โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง : ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน


ความรักที่คุณครูโคบายาชิมีต่อเด็ก ๆ และการศึกษาเป็นสิ่งยิ่งใหญ่กว่าเปลวไฟที่เผาผลาญโรงเรียน พลังในกายและใจของคุณครูใหญ่ยังมีอยู่อีกมาก

“โต๊ะโตะจัง – ครูโคบายาชิ: ศิษย์ – ครู ผู้เป็นแบบอย่างด้านการศึกษา”

  โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง เป็นวรรณกรรมจากประเทศญี่ปุ่น ผู้แต่งคือคุโรยานางิ  เท็ตสึโกะ และผุสดี นาวาวิจิต เป็นผู้แปลเป็นภาษาไทย วรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้ได้รับเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น วิชาภาษาไทย ตามประกาศของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวได้ว่าเป็นวรรณกรรมที่ส่งเสริมจินตนาการของเยาวชน ผ่านตัวละครที่ชื่อว่า ‘โต๊ะโตะจัง’ ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในกลุ่มผู้อ่านไม่มากก็น้อย และทำให้เห็นภาพสะท้อนของการศึกษาที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ ผ่านตัวละครครูใหญ่คือ ‘ครูโคบายาชิ’

          วรรณกรรมเรื่องต่าง ๆ จะขาดผู้ดำเนินเรื่องอย่างตัวละครเป็นไปเสียไม่ได้ แน่นอนว่าจากเรื่องโต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง ตัวละครหลักคือโต๊ะโตะจังนั่นเอง ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเธอ จนผู้คนรอบข้างอาจมองว่าเธอแปลกไป เหตุนี้เกิดจากเธอเป็นเด็กช่างจินตนาการ และกล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำ และกล้าที่จะถ่ายทอดความรู้สึกออกมาผ่านคำพูด มีความเป็นตัวของตัวเอง โดยที่ผู้คนรอบข้างเธอไม่จำกัดกรอบความคิดของเธอและสนับสนุนเธอ แต่เธอยังมีด้านที่มีความอ่อนแอ คือ โต๊ะโตะจังเป็นคนคิดมาก จะเห็นได้ว่าตัวละครนี้เป็นตัวละครมากลักษณะ มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนบุคคลทั่วไป ทำให้เนื้อเรื่องมีความสมจริง

          นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมและบริบทของโต๊ะโตะจัง เอื้อให้เธอเป็นเด็กลักษณะอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ด้วยภูมิหลังของตัวละคร สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือครอบครัวของเธอ แม่ของโต๊ะโตะจังที่มีความเข้าใจในตัวลูกตัวเอง และตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ดังจะยกตัวอย่างจากตอนต้นเรื่อง กล่าวคือ โต๊ะโตะจังถูกไล่ออกจากโรงเรียนเดิม ด้วยเหตุผลว่าจะรบกวนการเรียนของเด็กนักเรียนคนอื่น แต่แม่ของเธอไม่ได้ตัดสินใจบอกลูกแต่อย่างใด และหาโรงเรียนที่เหมาะสมกับพฤติกรรมของลูกสาวตน  จะเห็นได้ว่าครอบครัวมีผลต่อพฤติกรรมต่าง ๆ ของเด็ก และลำดับถัดมาคือ โรงเรียน ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กเช่นกัน ในเรื่องคือโรงเรียนโทโมเอ มีบรรยากาศห้องเรียนเป็นตู้รถไฟสร้างบรรยากาศให้เกิดความน่าเรียน และมีแหล่งเรียนรู้อยู่มากมาย ทำให้โต๊ะโตะจังสัญญากับตัวเองว่า  “โรงเรียนดี ๆ อย่างนี้ จะไม่ยอมขาดเรียนเลยสักวันเดียว” (น.54)  จัดการเรียนการสอนโดยครูใหญ่หรือครูโคบายาชิ

          ครูโคบายาชิหรือครูใหญ่ ถือว่าเป็นหนึ่งในนักจัดการการเรียนการสอน จะเห็นได้จากโรงเรียนโทโมเอ มุ่งเน้นให้เด็กนักเรียนเรียนรู้ด้วยตัวเอง ตามความถนัดและความสนใจ จะเห็นได้จากประโยคที่ว่า ‘นักเรียนในโรงเรียนโทโมเอ จะเรียนวิชาอะไรก่อนก็ได้ตามใจชอบ ภาษาญี่ปุ่นหรือเลขคณิตก่อนก็ได้ ดังนั้นเด็กที่ชอบเรียงความอาจนั่งเขียนเรียงความ ขณะที่เด็กซึ่งนั่งข้างหลังจุดตะเกียงแอลกอฮอล์ทดลองวิทยาศาสตร์ ทำให้มีเสียงเดือดปุด ๆ หรือเสียงระเบิดดังอยู่ในห้องเรียนต่าง ๆ’ (น.56) จะเห็นได้ว่า การจัดการเรียนรู้เช่นนี้ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Center Learning) มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง ผ่านสื่อและวิธีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายตามความสนใจของผู้เรียน โดยมีครูเป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวก และสอดคล้องกับแนวคิดของนักการศึกษาอย่าง จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ที่มีแนวคิดที่ว่า “Learning by doing” หรือการเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริงนั่นเอง จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่โต๊ะโตะจังจึงชอบโรงเรียนแห่งนี้

          อีกหนึ่งประการสำคัญนอกจากการเป็นนักจัดการเรียนการสอนแล้วยังเป็นนักอุดมการณ์อีกด้วย จะเห็นได้หลังจากโรงเรียนโทโมเอถูกทำลายจากผลกระทบสงครามแล้ว แต่ครูใหญ่ไม่ละอุดมการณ์ เห็นได้จากคำพูดของครูใหญ่ที่ว่า “คราวหน้า เราจะสร้างโรงเรียนแบบไหนดีล่ะ” (น.249) และข้อความที่ว่า ‘ความรักที่คุณครูโคบายาชิมีต่อเด็ก ๆ และการศึกษาเป็นสิ่งยิ่งใหญ่กว่าเปลวไฟที่เผาผลาญโรงเรียน พลังในกายและใจของคุณครูใหญ่ยังมีอยู่อีกมาก’ (น.249 - 250) สิ่งเหล่านี้ทำให้ครูใหญ่เป็นครูที่รับฟังเด็ก ให้โอกาสเด็ก ใส่ใจเด็ก และสิ่งที่สำคัญสำหรับคนเป็นครูคือเห็นความแตกต่างของผู้เรียนแล้วเข้าใจในความต่างนั้น จากที่ได้กล่าวไปจะเห็นได้ว่า ครูโคบายาชิ เป็นตัวละครน้อยลักษณะแต่มีความสมจริง เนื่องจากตัวละครมีความคิดเห็นเป็นไปอย่างมีเหตุและผลเหมือนกับคนทั่วไป

          ความสัมพันธ์ระหว่างโต๊ะโตะจังและครูโคบายาชิ เป็นรูปแบบของครูและศิษย์ เนื่องจากครูใหญ่มีลักษณะนิสัยที่เอาใจใส่และเข้าใจเด็ก จึงทำให้ครูใหญ่เป็นที่รักของโต๊ะโตะจังอย่างไม่มีเงื่อนไข เช่น โต๊ะโตะจังคิดว่าคงไม่มีครูใหญ่คนใดฟังเธอพูดได้นาน ไม่มีครูใหญ่คนใดรับฟังเธอ เข้าใจเธอ ไว้ใจเธอ จะเห็นจากตอนเธอนำกระเป๋าตังตกลงไปในบ่อส้วม เธอจึงตักสิ่งปฏิกูลออกมาเพื่อหากระเป๋าตัง เมื่อครูใหญ่มาเห็นไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าการให้อิสระในการคิดและการกระทำนั่นส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้ เป็นต้น นอกจากนี้คำพูดของครูโคบายาชิเป็นการเสริมแรงที่กล่อมเกลาโต๊ะโตะจัง คือ “โต๊ะโตะจัง ความจริงหนูเป็นเด็กดี รู้ไหม” (น.195) ซึ่งเป็นเครื่องกำหนดอนาคตของโต๊ะโตะจังตลอดระยะเวลาที่เรียนที่โรงเรียนโทโมเอ

          จะเห็นได้ว่าครูมีความสำคัญต่อชีวิตของเด็กอย่างมาก ด้วยสภาพแวดล้อมของประเทศญี่ปุ่นที่ผู้คนมีระเบียบวินัยเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานแล้วจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะจัดการศึกษาที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ กล่าวได้ว่า สำหรับประเทศไทยเป็นการศึกษายุคใหม่คือแนวคิดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและพัฒนาผู้เรียนไปตามความต้องการของผู้เรียนโดยการลงมือปฏิบัติ ในเหตุฉะนี้ครูจึงเสมือนเป็นผู้แนะแนวทางไม่ใช่ผู้สั่งการตามแนวคิดการศึกษาแบบเดิม คือครูเป็นศูนย์กลาง

          วรรณกรรมเยาวชนเรื่องโต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง จึงเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าทางด้านเนื้อหาอย่างมาก เพราะสามารถทำให้ผู้อ่านเห็นถึงมุมมองของเด็ก ซึ่งมีจินตนาการกว้างไกลนักบางครั้งผู้ที่เป็นผู้ใหญ่อาจตามความคิดของเด็กไม่ทัน เสมือนเป็นการเปิดใจผู้ใหญ่ให้กว้างขึ้น เพื่อที่จะรับฟังความเห็นต่าง และเข้าใจในความต่างของแต่ละบุคคล อย่างที่ครูโคบายาชิทำซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นต้นแบบของครูในยุคปัจจุบันก็ว่าได้ ดังนั้นไม่ว่าครูหรือศิษย์ย่อมส่งผลต่อกันเสมอ ศิษย์จะได้ดีเพราะมีครู และครูจะพัฒนาตนได้เพราะเรียนรู้จากศิษย์เช่นกัน


รายการอ้างอิง

คุโรยานางิ เท็ตสึโก๊ะ. โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง. แปลโดย ผุสดี นาวิจิตกรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ผีเสื้อ. 2558.

หมายเลขบันทึก: 687758เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2020 10:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2020 11:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท