ข้างหลังภาพ…บันทึกรักแห่งความทรงจำ


“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน…” “แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”

“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน…”

“แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”

ประโยคในตอนจบเรื่องของ “ข้างหลังภาพ”

 ความรักที่เกิดขึ้นโดยมีเรื่องราวเต็มไปด้วยภาพความทรงจำนั้น ไม่มีผู้ใดจะลืมเลือนลงได้แม้เวลาจะล่วงเลยผ่านไปนานเพียงใดทุกภาพยังคงตราตรึงอยู่ในหัวใจไม่มีสิ่งใดมาลบเลือนไปได้แม้แต่ความตาย แม้สุดท้ายเรื่องราวจะจบลงอย่างเศร้าไม่สามารถรักกันได้  และแม้ว่าเธอจะตายจากโลกใบนี้ไปแต่ที่ยังคงเหลืออยู่คือความรักของเธอที่มีต่อคนที่เธอรักยังคงอยู่ตราบชั่วนิรันดร์

ข้างหลังภาพ คือ นวนิยายประพันธ์โดยศรีบูรพา หรือชื่อจริงว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ เริ่มตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน เมื่อ พ.ศ. 2479 เป็นเรื่องราวของความรักต่างวัย ต่างสถานะ นอกจากเรื่องราวที่กินใจแล้ว ภาษาที่ใช้ในเรื่องเป็นภาษาที่งดงาม มีวลีที่เป็นที่ชื่นชอบมากมาย นวนิยายเรื่องนี้เมื่อรวมเล่มได้รับการตีพิมพ์ซ้ำถึง 47 ครั้ง ยังได้รับการยกย่องด้วย ความงามในเชิงวรรณศิลป์ และถูกนำไปแสดงเป็นละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ รวมถึงละครเวที ในรูปแบบละครเพลงอีกด้วย

กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนเรื่องนี้โดยอาศัยประสบการณ์จริงที่เคยไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2479 และจากความคุ้นเคยกับเจ้านายในราชสกุลวรวรรณ หลายพระองค์ที่เป็นพี่น้องกับ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เจ้าของหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน โดยเป็นที่คาดหมายกันว่าตัวละคร หม่อมราชวงศ์กีรติ น่าจะถอดแบบมาจากหม่อมเจ้าบรรเจิดวรรณวรางค์ วรวรรณ  บางคนคาดว่าถอดแบบมาจากพระนางเธอลักษมีลาวัณ แต่ชนิด สายประดิษฐ์ ภริยาของผู้แต่งระบุว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ข้างหลังภาพ ตีพิมพ์ตอนแรกในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2479 ต่อเนื่องจนจบบทที่ 12 ในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2480 ถึงตอนที่ ม.ร.ว.กีรติ ลาจากนพพรที่ท่าเรือโกเบ โดยเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ต่อมาเมื่อรวมพิมพ์ครั้งแรกโดย สำนักงานนายเทพปรีชา ศรีบูรพาได้แต่งเพิ่มอีก 7 บท รวมเป็น 19 บท โดยตอนที่แต่งขึ้นใหม่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

เป็นเรื่องราวของชีวิตหม่อมหญิงราชวงศ์กีรติผู้อาภัพในความรักเธอหวังว่าจะได้พบกับความรักสักครั้งหนึ่งในชีวิตเธอดำรงความเป็นสาวอยู่นับหลายปีก็ไม่พบรักหรือชายที่เธอรักได้ จนเธอมีอายุ 35 ปี เธอตัดสินใจแต่งงานกับท่านเจ้าคุณอธิการบดีที่เป็นราชการชั้นพระยา อายุ 50 ปี ตามความปรารถนาของท่านพ่อของเธอ หลังจากเธอแต่งงานทำให้เธอรู้จักกับโลกภายนอกที่กว้างขึ้นดังที่เธอปรารถนามานานนัก เพราะชีวิตของเธอนั้นใช้ชีวิตอยู่แต่ในรั้วในวังไม่มีโอกาสได้เห็นโลกภายนอก ท่านเจ้าคุณอธิการบดีสามีของเธอได้พาเธอไปเที่ยวชมประเทศญี่ปุ่น ทำให้ได้พบกับนพพรชายหนุ่มวัย 22 ปี นิสิตหนุ่มแห่งมหาวิทยาลัยริคเคียวซึ่งเป็นบุตรชายของมิตรสหายของท่านเจ้าคุณอธิการบดีสามีของเธอ และได้ไหว้วานให้นพพรเป็นผู้จัดหาบ้านพักและนำเที่ยวในเมืองโตเกียวด้วยนพพรติดตามไปออกงานกับท่านเจ้าคุณและภรรยาบ่อยครั้งและได้มีโอกาสพาหม่อมหญิงราชวงศ์กีรติไปเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองโตเกียว  ความใกล้ชิดสนิทสนมจึงทำให้นพพรหลงรักหม่อมราชวงศ์กีรติและขณะที่นพพรได้พาหม่อมราชวงศ์กีรติเที่ยวชมธรรมชาติเขามิตาเกะเมื่อได้อยู่กันเพียงลำพังกับหญิงผู้มีรูปโฉมงดงามทำให้ชายหนุ่มอย่างนพพรอดที่จะชื่นชมและหลงใหลในความงามของเธอไม่ได้ นพพรแสดงความรักที่มีต่อหม่อมราชวงศ์กีรติโดยการจุมพิตเธออย่างรุ่มร้อนซึ่งกระทำลงไปอย่างคนไร้สติรู้แก่ใจว่าไม่สมควรแต่นพพรไม่อาจหักห้ามใจและอารมณ์ไว้ได้  แต่หม่อมราชวงศ์กีรติเก็บกิริยาวาจาอย่างสงบและสั่งให้ลืมเรื่องนี้ไปและยังคงสนิทสนมกันอย่างเดิม เมื่อกำหนดการเที่ยวชมประเทศญี่ปุ่นของท่านเจ้าคุณอธิการบดีสิ้นสุดลง ทั้งสองก็จากกันเป็นการจากลาโดยที่นพพรไม่เข้าใจความรู้สึกของหม่อมราชวงศ์กีรติว่าเธอรักนพพรเช่นกันหรือไม่  แม้แท้จริงแล้วหม่อมราชวงศ์กีรติจะรักนพพรเพียงใดแต่ไม่อาจเอ่ยคำนั้นออกไปได้  ทำให้นพพรใคร่ในความรักและนึกถึงเพียงหน้าหม่อมราชวงศ์กีรติทุกคืนวัน เวลาผ่านไปไม่นานท่านเจ้าคุณอธิการบิดีก็ได้เสียชีวิตลง  6  ปี ผ่านไป นพพรสำเร็จการศึกษาที่ญี่ปุ่นจึงกลับมาเมืองไทยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากบิดาญาติพี่น้องและคู่หมั้นของเขารวมถึงหม่อมราชวงศ์กีรติด้วย พบกันครั้งนี้นพพรความรู้สึกที่มีต่อหม่อมราชวงศ์กีรติคือพี่สาวที่ดีคนหนึ่งเท่านั้นไม่ได้รู้สึกรักเหมือนคนรักอย่างที่เคยรู้สึกเมื่อคราวที่อยู่ญี่ปุ่น  ต่อมานพพรก็ได้แต่งงานกับคู่หมั้นของเขา หลังจากที่เขาแต่งงานหม่อมราชวงศ์กีรติก็ป่วยด้วยโรควัณโรคและต้องการพบกับนพพรเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อได้พบกับนพพรเธอจึงได้มอบภาพวาดที่เธอวาดเป็นภาพที่เขามิตาเกะสถานที่ความรักเกิดขึ้นที่นั่นและได้พูดความในใจและบอกรักนพพรโดยใช้ประโยคว่า “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน… แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก” หลังจากนั้น 7 วัน หม่อมราชวงศ์กีรติก็สิ้นลมหายใจอย่างสงบ

ข้างหลังภาพ ผู้เขียนมีการใช้ภาษาสละสลวยอย่างประณีตไพเราะงดงามอย่างหาที่ติไม่ได้ ระหว่างการดำเนินเรื่องนั้นมีการบรรยายเรื่องโดยใช้โวหารในการบรรยายตามลำดับโดยผู้แต่งได้เขียนเรื่องโดยให้ข้าพเจ้าหรือนพพรเป็นผู้เล่าโดยการเล่าเรื่องราวย้อนกลับไปในอดีตจากภาพวาดที่หม่องราชวงศ์กีรติมอบให้ก่อนเธอสิ้นลมหายใจ และได้มีการพรรณนาถึงความงามของธรรมชาติแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในเมืองญี่ปุ่น ทำให้รู้สึกสนุกและเพลิดเพลินสามารถจินตนาการภาพตามได้เห็นความงามและได้เห็นวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นด้วย ในส่วนของบทสนทนา สนทนาด้วยคำสุภาพลึกซึ้งกินใจ ผู้อ่านเข้าถึงจิตใจของตัวละครจะเห็นได้ในบทสนทนาที่นพพรสนทนากับหม่อมราชวงศ์กีรติในตอนที่ต้องจากกันมีการลำลาด้วยคำพูดก่อนจากลา และในตอนที่หม่อมราชวงศ์กีรติป่วยหนักและได้พูดความในใจซึ่งตอนสุดท้ายของเรื่องจบแบบแสนเศร้า ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์เศร้าไปกับความรักที่ไม่อาจได้ครอบครอง แต่สุขใจแล้วที่ได้รัก ผู้เขียนใช้บทสนทนาได้อย่างลึกซึ้ง

ฉากในเรื่องทุกฉากที่ผู้เขียนสร้างขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจในความงดงามของเมืองญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ทำให้เห็นถึงธรรมชาติอันเต็มไปด้วยทะเล ภูเขา ดอกไม้ ความสดชื่นของต้นไม้น้ำในลำธารอากาศอันบริสุทธิ์ เช่นเล่าถึง ความสวยงามในค่ำคืนที่กามากูระเมืองชายทะเลสถานที่มีลมเย็นอยู่เรื่อย ๆ และมีดวงดาวอยู่เต็มท้องฟ้า หรือที่มิตาเกะมีลำธารที่กว้างใหญ่ ซึ่งมีน้ำที่ใสสะอาด จนสามารถจะแลเห็นก้อนหินตะปุ่มตะป่ำอยู่ภายใต้พื้นน้ำ ซึ่งฉากที่สำคัญและเป็นหัวใจของเรื่องคือ มิตาเกะ เป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ทั้งหมดสอดคล้องกับชื่อเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ซึ่งเป็นภาพที่หม่อมราชวงศ์กีรติวาดสถานที่ความรักของเธอและนพพรเกิดขึ้นที่นั่น จึงเป็นมูลเหตุที่ทำให้นพพรเล่าถึงเรื่องราวต่าง ๆ ว่าความหลังของภาพนี้ที่มาอย่างไร

ตัวละครในเรื่องนี้ทำให้ผู้อ่านมีความประทับใจกับบทบาทลักษณะนิสัยของตัวละครเป็นอย่างมาก ซึ่งตัวละครหลักคือ หม่อมราชวงศ์กีรติ มีลักษณะนิสัยที่สุภาพเรียบร้อยกิริยาวาจาอ่อนหวาน มีความเฉลียวฉลาดรู้จักคิดรอบคอบคิดอย่างมีเหตุผลเสมอ มีความกตัญญูกตเวทีวางตนอย่างเหมาะสมกับยศถาบรรดาศักดิ์และประพฤติปฏิบัติตนตามขนบธรรมเนียมจารีต ประเพณีและวัฒนธรรมของไทย ซึ่งทำให้เห็นความงดงามของหญิงสยามเป็นที่เลื่องลือว่าหญิงสยามก็งามไม่แพ้ชาติใด

ส่วนตัวละครรองของเรื่องนี้ คือ นพพร มีลักษณะนิสัยเฉลียวฉลาด อดทนเข้มแข็ง เป็นผู้มีความมุ่งมั่นในการศึกษาและหน้าที่การงาน จะเห็นได้ว่าช่วงแรกนพพรหมกมุ่นในเรื่องรักทำใจไม่ได้แต่สุดท้ายเขาก็สามารถผ่านความรู้สึกนั้นมาได้โดยไม่ได้หมกมุ่นอยู่กับความรักกลับมาตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษามีหน้าที่การงานที่ดี

นวนิยายเรื่อง “ข้างหลังภาพ” แสดงให้เห็นถึงความรักของสตรีและบุรุษนั้นต่างกันความรักของบุรุษในตอนแรกนั้นจะมีความคลั่งรักมากเมื่อเวลาผ่านไปก็ลืมได้อย่างง่ายดาย จะเห็นได้จากนพพรหลงรักหม่อมราชวงศ์กีรติมากแต่เวลาผ่านไปเขาก็รู้สึกกับหม่อมราชวงศ์กีรติเพียงพี่สาวเท่านั้น แต่สำหรับสตรีอย่างหม่อมราชวงศ์กีรติแล้วแม้เวลาจะผ่านมานานเท่าใดความรักที่เกิดขึ้นไม่เคยถูกลบเลือนไปจากความทรงจำเลย

นอกจากนี้เรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการแต่งงานในสมัยก่อนที่มีการคลุมถุงชนบิดามารดาจัดหาคู่ครองที่เห็นว่าเหมาะสมให้กับลูกของตน ผู้เป็นลูกในสมัยนั้นจะต้องทำตามความประสงค์ของบิดามารดา  ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นสตรีไทยที่จะต้องรักนวลสงวนตัวอยู่ในกรอบจารีตประเพณีส่วนบุรุษจะต้องมีหน้าที่เป็นผู้นำทั้งทางด้านความคิดการงานหรือเรียกว่าผู้นำครอบครัวนั่นเอง

นวนิยายเรื่อง ข้างหลังภาพ เป็นเรื่องที่สร้างความสนุกเพลิดเพลินใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย สะท้อนให้ข้อคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับคนในสมัยก่อนและสามารถนำมาเป็นข้อคิดในเรื่องความรักกับปัจจุบันได้ เนื้อหาของเรื่องทำให้ผู้อ่านขบคิดตลอดเวลาและลุ้นไปกับเรื่องราวความรักว่าตอนสุดท้ายจะจบเช่นไร แม้ตอนสุดท้ายจะจบแบบแสนเศร้าแต่ก็ทำให้ผู้อ่านประทับใจในงานเขียนของ “ศรีบูรพา” ที่สร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมเมื่อได้อ่านแล้วมีความประทับใจที่ตราตรึงอยู่ในใจตลอดไป

คำสำคัญ (Tags): #วิจารณ์
หมายเลขบันทึก: 687680เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2020 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2020 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท