ว่าด้วยนโยบายนวัตกรรม


Invention means the creation of a conceptual novelty. It denotes the creation of an idea or a concept, waiting for being applied in a practical context. Such a new idea or concept might be based on new knowledge which is simultaneously created with the invention (“primary inventions” in the sense of Usher 1971, p. 50), or the invention is the result of new applications of a given set of knowledge (“secondary invention,” Usher 1971, p. 54). [From Encyclopedia of Creativity, Invention, Innovation and Entrepreneurship, pp. 1124]

นิยามภาษาไทย: Invention = สิ่งประดิษฐ์; Innovation = นวัตกรรม

นิยามศัพท์จากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา: "นวัตกรรม (อ่านว่า นะ-วัด-ตะ-กัม) เขียน น หนู ว แหวน ไม้หันอากาศ ต เต่า ก ไก่ ร หัน ม ม้า เป็นศัพท์ที่ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงบัญญัติขึ้นให้ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า innovation (อ่านว่า อิน-โน-เว-ชั่น)

"คำว่า นวัตกรรม เกิดจากการนำคำว่า นวตา (อ่านว่า นะ-วะ-ตา) ซึ่งแปลว่า ความใหม่ กับคำว่า กรฺม (อ่านว่า กัร-มะ) ซึ่งแปลว่า การกระทำ มาเข้าสมาสกัน แล้วใช้ในความหมายว่า การซ่อมใหม่ การซ่อมแซม เช่น นวัตกรรมในการศึกษา หมายถึง การปรับปรุงแก้ไขระบบการศึกษา

"ปัจจุบัน คำว่า นวัตกรรม มีความหมายกว้างขึ้น หมายถึง สิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิมซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการ หรืออุปกรณ์ เป็นต้น เช่น การใช้อินเทอร์เน็ตประกอบการสอน ถือเป็นนวัตกรรมทางการศึกษา"

ส่วนคำว่า invention ได้มีการแปลเป็นคำศัพท์ภาษาไทยว่า "สิ่งประดิษฐ์, การประดิษฐ์" คำนี้มีปัญหาอยู่ตรงที่ว่ามีความหมายซ้อนทับกับคำอื่นหลายคำเช่นคำว่า "craft" คำนี้ก็ถูกนิยามว่า "ประดิษฐ์ด้วยฝีมือ" เหตุที่มีการนิยามแบบนี้ เพราะรากความหมายของคำว่า "ประดิษฐ์" ตามราชบัณฑิตยสถานหมายถึงได้ทั้ง (๑) [-ดิดถะ-] ก. ตั้งขึ้น, จัดทำขึ้น, คิดทำขึ้น, สร้างขึ้น, แต่งขึ้น. (ส. ปฺรติษฺฐ; ป. ปติฏฺฐ). (๒) [-ดิดถะ-] ว. ที่จัดทำขึ้นให้เหมือนของจริง เช่น ดอกไม้ประดิษฐ์, ที่คิดทำขึ้นไม่เหมือนธรรมชาติ เช่น ลายประดิษฐ์. (ส. ปฺรติษฺฐ; ป. ปติฏฺฐ).

คำว่า "ปัญญาประดิษฐ์" ซึ่งแปลมาจากคำว่า "artificial intelligence" คำนี้ก็มีปัญหา แท้ที่จริงควรใช้คำว่า "ปัญญาเทียม" แต่ปัญหาคือ คำว่า "เทียม" นี้ก็มีความหมายแฝงเข้ามาอีกว่า "ไม่แท้" หรืออาจไพล่ไปหมายความถึง "ไม่มีปัญญา" ก็ได้ ทั้งนี้จะไปขัดความตั้งใจในตอนต้นว่า "มีปัญญา" แต่ปัญญานั้นไม่ใช่เกิดมาจากมนุษย์ หากแต่ถูกประดิษฐ์ให้ "เทียม" ขึ้นมา อย่างไรก็ตามเราก็ทราบกันดีถึงขีดจำกัดในขณะนี้ว่า "artificial intelligence" นั้นยังไม่มีขีดความสามารถเทียบเคียงกับปัญญาของมนุษย์ได้จริง ๆ โดยส่วนตัวผมเห็นว่าคำนี้ควรแปลว่า "ปัญญาเทียมจักรกล"

ปัญหาของการนิยามคำ Invention นี้ยิ่งมีอุปสรรคหนักเข้าไปอีกตรงที่คำที่เกี่ยวข้องกันอย่างคำว่า Innovation ถูกนิยามโดย "พระองค์วรรณ" ดังที่กล่าวถึงไปข้างต้น เพราะเป็นนักนิยามศัพท์ตัวฉกาจ ศัพท์ที่ถูกนิยามโดยพระองค์วรรณหาก "ติดหู-ติดตลาด" เราจะรับเข้ามาในความคิดโดยไม่ทันฉุกคิดถึงความหมายต้นฉบับของมันจริง ๆ นอกจากนี้คำว่า "นวัตกรรม" ในแง่ "นโยบายสาธารณะ" ดูมีเสน่ห์และน่าสนใจกว่าคำว่า "สิ่งประดิษฐ์" ในความหมายภาษาไทยคำว่า "นวัตกรรม" จึงกินความคร่อมไปทั้ง invention และ innovation แต่เราเข้าใจดีว่านวัตกรรมมีนัยลึกกว่าคำว่า making (สร้าง) หรือ improvement (ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง)



ความหมายต้นฉบับในเชิง "การแก้ปัญหา" ดังแสดงในภาพที่หนึ่ง จะเห็นว่ามันมีการแยกแยะกันอย่างชัดเจน invention นั้นเริ่มจากการไม่มีความชัดเจนในแง่ "ขอบเขตปัญหา" (problem space), "เป้าหมาย" (goal), "วิธีการค้นคว้า" (heuristic), "กรรมวิธีการ" (operator) เมื่อผ่านขั้นตอนแรก (generation) เราจะเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้น ขอบเขตปัญหาจากที่เคยคลุมเครือ เริ่มเห็นการนิยามขอบเขตต่าง ๆ, เช่นเดียวกับ เป้าหมาย และ วิธีการค้นคว้า แต่ กรรมวิธีการนั้นยังไม่ชัดเจน จนกระทั่งผ่านขั้นตอนการสำรวจตรวจสอบอย่างละเอียดขึ้น (exploration) ขอบเขตปัญหา และ วิธีการค้นคว้าจะเริ่มชัดเจนขึ้น ในขณะที่เริ่มเห็นกรรมวิธีการหลากหลายรูปแบบ ส่วน innovation ในรูปเดียวกันนี้จะโฟกัสในส่วนนำ invention ที่เกิดขึ้นมาสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้โดยทั่วไป (implementation) หรือมีอรรถประโยชน์สามารถสร้างมูลค่าโดยผ่านการแข่งขันในตลาดได้ นวัตกรรมในขั้นตอนปลายทางนี้จะต้องมีความแจ่มชัดตั้งแต่การกำหนดขอบเขตปัญหา เป้าหมาย วิธีการค้นคว้า และกรรมวิธีการ ผู้เล่นในช่วง invention คือ inventor (นักประดิษฐ์) ส่วนผู้เล่นในส่วน innovation คือ entrepreneur (ผู้ประกอบการ)



ผลผลิตหรือดัชนีที่วัดได้อย่างเป็นรูปธรรมของ invention คือจำนวนสิทธิบัตร แต่ไม่ใช่ว่าสิทธิบัตรทุกตัวจะมีประโยชน์ หรือถูกพัฒนาให้มีนวัตกรรมต่อไปจนประสบความสำเร็จในเชิงการตลาด เราอาจวัดนวัตกรรมได้คร่าว ๆ จาก มูลค่าของบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดก็ได้ ในทางกลับกัน invention อาจได้รับการสนับสนุนจากรัฐด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง เช่นเหตุผลด้านความมั่นคง (โดยส่วนใหญ่ในปัจจุบันถ้ามองไปให้สุดทางจะเป็นเหตุผลนี้ ตัวอย่างการใช้ภาษีคาร์บอน ซึ่งถือเป็นการชดเชยเชิงงบประมาณแบบมุ่งเป้าเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน แล้วส่งผลให้บริษัทอย่างเทสลาได้รับประโยชน์กำไรส่วนใหญ่มาจากภาษีคาร์บอนนี้ จากการสามารถสร้างนวัตกรรมขึ้นมาท้าทายยานพาหนะแบบเดิมได้ การแก้ปัญหาโลกร้อนนั้นก็ถือเป็นกรอบความมั่นคงสมัยใหม่ที่ขยายกรอบจากความมั่นคงตามแบบเพิ่มเติมให้ครอบคลุมถึงความมั่นคงมนุษย์ หรือเป็นการขยายจาก "traditional security" ไปเป็น "human security" ก็ได้) บริษัทที่เป็นคู่สัญญากับรัฐอาจมีมูลค่าทางการตลาดแต่เกิดจาก invention มากกว่า innovation ก็ด้วยเหตุนี้ ดังนั้น invention มักเป็นผลมาจากฝั่งอุปทาน ส่วน innovation เป็นผลมาจากฝั่งอุปสงค์

เป็นเรื่องปกติที่การสร้าง innovation ในยุคใหม่จะมีผู้เล่นในระบบนิเวศที่กินไปทั้งฝั่ง invention และฝั่ง innovation (ดูในภาพที่ ๒) บางครั้งผลิตภัณฑ์ใหม่อาจเกิดจากความต้องการจากฝั่งอุปสงค์ทำให้เกิดการสร้างพันธมิตรและให้ทุนสนับสนุนกับฝั่ง inventor (ซึ่งในปัจจุบันมักจะเป็นมหาวิทยาลัย) หรือบางครั้งรัฐหรือฝ่ายความมั่นคงมีเป้าหมายโครงการบางอย่างแล้วอัดฉีดงบประมาณให้ฝั่ง inventor อย่างมหาวิทยาลัย แล้ว inventor นั้นก็ประสบกับการพัฒนาไปเป็น innovation แล้วประสบความสำเร็จในทางการตลาด (กูเกิลจัดเป็นตัวอย่างนี้ https://qz.com/.../googles-true-origin-partly-lies-in.../)

คลัสเตอร์ด้านอุตสาหกรรมในยุคใหม่ จึงมักเกิดขึ้นล้อมรอบมหาวิทยาลัย อย่างเช่น ในสิงคโปร์ Block 71 เกิดจากนโยบายร่วมของ NUS และ The Ayer Rajah Industrial Estate ซึ่งถูกสร้างขึ้นในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ โดยบรรษัทเมืองจูร่ง (JTC) ซึ่งมีเป้าหมายในตอนต้นที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมจูร่ง (บรรษัทแห่งนี้มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์) ในพื้นที่ใกล้เคียงกันในย่าน One-North ของ Block 71 การลงทุนในยุคหลังของ JTC มีทั้ง Fusionopolis (เน้นความร่วมมือการวิจัยระหว่างภาครัฐและเอกชน ในงานวิจัยสาขา infocomms, media, science and engineering), Biopolis (เน้นงานวิจัยด้านชีวเทคโนโลยีทางการแพทย์) และ Mediapolis (พัฒนาการสร้างสื่อดิจิตัล) ดู https://www.straitstimes.com/.../heart-of-singapores... ส่วน Fusionopolis แห่งที่สองถูกสร้างขยายเพิ่มเติมขึ้นเมื่อห้าปีก่อน (ของไทยนั้นมีโครงการพัฒนาที่คล้ายกันคือ EEC แต่จะไปได้ถึงไหนก็ต้องติดตามดูกันต่อไป)

การประสบความสำเร็จของมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง NUS จึงไม่ใช่อยู่ที่การ "เล่น" กับดัชนีการจัดอันดับสถาบันการศึกษาเป็นเพียงอย่างเดียว (จ้างอาจารย์จากต่างประเทศด้วยเงินตอบแทนมูลค่าสูง สนับสนุนให้มีการวิจัย และตีพิมพ์ผลงานวิจัยเป็นภาษาอังกฤษ ในวารสารวิชาการชั้นนำ มีการสร้างเครือข่ายกับสถาบันวิชาการ กลุ่มทุนและเครือข่ายการค้าระดับโลก ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่ ฯลฯ) แต่ยังเป็นเพราะมีความเข้าใจในธรรมชาติของระบบนิเวศอุตสาหกรรมสมัยใหม่แบบนี้อย่างถึงแก่น ปัจจุบันบรรษัทเทคโนโลยีระดับโลกนิยมเข้ามาตั้งสาขาระดับภูมิภาคในสิงคโปร์แล้วทำงานร่วมกับ NUS โดยให้ทุนสนับสนุน ไม่ใช่เฉพาะแค่ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STI) แต่ยังเป็นด้านสังคมศาสตร์อีกด้วย อาจารย์หรือนักวิจัยด้านนโยบายสาธารณะถูกทาบทามให้เข้าไปทำงานกับ NUS ทั้งตำแหน่งนักวิจัย อาจารย์ประจำ และ ศาสตราจารย์รับเชิญ ด้วยเงินตอบแทนอย่างต่ำเดือนละ ๕ แสนบาท การทาบทามนั้นทำผ่านการตรวจหาผลงานตีพิมพ์ภาษาอังกฤษในวารสารวิชาการชั้นนำนั่นเอง บรรษัทเทคโนโลยีระดับโลกเหล่านี้เมื่อทำสัญญากับนักวิจัยเหล่านี้ นอกจากการให้เงินทุนสนับสนุนก็ยังอนุญาตให้เข้าถึงฐานข้อมูลเฉพาะของบรรษัทนั้น ๆ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่เหนือกว่าฐานข้อมูลเปิดในแวดวงวิชาการทั่วไป เพราะทั้งมีงบประมาณสนับสนุนและทั้งถูกนำไปใช้ในงานจริง งานวิจัยที่นำเอาฐานข้อมูลเหล่านี้ไปใช้วิเคราะห์จึงมักมีคุณภาพเหนืองานวิจัยที่ใช้ฐานข้อมูลดาษ ๆ ทั่วไป เมื่อผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำยิ่งส่งเสริมการสร้างทั้งเครือข่ายและเกียรติภูมิของนักวิจัยนั้น ๆ ยิ่งขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ

ในปัจจุบันการถ่ายโอนความมั่งคั่งจากอุตสาหกรรมเก่าที่มักพึ่งพาอยู่บนฐานอุตสาหกรรมหนักและเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่อยู่บนฐานข้อมูลกำลังผ่านพ้นขั้นตอนแรกอรุณไปสู่ยุคการเร่งเพิ่มทวีคูณ (ดูภาพ ๓) ดัชนี NASDAQ ฟื้นตัวได้รวดเร็วยิ่งกว่าดัชนีดาวน์โจนส์ ไม่เพียงแค่นั้นแม้จะอยู่ในช่วงโควิด-๑๙ กลับยังทำลายสถิติเดิมของตนได้เสียอีก ความเสียหายทางเศรษฐกิจในช่วงโควิด-๑๙ แทบจะทำอะไรกับธุรกรรมของบรรษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้เลย มูลค่าตลาดของเพียงห้าบริษัทรวมกันอย่าง แอปเปิล อเมซอน อัลฟาเบต (กูเกิลเดิม) ไมโครซอฟต์ เฟสบุ๊ค หรือในกลุ่มพวก FAANG กินมูลค่าถึงกึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาดบรรษัททั้งหมดที่เหลือ ลำพังมูลค่าตลาดของแอปเปิลก็อยู่ที่ ๒ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปแล้ว เงินคริปโตอย่างบิตคอยน์มีมูลค่าตลาด ๒ แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งที่เพิ่งถูกประดิษฐ์ (invented) ขึ้นมาในปี ๒๐๐๘ หรือเมื่อ ๑๒ ปีก่อนด้วยฝีมือของแฮ็คเกอร์นิรนามที่ใช้นามแฝงว่า "ซาโตชิ นาคาโมโต้" ที่ไม่เคยมีใครเคยพบตัวตนจริงและต่อมาก็หายตัวเงียบไปอย่างไร้ร่องรอย โดยไม่มีอำนาจรัฐสนับสนุนเหมือนเงินกระดาษทั่วไป หรือไม่มีมูลค่าธุรกิจหนุนหลัง เรียกได้ว่านอกจาก "อัลกอริทึม" บิตคอยน์ถูกสร้างขึ้นมาจากอากาศธาตุโดยไม่มีอะไรหนุนหลังเลยอย่างแท้จริง มูลค่าตลาดของบิตคอยน์นี้ยังมากกว่า GDP ของประเทศอย่างกาตาร์หรือฮังการีเสียอีก และเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP ไทย! (ดูปริมาณทุนทั้งหมดในรูปแบบต่าง ๆในภาพ ๔-- นี่เป็นข้อมูลเมื่อสองปีก่อน จะเห็นว่าปัจจุบันทั้งแอปเปิลและบิตคอยน์ทำมูลค่าเพิ่มเป็นสองเท่าจากเดิมเรียบร้อย)



การเคลื่อนย้ายความมั่งคั่งจากอุตสาหกรรมเก่าสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่ผูกอยู่กับอุตสาหกรรมบนฐานข้อมูล (ในอนาคตอาจรวมทั้งพลังงานสะอาด) และระบบนิเวศทั้ง invention และ innovation กำลังกลายเป็นหลุมดำดึงดูดการลงทุนจากเม็ดเงินการลงทุนทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง หน้าจอจัดพอร์ตการลงทุนของบรรษัทการเงินและนักลงทุนแทบทุกคนในโลกล้วนขึ้นกับไม่บลูมเบิร์กก็รอยเตอร์ ทั้งสองบรรษัทนี้จะมีสำนักข่าวเฉพาะของตนเองซึ่งคอยติดตามการเคลื่อนไหวสถานการณ์การเงิน ธุรกิจ เทคโนโลยี การเมือง ฯลฯ จากรอบโลกตลอด ๒๔ ชั่วโมง แล้วข้อมูลข่าวเหล่านี้จะถูกนำมาแสดงผลบนหน้าจอของนักลงทุนทุกเช้า การตัดสินใจการลงทุนของนักลงทุนทั้งจากสัญชาตญาณของตนเองและระบบจัดพอร์ตแบบอัตโนมัติที่คำนวณจุดคุ้มค่าที่สุดระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนจากฐานข้อมูลผลประกอบการ ข้อมูลการเงิน เศรษฐกิจ การลงทุน ฯลฯ จากทั่วโลก ส่งอิทธิพลต่อการไหลเวียนของเม็ดเงินทั่วทั้งโลก ไม่เพียงแต่ศูนย์กลางระบบนิเวศของอุตสาหกรรมยุคใหม่ไปรวมศูนย์อยู่ในสหรัฐฯ ตลาดเงินทุนของสหรัฐฯ ยังนับว่าเป็นตลาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูงสุด ดังนั้นไม่เพียงพันธบัตรของสหรัฐฯ ยังเป็นที่ต้องการ แต่ยังรวมไปถึงการเข้าถึงการระดมทุนของบรรษัทขนาดใหญ่ต่างชาติผ่านตลาด OTC ที่เรียกว่า pink sheet อีกด้วย

ช่องว่างระหว่างความมั่งคั่งของอุตสาหกรรมสองรุ่นนี้ไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นภายในประเทศเดียวกัน แต่ยังเกิดขึ้นกับระหว่างประเทศอีกด้วย ประเทศที่ล้มเหลวในการเคลื่อนย้ายความมั่งคั่งไปสู่อุตสาหกรรมรุ่นใหม่ ไม่เพียงจะเกิดผลกระทบต่อขนาดเศรษฐกิจในประเทศของตนเอง แต่ยังเกิดปัญหาการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนออกนอกประเทศไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง ผลกระทบนี้ยิ่งเป็นทวีคูณสำหรับประเทศอย่างไทยที่จัดอยู่ในตำแหน่งห่วงโซ่มูลค่าระดับกลาง เพราะนอกจากจะไต่ระดับขึ้นไปสร้างมูลค่าระดับบนไม่ได้แล้ว ยังสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับตลาดเกิดใหม่ที่ยังคงได้เปรียบจาก "การปันผลทางประชากร" อย่างประเทศใน CMLV รวมอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การจะประสบความสำเร็จในการเคลื่อนย้ายความมั่งคั่งใหม่ไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับนโยบายและความรู้ความเข้าใจของภาครัฐ แต่ยังต้องเกิดจากความเข้าใจของผู้เล่นทั้งที่เป็น inventor และ entrepreneur ในระบบนิเวศว่าอุตสาหกรรมสมัยใหม่ต้องเริ่มจาก "ฐานข้อมูล" เป็นสำคัญ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่คำพูดโก้หรูที่ว่า "ข้อมูลคือแหล่งน้ำมันดิบใหม่" แต่ต้องเข้าใจว่าเราจะได้มาและรักษาไว้ซึ่งข้อมูลอย่างไร และจะใช้ข้อมูลนั้นในการสร้างผลิตภัณฑ์ บริการ และ แพลตฟอร์ม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของกิจการของเราได้อย่างไร

กูเกิลนั้นเริ่มมาจากไอเดียเล็ก ๆ ที่ว่า เมื่อมีเว็บไซต์และข้อมูลกระจัดกระจายเต็มอินเทอร์เน็ตไปหมด เราจะมีวิธีการค้นหาข้อมูลเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วได้อย่างไร โจทย์นี้เกิดจากความต้องการของประชาคมข่าวกรองของฝ่ายความมั่นคงในสหรัฐฯ ในโครงการ Massive Digital Data Systems (MDDS): The program funded 15 research efforts at various universities, including Stanford. Its goal was developing “data management technologies to manage several terabytes to petabytes of data,” including for “query processing, transaction management, metadata management, storage management, and data integration.” https://medium.com/.../how-the... เช่นเดียวกับวิธีคิดของ Grab และ Uber คือเริ่มจากฐานข้อมูลของผู้โดยสารและเจ้าของยานพาหนะจากนั้นสร้างอัลกอริทึมเพื่อหาวิธี matching แบบทันเวลาระหว่างอุปสงค์และอุปทานที่มีจำนวนมหาศาลและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของทั้งสองฝั่ง ส่วนการสร้างแอพพลิเคชั่นให้ดูทันสมัย สวยงาม ใช้งานง่าย ล้วนเป็นเรื่องตามมาภายหลังทั้งสิ้น


หมายเลขบันทึก: 687442เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2020 17:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ธันวาคม 2020 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท