การเรียนรู้แบบร่วมมือ(Cooperative Learning) โดยวิธีคู่ตรวจสอบ(Pairs Check)


ชื่อเรื่อง 

ศึกษาจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) โดยวิธีคู่ตรวจสอบ (Pairs Check) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔/๔ เรื่อง ฮอร์โมนพืช

ความเป็นมา    

การจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนปัจจุบัน พบว่า นักเรียนมีความตั้งใจหรือเอาใจใส่ต่อการเรียนน้อย นอกจากความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการสื่อสารต่าง ๆ และสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป รูปแบบการจัดการเรียนรู้ของครู น่าจะเป็นสาเหตุของปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้น การศึกษาใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่มีความแตกต่าง หลากหลาย นักเรียนมีส่วนร่วม ฯลฯ น่าจะช่วยให้นักเรียนตั้งใจหรือเอาใจใส่ต่อการเรียนมากขึ้น และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดี

แนวคิด          

การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) เป็นการเรียนรู้ที่แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ส่งเสริมให้ทำงานร่วมกัน โดยในกลุ่มประกอบด้วยสมาชิกที่มีความสามารถแตกต่างกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการช่วยเหลือ พึ่งพา ซึ่งกันและกัน มีความรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งในส่วนตนและส่วนรวม เพื่อให้ตนเองและสมาชิกในกลุ่มประสบความสำเร็จ

ลักษณะการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ มีวิธีการต่าง ๆ อย่างหลากหลาย อาทิ คิดและคุยกัน , เพื่อนเรียน , ผลัดกันพูด , กิจกรรมโต๊ะกลม , คู่ตรวจสอบ , มุมสนทนา , ร่วมกันคิด , การสัมภาษณ์แบบสามขั้นตอน , การแข่งขันระหว่างกลุ่มด้วยเกม , การแบ่งกลุ่มสัมฤทธิ์ , ปริศนาความรู้ , การสืบสอบเป็นกลุ่ม , การเรียนรู้เป็นกลุ่มเพื่อช่วยเหลือเพื่อนเป็นรายบุคคล , การเรียนรู้แบบร่วมมือผสมผสานการอ่านและการเขียน ฯลฯ เป็นต้น        

สำหรับการเรียนรู้แบบร่วมมือ โดยวิธีคู่ตรวจสอบ (Pairs Check) เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ ด้วยการให้ผู้เรียนช่วยกันตอบคำถาม แก้โจทย์ปัญหา หรือทำแบบฝึกหัด แล้วให้แลกเปลี่ยนกันตรวจสอบคำตอบ หรือจับคู่ตรวจสอบ

(ที่มา : https://www.gotoknow.org/posts/209790)

วัตถุประสงค์   

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔/๔ มีความตั้งใจหรือเอาใจใส่ต่อการเรียน เรื่อง ฮอร์โมนพืช มากขึ้น และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดี

วิธีดำเนินการ       

๑. วางแผน ออกแบบ และดำเนินการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) โดยวิธีคู่ตรวจสอบ (Pairs Check) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔/๔ เรื่อง ฮอร์โมนพืช ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

    • นักเรียนสืบค้น บันทึกสรุปเนื้อหาสาระ เรื่อง ฮอร์โมนพืช โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ ได้แก่ ชนิด แหล่งที่สร้าง และบทบาทหน้าที่ พร้อมระบุแหล่งที่มา เพื่ออ้างอิงข้อมูล  
    • นักเรียนตั้งคำถามพร้อมเฉลย เรื่อง ฮอร์โมนพืช จำนวน ๕ ข้อ แล้วนำไปถามเพื่อนให้ได้จำนวนคนมากที่สุด พร้อมบันทึกข้อมูล โดยมีเงื่อนไขว่า “ข้อใดตอบผิดจะต้องเฉลยคำตอบที่ถูกให้เพื่อนรู้ด้วย” 
    • รายละเอียดข้อมูลที่ได้จากการบันทึก ทั้งจำนวนคนที่สามารถไปถาม และจำนวนข้อที่เพื่อนตอบถูก จะนำไปประมวล วิเคราะห์ และแปรผล เป็นคะแนนผลสัมฤทธิ์หรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน       

    ๒. บันทึกและประเมินผล ด้วยการสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียนและคะแนนผลสัมฤทธิ์

    ประชากร  

    นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔/๔ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม  อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ปีการศึกษา ๒๕๖๒ จำนวน ๓๙ คน

    เครื่องมือ 

    ๑. แผนจัดการการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) โดยวิธีคู่ตรวจสอบ (Pairs Check) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔/๔ เรื่อง ฮอร์โมนพืช

    ๒. แบบบันทึกพฤติกรรมและแบบบันทึกคะแนนผลสัมฤทธิ์

    การรวบรวมข้อมูล          

    ๑. ดำเนินการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) โดยวิธีคู่ตรวจสอบ (Pairs Check) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔/๔ เรื่อง ฮอร์โมนพืช

    ๒. บันทึกและประเมินผลพฤติกรรมและคะแนนผลสัมฤทธิ์

    สรุปผล                     

    จากการสังเกตพฤติกรรมการเรียน พบว่า นักเรียนทุกคนตั้งใจหรือเอาใจใส่ต่อการเรียนเป็นอย่างดี มีความสนุกสนานกับการเรียน สำหรับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่า นักเรียนมีคะแนนผลสัมฤทธิ์สูงกว่าร้อยละ ๘๐ ทั้งหมด

    ประโยชน์      

    ๑. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔/๔ ตั้งใจและเอาใจใส่ต่อการเรียน เรื่อง ฮอร์โมนพืช มากขึ้น รวมถึงมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดี          

    ๒. เป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในเรื่องอื่น หรือชั้นอื่น ๆ ต่อไป

    หมายเลขบันทึก: 687091เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2020 07:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ธันวาคม 2020 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท