาพวาดเสือดำที่สูญหายทั้งหมด ทว่าภาพที่เดิมทีมีเสือดำนัยน์ตาสีทองเพียงภาพเดียว ที่เหลือไว้เพียงภาพป่า หลังผ่านไปเกือบครึ่งศตวรรษมีคนเห็นภาพเสือดำปรากฏตามที่ต่าง ๆ หลังจากคณะของมหาเศรษฐีชื่อดังลอบเข้าทุ่งใหญ่นเรศวรไปสังหารเสือดำตัวหนึ่ง แต่ก็หายไปอีกครั้งเช่นเดิม กระทั่งในวันครบรอบหนึ่งปีหลังการสังหารเสือดำตัวดังกล่าว พบศพชายร่างท้วมในชุดลำลองสีเทานอนจมกองเลือด ใบหน้าฉีกเหวอะหวะไม่เหลือเค้ามนุษย์ หนังหัวถูกถลก ท้องถูกฉีกไส้ทะลัก บนกำแพงใกล้กับศพมีภาพเสือดำขนาดใหญ่นัยน์ตาสีทองกำลังเลียคราบเลือดบนอุ้งเล็บ ก่อนมันจะเลือนหายเข้าไปในกำแพงด้วยสายตาเย็นชา

ผู้เขียนดำเนินเรื่องราวได้อย่างไม่ซับซ้อน เป็นการดำเนินเรื่องตามลำดับเวลา ทำให้ผู้อ่านเข้าใจและลำดับเหตุการณ์ได้ง่าย ผู้เขียนดูจงใจนำกรณีการล่าเสือดำที่เป็นประเด็นสำคัญในสังคมไทยมาเล่าใหม่ แต่เปลี่ยนให้เสือดำเป็นผู้ล่าแทน นอกจากนี้ยังมีการดึงเหตุการณ์ความวุ่นวาย ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องอีกด้วย และการเอา จ่าง แซ่ตั้ง และนิทรรศการที่จัดแสดงในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเป็นส่วนสำคัญของเรื่อง เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าผู้เขียนนำประสบการณ์จริงทั้งในอดีตและปัจจุบันมาเขียนในเนื้อเรื่อง ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงให้เหตุการณ์อดีตและปัจจุบันสอดคล้องกันนั่นเอง

การเปิดเรื่อง ผู้เขียนเลือกใช้วิธีการบรรยายภูมิหลังของตัวละคร ‘เขา’ ตัวละครเอกของเรื่อง เพื่อแสดงลักษณะของตัวละคร ว่าเขาเป็นเด็กต่างจังหวัด หมดความตั้งใจในการเรียน จึงตัดสินใจไปหางานทำที่กรุงเทพ ฯ ดังข้อความ “เขาตัดสินใจเข้าไปเสี่ยงโชคในเมืองหลวงตั้งแต่ยังไม่จบมัธยมต้น เรียนไปก็เท่านั้นเพราะสอบตกซ้ำชั้นเป็นว่าเล่น” (หน้า ๑๘๗)

ผู้เขียนดำเนินเรื่องราวหลังจากตัวละครเอกเข้าทำงานในร้านอัดกรอบรูป เป็นการเท้าความถึงการหลงใหลในภาพวาดเสือดำของตัวละคร ความขัดแย้งทางการเมืองและเหตุการณ์ล่าเสือดำทำให้ตัวละครเปลี่ยนแปลงความคิด เดิมทีเขามองภาพวาดเสือดำเพียงรูปลักษณ์ภายนอก เขาได้เปลี่ยนมามองชีวิตของเสือดำด้วยความเข้าใจและสงสารในชะตากรรมของผู้ถูกล่า ซึ่งทำให้เขาวาดภาพเสือดำอีกจำนวนมากเพื่อแจกจ่ายให้กับคนอื่น ๆ เสมือนเป็นการสร้างตัวตนให้เสือดำมีชีวิตร่วมกับสังคมมนุษย์ และอาจเป็นสัญญะที่ผู้เขียนต้องการสะท้อนให้เห็นว่า เหตุการณ์การตายของเสือดำจะไม่สูญหายไป หากทุกคนยังให้ความสำคัญกับการมีอยู่ของเสือดำ เหมือนกับภาพที่จะไม่สูญหายไปตราบใดที่เขายังคงวาดภาพเสือดำออกมาไม่รู้จบ

ผู้เขียนผูกปมของเรื่องโดยการสร้างความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ (สัตว์ป่า) กล่าวคือ ผู้เขียนหยิบเอาตัวละครสมมติที่มีอิทธิพลทั้งในอดีตและปัจจุบันมาเป็นผู้ร้ายในเหตุการณ์ล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นการเล่าเหตุการณ์เชื่อมโยงกันเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยไม่ว่าเวลาจะล่วงเลยไปนานนับหลายสิบปี ผู้มีอิทธิพลยังคงเป็นบุคคลจำพวกที่มีจิตใจอำมหิต ไม่เกรงกลัวกฎหมาย ดังเหตุการณ์ล่าเสือดำในปี พ.ศ.๒๕๑๖ ผู้ล่าคือนายทหารใหญ่ลูกชายผู้นำเผด็จการในสมัยนั้นที่แก้ต่างให้ลูกชายและคณะล่าสัตว์ว่าเข้าป่าเพื่อทำราชการลับ ส่วนการล่าเสือดำในปี พ.ศ.๒๕๖๑ ผู้ล่าคือมหาเศรษฐีระดับประเทศ มีนักการเมืองคอยหนุนหลัง การนำตัวละครและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมาสร้างเป็นเรื่องแต่ง อาจเพื่อต้องการตีแผ่ให้สังคมปัจจุบันได้รับรู้การกระทำของชนชั้นสูง หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นการประจานความชั่วของชนชั้นสูงให้ผู้คนได้รู้ทั่วกัน เพื่อร่วมกันต่อต้านการรุกรานป่าและสัตว์ป่าที่ประชากรเริ่มลดน้อยลงไปทุกวัน

นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง นักศึกษารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย จนเกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย ทำให้เกิดการสูญเสียไปหลายชีวิต เช่นเดียวกับตัวละครที่สูญหายไปพร้อมกับภาพวาดเสือดำที่เหลือไว้เพียงป่าเท่านั้น ผู้เขียนอาจต้องการบอกเป็นนัย ๆ ว่าตัวละครเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเสือดำไม่สำเร็จนั่นเอง

เมื่อการหายไปของวาดภาพเสือดำ กลายเป็นความลึกลับที่ไม่มีใครอธิบายได้ การปรากฏตัวอีกครั้งของภาพวาดเสือดำ จึงนำไปสู่จุดสุดยอดของเรื่อง การปรากฏตัวของเสือดำสร้างความสยดสยองให้ผู้อ่านไม่น้อย เมื่อผู้เขียนสลับบทบาทจากเหยื่อกลายเป็นผู้ล่า การแก้แค้นที่สมน้ำสมเนื้อคือ อดีตผู้ล่าต้องมีสภาพศพไม่ต่างจากอดีตผู้ถูกล่า ดังข้อความว่า “ศพชายคนหนึ่งนอนจมกองเลือดอยู่บนทางเท้าข้างกำแพงวัด เป็นชายร่างท้วมในชุดลำลองสีเทา ใบหน้าฉีกเหวอะหวะไม่เหลือเค้าของมนุษย์ หนังหัวถูกถลกจนเห็นกะโหลก ท้องถูกฉีกไส้ทะลักออกมากองอยู่ข้างนอก” (หน้า ๒๐๖) ซึ่งจุดสุดยอดของเรื่องก็เป็นการคลายปมของเรื่องเช่นกัน กล่าวคือ การหายไปและการปรากฏตัวในที่ต่าง ๆ ของภาพวาดเสือดำ ไม่ใช่เรื่องลึกลับ แต่เป็นนัยสำคัญที่ผู้เขียนต้องการสื่อให้เห็นว่า คดีการล่าเสือดำจะเงียบหายไป เมื่อผู้คนเลิกให้ความสนใจ และจะปรากฏตัวอีกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย นั่นคือ ผู้คนจะกลับมาให้ความสนใจ และเหตุการณ์จะวนเวียนเช่นนี้ซ้ำ ๆ หากยังมีคนใจอำมหิตหลงเหลืออยู่ในสังคม

การปิดเรื่อง อาจกล่าวได้ว่าผู้เขียนปิดเรื่องแบบสุขนาฏกรรม แม้จะปิดเรื่องอย่างสยองขวัญ แต่ถือว่าเป็นความสยองขวัญที่แลกด้วยความสมปรารถนา เนื่องจากการปิดเรื่องเช่นนี้อาจตรงตามความต้องการของผู้อ่านหลายคน การแก้แค้นคนชั่วไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรม แต่เป็นการทวงคืนความเป็นธรรมให้กับหลายชีวิตที่ถูกฆ่าตาย

จากส่วนประกอบโครงเรื่อง ตั้งแต่การเปิดเรื่อง การผูกปมขัดแย้ง จุดสุดยอด การคลายปม และการปิดเรื่อง ผู้เขียนสามารถประกอบกันได้อย่างกลมกลืน นอกจากนี้ยังมีชั้นเชิงในการผูกเรื่องที่ดึงเอาเหตุการณ์จริงมาเล่า และการใช้ภาษาเรียบง่ายแต่ได้ใจความ ทำให้งานเขียนชิ้นนี้มีคุณค่าทั้งทางสุนทรียะและคุณค่าทางสะท้อนสังคม อีกทั้งการนำเหตุการณ์จริงและบุคคลจริงมาเกี่ยวข้อง มีส่วนทำให้เนื้อเรื่องและตัวละครมีความสมจริง ทำให้ผู้อ่านเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ เมื่ออยู่ร่วมกันในสังคมที่มีผู้เป็นใหญ่ การเอารัดเอาเปรียบกับทั้งคนและสัตว์กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ และไม่อาจเรียกร้องให้หมดสิ้นไปได้ง่าย

แก่นแท้...คดีล่าเสือดำที่ทุ่งใหญ่

การจงใจนำเหตุการณ์ล่าเสือดำที่เคยเป็นที่พูดถึงในสังคมมาเล่าใหม่ ชี้ให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของผู้เขียนอย่างยิ่ง หากศึกษาประวัติส่วนตัวของ กำพล นิรวรรณ จะทราบว่าเขามีส่วนร่วมในเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็น ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ หรือ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ โดยเฉพาะเหตุการณ์ ๖ ตุลา ที่เป็นเหตุให้เขาร่วมพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อหนีเข้าป่า หลังออกจากป่าทำให้เขามีอารมณ์อ่อนไหวต่อเหตุการณ์ทางการเมืองมากขึ้น สังเกตได้จากผลงานวรรณกรรมที่มักสร้างตัวละครสมมติให้เหมือนกับตัวจริงและสอดแทรกเรื่องการเมืองเข้าไปในงานเขียนแทบทุกเรื่อง ซึ่งเรื่องสั้น อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ เป็นหนึ่งในเรื่องที่เขาตั้งใจเสียดสีสังคมการเมืองอย่างชัดเจน

อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ มีเค้าโครงจากเรื่องจริง ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวคิดหรือแก่นแท้ของเรื่องว่า ผู้เขียนอาจจะต้องการเสียดสีสังคมซึ่งมีผู้มีอิทธิพลเป็นใหญ่เหนือคนทั้งประเทศ ใช้หน้าที่การงานในทางมิชอบ ผู้เขียนจึงใช้เรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นกระกอบเสียงให้คนหันมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเสือดำ และเพื่อเปิดโปงความโสมมของคนชนชั้นสูงและกฎหมายที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ของประเทศไทย กฎหมายที่มีไว้ใช้เฉพาะคน ผู้กระทำรอยนวล ผู้ถูกกระทำถูกลืม  จึงไม่แปลกหากมีเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้น ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า เรื่องสั้นเรื่องนี้เสมือนเป็นการนำเอาความแค้นของคนทั้งประเทศที่มีจิตผูกพันกับการตายของเสือดำมาเขียนให้คนชั่วตายในสภาพเดียวกันกับเสือดำนั่นเอง

ผู้กล้า...ทวงคืนความเป็นธรรมให้เสือดำ

จากที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า ตัวละครหลายตัวถูกสร้างขึ้นให้มีลักษณะคล้ายบุคคลจริงที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองไทย โดยเฉพาะนายทหารใหญ่ลูกชายผู้นำประเทศ ที่ก่อเหตุล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อันเป็นชนวนให้เกิดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย (เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖) ผู้เขียนสร้างตัวละคร ‘เขา’ เพื่อเป็นตัวเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ล่าเสือดำในอดีตและปัจจุบัน

จากการวิเคราะห์ตัวละครเอก ‘เขา’ ทำให้เห็นลักษณะร่วมของตัวละครกับคนในสังคมคือ ความสลดใจต่อการตายของเสือดำ และการพยายามทวงคืนความเป็นธรรมให้เสือดำ อีกทั้งตัวละครยังมีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์และทัศนคติไปตามสถานการณ์ในเนื้อเรื่อง มีชีวิตจิตใจไม่ต่างจากคนจริง ๆ และพบเห็นได้จริงในสังคมไทย ดังนั้นตัวละคร เขา จึงจัดเป็นตัวละครประเภทหลายลักษณะ

นอกจากนี้ ยังมีตัวละครที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ของตัวละครเอกคือ ‘จ่าง แซ่ตั้ง’ ผู้เขียนนำชื่อ รูปลักษณ์ และบทบาททางสังคมของจ่าง แซ่ตั้งในชีวิตจริงมาสร้างเป็นตัวละคร ดังข้อความ “หนุ่มใหญ่เคราแพะ แต่งตัวแปลกตาดูทีคล้ายเจ๊กขายถ่าน ดูอีกทีคล้ายฮิปปี้” (หน้า ๑๘๘) “เขาเพิ่งรู้วันนั้นเองว่าพี่จ่างของเถ้าแก่คือศิลปินจ่าง แซ่ตั้ง คนเดียวกับศิลปินที่มักเอาภาพเขียนและบทกวีไปจัดวางเป็น ‘นิทรรศการแบกะดิน’ ริมสนามหลวงฝั่งตรงข้ามกับประตูใหญ่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” (หน้า ๑๘๙) ตัวละคร จ่าง แซ่ตั้ง เป็นตัวละครที่แนะนำให้ตัวละครเอกเข้าไปดูนิทรรศการวันสังหารสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นเหตุให้ตัวละครเอกเข้าใจและมองเห็นชีวิตเสือดำต่างไปจากเดิม นำไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องความเป็นธรรมให้เสือดำ

นอกจากนี้ ตัวละครปริศนา ศพที่ปรากฏในตอนท้ายเรื่องสร้างความตกใจให้ผู้อ่านไม่น้อย เพราะตัวละครมีลักษณะคล้ายมหาเศรษฐีที่ก่อคดีล่าเสือดำในปี พ.ศ.๒๕๖๑ อย่างมาก เสมือนเป็นการ “สาปแช่ง” ให้ผู้กระทำผิดถูกลงโทษอย่างสาสม และเนื่องจากเรื่องสั้นเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นในเดือนมิถุนายม ๒๕๖๑ ซึ่งอยู่ในช่วงกำลังฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเอาผิดมหาเศรษฐีดังกล่าว เนื้อหา และตัวละครจึงมีความสมจริงและร่วมเหตุการณ์อย่างมาก ส่งผลให้ผู้อ่านรับสารอย่างมีอรรถรสมากขึ้น

เรื่องราวความอาถรรพ์ของภาพวาดเสือดำ เสมือนเป็นสารที่ผู้เขียนต้องการปลุกระดมให้คนลุกขึ้นต่อต้านการรุกรานป่าและสัตว์ป่า การนำเหตุการณ์การแก้แค้นมาเป็นจุดจบของเรื่อง อาจเป็นกลวิธีที่ผู้เขียนต้องการให้ผู้คนเกรงกลัวการกระทำผิดต่อธรรมชาติ

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบเรื่องสั้น ตั้งแต่โครงเรื่อง เนื้อเรื่อง แก่นเรื่อง และตัวละคร เห็นได้ว่ามีความสอดคล้องกลมกลืนกัน ผู้เขียนสามารถนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ไทยมาเขียนเป็นเรื่องสั้นได้น่าสนใจและน่าติดตาม ลำดับเหตุการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผล เชื่อมโยงเหตุการณ์คล้ายกันแต่ต่างเวลาได้อย่างแยบยล มีการสะท้อนปัญหาเรื่องการแบ่งชนชั้นในสังคมไทย ซึ่งทำให้เรื่องน่าค้นหา และการใช้ภาษาที่เรียบง่าย ทำให้เรื่องมีความโดดเด่น กอปรกับการสร้างตัวละครที่สมจริงเพื่อสะท้อนธรรมชาติของมนุษย์ ทำให้ผู้อ่านเข้าถึงตัวละครและแก่นเรื่องได้ง่าย และที่สำคัญคือให้ความเพลิดเพลิน เสมือนได้ร่วมเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไปกับตัวละครด้วย องค์ประกอบเหล่านี้ ทำให้ อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ เป็นเรื่องสั้นที่มีคุณค่าทางสังคมและการให้สุนทรียะอย่างยิ่ง

กำพล นิรวรรณ.  อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ.  พิมพ์ครั้งที่ ๑.  กรุงเทพ ฯ : ผจญภัย.  ๒๕๖๒.

หมายเลขบันทึก: 687943เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2020 19:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ธันวาคม 2020 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท