“เมื่อนายต้องใช้ชีวิตอยู่ในหลุม...ทางเดียวที่นายจะไปต่อได้คือปีนกลับขึ้นมา...!”


“เมื่อนายต้องใช้ชีวิตอยู่ในหลุม...ทางเดียวที่นายจะไปต่อได้คือปีนกลับขึ้นมา...!”

วิเคราะห์ หลุม โดย หลุยส์ ซาซาร์

  ‘Holes’ ได้รับรางวัลวรรณกรรมเยาวชนชนะเลิศ ของ National Book Award [1]for Young People ในปี 1998 และได้รับเหรียญ Newbery Medal ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานวรรณกรรมเยาวชนที่โดดเด่นอย่างมากในปี 1999 ต่อมาในปี 2003 ทาง Walt Disney Pictures ได้นำวรรณกรรมเรื่องนี้ไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน ซึ่งได้รับเสียงวิจารณ์ด้านบวกจากนักวิจารณ์อย่างล้นหลาม และกวาดรายได้รวมไปกว่า 71 ล้านดอลลาร์ พร้อม ๆ กับการปล่อยตัวหนังสือภาคต่อที่เกี่ยวกับ การเอาชีวิตรอด ของ สแตนลีย์ เยลแนตส์ ในปี 2006 ต่อมาในปี 2012 ยังได้รับเลือกให้เป็นอันดับ 6 วรรณกรรมเยาวชนที่อยู่ในใจเสมอมาจากผลสำรวจของ School Library Journal

         

โครงเรื่องใหญ่

          “หลุม” เป็นหนังสือที่มีพล็อตเรื่องซับซ้อนและคาแรคเตอร์ตัวละครน่าสนใจ ดำเนินเรื่องโดยนำเสนอเนื้อหาเป็นบท ใช้ภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย โดยใช้การบรรยายโวหารเป็นส่วนมาก ทำให้เรื่องราวดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ผู้เขียนต้องการสื่อในเรื่องสิทธิมนุษยชน [2] กระบวนการยุติธรรมที่บกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับคนจน นำเสนอเรื่องราวผ่าน “สแตนลีย์ เยลแนตส์” ผู้เป็น “แพะรับบาป” เพราะการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ที่ล่าช้า          

          สแตนลีย์ ตัวละครที่ฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน ไม่มีเงินไปจ้างทนายความมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของลูกชายอย่าง สแตนลีย์ ทำให้ได้รับโทษในความผิดที่ตนเองไม่ได้กระทำ จึงถูกผู้พิพากษาตัดสินว่าทำความผิด และถูกส่งตัวไปยังค่ายกรีนเลค ค่ายกักกันเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด โดยไม่มีการตรวจสอบอย่างถูกต้องและเที่ยงธรรม

          ค่ายกรีนเลค เป็นสถานพินิจเด็กและเยาวชน เด็กที่ทำความผิดในรัฐเท็กซัส จะถูกส่งตัวมายังค่ายนี้ เพื่อเป็นการขัดเกลาพฤติกรรม แต่ในความเป็นจริงเป็นการหาผลประโยชน์จากการใช้แรงงานเด็ก โดยที่ผู้ใหญ่ใช้อำนาจข่มเหงรังแก เพื่อประโยชน์ส่วนตัว

          สแตนลีย์ ถูกลงโทษเหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ ในค่าย โดยการขุดหลุม กว้าง 5 ฟุต ลึก 5 ฟุต ทุกวัน วันละหลุม “แกต้องขุดหลุม วันละหลุมทุกวัน รวมทั้งวันเสาร์-อาทิตย์ หลุมแต่ละหลุม ต้องมีขนาดลึก 5 ฟุต กว้าง 5 ฟุต เท่ากันทุกด้าน พลั่วประจำตัวของแกเอาไว้ใช้วัดขนาดหลุมได้ ส่วนอาหารเช้าคือเวลาตี 4 ครึ่ง” (หน้า 17)  จากประโยคที่คุณท่านพูดกับสแตนลีย์ แสดงให้เห็นถึงการใช้แรงงานเด็ก กล่าวคือการว่าจ้างแรงงานเด็ก กฎหมายการว่าจ้างแรงงานเด็กของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา ถูกตราขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อผู้เยาว์ทำงาน งานดังกล่าวจะต้องปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต่อชีวิตความเป็นอยู่ หรือต่อโอกาสทางการศึกษา บทบัญญัติเหล่านี้ มีข้อยกเว้นที่จำกัดด้วยเช่นกัน คือ ผู้เยาว์ที่มีอายุระหว่าง 14 - 15 ปี อาจทำงานที่ไม่เป็นอันตรายนอกเวลาเรียนได้โดยงานเหล่านั้นมีชั่วโมงทำงานไม่มากกว่า 3 ชั่วโมง ในวันที่โรงเรียนเปิด และ 18 ชั่วโมง ในวันที่โรงเรียนปิด มีชั่วโมงทำงาน 8 ชั่วโมงในวันที่โรงเรียนปิด หรือ 40 ชั่วโมงในสัปดาห์ที่โรงเรียนปิด อ้างอิงจาก ระบบการศึกษาของอเมริกา ช่วงที่ 1 Grade 1 - 6 ระดับประถมศึกษา (ELEMENTARY SCHOOL) เด็กอเมริกันจะเริ่มเรียนอย่างจริงจังเมื่ออายุ 6 ปีบริบูรณ์ ซึ่งหมายความว่าสแตนลีย์เป็นเด็กอายุไม่ถึง 13 ปี เพราะเขาศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย  “ตอนที่อยู่บ้าน สแตนลีย์ไม่มีเพื่อนเลย เขาเป็นเด็กอ้วนที่น้ำหนักเกินพิกัด เพื่อนที่โรงเรียนประถมปลายชอบล้อเลียนเขาเรื่องรูปร่างอยู่บ่อย ๆ” (หน้า 9)

          สแตนลีย์ ถูกลงโทษโดยการใช้แรงงานให้ขุดหลุมเยี่ยงทาส สแตนลีย์จะได้รับข้าวเช้าตอน 4 นาฬิกา 30 นาที และไม่ได้พักหากขุดหลุมไม่เสร็จ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก Convention on the Rights of the Child (CRC) CRC ที่ได้กล่าวว่า

          - การคุ้มครองเด็กจากการถูกเลือกปฏิบัติ การถูกละเลย หรือการถูกละเมิด

          - ครอบคลุม ทั้งสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมืองสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

          - โดยได้ยึดหลักพื้นฐานของเด็ก 4 ประการ ได้แก่หลักการไม่เลือกปฏิบัติ หลักประโยชน์สูงสุดของเด็กสิทธิในการมีชีวิต การอยู่รอด และการพัฒนา และสิทธิ ในการแสดงความคิดเห็น (ร่างกฎหมายมนุษยชนนานาชาติ)

          นอกจากละเมิดสิทธิมนุษยชนของสแตนลีย์แล้ว วรรณกรรมเรื่องหลุมยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของซีโร ในกระบวนการยุติธรรมที่มีการลบข้อมูลทางการเกี่ยวกับประวัติส่วนบุคคลของซีโรทิ้ง “ผมไม่คิดว่าผมจะลบข้อมูลของทางการได้หมด” คุณเพนดาลสคีบอก “มัมนมีข้อมูลอ้างอิงเชื่อมโยงกันหลายส่วน แต่ผมคงพอทำได้ แค่ว่าถ้าใครพยายามจะหาบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับมันก็คงยกลำบากหน่อย แต่อย่างที่ผมบอก ไม่มีใครเคยหาข้อมูลของมันหรอก ไม่มีใครใส่ใจกับเฮกเตอร์ ซีโรนี” (หน้า 165)  เห็นได้จาก

สิทธิในกระบวนการยุติธรรม(ม.44)

          - หลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่องการได้รับพิจารณาคดี การพิจารณาโดยเปิดเผย โอกาสในการต่อสู้คดี การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการการ และการ คัดหรือทำ  สำเนาคำพิพากษา คำวินิจฉัย หรือ คำสั่งอันเป็นการชี้ขาดคดี

          - ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย และพยาน ในคดีอาญาได้รับความคุ้มครองและความช่วยเหลือ (ร่างกฎหมายมนุษยชนนานาชาติ)

          วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “หลุม” ไม่ได้แสดงการละเมิดแค่สิทธิมนุษยชนของเด็ก และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม แต่ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ สีผิว จากประโยค “มันผิดกฎหมายถ้านิโกรจูบผู้หญิงผิวขาว” “มันไม่ผิดกฎหมายที่คุณจะจูบเขา” นายอำเภออธิบาย “แต่ผิด ถ้าเขาจูบคุณ” “มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันในสายตาพระผู้เป็นเจ้า” เธอประกาศ (หน้า 132)  ที่ผู้เขียนอาจจะสื่อว่า การที่ผู้หญิงผิวขาวไปจูบคนผิวสีเป็นเรื่องที่ไม่ผิด อาจบ่งบอกถึงความเป็นชาตินิยมของชาวอเมริกันในสมัยก่อน ที่ถือตัวเองว่ามีอำนาจเหนือกว่าชาวผิวสี แสดงให้เห็นถึงการเยียดเชื้อชาติ และสีผิวของชาวอเมริกันในสมัยก่อน และจากอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination (CERD) CERD

          - ขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ การจำแนก การกีดกัน การจำกัด หรือการเอื้ออำนวยพิเศษเพราะเชื้อชาติ สีผิว เชื้อสาย หรือชาติกำเนิดหรือเผ่าพันธุ์

          - การประกันสิทธิอันเท่าเทียมกันของบุคคลภายใต้กฎหมาย ทั้งในด้านสิทธิพลเมืองสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การเยียวยาเมื่อถูกละเมิด (ร่างกฎหมายมนุษยชนนานาชาติ)

          จากเหตุการณ์ที่ แซม ชาวนิโกรไปจูบกับ แคเทอรีน ชาวอเมริกันที่มีผิวขาว แซมจึงถูกยิงตาย จากเหตุการณ์ในอดีตครั้งนี้เป็นการผูกปมทำให้มีขุดหาสมบัติที่สถาพินิจเด็กและเยาวชนค่ายกรีนเลก โดยใช้ค่ายกรีนเลกมาหลอกว่าเป็นการขัดเกลาพฤติกรรม ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับตัวละครหลัก สแตนลีย์ ที่จะต้องขุดหลุมเพื่อหาสมบัติให้กับคุณท่าน ไม่ใช่เพื่อการขัดเกลาพฤติกรรม จากเหตุการณ์ของแซมเป็นการสร้างปมสำคัญเพื่อให้เรื่องราวดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบันของสแตนลีย์ที่ถูกลงโทษให้ขุดหลุมในค่ายกรีนเลก จากเหตุการณ์นี้สร้างปมปัญหาต่าง ๆ ให้สแตนลีย์ได้ค้นหาความจริงว่าทำไมต้องขุดหลุม และรู้ความจริงว่าแคเทอรีน คือโจรนักจูบ เคท บาร์โลว์ ที่เป็นคนปล้นรถม้าทวดของเขา ที่เป็นเหตุให้ครอบครัวของเขายากจน

          ผู้เขียนอาจต้องการสื่อให้เห็นว่าพวกเรามักละเลยความสำคัญของสิทธิมนุษยชน เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดที่อยู่บนพื้นฐานเรื่องความมีศักดิ์ศรี ความยุติธรรม ความเท่าเทียม ความเคารพ และความเป็นอิสระ สิทธิมนุษยชนนั้นถูกละเมิดตลอดเวลา ยังมีคนนับพันทั่วโลกที่ไม่ได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และถูกจำคุกเพียงเพราะความคิดหรือความเชื่อบางอย่าง ในบางครั้ง เด็ก ๆ ถูกบังคับ ข่มเหง ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนบุคคล เราจึงไม่ควรละเลยความสำคัญของสิทธิมนุษยชน เพื่อที่เราจะได้เอาผิดและดำรงความยุติธรรม เมื่อถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

โครงเรื่องย่อย

          นอกจากเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เป็นโครงเรื่องใหญ่แล้ว “หลุม” ยังมีโครงเรื่องย่อยที่สนับสนุนโครงเรื่องใหญ่ทำให้เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างเข้มข้นและสมบูรณ์ขึ้น ในเรื่อง “หลุม” ได้กล่าวถึงเรื่องการศึกษา จะเห็นได้ในเรื่องได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา ครอบครัวของตัวละครหลัก อาจไม่ได้รับการศึกษาเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งอาจมาจากเพราะมีฐานะยากจน จึงไม่สามารถจ้างทนายได้ พ่อแม่ของเขาไม่มีปัญญาจ้างทนายความ “ลูกไม่จำเป็นต้องใช้ทนายความหรอก” แม่เคยบอกเขาอย่างนั้น “ขอแค่พูดความจริง” (หน้า 30)  จึงทำให้ไม่มีความรู้ในด้านกฎหมายมีส่วนทำให้สแตนลีย์ได้รับโทษโดยไม่ได้รับความยุติธรรม แต่ครอบครัวก็ได้มองเห็นถึงความสำคัญทางการศึกษา และได้ส่งเสียสแตนลีย์ให้ได้รับการศึกษา เมื่อสแตนลีย์เข้าไปอยู่ในค่ายกรีนเลก สแตนลีย์ก็ได้แสดงศักยภาพทางการศึกษาโดยการสอนหนังสือให้กับซีโร “เราจะพยายามสอนนายอ่านหนังสือถ้านายอยากหัด” “เราไม่รู้หรอกว่าเราสอนเป็นหรือเปล่า” (หน้า 112)  จะเห็นได้ว่าซีโรไม่ได้รับการศึกษา ทำให้อ่านหนังสือไม่ออก เขาเลยไม่รู้ว่ารองเท้าที่เขาหยิบมาเป็นของไคลด์ ลิฟวิงสตัน ที่นำมาบริจาคเพื่อนำมาประมูลและมีมูลค่ามหาศาล “เราไม่รู้ว่ามันเป็นรองเท้าของเขา นึกแค่ว่าเป็นรองเท้าเก่าของใครสักคน…เราไม่รู้หรอกว่ามันเป็นของคนดัง มันอาจมีป้ายบอกอยู่ แต่แหงละ เราอ่านหนังสือไม่ออก” (หน้า 209)

          “หลุม” ได้กล่าวถึงการแบ่งชนชั้นอย่างชัดเจน ในตอนที่สแตนลีย์ให้การว่าไม่ได้เป็นคนขโมยรองเท้า แต่รองเท้าตกลงมาจากฟ้า ทุกคนคิดว่าเขาพูดโกหก เพราะไม่น่ามีความเป็นไปได้ที่รองเท้าจะตกมาจากฟ้า “ไม่มีใครเชื่อเมื่อเขาบอกว่าไม่ได้เป็นคนขโมยรองเท้า แต่พอเขาบอกว่าเป็นคนขโมยก็ไม่มีใครเชื่ออยู่ดี” (หน้า 27) จะเห็นได้ว่าคำให้การของสแตนลีย์ไม่มีน้ำหนักในชั้นศาล ต่างจากคำให้การของไคลด์ ลิฟวิงสตัน ที่เป็นนักเบสบอลชื่อดังในอเมริกัน ที่ให้การว่าสแตนลีย์เป็นคนขโมยรองเท้า นั่นเป็นอีกสาเหตุที่ส่งผลให้สแตนลีย์ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจริงและถูกส่งตัวไปยังค่ายกรีนเลก และในค่ายกรีนเลก มีการแบ่งชนชั้นตั้งแต่ชนชั้นผู้คุม ที่จะเห็นได้ว่ามีอิทธิพลเหนือผู้อื่น “และคราวต่อไปที่ฉันบอกให้คุณทำอะไรหวังว่าคุณจะทำตามโดยไม่ต้องมาตั้งข้อสงสัยอะไรกับคำสั่งของฉันอีก ถ้าการเติมน้ำใส่กระติกเป็นเรื่องลำบากนัก ฉันจะเอาพลั่วให้คุณ คุณไปขุดหลุมก็ได้ และให้เคฟแมนเป็นคนเติมน้ำใส่กระติกของคุณแทน”(หน้า 80) เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่ามีการแบ่งชนชั้นระหว่างคุณท่านหรือคุณเพนดานสกี ที่มีอำนาจมากที่สุดในค่ายกรีนเลกจะปฏิบัติต่อผู้คุมหรือคนอื่น ๆ ที่อยู่ในค่ายอย่างไรก็ได้ อีกประเด็นสำคัญในเรื่องที่ให้เห็นการแบ่งชนชั้นก็คือการแบ่งชนชั้นของเด็กในค่ายกรีนเลก จะมีคนที่มีอำนาจสูงสุดหรือเป็นหัวหน้าของกลุ่ม คือ เอกซเรย์ คอยสั่งการให้คนอื่นทำตามที่ตนต้องการ ทั้งการเลือกที่นอน การต่อแถวรับน้ำ “ไม่ว่าใครจะมาถึงเป็นคนแรก แต่เอกซเรย์ต้องอยู่หัวแถวเสมอ” (หน้า 60) “สแตนลีย์ไม่แน่ใจว่าควรตอบว่าอย่างไร มันชัดเจนว่าเอกซเรย์เป็นผู้นำของกลุ่ม และสแตนลีย์ไม่อยากทำให้เขาไม่พอใจ” (หน้า 63) “ยิ่งคิดถึงเรื่องนี้มากเท่าไร เขาก็ยิ่งดีใจที่ตบปากรับคำยอมให้เอกซเรย์ได้ของทุกอย่างที่เขาขุดเจอ เพื่อการอยู่รอดต่อไปในค่ายกรีนเลก” (หน้า 64) แสดงให้เห็นว่าที่แสตนลีย์ต้องยอมทำตามคำสั่งของเอ็กซเรย์ก็เพื่อการอยู่รอดในค่าย เพราะไม่อยากมีปัญหากับคนที่มีอำนาจมากที่สุดในกลุ่ม การจะอยู่ในสังคมที่มีการแบ่งชนชั้นต้องมีความอดทน ในเรื่องจะให้เห็นถึงความอดทนในด้านต่าง ๆ “แกรู้ไหมว่าทำไมแกถึงต้องขุดหลุม เพราะมันเป็นประโยชน์ต่อแก มันเป็นบทเรียนของตัวแกเอง” “คงเป็นอย่างนั้น” สแตนลีย์พึมพำแม้เขาจะรู้แล้วว่าเขาไม่ได้ขุดหลุมเพื่อเรียนรู้อะไรหรอก แต่ผู้คุมกำลังพยายามขุดหาอะไรบางอย่าง (หน้า 159) แม้ว่าสแตนลีย์จะรู้ว่าไม่ได้ขุดเพื่อปรับปรุงพฤติกรรม แต่ก็ยังอดทนขุดต่อไปเพราะไม่มีทางเลือก และในตอนที่ขุดหลุม สแตนลีย์ต้องใช้ความอดทนสูงที่จะขุดไปในดินที่แห้งผาก และสภาพอากาศที่ร้อนมากในทุก ๆ วัน การแก้ปัญหา สแตนลีย์เป็นเด็กที่มีทักษะการแก้ปัญหาที่ดี จึงทำให้มีชีวิตรอดในทะเลทราย “เขาขุดลึกลงไปอีก และดูเหมือนจะมีน้ำผุดเพิ่มขึ้นมา เขามองไม่เห็น แต่สัมผัสได้” (หน้า 196) ในตอนที่สแตนลีย์หนีออกมาจากค่ายกรีนเลก เขาสามารถเอาชีวิตรอดมาจนถึงตอนที่เดินทางมาเจอแหล่งน้ำที่ภูเขา

          ในเรื่องได้พูดถึงความเชื่อในเรื่องคำสอนของศาสนาคริสต์ “แล้วพอเขามีอาการดีขึ้น เขาเคยบอกไหมว่าหัวอม่มือของพพระเจ้าหมายความว่าอะไร หรือเล่าไหมว่าทำยังงถึงรอดชีวิตมาได้”“ในความคิดของสแตนลีย์ มีฟ้าแลบออกมาจากหัวแม่มือ ราวกับมันเป็นหัวแม่มือของพระเจ้า” (หน้า 148) จากข้อความจะเห็นได้ว่าได้มีการพูดถึงพระเจ้า ซึ่งเป็นความเชื่อของศาสนาคริสต์ที่ชาวอเมริกันส่วนมากนับถือ และได้มีการพูดถึงเกี่ยวกับคำสาปตลอดทั้งเรื่อง ที่เป็นคำสาปตกทอดของตละกูลสแตนลีย์ จึงทำให้ครอบครัวของสแตนลีย์มีความเชื่อว่าความโชคร้ายทั้งหมดที่พบเจอและความยากจนมาจากคำสาปที่ทวดของตละกูลได้ก่อไว้ “แม่ของสแตนลีย์มักบอกอยู่บ่อย ๆ เมื่อสแตนลีย์กับพ่อรู้สึกท้อถอยและเริ่มเชื่อเรื่องคำสาปแช่ง” ผู้เขียนได้สอดแทรกความรู้และสรรพคุณของหัวหอมไว้ในเรื่อง จะเห็นได้ว่าในเรื่องได้กล่าวถึงสรรพคุณของหัวหอมในบางช่วงซึ่งสัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง “เขาบอกว่าหัวหอมมีประโยชน์สารพัดทั้งต่อระบบย่อยอาหาร ตับ ท้อง ปอด หัวใจ ไปจนถึงสมอง” (หน้า 125) “เราว่าคงประมาณหนึ่งอาทิตย์” สแตนลีย์บอก “และเรากินหัวหอมเฉลี่ยนคนละยี่สิบหัวต่อวัน” (หน้า 213) เนื้อเรื่องมีความสัมพันธ์กัน เพราะในอดีตแซมได้กล่าวถึงประโยชน์ของหัวหอมว่ามีสรรพคุณช่วยรักษาโรคมากมาย “จำให้ขึ้นใจ” แซมบอกสามหนุ่มก่อนพวกเขาจะแยกไป “มันสำคัญมากที่ต้องดื่มหนึ่งขวดตอนกลางคืน คุณต้องให้มันซึมเข้ากระแสเลือด พวกกิ้งก่าไม่ชอบเลือดที่มีหัวหอมปนอยู่” (หน้า 255) หัวหอมทำให้สแตนลีย์มีชีวิตรอดในตอนท้ายของเรื่อง

          นอกจากนั้นในเรื่องยังมีการบูลลี่เกิดขึ้น “ตอนอยู่ที่บ้าน สแตนลีย์ไม่มีเพื่อนเลย เขาเป็นเด็กอ้วนที่น้ำหนักเกินพิกัด เพื่อนที่โรงเรียนประถมปลายชอบล้อเลียนเขาเรื่องรูปร่างบ่อย ๆ แม้กระทั่งบรรดาครูที่สอนเขา” (หน้า 9)  “เขาแทบจำครั้งสุดท้ายที่รู้สึกมีความสุขไม่ได้เลย ไม่ใช่เพราะการถูกส่งตัวมาที่ค่ายกรีนเลกหรอกที่ทำให้ชีวิตขิงเขาตกทุกข์ได้ยาก ก่อนหน้านั้นเขาก็แทบจะไม่มีความสุขเลยเวลาที่อยู่โรงเรียน ที่ที่เขาไม่มีเพื่อนเลยสักคน และเจ้าอันธพาลอย่างเดอร์ริก ดันน์ ก็คอยแต่จะแกล้งเขา” แสดงให้เห็นว่าสังคมรอบข้างสแตนลีย์ทำให้เขารู้สึกไม่ชอบตัวเองและไร้ค่า เกิดเป็นปมในใจ แต่เมื่อเขามาเจอกับซีโรเขาเริ่มรู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเองและมีความสุขมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงมิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างสแตนลีย์กับซีโร เพราะทั้งสองคนได้เรียนรู้และใช้ชีวิตร่วมกันตั้งแต่อยู่ในค่ายกรีนเลก ร่วมฝ่าฟันปัญหาต่าง ๆ จนสามารถเอาชีวิตรอดได้ในที่สุด

          จากที่กล่าวมานั้นโครงเรื่องในวรรณกรรม “หลุม” มีโครงเรื่องใหญ่ที่พูดถึงเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้เขียนได้เล่าเรื่องราวผ่านตัวละครใหญ่ สแตนลีย์ ที่ครอบครัวฐานะยากจน ทำให้ไม่ได้รับความยุติธรรมให้ชั้นศาล เป็นเหตุให้ต้องไปปรับปรุงพฤติกรรมในค่ายกรีนเลก ค่ายที่มีเบื้องหลังในการใช้แรงงานเด็กให้ขุดหลุมเพื่อหาสมบัติ และได้สอดแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษา การแบ่งชนชั้น ความเชื่อ ความรู้เกี่ยวกับหัวหอม ความอดทน การแก้ปัญหา และการเอาตัวรอด โครงเรื่องย่อยก็คือโซ่เล็กหนึ่งวงที่สอดร้อยเข้าด้วยกันกับโซ่เล็ก ๆ วงอื่นรวมเป็นโครงเรื่องใหญ่ คือโซ่ทั้งสายนั่นเอง

ตัวละคร

ตัวละครเอก

          สแตนลีย์ ตัวละครหลักที่เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินเรื่อง เป็นตัวะครที่มีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ สแตนลีย์เป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจ คิดว่าตัวเองไม่มีค่า แต่เมื่อมาเจอซีโร เขารู้สึกว่าตัวเขามีค่า และมั่นใจในตัวเอง สแตนลีย์เป็นคนที่เชื่อฟังผู้ใหญ่ เขาเป็นเด็กดีของพ่อแม่ เมื่อแม่บอกอะไร เขาก็ทำตาม พ่อแม่ของเขาไม่มีเงินจ้างทนาย และเพียงบอกให้เขาพูดความจริง เขาก็เชื่อฟัง สแตนลีย์มีความอดทน เขาอดทนต่อการโดนดูถูก อดทนในตอนที่ต้องขุดหลุมในค่าย อดทนที่จะมีชีวิตรอดในทะเลทราย เขาเป็นเด็กที่มีทักษะการแก้ปัญหา จนสามารถเอาชีวิตรอดมาได้ มีความซื่อสัตย์ ในตอนที่เขาถูกจับ แม่บอกให้เขาพูดความจริง และเขาก็ได้พูดความจริง และเมื่อรับปากกับใครแล้วเขาก็จะตามคำสัญญานั้น ในตอนที่เขารับปากกับเอกซเรย์ว่าเมื่อขุดเจออะไรที่น่าสนใจเขาจะมอบให้กับเอกซเรย์ และเมื่อเขาขุดเจอเขาก็ได้มอบให้ตามที่รับปาก นอกจากนั้นสแตนลีย์ยังเป็นคนที่เสียสละ ขี้เกรงใจ และเป็นคนมีน้ำใจ เขาช่วยสอนหนังสือให้กับซีโรอย่างเต็มที่ ในตอนที่ใช้ชีวิตในทะเลทรายเขามักจะเกรงใจซีโร และเสียสละให้ซีโรดื่มน้ำก่อน และคอยช่วยเหลือซีโรมาตลอด ๆ

          เฮกเตอร์ ซีโรนี หรือซีโร  ตัวละครที่ไม่ได้เห็นมาตั้งแต่ตอนแรก แต่มีบทบาทค่อนข้างมากในการใช้ชีวิตกับตัวละคร สแตนลีย์ ซีโร เป็นตัวละครที่ทำให้สแตนลีย์มีพัฒนาการที่ดีขึ้น มีความมั่นใจ รู้สึกมีค่า เพราะมิตรภาพของทั้งสองที่มีให้กัน ซีโรเป็นเด็กที่ค่อนข้างเชื่อฟังแม่ เมื่อตอนเป็นเด็กแม่บอกอะไรเขาก็ทำตาม บอกให้รอเขาก็นั่งรอ มาถึงจุดเปลี่ยนชีวิต ที่เขานั่งรอและแม่เขาไม่กลับมา ซีโรเป็นเด็กอีกหนึ่งคนในค่ายกักกันที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสแตนลีย์ เขาเป็นคนขโมยรองเท้าและเขายอมรับผิดในตอนท้ายว่าเขาเป็นคนขโมย ซีโรเป็นคนที่อดทน ร่วมใช้ชีวิตในทะเลทรายกับสแตนลีย์ เขาคอยช่วยเหลือและช่วยดูแลตลอดการใช้ชีวิตในทะเลทราย ซีโรเป็นเด็กที่ใฝ่เรียน เขาอ่านหนังสือไม่ออก แต่ก็มีความตั้งใจที่จะอ่านหนังสือให้ออกจึงขอให้สแตนลีย์ช่วยสอน และจดจำอย่างตั้งใจ

ตัวละครประกอบ

          พ่อสแตนลีย์ พ่อของสแตนลีย์เป็นนักประดิษฐ์ เขาเป็นคนที่มีความตั้งใจและไม่ท้อแท้ เขาตั้งใจทดลอง เมื่อเกิดความท้อ แต่เขาไม่เคยล้มเลิกความตั้งใจจนสามารถทดลองผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นได้สำเร็จ

          แม่สแตนลีย์ เป็นคนที่ค่อนข้างมีความเป็นแม่ในตัวสูง เขาอบรมสั่งสอนลูกได้ค่อนข้างดี และค่อนข้างมั่นใจในตัวลูก เขาเชื่อมั่นในตัวลูกชายว่าไม่ได้ขโมยรองเท้าและบอกให้ลูกพูดความจริง และเมื่อลูกถูกส่งตัวไปอยู่ค่ายกรีนเลก ความเป็นแม่ที่เป็นห่วงลูกก็บอกให้ลูกเขียนจดหมายมาหา เขาทำหน้าที่ภรรยา และแม่ได้ค่อนข้างสมบูรณ์ แม้ว่าจะอยู่ในฐานะที่ยากจน เมื่อมีคนมาช่วยทดลองผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นแม่ของสแตนลีย์ก็เล่าเรื่องที่ลูกถูกส่งตัวไปค่ายกรีนเลก จนเขาช่วยพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของลูกชายและได้รับความยุติธรรมในที่สุด

          ไคลด์ ลิฟวิงสตัน เป็นเจ้าของรองเท้าที่นำไปบริจาคและถูกขโมย เขาอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องราวต่าง ๆ และเป็นคนที่ให้การกับตำรวจว่าสแตนลีย์เป็นคนขโมยรองเท้า

          ผู้คุม เป็นคนที่คอยดูแลเด็ก ๆ ในค่ายกักกัน และคอยรับใช้คุณเพนดานสกีตามความต้องการ เขาเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความอดทน เมื่อเขาถูกคุณเพนดานสกีด่าว่า เขาก็มักจะมาลงกับเด็ก ๆ ในค่ายกักกัน

          คุณวอล์คเกอร์หรือคุณเพนดานสกี เป็นผู้ดูแลที่มีความความโลภสูง เขาให้เด็กมาขุดเพื่อปรับปรุงพฤติกรรมบังหน้าการขุดหาสมบัติเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของตนเอง เป็นคนที่ไม่มีมนุษยธรรม ไม่สนใจผู้อื่น หวังแค่สิ่งที่ตนเองต้องการ

          เอกซเรย์ อาร์มพิต แม็กเน็ต ซิกแซ็ก เพื่อนในค่ายทั้งหมด เพื่อน ๆ ในกลุ่ม D ในค่ายกักกัน มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้เรื่องสมจริงและดำเนินไปได้อย่าต่อเนื่อง เป็นคนที่ต้องขุดหลุม เหมือน ๆ กับสแตนลีย์ จะมีคนที่เป็นหัวหน้า ก็มักจะได้สิทธิพิเศษต่าง ๆ คนที่อยู่เฉย ๆ ไม่ออกความคิดเห็น และคนที่เป็นผู้น้อยที่สุดในกลุ่ม จะทำตามคำสั่งของคนที่เป็นหัวหน้ากลุ่ม

          แคเทอรีน เป็นบุคคลในอดีตที่ค่อนข้างมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องราว เขาเป็นคนที่มีส่วนทำให้ตระกูลของสแตนลีย์ต้องยากจน เพราะเป็นคนที่ปล้นกระเป๋าของตระกูลสแตนลีย์ จากความแค้นส่วนตัวที่ต้องสูญเสียคนรัก

          แซม แซมเป็นบุคคลในอดีตที่มีบทบาทในการให้ความรู้เรื่องหัวหอม

          มอเร็งโก อัยการสูงสุด เขาเป็นคนที่ยึดมั่นในความถูกต้อง มีความรู้ และมีจิตใจดี เขาช่วยพ่อของสแตนลีย์เกี่ยวกับเรื่องการทดลอง แต่เมื่อพ่อและแม่สแตนลีย์เล่าเรื่องราวของสแตนลีย์ให้ฟัง เขาก็ได้ช่วยเหลือจนรู้ความจริงว่าสแตนลีย์ไม่ได้ขโมยรองเท้า และยังช่วยเพื่อนของสแตลีย์ให้ออกจากค่ายกักกันได้ และปิดค่ายกักกันนั้นลง

แนวคิดของเรื่องหรือแก่นเรื่อง

          ทัศนะที่ผู้แต่งมีต่อวรรณกรรมเรื่อง หลุม คือ ผู้แต่งมีจุดมุ่งหมายจะให้ผู้อ่านเข้าใจชีวิตเพิ่มขึ้นมากกว่าการที่จะได้รับความเพลิดเพลินอย่างเดียว สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ แก่นเรื่องที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ คือ การแก้ปัญหา ทุกคนมักต้องเจอกับปัญหาไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เราเป็นคนสร้างขึ้นมาหรือแม้กระทั่งปัญหาที่เราไม่ได้สร้าง เมื่อเราต้องเผชิญกับปัญหานั้นแล้ว เราต้องแก้ปัญหาให้ได้ด้วยตนเอง เปรียบเหมือนกับหลุม ไม่ว่าจะเป็นหลุมที่เราขุดเองหรือไม่เราไม่ได้ขุด เมื่อเราตกลงไปในหลุมแล้วเราต้องหาวิธีปีนขึ้นมาจากหลุมให้ได้ ทุกครั้งที่ปีนขึ้นมา หรือเมื่อเราผ่านปัญหาไปได้เราก็จะแข็งแกร่งและเติบโตขึ้น และผู้เขียนยังสอดแทรกเรื่องครอบครัวที่เป็นส่วนสำคัญให้ตัวละครเติบโตไปในทางที่ดี และเป็นแบบอย่างในความเข้มแข็งไม่ท้อถอย เป็นกำลังใจที่ดีให้กับตัวละคร เพราะเด็กทุกคนต้องการความอบอุ่น ต้องการครอบครัวที่ดีในการบ่มเพาะให้เติบโตไปเป็นคนที่มีคุณภาพ

         

บทสนทนา

          ในเรื่องใช้เป็นภาษาปาก ใช้คำที่เป็นกันเอง คำสรรพนามที่แทนตนเองและบุรุษที่สอง คำว่า นาย เรา สะท้อนให้เห็นถึงอายุของผู้พูดกับผู้ร่วมสนทนานั้นไม่มีความแตกต่างกันหรือค่อนข้างมีความสนิทสนมกัน บทสนทนา คือ ถ้อยคำที่ตัวละครใช้พูดโต้ตอบกัน บทสนทนาช่วยให้เนื้อเรื่องดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้แต่งไม่ต้องอธิบายมาก ทั้งช่วยสะท้อนบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวของตัวละคร ช่วยสร้างบรรยากาศของเรื่องให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นและเป็นธรรมชาติ ช่วยหลีกเลี่ยงความซ้ำซากในการบรรยาย 

“แกต้องขุดหลุมวันละหลุมทุกวัน รวมทั้งวันเสาร์ อาทิตย์ หลุมแต่ละหลุมต้องมีขนาดลึกห้าฟุต กว้างห้าฟุตเท่ากันทุกด้าน พลั่วประจำตัวของแกเอาไว้ใช้วัดขนาดหลุมได้ ส่วนอาหารเช้าคือเวลาตีสี่ครึ่ง” (หน้า 17) แสดงให้เห็นถึงความมีอำนาจของผู้พูด คุณเพนดานสกี ผู้ที่ออกคำสั่งแก่ทุกคนในค่าย

“เราไม่อยากให้แม่กังวล” (หน้า 56) แสดงให้เห็นถึงความเป็นห่วงที่สแตนลีย์มีให้แม่ ถ้าหากว่าเขาไม่ได้เขียนจดหมายถึงแม่ เขาคิดว่าแม่เขาต้องกังวลใจแน่ ๆ

“เราพูดจริง ๆ นะ” เอกซเรย์พูดต่อ “ทำไมนายถึงควรเป็นคคนที่จะได้พักล่ะ นายเพิ่งมาอยู่ที่นี่ได้สองวันเองถ้ามีใครควรได้พักหนึ่งวัน ควรเป็นเรา แบบนี้สิถึงจะยุติธรรม จริงไหม” (หน้า 64) แสดงให้เห็นถึงความเห็นแก่ตัวของเอกซเรย์ที่อยากหยุดพักจนไม่สนใจความผิดถูก แต่สแตนลีย์ก็ยอมแต่โดยดีเพียงเพราะแค่ไม่อยากมีปัญหา

“เราอยากหัดอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ” ซีโรบอก (หน้า 94) แสดงให้เห็นถึงซีโรที่เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา ถึงเขาไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ก็มีใจรักและมุ่งมั่นที่จะอ่านหนังสือ เขียนหนังสือให้ได้ โดยให้สแตนลีย์เป็นผู้สอนให้

“มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันในสายตาพระผู้เป็นเจ้า” (หน้า 132) แสดงให้เห็นถึงเรื่องศาสนา เรื่องความเชื่อเรื่องพระผู้เป็นเจ้า

ฉากและบรรยากาศ

          ฉากในเรื่องส่วนมากจะเป็นฉากที่ค่ายกรีนเลก เพราะเนื้อหาในเรื่องส่วนมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเกิดขึ้นที่ทะเลสาบ ซึ่งในปัจจุบันทะเลสาบแห้งแล้งกลายเป็นทะเลทราย ที่เป็นที่อยู่ของค่ายกรีนเลก ค่ายกรีนเลก เป็นค่ายที่ตัวละครเอก สแตนลีย์ ถูกส่งตัวมาปรับปรุงพฤติกรรม โดยต้องขุดหลุมทุกวัน วันละหนึ่งหลุม โดยลึกห้าฟุต กว้างห้าฟุต ในสภาพอากาศที่ร้อนระอุ และดินที่แห้งแตกระแหง ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพตัวละครเอกที่ต้องขุดหลุมท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุกลางทะเลทรายได้อย่างชัดเจน ฉากสำคัญอีกฉากที่ปรากฏในเรื่องคือฉากซากเรือแมรี ลู ที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ในอดีต เพราะในอดีตพื้นที่แห่งนั้นเป็นทะเลสาบทำให้ไม่เห็นซากเรือ แต่ปัจจุบันทะเลสาบกลายเป็นทะเลทรายทำให้เห็นซากเรือที่จมอยู่ จากซากเรือมีความสัมพันธ์กับตัวละครเอกที่ว่าเป็นซากเรือของคนรักแคเทอรีน ทำให้เป็นแคเทรีนโกรธแค้นที่คนรักตาย และเป็นโจรปล้นทวดของสแตนลีย์ เป็นสาเหตุทำให้ครอบครัวของสแตนลีย์ยากจน

          บรรยากาศในเรื่องส่วนใหญ่จะเป็นบรรยากาศในทะเลทรายที่มีอากาศร้อนระอุ ดินแห้งแตกระแหง และบรรยากาศบนภูเขาที่สแตนลีย์และซีโรต้องเอาชีวิตรอด ด้วยการขุดหลุมจากโคลนเพื่อหาน้ำดื่มประทังชีวิต จากฉากและบรรยกาศที่กล่าวมานั้นผู้เขียนใช้กลวิธีการเขียนที่แยบยลทำให้ผู้อ่านรู้สึกคล้อยตาม และเข้าใจความรู้สึกในสถานการณ์ที่ตัวละครพบเจอ

ด้านเนื้อหา

          ผู้เขียนได้นำเสนอเนื้อหาเป็นบท ใช้ภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย ทำให้ผู้อ่านไม่เกิดความเบื่อหน่าย เนื้อหาหลักผู้เขียนเล่าถึงเด็กที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ทำให้ต้องถูกส่งตัวไปอยู่ที่ค่ายกรีนเลก ค่ายที่นำเด็กมาปรับปรุงพฤติกรรม แต่ในความจริงเป็นค่ายที่ใช้แรงงานเด็กมาขุดหลุมเพื่อหาสมบัติ และเกิดเหตุการณ์ที่พลิกผันชีวิตของตัวละครเอก เมื่อต้องหนีออกจากค่ายกักกันไปเผชิญชีวิตในทะเลทรายที่ไร้แม้กระทั่งน้ำสักหยด แต่โชคชะตายังเข้าข้างเขา ทำให้เขามีชีวิตรอดกลับมาและทุกอย่างก็ถูกเปิดเผย ผู้เขียนอาจสื่อให้เห็นว่า วันหนึ่งเราอาจจะเดินตกหลุม ทั้งหลุมที่ผู้อื่นขุดไว้และหลุมที่เราขุดขึ้นเอง ในเรื่องจะเป็นหลุมที่เราไม่ได้ขุดไว้ กล่าวคือปัญหาที่เราไม่ได้ก่อ คือรองเท้าที่สแตนลีย์ไม่ได้ขโมยแต่ต้องรับผิดแทน แต่ไม่ว่าเราจะต้องขุดอีกกี่หลุม ทุกครั้งที่ปีนกลับออกมา เราจะแกร่งขึ้น แต่เมื่อเราผ่านปัญหาไปได้เราก็แข็งแรงขึ้นจะมีภูมิคุ้มกันในชีวิตมากขึ้น และไม่ว่าใครจะเป็นคนขุด คนที่ต้องพยายามปีนขึ้นจากหลุมให้ได้หรือถมหลุมนั้นให้เต็ม ก็คือตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เราสร้างหรือปัญหาที่คนอื่นสร้างเมื่อเราต้องเผชิญกับปัญหานั้นแล้ว เราต้องแก้ปัญหาให้ได้ด้วยตนเอง

คุณค่าทางสังคม

          ด้านการศึกษา ในเรื่องจะเห็นได้ว่าการศึกษาค่อนข้างสำคัญ และพ่อแม่ของตัวละครสแตนลีย์ก็ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการศึกษา เขาส่งสแตนลีย์เรียนหนังสือ สแตนลีย์สามารถอ่านหนังสือได้ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการศึกษาค่อนข้างมีความสำคัญ เพราะถ้าหากไร้การศึกษา หรือไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ก็จะพบข้อเสียเปรียบที่ว่าไม่สามารถรับรู้สารที่ถูกต้องได้ เช่นหากมีสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรส่งถึงก็จะไม่สามารถอ่านใจความของสารได้ ไม่สามารถส่งสารด้วยการเขียนได้ ซึ่งในปัจจุบันอาจเป็นข้อเสียในการทำสัญญาต่าง ๆ

          ด้านการแบ่งชนชั้น จะเห็นได้จากเรื่องว่ามีการแบ่งชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นในค่ายกรีนเลกที่เด็กมักจะให้หัวหน้ากลุ่มมีอิทธิพลเหนือคนอื่น ๆ คนที่อยู่ท้ายแถวจะไม่มีสิทธิ์โต้เถียงหรือแสดงความไม่พอใจ ชนชั้นของผู้คุมกับผู้ดูแล ผู้ดูแลจะมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น ๆ สามารถสั่งให้ทุกคนทำตามความต้องการของตนเอง โดยไม่สนความถูกผิด การแบ่งชนชั้นของคนผิวขาวและผิวสี ที่คนผิวสีไม่สามารถจูบกับคนผิวขาวได้ แสดงให้เห็นว่าในอดีตนั่นมีการแบ่งชนชั้นอย่างชัดเจน ในปัจจุบันก็ยังคงมีการแบ่งชนชั้นในสหรัฐอเมริกาอยู่ แต่ไม่รุนแรงเท่าในอดีต เพราะในปัจจุบันโลกได้เปิดกว้าง ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศ ชาย หญิง การศึกษา ชนชาติ หรือศาสนา ไม่แม้กระทั่งการแสดงความคิดเห็น ทุกคนมีสิทธิเสมอกัน และทุกคนต้องเคราพสิทธิซึ่งกันและกัน

          ด้านความอดทน จากการดำเนินเรื่องจะเห็นความอดทนของตัวละครเอก สแตนลีย์อยู่ตลอดทั้งเรื่อง เขาเป็นเก็กที่มีรูปร่างอ้วนจึงมักจะถูกบูลลี่อยู่เสมอ แม้กระทั่งครูผู้สอน ความอดทนคือสิ่งที่ทำให้เขาสามารถอยู่ในสังคมได้ เมื่อต้องมาอยู่ในค่ายกรีนเลก เขาทำตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายอย่างขัดไม่ได้ เขาต้องขุดหลุมทุกวัน วันละ ๑ หลุม และแต่ละหลุมต้องกว้าง ๕ ฟุต ลึก ๕ ฟุตกลางแดดที่ร้อนระอุและดินที่แห้งแตกระแหง เขาต้องใช้ความอดทนอย่างมากที่จะขุดหลุมในแต่ละวัน ในครั้งที่หนีออกจากค่ายกักกัน เขาต้องอดทนใช้ชีวิตในทะเลทรายที่แห้งแล้งและไม่มีน้ำสักหยด แต่เขาก็มีความอดทนและสามารถใช้ชีวิตรอดจากทะเลทรายได้ ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าความอดทนค่อนข้างจำเป็นในการใช้ชีวิตในปัจจุบันได้ เพราะในสังคมปัจจุบันเรามักจะเจอคนหลากหลายรูปแบบ ทั้งถูกใจและไม่ถูกใจเรา ความอดทนเป็นส่วนที่ทำให้เราสามารถอยู่รอดในสังคมได้

          ด้านการแก้ปัญหา การแก้ปัญหาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นในการใช้ชีวิต ในเรื่องจะเห็นได้ว่าตัวละครหลัก สแตนลีย์ค่อนข้างมีทักษะการแก้ปัญหา เขาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ร่วมกันในกลุ่มเด็กในค่ายกักกัน เขาเลือกที่จะเงียบเพราะแค่ไม่อยากมีปัญหา นั่นเป็นวิธีการแก้ปัญหาเพื่อเอาตัวรอดในสังคมของเขา การเอาตัวรอดในทะเลทราย เขาสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี เขาใช้หยุ่น หยุ่น และหัวหอมเพื่อให้มีชีวิตรอดในทะเลทราย ในปัจจุบันเรามักจะต้องใช้การแก้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เราต้องเจอปัญหาในการทำงาน การเรียน การสื่อสาร แต่ละคนก็มักจะมีทักษะในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือการแก้ปัญหาถาวร

          ด้านความเชื่อ ในเรื่องจะเห็นได้ว่ามีการเชื่อในเรื่องพระเจ้าที่บอกว่าทวดของสแตนลีย์มีชีวิตรอดในทะเลทรายเพราะนิ้วหัวมือของพระเจ้า ความเชื่อในเรื่องคำสาป เขามีความเชื่อว่าทุกความชั่วร้ายในครอบครัวเขาที่เจอ เป็นเพราะคำสาปของทวดนักขโมยหมู ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ายังมีความเชื่อในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะในเรื่องศาสนา หรือความเชื่อเรื่องผีสาง

          ด้านความรู้ ในเรื่องจะให้ความรู้ในเรื่องหัวหอมที่ สรรพคุณของหัวหอมไว้ในเรื่องบอกว่าหัวหอมมีประโยชน์สารพัดทั้งต่อระบบย่อยอาหาร ตับ ท้อง ปอด หัวใจ ไปจนถึงสมอง ประโยชน์ของหัวหอมว่ามีสรรพคุณช่วยรักษาโรคมากมาย และสำคัญมากที่ต้องดื่มหนึ่งขวดตอนกลางคืน เพื่อให้มันซึมเข้ากระแสเลือด จะทำให้กิ้งก่าไม่กัดเพราะกิ้งก่าไม่ชอบเลือดที่มีหัวหอมปนอยู่

          วรรณกรรมเรื่อง “หลุม” มีองค์ประกอบที่ครบถ้วนสมบูรณ์  ทั้งโครงเรื่อง  ตัวละคร บทสนทนา  ฉาก บรรยากาศและแนวคิด แม้จะมีบางเหตุการณ์ที่มีความไม่สมจริงที่สแตนลีย์และซีโรรับประทานหยุ่นหยุ่นเข้าไป โดยที่หยุ่นหยุ่นมีอายุเกือบ 100 ปี ซึ่งหยุ่นหยุ่นยังมีสภาพดีและทั้งสองได้รับประทานหยุ่นหยุ่นเข้าไปโดยที่ไม่เกิดอาการเจ็บป่วยร้ายแรง เหตุการณ์นี้เป็นความไม่สมจริงที่ผู้เขียนต้องการสื่อให้เนื้อเรื่องดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและสัมพันธ์กับเหตุการณ์ในอดีต และในตอนที่สแตนลีย์และซีโรสามารถเอาชีวิตรอดในทะเลทรายที่แห้งแล้งที่ไม่มีน้ำดื่ม เป็นความไม่สมจริงที่ทั้งสองสามารถเอาชีวิตรอดมาได้ด้วยกลวิธีการเขียนของผู้เขียนที่ต้องการให้เรื่องราวดำเนินไปอย่างเข้มข้น น่าสนใจชวนให้ผู้อ่านติดตามอยากรู้ว่าเนื้อเรื่องจะดำเนินต่อไปอย่างไร แม้ว่าเนื้อเรื่องจะมีความไม่สมจริงแต่ก็สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านอย่างมาก  อีกทั้งแฝงแนวคิดต่าง ๆ  ไว้อย่างแยบยล  ผู้เขียนสร้างวรรณกรรม “หลุม” ขึ้นด้วยจินตนาการที่ต้องการถ่ายทอดเรื่องราวของสแตนลีย์ เด็กชายที่ตกลงไปในหลุมที่ตัวเองไม่ได้ขุด ทำให้เขาต้องหาวิธีปีนขึ้นมาจากหลุมให้ได้ด้วยตัวเอง และเมื่อที่เขาขึ้นมาจากหลุมได้จะทำให้เขาแข็งแกร่ง และกล้าหาญมากขึ้น เป็นกลวิธีการดำเนินเรื่องที่น่าสนใจ ผู้เขียนได้ดำเนินเรื่องราวโดยใช้การสลับเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบันให้เห็นความสัมพันธ์ของตัวละคร ฉาก แนวคิด โดยข้อคิดที่สำคัญของเรื่อง คือ การแก้ปัญหา ทุกคนมักต้องเจอกับปัญหาไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เราเป็นคนสร้างขึ้นมา หรือที่เราไม่ได้สร้างขึ้นมา เปรียบเหมือนกับหลุมที่เราขุดเอง และขุมที่เราไม่ได้ขุด เมื่อตกลงไปแล้วเราต้องหาวิธีปีนขึ้นมาจากหลุมให้ได้ เมื่อเราปีนขึ้นมาได้ นั่นหมายความว่าเราแข็งแกร่ง และเติบโตขึ้น ซึ่งนับว่า“หลุม” เป็นวรรณกรรมที่แม้สร้างขึ้นจากจินตนาการที่สอดแทรกแนวคิด ความรู้และความเพลิดเพลินสนุกสนาน ที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่น่าสนใจและควรค่าแก่การอ่านอีกเล่มหนึ่ง

[1]The National Book Award ถือเป็นรางวัลทรงเกียรติของหนังสือหลากหลายประเภท ทั้ง นวนิยาย, สารคดี, กวีนิพนธ์ และวรรณกรรมเยาวชน ที่มีมาตั้งแต่ปี 1950 และมีเป้าหมายคือเฉลิมฉลองวรรณกรรมที่ดีที่สุดและยกย่องวัฒนธรรมการเขียนที่ยอดเยี่ยมของอเมริกา

[2]สิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนได้รับอย่างเสมอภาคกันเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างสันติสุข มีศักดิ์ศรี มีเสรีภาพ มีไมตรีจิต และมีความเมตตาต่อกัน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว เพศ อายุ ภาษา ศาสนา สถานภาพทางกาย หรือสุขภาพ

หมายเลขบันทึก: 687796เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2020 19:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ธันวาคม 2020 19:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท