หนองอีด่อน : ชายขอบที่คราบเลือดเขรอะ


จากหนังสือรวมเรื่องสั้นไร้สัญชาติและตัวละครอื่น ๆ ของบัญชา อ่อนดี หนึ่งในนักเขียนที่คร่ำหวอดในวงการวรรณกรรมซึ่งผลงานที่ฝากไว้ภายในเรื่องนี้ มีความธรรมดาที่พิเศษด้วยลูกเล่นและจังหวะในการดำเนินเรื่องราวผ่านสายตาแบบ ‘นักข่าว’และร้อยเรียงตัวอักษรอันมีเสน่ห์เฉพาะตัว ‘หนองอีด่อน’ จึงเสมือนภาพจำลองของสังคมที่มีปัญหาและความรุนแรงสาดกระเซ็นทั่วทุกตารางนิ้ว อันเนื่องมาจากการถูกเขี่ยทิ้งจากเขตแดนแห่งความเจริญ


“ปืนกู กูต้องยิงเอง”เป็นการเปิดเรื่องด้วยบทสนทนาที่น่าตกใจอยู่ไม่น้อย เนื่องจากวาดภาพก่อนลงมืออ่านไว้ว่า เรื่องสั้นเรื่องนี้คงเป็นเรื่องราวของชาวชนบททั่วไปอย่างที่เคยอ่าน อาจมีปม เค้าโครงเกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศ หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ถ่ายทอดความแร้นแค้นของชาวนาในหนองอีด่อน ซึ่งยอมรับผิดแต่โดยดีที่ตัดสินอะไรอย่างผิวเผิน เหมือนเช่นคำที่มีคนกล่าวเตือนเอาไว้ว่า “อย่าตัดสินหนังสือจากหน้าปก” แต่ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ คนในสังคมก็ล้วนทำตัวประหนึ่งเป็นกองบรรณาธิการหนังสือแต่ละเล่มได้อย่างละเอียดและลงความเห็นได้เป็นเรื่องเป็นราวทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ลองพลิกกระดาษในหนังสืออ่านแม้แต่แผ่นเดียว บัญชา อ่อนดีจึงเป็นเสมือนผู้ที่จับจูงมือให้ค่อย ๆ เปิดหนังสือดูทีละแผ่น เมื่ออ่านจบบรรทัดสุดท้ายแล้ว ก็พาพลิกกระดาษย้อนกลับเพื่อเริ่มอ่านอีกรอบ เพื่อย้ำให้เห็นว่า การอ่านในแต่ละครั้ง เราจะได้อะไรเพิ่มเติมมาทุกครั้ง

  

หนองอีด่อน เป็นเรื่องราวการแก้แค้นของนักเลงบ้านนอก การฆ่ากันระว่างเครือญาติและคนสนิทที่เกิดขึ้นบริเวณหนองอีด่อน ซึ่งเป็นหนองนากว้างประมาณหนึ่งร้อยไร่ ห่างจากตัวหมู่บ้านสามกิโลเมตร โดยมีตัวละคร ‘หนูเล็ก’ เป็นผู้ถ่ายทอด ซึ่งได้รับข่าวถึงการจากไปของ ‘แดงควาย’ นักเลงบ้านนอกที่เคยยิงแสกหน้าสารวัตรกำนันเมื่อสองปีก่อนและได้กลับมาบวชเป็นพระในหมู่บ้าน การตายของพระแดง ทำให้หนูเล็กนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่ ‘พี่วิน’ ถูกฆ่าตาย โดย ‘พี่เพิก’ ซึ่งเป็นพี่ชายอีกคนที่หนูเล็กสนิทด้วย ไม่นานหลังจากนั้น พี่เพิกก็ถูกกลุ่มญาติไล่ยิงที่กลางนาตายตามไปติด ๆ ซึ่งสาเหตุที่พี่เพิกฆ่าพี่วินนั้น เนื่องมาจากพี่วินได้ฆ่า ‘พี่เบ’ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของตนด้วยวิธีที่น่าเวทนา นอกจากนี้ ยังมีข่าวการตามฆ่ากันของคนในหมู่บ้านจากสองฝั่งคลอง เพราะความแค้นอยู่เรื่อย ๆ เหมือนอย่างที่แม่ของหนูเล็กเคยบอกเอาไว้ว่า “เอ้า มันเคยกินมาแล้วหนึ่งศพ ศพสอง ศพสามก็ต้องตามมาน่ะสิ”

         

หากสังเกต จะเห็นการวางโครงเรื่องออกเป็นสามช่วงตัดสลับกันไปมาระหว่างเวลาปัจจุบันและเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต เริ่มจากการใช้เส้นเวลาในปัจจุบันเป็นการเปิดเรื่อง นั่นคือเหตุการณ์ที่มีคนโทรศัพท์มาแจ้งข่าวเรื่องแดงควาย ส่งผลให้เนื้อเรื่องเป็นการเล่าย้อนอดีตในช่วงสองปีก่อนเวลาปัจจุบัน ซึ่งเป็นภาพเหตุการณ์ที่แดงควายใช้ปืนฆ่าสารวัตรกำนันที่งานวัด ในส่วนนี้ผู้เขียนเลือกใช้วิธีการฆ่าด้วยการ ‘จ่อยิง’ นั่นเป็นไปได้ว่า ในพื้นที่ชนบทเมื่อหลายปีก่อน มีการใช้โค้ลท์ตราควาย หรือปืน(เถื่อน)สั้นไทยประดิษฐ์ ที่ไม่มีความแม่นยำในการยิงระยะไกล จึงต้องอาศัยการจ่อยิงที่เป้าหมายเท่านั้น ซึ่งหากวิเคราะห์จากฉายา ‘แดงควาย’ จึงทำให้ผู้อ่านคาดเดาไปได้ว่า แดงคือชื่อของนักเลง ส่วน ‘ควาย’ ที่นำมาต่อท้ายชื่อ เป็นการตั้งฉายาจากการใช้ปืนโค้ลท์ตราควายนั่นเอง

          จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงปมความขัดแย้งระว่างมนุษย์และมนุษย์ ที่มีเรื่องกระทบกระทั่งกัน ทำให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจ ความอัดอั้นเพราะความรัก ศักดิ์ศรี ผลจึงออกมาในรูปแบบที่รุนแรงถึงแก่ชีวิต เช่นเดียวกันกับการตายของตัวละครอื่นอย่างวินที่ได้รับฉายาว่า ‘เสือวิน’ เหตุเพราะไก่สาวที่เลี้ยงไว้ถูกขโมยไป ทำให้วินลงมือฆ่าหัวขโมย แต่เนื่องจากหัวขโมยที่ว่าเป็น ‘โรคทองแดง’ ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยที่มีความเชื่อว่า ผู้ชายที่มีภาวะนี้จะคงกระพัน หนังเหนียว ดังนั้นการตายของเบจึงอเนจอนาถกว่าศพอื่น นั่นคือ โดนแขวนคอ ทุบตี และใช้ไม้แหลมเสียบไว้ในรูก้น ซึ่งความโหดร้ายนี้เอง ที่ทำให้วินได้ฉายาเสือวินมา

          ปมความขัดแย้งต่อมา เป็นเรื่องของคนในหมู่บ้านและคนจากหนองอีด่อนเกิดการใส่ร้ายกัน จึงเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียที่ไม่มีวันหวนกลับ และทำให้กระสุนปืนอาบเลือดอีกนับครั้งไม่ถ้วน นั่นคือปมระหว่างตัวละคร ‘ซัน’ และ ‘ชายชรา’ ซึ่งซันมีความเกี่ยวข้องกับเพิก เพราะเป็นเพื่อนรักกัน และเกิดเหตุการณ์ที่เพิกเคยยิงลูกชายของชายชรา และตัวเพิกเอง ที่ถูกกลุ่มญาติขี่รถจักรยานยนต์ไล่ต้อนยิงในหนองอีด่อนราวกับสัตว์ที่อับจนหนทางรอด ในเวลาต่อมา ชายชราจึงหาจังหวะล้างแค้นซันด้วยการยิงเพียงนัดเดียว ไม่ต่างจากศพอื่น ๆ ที่ปืนลูกซองต้องคำสาปเลือด ได้ลั่นไกในหนองอีด่อน

          แม้ตัวผู้เขียนจะใช้การบรรยายด้วยถ้อยคำที่ธรรมดา แต่ด้วยสัญชาตญาณนักข่าว จึงทำให้สำนวนเขียนกระชับได้ใจความ กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นการหน่วงเรื่องจึงต้องทำให้การวางแผนการดำเนินเรื่องต่อค่อนข้างสลับไปมาในห้วงคำนึงของตัวละครเอก ด้วยการเล่าย้อนถึงการตายของตัวละครอื่น เพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านอยากรู้ถึงความสัมพันธ์ของทุกตัวละคร หรือความต่อเนื่องของเหตุการณ์ฆาตกรรมที่เกิดขึ้นว่าแท้จริงแล้ว ใครฆ่าใคร และเพราะอะไรจึงต้องฆ่า

          จุดสุดยอดของเรื่องดำเนินมาถึง หลังจากผู้เขียนพาหวนกลับไปรับรู้เหตุการณ์นองเลือดที่หนองอีด่อนซึ่งนับเป็นช่วงกลางเรื่อง หลังจากทิ้งท้ายการหายตัวไปของชายชรา ผู้เขียนได้หวนหยิบตัวละคร ‘แดงควาย’ ที่มีบทบาทในตอนต้นมาโลดแล่นอีกครั้ง โดยการให้แดงควายกลับมายังวัดที่ตนเคยยิงสารวัตรกำนันตายคาที่ ซึ่งการกลับมาครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เหมือนพลิกฝ่ามือแทบทั้งหมด เว้นแต่นิสัยประจำตัวที่ชอบขากเสลดก่อนถ่มน้ำลาย แต่เพียงเพราะนิสัยที่แก้ไม่ได้นี้เอง ที่ทำให้พระแดงถูกยิงแสกหน้าตายคาผ้าเหลือง เพราะคนยิงเฝ้ามองและฉวยจังหวะยกปืนลั่นไก ตอนที่พระแดงก้มหน้ามายังร่องกระดานเพื่อถ่มน้ำลาย

          การคลายปมของเรื่องนี้ เป็นการนำเสนอในรูปแบบที่ให้มองภาพย้อนกลับเพื่อเชื่อมโยงแต่ละเหตุการณ์เข้าด้วยกัน โดยช่วงนี้ เริ่มจากการเปิดตัวละคร ‘เชน’ หรือลูกชายของหนูเล็ก ที่ถามหาการกลับไปเยือนบ้านย่า ซึ่งก็คือหมู่บ้านที่เกิดเหตุการณ์นองเลือดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และหนูเล็กได้ปฏิเสธ ไม่ให้ลูกชายกลับไป เพราะกลัวไป ‘ก่อเรื่อง’ เหมือนเมื่อสองปีก่อน ซึ่งจุดนี้เอง ที่ทำให้ผู้อ่านได้ย้อนกลับไปสังเกตเส้นเวลา นั่นคือสาเหตุที่ทำให้แดงควายยิงสารวัตรกำนัน เนื่องจากเพื่อนที่เพิ่งรู้จักกันโดนสารวัตรกำนันตบบ้องหู อาจตีความได้ว่าสาเหตุที่ผู้เขียนจงใจใส่คำว่าเพิ่งรู้จักกันมานั้น เป็นเพราะต้องการแสดงให้เห็นว่า เชนไม่ใช่คนในพื้นที่ เพียงแต่กลับมาเยี่ยมย่าที่หมู่บ้าน แต่หลังจากนั้น ผู้คนก็หลงลืมวัยรุ่นที่มาพร้อมกับแดงควาย เหลือเพียงแต่การเล่าขานในวินาทีที่แดงควายยิงแสกหน้าคนตายในวัด จนเป็นที่ลือกระฉ่อนในเวลาต่อมา

          บัญชา อ่อนดี เลือกใช้การลากเส้นเวลาปัจจุบันต่อเนื่องมาจากการเปิดเรื่องในการปิดเรื่อง และได้ทิ้งข้อมูลอะไรบางอย่างให้ขบคิดต่อ เช่น มีสายโทรมารายงานว่าจะมีการแถลงข่าวจับกุมมือปืนยิงพระแดงที่ตำรวจภูธรภาค 6 ซึ่งก็ทำให้คิดต่อไปได้ว่า หนองอีด่อนต้องเป็นพื้นที่ทางเขตภาคเหนืออย่างแน่นอน และอาจเป็นหมู่บ้านที่ติดกับชายแดนซึ่งห่างไกลความเจริญจึงเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาและความรุนแรงของคนในพื้นที่หนองอีด่อน

          เรื่องราวในหนองอีด่อนคือความเลวร้ายเมื่อ ห่ า ง ไ ก ล ความเจริญ เป็นการสรุปรวบยอดของแก่นเรื่องที่พยายามตีให้แตก ซึ่งความเจริญที่กล่าวไปนั้น ไม่ใช่เพียงในแง่ของวัตถุ ความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตท่านั้น หากแต่ผู้เขียนต้องการจะสื่อหรือชี้ให้เห็นถึงความเจริญทางด้านสติปัญญา การศึกษา และสภาพสังคมที่เอื้อต่อการหล่อหลอมให้คนเติบโตได้อย่างเต็มคน และการที่จะมีความเจริญได้อย่างครบถ้วนนั้น ต้องเริ่มจากการแก้ปัญหาและเข้าใจปัญหาอย่างถูกจุด แต่ความจริงที่เกิดขึ้น นั่นคือประเทศเรายังไม่มีความสามารถในการลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นสังคม ทำให้ความเจริญกระจุกอยู่แค่ในเมืองหลวง ทอดทิ้งและหลงลืมคนชายขอบที่ต้องจมอยู่กับสภาพความเป็นไปที่ขาดแคลนและแหว่งเว้า โดยเฉพาะ ‘โอกาส’ เมื่อขาดไปแล้วจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตไม่ทัดเทียมกับคนที่อยู่ในสังคมซึ่งได้รับการยอมรับมากกว่า มีคนมองเห็นมากกว่า เนื่องมาจากความเจริญที่กระจายไม่ทั่วถึงและเท่าเทียม เห็นได้ชัดจากการที่ตัวละครเอกเองก็หนีมาใช้ชีวิตในเมืองหลวง และแทบไม่ได้กลับไปเยือนบ้านเกิดที่ยังคงสาบกลิ่นคาวเลือดไม่จางหาย

          ตัวละครในหนองอีด่อนแทบจะทุกคน ล้วนขาดโอกาสทางการศึกษา เมื่อไม่ได้เรียนหนังสือขาดความรู้ จึงอาศัยทำไร่ทำนาตามวิถีที่พ่อแม่พาทำ และพื้นที่ซึ่งไกลปืนเที่ยงนั้นย่อมขาดความสุนทรียะในชีวิต ความบันเทิงเดียวที่พอทำได้คือการปล่อยให้ร่างกายได้ลุ่มหลงไปกับสารเสพติดและของมึนเมา เช่น กัญชา ยาเสพติด และเหล้าเถื่อน ซึ่งพอจะเป็นที่พึ่งหรือเป็นการได้ปลดแอกตนเองจากพันธนาการความเหนื่อยล้าที่ต้องเจอในแต่ละวันได้ หากสังเกตภายในเนื้อเรื่อง จะมีการย้ำวลีที่ว่า ‘แค่นี้ แค่นี้จริง ๆ’ก่อนที่จะมีการลงมือฆ่าคนได้ง่ายดายเหมือนผักปลาอย่างไม่ลังเล เมื่ออีกฝ่ายมีเรื่องที่ทำให้ตนขุ่นข้องหมองใจ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้คนในหนองอีด่อนมีอารมณ์ที่รุนแรง เป็นเพราะในร่างกายมีของที่ขัดต่อความเจริญทางใจหรือบดบังสติและค่อย ๆ ลดทอนจิตใต้สำนึกของความเป็นมนุษย์อย่างไม่รู้ตัวและไม่รู้ทันอารมณ์ตนเอง

          ไม่ต่างอะไรนักจากคนในสังคมที่เห็นในข่าวอยู่บ่อยครั้ง เพราะตกเป็นทาสของอารมณ์ ใช้อารมณ์ ความรู้สึกอยู่เหนือทุกสิ่งจนไม่สามารถยับยั้งหรือฉุกคิดก่อนกระทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายคนอื่นอย่างไร้ความปรานี การฆ่าคนตายอย่างเลือดเย็น หรือการกล่าวโทษเหยื่อที่ถูกกระทำ โดยไม่มองถึงแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ ที่ต้องให้ความเคารพซึ่งกันและกันโดยไม่มีข้อยกเว้น ยกตัวอย่างจากกรณีที่ผู้เขียนบรรยายว่า ชาวบ้านหลงลืมวัยรุ่นคนนั้น ทั้ง ๆ ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำก่อน หรือหากเกิดความขุ่นข้องหมองใจ ก็ควรใช้การเจรจาอย่างมีเหตุผล เพราะแม้แต่การทำสงครามระดับโลก ต้องสูญเสียประชากรมากเท่าไร สุดท้ายแล้ว สงครามก็ยุติลงด้วยการเจรจาและการสร้างข้อตกลงที่จะอยู่ร่วมกัน

หนองอีด่อน จึงเสมือนภาพจำลองของสังคมที่มีปัญหาและความรุนแรงสาดกระเซ็นทั่วทุกตารางนิ้ว ทั้งนี้ทั้งนั้น หากยังไม่สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และไม่มีการจัดการปัญหา หรือส่งเสริมสวัสดิการในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ทัดเทียมกัน ยังมีการแบ่งชนชั้น ลดทอนคุณค่าและเขี่ยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกจากเขตแดนแห่งความเสมอภาคและความเจริญที่เสมอกันแล้ว ย่อมเป็นสังคมชนชั้นที่ไร้ซึ่งความมั่นคงและเป็นปึกแผ่น สังคมจะว่ายข้ามไม่พ้นทะเลน้ำตาแห่งความสูญเสีย และไม่มีวันที่จะชะล้างคราบเลือดที่ยังเขรอะคลุมทั้งชายขอบได้หมดจรด อย่างดีก็เพียงแต่ซุกปัญหาไว้ใต้พรหมและหลอกตัวเองไปวัน ๆ ว่าชีวิตดีแล้ว โดยไม่ฉุกคิด ว่าชีวิตของทุกคนสามารถดีขึ้นได้อีก และสามารถดีขึ้นไปด้วยกันโดยไม่หลงลืมใครสักคนไว้ใน ห น อ ง อี ด่ อ น

หมายเลขบันทึก: 687851เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2020 22:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2020 23:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท