MoHo ใช้เป็นแล้วจะไม่โมโห


                MoHo ใช้เป็นแล้วจะไม่โมโห

          วันนี้เราจะมาพูดถึงโมเดลหนึ่งที่นำมาใช้ในการทำกิจกรรมบำบัด นั่นก็คือ “Model of Human Occupation (MoHo)” หรือเวลาที่เราพูดกันก็มักจะเรียกกันว่า “โมโฮ” โมเดลนี้จะใช้ประเมินแยกแยะปัญหาเพื่อตั้งเป้าหมายรายบุคคล จาก Assets (สิ่งดี ๆ ในตัวเรา สิ่งนี้ค่อนข้างที่จะเป็นนามธรรม เช่น ความรู้ ความคิดในทางบวก) Liabilities (สินทรัพย์-หนี้สินที่เรามี สิ่งที่เราหามาได้ ค่อนข้างที่เป็นรูปธรรมมากกว่าAssets) Influence (สิ่งที่มีผลจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวทำให้เปลี่ยนพฤติกรรมการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตหรือที่เราเรียกกันว่า Occupational Behavior) และโมเดลนี้ยังเพิ่มความสามารถของผู้รับบริการในการแสดงบทบาทที่มีความหมายต่อชีวิต โดยการใช้สิ่งรอบ ๆ ตัวเป็นสื่อในการพัฒนา รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนตามช่วงวัย และการสร้างทักษะในชีวิต เช่นการสร้างนิสัยและบทบาทใหม่ ๆ ให้กับผู้รับบริการอีกด้วย ซึ่งการประเมินแยกแยะปัญหาของ MoHo นั้นมาในรูปแบบการตั้งคำถาม 7 ข้อ คือ 

1. Occupational Identity: อะไรคือสิ่งที่ผู้รับบริการต้องการจริง ๆ หรือทำสิ่งนี้แล้วให้อะไรกับตัวผู้รับบริการ 

2. Occupational Competence: อะไรเป็นศักยภาพหรือความสามารถสูงสุดในการทำกิจกรรม 

3. Participation: กิจกรรมที่ทำ ทำให้ผู้รับบริการมีส่วนร่วมหรือไม่ 

4. Performance: มีกิจกรรมอะไรบ้างที่ทำได้หรือทำไม่ได้ 

5. Skill: ทักษะหรือความสามารถอะไรที่อยากจะทำหรือฝึกฝน 

6. Volition/Habituation/Performance Capacity: เจตจำนงที่จะต้องการทำสิ่งนั้นจริง ๆ/ พฤตินิสัยในการทำกิจกรรม/ การแสดงความสามารถจริง ๆ 

7. Environment: มีผลกระทบรอบตัวอะไรบ้าง

ประโยชน์ของ MoHo ต่อการพัฒนา”ตนเอง”

        MoHo เป็นโมเดลที่นำมาประยุกต์ให้เข้ากับตัวเราได้ง่าย เพราะเป็นโมเดลที่ให้เราสามารถตั้งคำถามกับตัวเองได้ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ทำให้เราเกิดการทำทวนสิ่งที่ทำมาในอดีตและปัจจุบัน วางแผนในสิ่งที่จะทำในอนาคต รวมทั้งมองอดีตและปัจจุบันว่ากำลังทำอะไรที่มันสามารถส่งผลกระทบต่ออนาคตด้วยหรือไม่ หรือสิ่งที่ทำในอดีตส่งผลกระทบอะไรให้กับปัจจุบัน MoHo จะเป็นโมเดลที่เป็นกรอบการตั้งคำถามเพื่อดึงความเป็นตัวเราหรือศักยภาพที่เรามีออกมาให้ได้มากที่สุด เมื่อเราตอบคำถามข้อนั้น ๆ ได้ เราก็นำมาปรับกิจกรรม พฤติกรรมที่ทำสิ่งนั้นผิดวิธีหรือสิ่งที่ยังไม่สามารถทำมันได้เต็มที่ เราจะเอาโมเดลมาพัฒนาศักยภาพของเราให้ได้ดีกว่านี้ ซึ่งเราจะปรับเปลี่ยนได้อย่างมีขอบเขตและเป้าหมายที่ชัดเจน เราต้องนำโมเดลมาประยุกต์และพัฒนาเพื่อให้เราได้ทำสิ่งใหม่ๆ ที่ส่งผลดีต่อชีวิตของเราและคนในสังคมเพราะเราจะสามารถเอาทักษะที่เรามีไปช่วยเหลือผู้อื่นได้มากขึ้น

ประโยชน์ของ MoHo ต่อการพัฒนา”กลุ่มเปราะบาง”

       กลุ่มเปราะบาง คือ คนกลุ่มนี้มีข้อจำกัดของความ สามารถในการกำหนดชีวิตของตนเอง หรือขาดอิสระในการตัดสินใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ คนกลุ่มนี้ มักถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่สามารถปกป้องประโยชน์ของตนเองได้ คนไร้บ้าน เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากว่าคนไร้บ้าน อาจจะเป็นคนที่เคยมีความสามารถ มีทักษะ แต่ด้วยปัจจัยสิ่งแวดล้อมหรือพฤติกรรมของเขาทำให้เขากลายเป็นคนไร้บ้าน และกลายเป็นคนที่ถูกจำกัดสิทธิ์ต่างๆ เราจะนำ MoHo มาปรับใช้กับคนกลุ่มนี้ โดยการตั้งคำถามว่าเขามีเป้าหมายอะไรในการใช้ชีวิตต่อ มีเป้าหมายอะไรที่อยากจะทำ มีทัษะหรือความสามารถใดที่ก่อนหน้านี้เคยมี แล้วยังทำมันได้อยู่ เราในฐานะผู้บำบัดก็จะพยายามดึงความสามารถที่เขามีออกมาให้ได้มากที่สุดโดยผ่าน MoHo เพื่อให้เขาสามารถกลับมามีชีวิตที่ปกติขึ้นมาได้ สามารถสร้างอาชีพ หารายได้ มาดูแลชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้น รวมทั้งเขาจะได้สามารถใช้สิทธิต่างๆที่ควรจะได้ มาใช้ด้วย เมื่อเขามีชีวิตที่ดีขึ้นเขาก็สามารถทำประโยชน์ให้กับสุงคมได้มากขึ้น พัฒนาสังคมได้ดีขึ้น หากเราไม่มี MoHo เราก็อาจจะถามผู้รับบริการได้ไม่ตรงจุด ถามในสิ่งที่ไม่สามารถเอาไปทำประโยชน์ต่อได้

หมายเลขบันทึก: 684822เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2020 00:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2021 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท