แม่เบี้ย : สัญญะแห่งราคะหรือศีลธรรม


“สายน้ำ ความหลัง ชายหนุ่ม หญิงสาว และ...งู”

“แม่เบี้ย” เป็นนวนิยายของวาณิช จรุงกิจอนันต์ นักเรียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ปีพุทธศักราช 2527 จากหนังสือรวมเรื่องสั้น “ซอยเดียวกัน” อีกทั้งยังมีผลงานที่ผู้คนต่างยอมรับมากมายหลายเรื่องด้วยกัน หนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายเรื่อง แม่เบี้ย วรรณกรรมเชิงสัญลักษณ์ประเภทโกธิคที่สอดแทรกด้วยเนื้อหาอีโรติคในบางตอน และด้วยเสน่ห์ความงดงามทางวรรณศิลป์และความโดดเด่นน่าสนใจของเรื่องทำให้นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลชมเชยประเภทนวนิยายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปีพุทธศักราช 2530 และยังมีผู้นำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ละครเวที รวมไปถึงสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้งด้วยกัน แม่เบี้ย จึงกลายเป็นวรรณกรรมและภาพยนตร์ที่ติดตราตรึงใจผู้คนในทุกยุคทุกสมัย

“สายน้ำ ความหลัง ชายหนุ่ม หญิงสาว และ...งู” (คำโปรยปก) ความผูกพันที่เชื่อมโยงร้อยเรียงขึ้นเป็นนวนิยาย เรื่อง “แม่เบี้ย” โดยมี สายน้ำ เป็นจุดก่อกำเนิดและจุดจบของเรื่องราว และมี ความหลัง เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ชายหนุ่ม ที่ชื่อ ‘ชนะชล’ แม้จะมีชื่อที่มีความหมายว่าชนะต่อสายน้ำแต่ในท้ายที่สุดแล้วชลกลับเป็นสิ่งที่ชนะตัวเขาเอง ชนะชลเป็นผู้ที่มีพร้อมในทุก ๆ สิ่ง ทั้ง ครอบครัว หน้าที่การงาน และฐานะ
ทางการเงินที่ดี แต่เขากลับสามารถทิ้งสิ่งเหล่านี้ได้ เพียงเพื่อผู้หญิงเพียงคนเดียว ‘เมขลา’ หญิงสาวตัวแทน
ของคนสมัยใหม่ในเรื่องที่มีชื่อเหมือนนางในวรรณคดี และยังมีลักษณะนิสัยที่เหมือนกัน ผู้ชายเป็นเพียงแค่เครื่องคลายเหงาของเธอ ความสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่มและหญิงสาวภายในเรื่อง แม้จะเล็ดลอดสายตาของผู้คน แต่ก็ไม่อาจผ่านพ้นสายตาของอสรพิษที่เฝ้าดูความสัมพันธ์ของทั้งสองไปได้ งู เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเพื่อทำลายความสัมพันธ์อันไร้ศีลธรรม ที่ซุกซ่อนอยู่ภายในจิตใจของชายหนุ่มและหญิงสาว 

ถึงแม้วาณิช จรุงกิจอนันต์จะเขียนนวนิยายเรื่อง“แม่เบี้ย” ตั้งแต่ปีพ.ศ.2530 แต่นวนิยายเรื่องนี้ก็ยังสามารถสะท้อนภาพสังคมฟอนเฟะไร้ศีลธรรม ที่ผู้คนต่างผิดลูกผิดเมียผู้อื่น หรือยอมสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งความสัมพันธ์ที่ผิดครรลองครองธรรมได้ทุกยุคทุกสมัย ซึ่งในเรื่องแม่เบี้ย ผู้เขียนจะเปิดเรื่องด้วยการบรรยายลักษณะอาการอันเป็นธรรมชาติของงูเห่า และบรรยายฉากที่ชนะชลพร้อมกับคณะนำเที่ยวกำลังนั่งเรือชมความงามของธรรมชาติตลอดทั้งสองฟากฝั่งของสายน้ำในจังหวัดสุพรรณบุรี ก่อนที่ตัวละครเอกทั้งสองจะพบกัน และก่อกำเนิดเป็นเรื่องราวอันไร้ศีลธรรมของทั้งชนะชลและเมขลา ส่วนการปิดเรื่องผู้เขียนบรรยายเหตุการณ์ที่เมขลากำลังโศกเศร้าเสียใจต่อการจากไปของชนะชล ทำให้เธอตัดสินใจฆ่า ‘คุณ’(งู) อันเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของจารีตประเพณีและศีลธรรม อันเป็นต้นเหตุให้ชนะชลเสียชีวิต และบรรยายให้ผู้อ่านเห็นภาพลักษณะอาการของงูเห่าเช่นเดียวกับตอนเปิดเรื่อง

นวนิยายเรื่องนี้มีความขัดแย้งหลัก คือความขัดแย้งภายในจิตใจของเมขลา โดยภายในจิตใจของเธอจะเกิดการต่อสู้ระหว่างศีลธรรมอันดีกับรสกามราคะ ดังตัวอย่าง 

“หวนคิดเรื่องแต่งงานขึ้นมาอีก นึกขันพจน์ที่เขาจะขอแต่งงานกับเธอขึ้นมาอย่างไม่มีปีมีขลุ่ย เธอไม่มีวันแต่งงานกับพจน์ได้ ไม่ว่าเขาจะหย่าเมียเรียบร้อยแล้วหรือจะยังไม่มีเมียก็ตาม เพราะเธอไม่เคยคิดจะแต่งงาน และไม่มีวันที่จะแต่งงานจริงหรือ... ถ้าเป็นเขาล่ะ ถ้าหากเป็นชนะชลเล่า ไม่มีวัน... เธอจะไม่ยอม ไม่มีวันพรากลูกพรากพ่อหรือพรากผัวพรากเมียใครเป็นเด็ดขาด ชนะชล...ถ้าเขายังโสด หรือว่าหย่าเมียเป็นพ่อหม้ายอยู่เล่า เธอจะแต่งงานกับเขาไหม” (น.302)

จากตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นความสับสนภายในจิตใจของเมขลาได้อย่างชัดเจน และแม้เธอจะสัญญาต่อตนเอง แต่เธอก็ไม่อาจทนต่อรสราคะได้และพ่ายแพ้ต่อตนเองในที่สุด นอกจากจากนี้ยังมีความขัดแย้งอื่น ๆ ภายในเรื่อง ซึ่งถือเป็นความขัดแย้งย่อย เช่น ความขัดแย้งระหว่างตัวละคร เมขลา กับ คุณ(งู) ซึ่งงูจะปรากฏตัวขึ้นทุกครั้งที่เมขลากำลังจะมีการเสพสังวาสหรือประพฤติผิดในกามกับชายหนุ่ม ทำให้เมขลาเกิดความไม่พอใจและคิดจะกำจัดงูเห่า โดยภายในเรื่องจะมีเหตุการณ์เช่นนี้อยู่หลายครั้ง

ในส่วนของแนวคิดนั้น วาณิช จรุงกิจอนันต์ ได้นำเสนอแนวคิดเรื่องศีลธรรม ซึ่งเนื้อเรื่องจะเป็นภาพสะท้อนจารีตประเพณีและศีลธรรมอันดีในจิตใจของมนุษย์(งู) ที่พ่ายแพ้ให้กับกิเลสตัณหา กามราคะ ซึ่งเป็นแนวคิดทางพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับคนทุกชนชั้น ด้วยเหตุที่ปุถุชนคนธรรมดายังไม่สามารถกำจัดกิเลสตัณหาออกไปได้ โดยผู้เขียนนำเสนอผ่านตัวละครเมขลาที่ยอมให้กามราคะพิชิตงูในใจของเธอ ดังตัวอย่างประโยคที่ว่า

“ดูเหมือนเรื่องของงูเห่าใหญ่จะเลือนหายไปจากจิตใจของทั้งเขาและเธอในทันทีนั้น เมขลาแนบแก้มลงนิ่งกับอกเปล่าเปลือยหนั่นแน่นของเขา มือของเธอกอดไหล่ใหญ่กว้างนั้นไว้แล้วลูบไล้เล่นไปเหมือนเผลอตัว”(น.256) 

นวนิยายเรื่องแม่เบี้ยมีตัวละครอยู่หลายตัวด้วยกัน ทั้งเมขลา ชนะชล และงูเห่า ซึ่งเมขลาจะเป็นตัวละครที่สำคัญที่สุด ผู้เขียนสร้างได้อย่างสมจริง ราวกับว่าเป็นตัวละครที่มีอยู่ในสังคมจริง ๆ และถือได้ว่าเป็นตัวละครหลายลักษณะ คือมีทั้งความดี เช่น การตั้งปณิธานที่จะไม่แย่งสามีของใครหรืออาจกล่าวได้ว่าเธอยังมีศีลธรรมอันดีเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจอยู่บ้าง และยังมีความไม่ดีอยู่ในตัว เช่น การที่เธอพ่ายแก้ต่อกิเลสตัณหา และเสพสังวาสกับชายที่มีลูกเมียอยู่แล้ว ซึ่งทำให้เธอถูกภรรยาของชนะชลและสังคมตราหน้าว่าเป็นผู้หญิง ‘ดอกทอง’ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนทำให้เห็นพัฒนาการทางความคิดของตัวละครได้เป็นอย่างดี ส่วนชนะชล ก็นับว่าเป็นตัวละครหลายลักษณะอีกตัวหนึ่ง มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและถูกกิเลศตัณหาพิชิตจิตใจเช่นเดียวกับเมขลา โดยในช่วงแรกชนะชลยังเป็นคนที่รักภรรยาและลูก แต่แล้วเขากลับติดใจในรสกามของเมขลา ทำให้เขาเปลี่ยนไปในที่สุด ‘คุณ’หรืองูเห่าเป็นตัวละครตัวสุดท้ายที่จะถูกกล่าวถึง เนื่องด้วยในมุมมองของผู้เขียนบทความจะมองว่า นอกจากงูเห่าจะถูกตีความว่าเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเรื่องแล้ว งูเห่ายังมีส่วนช่วยในการดำเนินเรื่อง อันเห็นได้จากมีการใช้สรรพนามเรียกงูว่า ‘คุณ’ และยังเป็นตัวละครสำคัญอีกตัวหนึ่ง ซึ่งเห็นได้จากการที่วาณิช จรุงกิจอนันต์สร้างงูเห่าด้วยความสมจริง ทั้งการบรรยายลักษณะและนิสัยของงูเห่าที่มีความดุร้าย ซึ่งคนไทยเชื่อว่าหากงูเห่าถูกทำร้ายจะมีความอาฆาตแค้นต่อผู้ทำร้าย และจะตามลางแค้นจนกว่าตนเองจะหมดลมหายใจ โดยภายในเรื่องงูเห่าจะอาฆาตแค้นชนะชลเป็นอย่างมาก เนื่องจากชนะชลใช้มีดทำร้ายงูเห่า จนท้ายที่สุดงูเห่าก็สามารถล้างแค้นได้สำเร็จ ในส่วนนี้ผู้เขียนสามารถนำความเชื่อที่มีอยู่ในสังคมไทยมาผสมผสานกับเนื้อเรื่องได้อย่างลงตัว

ความโดดเด่นอีกสิ่งหนึ่งของนวนิยายเรื่องนี้คือฉากและบรรยากาศ ที่ผู้เขียนสามารถนำเอาความเป็นไทยเข้าไปปรุงแต่ง ทำให้ผู้อ่านได้รับกลิ่นอายความเป็นไทยตลอดทั้งเรื่อง และเหตุผลที่นวนิยายเรื่องนี้ถูกตัดสินว่าเป็นนวนิยายแนวโกธิคก็คือตัวฉากบ้านทรงไทยริมน้ำที่ทำให้เรื่องราวลึกลับและน่าค้นหา ซึ่งเปรียบได้กับปราสาทผีสิงของทางตะวันตกนั่นเอง โดยจะมีภาพค่ำคืนมืดสลัวใต้แสงจันทร์เป็นบรรยากาศของเรื่อง ซึ่งบรรยากาศและฉากที่ชวนยั่วยวนรันจวนใจนี้เองที่เป็นสิ่งส่งเสริมให้กิเลศตัณหาครอบงำจิตใจของทั้งสองไว้ จนทำให้ทั้งชายหนุ่มและหญิงสาวประพฤติผิดศีลธรรมอันดีในที่สุด 

แม่เบี้ยมีกลวิธีการแต่งโดยใช้ผู้เขียนเป็นผู้เล่าเหตุการณ์ภายในเรื่อง (ซึ่งจะเห็นได้จากมีการใช้สรรพนามบุรุษที่ 3 เรียกตัวละคร ทั้งคำว่า เธอ เขา) สลับกับการใช้บทสนทนาของตัวละครในการเล่าเรื่อง อีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้แม่เบี้ยถูกยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกก็คือความงดงามทางด้านวรรณศิลป์ที่ผู้เขียนสามารถใช้ร่วมกับกามารมณ์ได้อย่างกลมกลืน ทำให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพหรือสามารถจินตนาการร่วม โดยที่ผู้เขียนไม่ได้บรรยายหรือพรรณนาถึงสิ่งที่วาบหวิวแม้แต่น้อย แสดงให้เห็นถึงชั้นเชิงของผู้เขียน และเรื่องราวในแนว วิจิตรกามา อย่างแท้จริง ดังตัวอย่าง

“เมขลาพลิกหงาย เหยียดร่างออกเต็มที่ เหยียดออกราวกับจะให้ท่อนขาเรียวยาวของเธอยืดออกไปจากร่าง กลั้นใจจนสุดแล้วผ่อนลมหายใจออกอย่างเร็วและแรง เธอทิ้งร่างนอนระทวย กรีดนิ้วกกรายไล้ผิวเนียนละเอียดอ่อนของตนเอง...มือเขาคงจะสากกว่านี้...เธอบิดตัวหายใจลึกแรง  

  วาบไหวในอารมณ์ล้ำลึกและความกระหายเติบกล้าปลายเท้าของเธอก่ายเสียดสีกัน มือหนึ่งลูบเลื่อนลงเบื้องล่าง อีกมือหนึ่งไพล่พาดเนินออกมาบีบไหล่แน่น หยิกเนื้อตัวเองจนรู้สึกเจ็บ หญิงสาวหลับตาเกลือกศีรษะอยู่กับกองเส้นผมยาวสยายแผ่กระจายของตนเอง” (น.196)

นอกจากนี้ผู้เขียนยังใช้กลวิธีการตั้งชื่อมาใช้ในการเขียนอีกด้วย โดยชื่อของตัวละครแต่ละตัวล้วนเป็นชื่อที่บอกลักษณะหรือที่มาของตัวละครนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น เมขลา เป็นชื่อที่มีอยู่ในวรรณคดีไทย ซึ่งในวรรณคดีเมขลาจะมีความสวยงามและมีแก้ววิเศษประจำตัว ซึ่งนางจะใช้ความสวยงามและแก้ววิเศษนี้ในการหลอกล่อ หยอกล้อรามสูญ ซึ่งมีลักษณะนิสัยเหมือนกันกับเมขลาในนวนิยายเรื่องแม่เบี้ย ที่มักจะหลอกล่อผู้ชายให้หลงใหลไปกับความงามของตน จนทำให้ครอบครัวของชายอื่นแตกแยก เธอจึงถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นผู้หญิง ‘ดอกทอง’ ด้านชนะชล ชื่อของตัวละครตัวนี้มีที่มาจากเหตุที่ชนะชลเคยจบน้ำเมื่ออดีต จึงได้รับการตั้งชื่อให้กลายเป็นผู้ที่ชนะต่อสายน้ำ แต่ท้ายที่สุดแล้วสายน้ำกลับเป็นสิ่งที่พรากเอาชีวิตของเขาไป 

สัญญะ เป็นสิ่งที่โดดเด่นที่สุดของนวนิยายเรื่องนี้ และเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นเครื่องบ่งชี้ชั้นเชิงและฝีมือของผู้เขียน โดยสัญญะภายในเรื่องจะแฝงอยู่แทบตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งผู้อ่านแต่ละคนสามารถตีความไปตามแนวของคิดของตนได้อย่างอิสระ สัญญะประการแรกที่สามารถทราบได้จากการอ่านนวนิยายก็คือ งู ซึ่งเป็นสัญญะหลักของเรื่อง งูอาจสามารถตีความไปได้หลากหลายแนวทาง ทั้งเป็นตัวแทนของอวัยวะเพศชาย(อาจมาจากฉากอีโรติคของเรื่องหรือจากการชมภาพยนต์ที่เน้นหนักในเรื่องอีโรติค) เป็นความชั่วร้ายในจิตใจของมนุษย์ หรือแม้แต่เป็นบรรพบุรุษของเมขลา แต่ในที่นี้ขออนุญาตตีความตามทัศนคติของผู้เขียนบทความคือ งู เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของจารีตประเพณีและศีลธรรมอันดีที่สถิตอยู่ในใจของมนุษย์ สิ่งบ่งชี้ในเรื่องนี้คือ ทุกครั้งที่เมขลาจะเสพสังวาสกับชายหนุ่มไม่ว่าจะเป็นพจน์หรือชนะชล งูเห่าจะปรากฏตัวขึ้นทุกครั้ง แท้จริงแล้วเป็นความรู้สึกผิดต่อตนเองและศีลธรรมภายในจิตใจของเมขลานั่นเอง และทุกครั้งที่ปรากฏ งูจะแผ่แม่เบี้ย การแผ่แม่เบี้ยของงูเปรียบเสมือนเป็นตักเตือนให้เมขลาประพฤติตนอยู่ในครรลองครองธรรม และเป็นการปกป้องไม่ให้เมขลาละทิ้งศีลธรรมอันดีไปจากจิตใจนั่นเอง (ผู้เขียนยังใช้การแผ่แม่เบี้ยอันเป็นสัญลักษณ์ของการปกป้องและตักเตือนนี้ มาเป็นชื่อเรื่อง ‘แม่เบี้ย’ อีกด้วย) ฉากบ้านทรงไทยโบราณที่ถูกห้อมล้อมไปด้วยความเจริญรอบด้าน เป็นสัญญะแทนความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน ซึ่งความเป็นไทยมักจะปรากฏพร้อม ๆ กับจารีตประเพณีและศีลธรรมอันดีแบบไทย ๆ โดยจะเห็นได้บ้านทรงไทยเป็นสถานที่ที่จารีตประเพณีและศีลธรรมอันดีอาศัยอยู่(งูเห่าหรือคุณ) ซึ่งงูจะไม่ไปสู่สถานที่หรือฉากอื่นของเรื่อง และเป็นสถานที่ที่เมขลาปฏิบัติตนตามจารีตประเพณี(ทั้งการแต่งกาย การรับประทานอาหาร) จึงตีความได้ว่าบ้านทรงไทยโบราณหลังนี้ก็คือกรอบของจารีตประเพณีและศีลธรรมอันดีนั่นเอง สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสัญญะที่ยกมาเป็นตัวอย่างประกอบและล้วนเป็นทัศนะของผู้เขียนทั้งสิ้น แล้วตามทัศนะขอองท่าน ตีความสัญลักษณ์เหล่านี้ว่าอย่างไร ?.....

องค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้นวนิยายเรื่องแม่เบี้ย ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมชั้นครู ประกอบกับฝีไม้ลายมือของวาณิช จรุงกิจอนันต์ที่สามารถนำวัตถุดิบต่าง ๆ มาปรุงรส ทำให้ชนทุกชั้นทุกเพศทุกวัยได้ลิ้มลองอย่างกลมกล่อม จึงทำให้แม่เบี้ยยังคงติดตราตรึงใจผู้คนในทุกยุคทุกสมัย และนอกจากคุณค่าด้านวรรณศิลป์ “แม่เบี้ย” ยังเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าด้านสังคมที่ธำรงไว้ซึ่งสังคมแห่งคุณธรรม ดังนั้นการอ่านนวนิยายเรื่องแม่เบี้ยจึงเปรียบเสมือนการสร้างคุณธรรมไปในตัว และถ้าหากทุกท่านต้องการที่จะเป็นคนเต็มคนอย่างภาคภูมิแล้วนั้น ก็ควรจะลิ้มรสวรรณกรรมเรื่อง แม่เบี้ย สักครั้งในชีวิต.....ดังที่คุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ ได้กล่าวไว้ว่า “การอ่านหนังสือจะทำให้คนเต็มคน”!!!

หมายเลขบันทึก: 687743เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2020 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2020 10:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท