บันทึกครั้งที่ ๘ ความคิดเห็นจากข่าวเรื่อง ปิดทางนอมินีต่างด้าว พาณิชย์แก้ กม.คุมสิทธิ์ออกเสียง จากเวปไซด์ผู้จัดการ วันที่ 11 ธันวาคม 2549


การแก้กฎหมาย “พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542” โดยการเพิ่มคำนิยาม คนต่างด้าว ให้มีความชัดเจนและครอบคลุมเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาที่พบในปัจจุบัน

ผมอ่านข่าวนี้แล้วเห็นด้วยกับการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542” โดยการเพิ่มคำนิยาม คนต่างด้าว ให้มีความชัดเจนและครอบคลุมเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาที่พบในปัจจุบัน

 

เนื้อหาของข่าว คือ

 

          กระทรวงพาณิชย์วางกฎใหม่เข้มแก้กฎหมายต่างด้าว ปิดทางคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว ระบุชัดถือหุ้นเกิน 51% หรือมีสิทธิ์ออกเสียงเกิน 50% ถือเป็นคนต่างด้าวทันที พร้อมเพิ่มบทลงโทษทวีคูณ ระบุหลังกฎหมายบังคับใช้ จะให้เวลานิรโทษกรรม 6 เดือนถึง 1 ปี หากไม่แก้ไข เจอเล่นงานหนัก

           นายสกล หาญสุทธิวารินทร์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 ว่า การปรับปรุงแก้ไขของคณะกรรมการศึกษา พิจารณายกร่างแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่มีนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธาน เกือบเสร็จสิ้นแล้ว คาดจะแล้วเสร็จภายในเดือนธ.ค.นี้ และจะนำเสนอให้นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป     ประเด็นที่แก้ไขเสร็จแล้ว คือ คำนิยามของคนต่างด้าว ที่จะเพิ่มหลักเกณฑ์สิทธิในการออกเสียงเข้าไปด้วย โดยหากคนต่างด้าวมีสิทธิออกเสียงเกิน 50% ก็จะถือว่าเป็นต่างด้าว จากเดิมที่กำหนดแต่เพียงสัดส่วนการถือหุ้นที่ต้องไม่เกิน 49% เพื่อแก้ปัญหากรณีที่คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี)     รวมทั้ง ยังได้พิจารณาเพิ่มโทษเป็นทวีคูณ เช่น เดิมกำหนดจำคุกไม่เกิน 3 ปี ก็อาจเพิ่มเป็น 3-10 ปี หรือการปรับเงินเดิมกำหนด 100,000-1 ล้านบาท และปรับวันละ 10,000-50,000 บาทระหว่างแก้ไขจากผิดให้เป็นถูก ก็อาจเพิ่มเป็นตั้งแต่ 500,000 ถึง 10 หรือ 20 ล้านบาท และเพิ่มปรับรายวันเป็นวันละ 100,000 บาท

          “จากนี้ไป จะพิจารณาจากจำนวนหุ้น หรือสิทธิในการออกเสียง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง โดยหากเกินตั้งแต่ 50% ก็จะถือว่าเป็นบริษัทคนต่างด้าว ไม่ใช่บริษัทคนไทย เพราะตามหุ้นบุริมสิทธิ์ คนต่างด้าวที่ถือ 1 หุ้นอาจมีสิทธิออกเสียงถึง 10 เสียง ไม่ใช่แค่ 1 เสียง หากสัดส่วนการถือหุ้นไม่ถึง แต่สิทธิออกเสียงถึงก็ถือว่าเป็นต่างด้าว หรือหากสัดส่วนการถือหุ้นถึง แต่สิทธิออกเสียงไม่ถึงก็ถือว่าเป็นคนต่างด้าวนายสกลกล่าว     ทั้งนี้ เมื่อการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว กระทรวงพาณิชย์จะให้ระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการ ที่กระทำผิดกฎหมายปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง หลังจากนั้น หากยังไม่ดำเนินการให้ถูกต้อง กระทรวงพาณิชย์จะตรวจสอบ และหากพบมีการกระทำผิดก็จะดำเนินการลงโทษตามกฎหมายต่อไป    นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ในช่วงต้นปีหน้า กรมฯ จะพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลทางธุรกิจให้ได้มากขึ้น โดยจะพัฒนาและให้ข้อมูลแบบเป็นรายธุรกิจ ครอบคลุมทั้งข้อมูลการจดทะเบียน การถือหุ้น ข้อมูลทางบัญชี โครงสร้างของบริษัทและรายชื่อของคณะกรรมการ รวมถึงให้รู้ว่าใครเป็นคณะกรรมการ อยู่ที่ไหน และกี่แห่ง เพื่อให้สามารถตรวจสอบบริษัทจดทะเบียนที่มีอยู่เดิมเกือบ 600,000 ราย และบริษัทใหม่ที่จะเข้ามาจดทะเบียนในไทย      นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้ที่จะตัดสินใจลงทุนได้รับทราบข้อมูลทุกแง่มุมก่อนการลงทุน และยังสร้างความโปร่งใสของธุรกิจให้มีธรรมาภิบาล และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการแอบแฝงจดทะเบียนในเชิงมิชอบ และผิดกฎหมายการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท

          สำหรับความคืบหน้าการตรวจสอบ 12 บริษัท ที่ได้รับการร้องเรียนและเข้าข่ายนอมินีของต่างด้าว ซึ่งมีทั้งธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจซื้อขายที่ดิน ธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคม เป็นต้นนั้น ขณะนี้ คณะอนุกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อยู่ระหว่างการตรวจสอบประเด็นที่มาของเงิน ที่นำมาลงทุนในบริษัท โครงสร้างการถือหุ้น ก่อนสรุปความเห็น และส่งให้อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการต่อไป     ขณะที่คดีนอมินีของบริษัทกุหลาบแก้วนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา ทางกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปศท.) ได้เรียกเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าว.

หมายเลขบันทึก: 68633เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2006 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท