สังคมไทยเหนียวแน่นสองพรรคสองฝ่ายสองชนชั้น


สังคมไทยเหนียวแน่นสองพรรคสองฝ่ายสองชนชั้น

3 ตุลาคม 2563

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก (ท้องถิ่น) [1]

  บ้านเมืองเกือบ 20 ปีที่แล้วเป็น “สองนคราประชาธิปไตย” [2] คือ ประชาธิปไตยของคนชั้นกลาง และ ประชาธิปไตยของคนชนบท สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยมีสองขั้วสองกลุ่มสองฝ่าย แต่ท้ายที่สุดเป็นเพียงการต่อสู้ทางความคิดของคนแค่สองกลุ่มคือ ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยม กับฝ่ายหัวก้าวหน้า ที่ปัจจุบันยังคงเถียงกันไม่จบ ลองย้อนความไปถึงศักดินาของสังคมไทยแต่อดีต

(1) ชนชั้นสังคมไทยอดีตที่ส่งผลมาถึงปัจจุบันแยกเป็น [3](1) ศักดินา (2) อำมาตย์ (3) ประชาราษฎร (4) ไพร่ (5) ทาส มีผลต่อการถือครองที่ดิน บ้าน และพัฒนาการของครอบครัว คนไทยส่วนใหญ่อยู่ในชนชั้นไพร่หรือ เดิมเรียก “ส่วย” มีการเกณฑ์แรงงาน ส่งส่วยเป็นทรัพย์สินแทนแรงงาน ปัจจุบันไม่มีแล้ว เหลือเพียงการเกณฑ์ทหาร ส่วนประชาราษฎรนั้นคือคนต่างชาติ เช่น คนจีน ฝรั่ง หรือ อำมาตย์ ศักดินาที่ถูกลดชั้นลงคนจีนไม่เป็น ไพร่ หรือทาส จึงมีโอกาสทำมาค้าขายทำธุรกิจอิสระ สะสมทรัพย์สินได้ ต่างจากคนไทยที่เป็น “ส่วยไพร่” หรือ “ทาส” มาก่อน ส่งผลต่อความล่าช้าในการพัฒนาครอบครัวและการสะสมทรัพย์สิน เงื่อนไขที่ ไพร่ ทาส จะเลื่อนชั้นทางสังคมมี 2 วิธี คือ (1) การบวช และ (2) การรับราชการ บรรพบุรุษชนชั้นไพร่จึงให้ ลูกหลานเข้ารับราชการ มาระยะหลังคนอีสานเอาอย่างคนจีนหันมาทำมาทำอาชีพอิสระเปิดร้านขายส้มตำ ไก่ย่าง ลาบ ก้อย อาหารพื้นบ้าน ฯลฯ เช่น ไก่ย่างวิเชียร ลาบยโส ลาบเป็ดอุดร แจ่วฮ้อนสารคาม ไส้กรอก หม่ำ ขอนแก่น กบทรงเครื่องสุรินทร์ ข้าวหลามอุดร สารคาม แมงทอด ถั่วต้ม ข้าวโพดต้ม สาโทหวาน ฯลฯ

(2) โครงสร้างชนชั้นสังคมไทย และการทะลุกรอบชนชั้น มีปัจจัยที่สำคัญคือ สังคมไทยแยกชนชั้นด้วย (1) คำพูด และ (2) การปฏิบัติต่อกัน ในระหว่างการคนต่างชนชั้น เพื่อการได้รับสิทธิพิเศษจากกฎหมาย หรือจากเจ้าหน้าที่รัฐผู้ที่บังคับใช้กฎหมาย ในกระบวนการทางสังคม มีชนชั้นหนึ่งที่พยายามทะลุกรอบชนชั้น คือ “ชนชั้นนำ” (Elite) [4] ที่ไต่เต้าคิดว่าตนเองเหนือกว่าคนกลุ่มอื่น ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้ดี เป็นคนชนชั้นกลาง (Middle class) [5] และตนเองเป็นผู้ชี้นำสังคม

An Inconvenient Truth [6]: สองขั้วพรรคราชการกับพรรคราษฎร

(1) สังคมไทยเป็น “รัฐราชการ” (Bureaucratic Polity) [7] เป็นที่เข้าใจว่า “พรรคราชการ” ต้องนิยมอำนาจ หรือตกเป็น “ฝ่ายอำนาจนิยม” ไปโดยไม่รู้ตัว พวกเขากลัวถูกเปลี่ยนสถานะจากที่เขามีอยู่ (Status quo) หรือกลัวถูกลดสถานะลง เพื่อความอยู่รอดของพวกตน “พรรคราชการ” โดยอำมาตย์ศักดินา จึงไปยึดอำนาจรัฐที่มีแนวนโยบายต่างจากพวกตน เช่นแนวทาง “ประชานิยม” (Populism) [8]พรรคราชการจึงเป็น “เผด็จการ” ต่อราษฎร ต่อคนทั่วไป ต่อคนรากหญ้า และ คน อปท.

(2) ตรงข้ามกับพรรคราชการก็คือ “พรรคราษฎร” ในที่นี้หมายรวม ราษฎรทั่วไปคนรากหญ้า และ อปท. ที่ต้องใช้นโยบายประชานิยมเพื่อเอาใจมาเป็นพวก คนกลุ่มนี้มองเห็นต่างจากกลุ่มพรรคราชการ เช่น มอง “การบริหารรัฐวิสาหกิจ” ว่า “ขายชาติ” พรรคราษฎรจึงถูกว่าเป็น “เผด็จการต่อราชการและรัฐวิสาหกิจ รวมกลุ่มทุนผูกขาด” ที่เป็นพวกเดียวกัน เป็นมิติการมองคำว่า “เผด็จการ” ที่ต่างตรงข้ามกันของคนสองกลุ่ม

(3) กรณีของ อปท. เมื่อผสมโรงกับ “การกระจายอำนาจ” ด้วยการถ่ายโอนบุคคลากรครู หมอ หน่วยงานช่างอื่นลงสู่ อปท. รวมถึง การปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมใหม่เพื่อรองรองรับการถ่ายโอน จึงสะเทือนถึงราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่เคยอยู่สุขสบายมาก่อน จะต้องสูญเสียอำนาจบารมีไป

(4) ยิ่งนึกยิ่งชวนคิดสงสัยว่า กลุ่มค้ายาเสพติด กลุ่มผู้มีอิทธิพล ที่รัฐบาลในสมัยหนึ่งได้ประกาศสงคราม [9]และปราบปรามอย่างรุนแรงที่จริงแล้วพวกมันคือใคร หากคิดในทางร้ายก็คงหมายถึง บรรดาข้าราชการ หรือผู้มีอิทธิพลในสังคม ที่เกี่ยวกับอำนาจรัฐ คือผู้อยู่เบื้องหลังยาเสพติดอิทธิพลนั้น เพราะเมื่อก่อนยาบ้าเม็ดละ 400 บาท ปัจจุบันเศรษฐกิจตกต่ำยาบ้าเหลือ 5 เม็ดร้อยทำให้พวกนี้ขาดรายได้ไปทันตา

สองขั้วสองพรรคไม่ตกยุคยังคงอยู่

(1) ขอเปรียบกลุ่มคน “เสื้อแดง” (Red Shirt) [10] ในเชิงสัญลักษณ์ของ “พรรคราษฎร” คนรากหญ้า (รวมคน อปท.) ที่ ปัจจุบันความเป็นเสื้อแดงยังไม่ได้จางหายไป พวกเขาเห็นความเหลื่อมล้ำว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกเอาเปรียบจากพวก ”ชนชั้นนำ” (Elite) เปรียบเช่น คนกลุ่มพันธมิตร กลุ่มเสื้อเหลือง กลุ่ม กปปส. กลุ่มนกหวีด และกลุ่มสลิ่ม โดยมีผู้ชี้นำให้ท้ายอยู่เบื้องหลังจาก “พรรคราชการ” ที่เป็น “ฝ่ายอำนาจนิยม”

(2) ช่วงวิกฤติความวุ่นวายทางการเมือง (ปี 2548-2557) [11]มีแนวคิดต่างสองขั้ว ฝ่ายนักวิชาการเทคโนแครตที่ไม่พอใจรัฐบาลเป็นทุนเดิมออกมาให้ท้ายกลุ่มผู้ชุมนุมและต่อต้านรัฐบาล (Pro-regime) [12] จนกลุ่มผู้ชุมนุมขยายวงกว้างเป็น “กลุ่ม กปปส.” “กลุ่มนกหวีด” และเป็น “กลุ่มสลิ่ม” ในที่สุดอย่างผสมกลมกลืน แม้อีกฝ่ายมองว่าการอ้างสถานการณ์วิกฤตินั้นไม่สมเหตุผลนัก ภายหลังคนกลุ่มนี้ไม่ยอมรับฉายา คำว่า “สลิ่ม” [13]ฝ่ายทหารมองว่าไม่ได้เป็นผู้ทำรัฐประหารเอง แต่ต่างหากประชาชนเป็นผู้ทำ แม้เป็นประชาชนเพียงกลุ่มหนึ่งไม่ทั้งหมดที่ไม่อาจทราบผู้อยู่เบื้องหลัง ถึงแม้จะรู้ผู้อยู่เบื้องหลังอาจแกล้งไม่รู้ก็ได้

แนวคิดประชาธิปไตยที่ตรงข้ามสองฝ่าย

(1) ความไม่สมบูรณ์ของ “ประชาธิปไตย” ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่รณรงค์จั่วหัวการลงว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง [14] ที่ผ่านพ้นคะแนนประชามติเกินครึ่งเพียงเล็กน้อย [15] แม้มีส่วนในการปราบโกงแต่หลักการอื่นหลายประการขัดแย้งต่อหลักการตรวจสอบ หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามหลักนิติธรรม (The Rule of Law) อันเป็นหลักสากลประชาธิปไตยแห่งอารยประเทศ กล่าวคือ กลับด้านกลับทางกัน เพราะปัจจุบันคำว่า “ความยุติธรรม ความถูกต้องชอบธรรม ความเป็นธรรม” ล้วนมีความหมายเดียวกันมากยิ่งขึ้น

(2) ฝ่ายคัดค้านความเป็น “ประชาธิปไตย” (Democracy) ว่า “สิ้นเปลืองงบประมาณ” มีต้นทุนสูง เสียเวลา เพราะ ประชาธิปไตยต้องมีต้นทุนในตัวของมันเองเสมอ ไม่ต้องไปวิตกในต้นทุนที่จะเสียไปนั้น ตามที่วิตกกัน เงื่อนไขทางตรงข้ามต่างหากที่จะทำให้เกิดต้นทุนแห่งประชาธิปไตยสูงมากขึ้น เช่น ค่างบประมาณด้านความมั่นคง การรักษาความสงบเรียบร้อย ค่างบราชการลับ งบ กอ.รมน. ค่างบบริหารจัดการ ค่างบบุคลากรฯ ฯลฯ เป็นต้น

(3) อีกฝ่ายรวมๆ กัน [16]ไม่ว่า ฝ่ายอนุรักษ์ ฝ่ายคอนเซอเวทีฟ ฝ่ายหัวเก่า ฝ่ายรอแยลลิสต์ ฝ่ายเผด็จการ ฝ่ายอีลีท ฝ่ายสลิ่ม ฝ่ายนักวิชาการเทคโนแครตตกขอบ ฯลฯ ขอรวมเรียกว่า “ฝ่ายอำนาจนิยม” (Authoritarianism) เป็นคำเชิงสัญลักษณ์ที่พอเข้าใจได้อย่างง่ายที่สุด อย่างไรก็ตาม การไปสื่อเชิงสัญลักษณ์ ดังกล่าว ก็ถูกโต้แย้งว่าเป็น “ฝ่ายซ้าย” “พวกซ้าย” [17] “พวกเสื้อแดง” “พวกควายแดง” “พวกลิเบอร่าน” เพี้ยนจากคำว่า Liberal ที่หมายถึงพวกหัวก้าวหน้าประชาธิปไตย (Progressive) ฯลฯ

(4) การเปรียบเทียบแนวคิดสองขั้วในระยะหลังที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายมีการสื่อใส่ร้ายป้ายสี (Bully) [18] พูดกระแนะกระแหน ระราน กล่าวหา ดูถูกดูแคลน ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างมีกองเชียร์ที่มากพอ ยิ่งสร้างความแตกแยกหนักขึ้น ด้วยการไม่ยอมรับใน “ความเห็นต่าง” หรือ แม้แต่ “การรับฟังเสียงข้างน้อย” (Majority Rule/Minority Rights) [19] เสมือนการ “สาดน้ำมันเข้ากองไฟ” การถูก “ทัวร์ลง” ถูกแอนตี้ ถูกแบน ถูกบุลลี่ (Bully) ฯลฯ ตกเป็นจำเลยของสังคม ถือเป็นสิ่งปกติ

ต้นทุนทางสังคมไทยแข็งแกร่งเสริมสร้างการปกครองท้องถิ่นได้

(1) ท่ามกลางวิกฤติสถานการณ์โรคระบาดอุบัติใหม่ “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับความสนใจจากทั่วโลก ในฐานะเป็นประเทศหนึ่งซึ่งสามารถควบคุมรับมือสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีจนได้รับความชื่นชมจากนานาประเทศทั่วโลก [20] อย่างไรก็ตาม ศักยภาพการรับมือจากโรคอุบัติใหม่ได้สะท้อนผ่านภาพ “ทุนทางสังคม” (Social Capital) [21] ในประเทศไทย ด้วย “ต้นทุนทางสังคมไทย” ที่มีอัตลักษณ์ในด้านความมีน้ำใจ โอบอ้อมอารี และจิตสาธารณะ (Public Mind) [22] ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของจิตอาสาต่างๆ รวมถึงกลุ่มทุนทางสังคมเดิมที่มีอยู่ในชุมชน เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน และองค์กรชุมชนภาคประชาสังคม ระดมพลังคนจนเมืองทำครัวชุมชนสู้พิษเศรษฐกิจ-โควิด แจกจ่ายข้าว-อาหารกว่า 1 แสนกล่อง [23] เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ภาครัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้โดยปราศจากความร่วมมือจากภาคประชาชน

(2) ทุนทางสังคม มีความสำคัญกับทุกมิติของชีวิตมนุษย์ และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในทุกประเทศทั่วโลกว่า เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ในประเทศฟินแลนด์ ได้รับการยอมรับว่ามีระดับทุนทางสังคมในระดับสูง นำไปสู่ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก [24] บนพื้นฐานความไว้วางใจระหว่างบุคคลและทางการเมืองในทุกระดับ [25] มีความสำคัญในการพัฒนาชุมชน ด้วยปัจจัยความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง เสริมสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคม ด้วยกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของท้องถิ่นและความเป็นอิสระของท้องถิ่นที่ได้มีบัญญัติไว้ในกฎหมายท้องถิ่น เช่นเดียวกันประเทศญี่ปุ่น

(3) “การมีส่วนร่วมของประชาชนตามหลักการประชาธิปไตยมีผลต่อการเพิ่มทุนทางสังคมในประเทศ” ทุนทางสังคมเกิดจากการสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมกับชุมชนตามระบอบประชาธิปไตย เน้นหลักการปกครองตัวเอง โดยเน้นกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับสูง ตัวอย่างเช่น ตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น [26] (1947) ในทางกลับกัน สังคมที่ปราศจากทุนทางสังคมจะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ดังเช่น สงครามกลางเมืองสเปน (1936) เนื่องจากสังคมสูญเสียทุนทางสังคม [27] จากเหตุขัดแย้งทางการเมือง การปกครองด้วยระบอบเผด็จการที่ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการทุจริตเลือกตั้ง และ ที่เลบานอน [28] (2019) มีการประท้วงขับไล่รัฐบาล เนื่องจากปัญหาคอร์รัปชันและเศรษฐกิจตกต่ำ  

(4) “ความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนบนพื้นฐานความไว้วางใจต่อกัน” เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเสริมสร้างทุนทางสังคมอันจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น การให้ความสำคัญและไว้วางใจประชาชนโดย “การกระจายอำนาจ” (Decentralization) จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ สอดคล้องกับกระแสเรียกร้องการกระจายอำนาจ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยความไม่พร้อมทางด้านบุคลากร ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นข้ออ้างในการชะลอการกระจายอำนาจเรื่อยมา มีคำถามย้อนว่า จากสถานการณ์วิกฤติโควิดที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นความเข้มแข็งของภาคประชาชนและท้องถิ่น และเพียงพอที่จะพิสูจน์ถึงความเข้มแข็งและความพร้อมของชุมชนท้องถิ่นในการแก้ไขจัดการปัญหาในพื้นที่ของตนเองได้ ภาครัฐมีความจริงใจพร้อมหรือยังที่จะปล่อยอำนาจเพื่อให้ท้องถิ่นเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ของตนด้วยตนเอง หลายครั้งที่ผ่านมา “ชวนให้คนท้องถิ่นอดคิดไม่ได้ว่า แท้จริงแล้วใครกันที่ไม่พร้อมจะกระจายอำนาจ”

  บทวิพากษ์นี้ตั้งใจให้ ฝ่ายอำนาจรัฐ พึงตระหนักไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ฝ่ายอำนาจนิยมหรือไม่ก็ตามว่า “ท้องถิ่นยังคงมีความสำคัญต่อองคาพยพของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอยู่เสมอ”  

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharapron Maneenuch & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), สยามรัฐออนไลน์, 2 ตุลาคม 2563, https://siamrath.co.th/n/186596

[2]ฐิติกร สังข์แก้ว และ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว, สองนคราประชาธิปไตย, สถาบันพระปกเกล้า, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สองนคราประชาธิปไตย

หนังสือพิมพ์ปี 2546 เป็นทฤษฎีที่นำเสนอโดย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เพื่อสะท้อนสภาพปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยระหว่างปี 2533-2536 สาระสำคัญคือ สองนครา กับ ทวิลักษณ์ “ประชาธิปไตย” เป็น ปัญหาการเมืองไทยช่วงทศวรรษ 2520-2530 ถูกตอกย้ำสม่ำเสมอว่าเป็นผลมาจากการซื้อสิทธิขายเสียงในชนบท ภาพลักษณ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกจากเขตเลือกตั้งต่างจังหวัด ในสายตาของคนชั้นกลางเมือง (โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ) ล้วนเต็มไปด้วยภาพประทับของผู้มีอิทธิพล เจ้าพ่อ นักเลง และนายทุนท้องถิ่น

[3]เพื่อความเข้าใจผู้เขียนแบ่ง “ชนชั้นสังคมไทย” เป็น 5 ประเภท ตามสังคมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งแบ่งชนชั้นเป็น 4 ประเภทคือ (1) เจ้านาย คือผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากพระมหากษัตริย์ (2) ขุนนาง หรือ ข้าราชการ ยศของขุนนางเรียงลำดับจากขั้นสูงสุดลงจากสมเด็จเจ้าพระยา จนถึงทนาย (3) ไพร่ หรือสามัญชน หมายถึง ผู้ชายที่มีอายุ 18 – 60 ปี (4) ทาส มี 7 ประเภท ซึ่งระบบชนชั้นดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วย “การเลิกระบบไพร่” ที่มีความสำคัญทางสังคม  เศรษฐกิจและการเมืองการปกครอง  และ “การเลิกระบบทาส” ทำให้ชนชั้นอื่นได้ค่อยๆพลอย หายไปจากสังคม เช่น ระบบแบบขุนนางกินเมือง หรือ “ระบบมูลนาย” หายไป 

[4]คำว่า elite แปลว่า ชนชั้นนำ โดยมากจะหมายถึงคนรวย การศึกษาสูง ในที่นี้ “ผู้ดีอีลีท” หรือ พวกผู้ดี พวกมียศมีศักดิ์ มีความหมายในตัวเอง บ้างก็ว่า ผู้ดีตีนแดง คือพวกชนชั้นที่เจ้ายศเจ้าอย่าง คิดว่าตนเองเป็นกลุ่มพวกที่ดีกว่าคนอื่น

ความหมายในที่นี้ “อีลีท” คือ คนอยู่กลุ่มหนึ่งหรือหลายกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด หรือเป็นผู้นำทางความคิด เป็นผู้สร้างกระแสความคิดที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม หรือเป็นกลุ่มคนหรือหลายกลุ่มที่ต่อต้าน ขัดขวางการเปลี่ยนแปลง กลุ่มผู้คนเช่นว่าถูกเรียกว่า “ชนชั้นนำ” หรือ “elite group” ที่จะคอยก่อตัวเป็น “กลุ่มที่กดดัน” หรือ “pressure group” ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อย่างต่อเนื่อง จากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่งเสมอ

ดู ชนชั้นนำ, มติชน, 11 มกราคม 2561, https://www.matichon.co.th/columnists/news_796124

[5]ชนชั้นกลางที่หมายถึงกลุ่มคนที่อยู่ระหว่างชนชั้นสูงกับชนชั้นล่าง บางทีอาจจะเรียกคนเหล่านี้ได้ว่า “เสรีชน” หรือคนที่ไม่ขึ้นกับใคร นักรัฐศาสตร์ (ฝรั่ง) เชื่อว่าชนชั้นกลาง คือผู้สร้างระบอบประชาธิปไตย สังคมที่จะเป็นประชาธิปไตยจะต้องมีประชากรที่เป็นชนชั้นกลางมากๆ หรือถ้าจะสร้างชาติให้เป็นประชาธิปไตยก็จะต้องสร้างชนชั้นกลางนี้ให้มากขึ้นในประเทศนั้น

ดู ชนชั้นกลางกับอนาคตประเทศไทย, วรวรรณ ธาราภูมิ, 21 กุมภาพันธ์ 2563, https://www.moneyandbanking.co.th/article/theguru-moneyandus-moneyus-mb452

& ตกลงแล้ว…แค่ไหนถึงเรียกว่า”ชนชั้นกลาง”, Middle Class, thevapor.world, 29 กันยายน 2562, https://thevapor.world/2019/09/29/middle-class/ 

& แนวคิดวิเคราะห์โครงสร้างอำนาจท้องถิ่นในประเทศไทย (The Concept of Local Power Structures Analysis in Thailand) โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัชชา นุชพิชิตธนารัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ในวารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองบูรพาปีที่ 3 ฉบับที่ 2, กรกฎาคม-ธันวาคม2558 หน้า 1-28, https://so01.tci-thaijo.org/index.php/pegbuu/article/download/199456/139219/.

& ชนชั้นในสังคมไทย, โพสต์ทูเดย์, 19 ธันวาคม 2553, https://www.posttoday.com/politic/analysis/65590 

[6]คำนี้เริ่มมาจาก “เรื่องจริงช็อคโลก” หรือ ความจริงที่เป็นปัญหา (An Inconvenient Truth) เป็นรายการสารคดีเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่ดำเนินการนำเสนอโดย อัล กอร์ (Al Gore) ซึ่งเป็นอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2007 ภาพยนตร์ชุดนี้ได้เปิดตัวในนิวยอร์กและลอสแอนเจลิสในวันที่ 24 พฤษภาคม 2549 (ปี 2006) และกลับมาฟังกันอีกครั้งเมื่อคราวการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล (23 กรกฎาคม 2563) มีการใช้คำว่า “Inconvenient Truth” ในความหมายว่า “ความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจสำหรับสังคมไทย” หรือ ความจริงที่ไม่อยากพูด ให้เลิกมองประชาชนเป็นศัตรู ถึงเวลาต้องรับฟังความจริง เป็นความรู้สึกแห่งยุคสมัย   

[7]“พรรคราชการ” ในที่นี้ ผู้เขียนตั้งใจเลียนแบบจาก “ระบบราชการ” (Bureaucracy) ของ Max Webber (1864-1920) หรือ “ระบบรัฐราชการ” (Bureaucratic Polity) ตามทฤษฎีของ (Fred W. Riggs, Thailand : The Modernization of a Bureaucratic Polity, 1966) ที่บอกว่า ประเทศไทยเป็นรัฐราชการสมัยใหม่ หรือที่ คนท้องถิ่น และฝ่ายกระจายอำนาจเรียก “ระบบรัฐราชการรวมศูนย์” หรือ "การรวมศูนย์อำนาจ" (Centralization) เป็น “รัฐราชการ” หรือ Bureaucratic Polity

ดู รัฐราชการ(1) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์, 17 กรกฎาคม 2560, https://www.matichon.co.th/columnists/news_604174

& รัฐราชการ (2) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์, 24 กรกฎาคม 2560, https://www.matichon.co.th/columnists/news_608277  

[8]สฤณี อาชวานันทกุล, What is Populism? อะไรคือ "ประชานิยม" ในสากลโลก?, the101.world, 25 ธันวาคม 2560, https://www.the101.world/what-is-populism/  

[9]รัฐบาลพรรคไทยรักไทย โดย ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดยุทธการเป็นวาระแห่งชาติ “ประกาศสงครามขั้นแตกหักเพื่อเอาชนะยาเสพติด” ชนิด “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2546

[10]“กลุ่มคนเสื้อแดง” (2550) เป้าหมายคือ รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นมวลชนจัดตั้งของระบอบทักษิณ หรือ กลุ่ม “นปช.” (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ : United Front for Democracy Against Dictatorship) ประธานคือนายจตุพร พรหมพันธุ์ มีบางคนเรียกพวกเสื้อแดงเป็น ‘นักกอบกู้อิสรภาพ’  (liberator) จุดวิกฤตของกลุ่มเสื้อแดง คือ ในปี 2553 การถูกล้อมปราบจากฝ่ายรัฐ และอำนาจมืด (ชายชุดดำ) และถูกกล่าวหาใส่ร้ายว่า เป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง ก่อความวุ่นวาย ฯลฯ

อีกสองกลุ่มที่เป็นคู่กัด คือ

(1) “กลุ่มพันธมิตร” หรือ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” (People's Alliance for Democracy : PAD) หรือ “กลุ่มพันธมิตรกู้ชาติ” หรือ “กลุ่มคนเสื้อเหลือง” เพราะใช้ “สีเหลือง” และมีมือตบเป็นเครื่องมือสัญลักษณ์  ที่จริงความหมายดั้งเดิมไม่ได้เรียกคนเสื้อเหลือง กลุ่มนี้ก่อตั้งเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 เคลื่อนไหวช่วงปี 2548-2552 มาก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 และออกมาชุมนุมอีกครั้งในปี 2551 เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวชและสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากตำแหน่ง นำโดยนายสนธิ สิ้มทองกุล เป้าหมายสำคัญเพื่อต่อต้านระบอบทักษิณ ภายหลังกลุ่มนี้มารวมกับกลุ่ม “กปปส.” (นกหวีด) ทำให้ฝ่ายอำนาจรัฐได้ปิดล้อมคนเสื้อแดงสำเร็จ ในช่วงปี 2553

(2) กลุ่ม กปปส. ก่อตั้งเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2556 หรือ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (People's Democratic Reform Committee : PDRC) ที่มีสัญลักษณ์ “การเป่านกหวีด” เป่าไล่คนที่เห็นต่าง นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ เป้าหมายเพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากความเป็นหัวหน้ารัฐบาล และชัดดาวน์กรุงเทพ ในช่วงปี 2556-2557

ดู “ชายชุดดำ”มีจริง-บทพิสูจน์จาก”คำพิพากษา”, คมชัดลึก, 2 กุมภาพันธ์ 2560, https://www.komchadluek.net/news/scoop/258795

& 10 ปีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง : มองเมษา-พฤษภา 53 ผ่านวาทกรรม “จำไม่ลง”, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย, 11 พฤษภาคม 2563, https://www.bbc.com/thai/thailand-52614304

[11]วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553, วิกิพีเดีย, https://th.wikipedia.org/wiki/วิกฤตการณ์การเมืองไทย_พ.ศ._2548–2553   

& วิกฤตความขัดแย้ง...ชะตากรรมม็อบสีเสื้อ, ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม, โพสต์ทูเดย์ รายงานพิเศษ, 18 สิงหาคม 2563,  https://www.posttoday.com/politic/report/597998 

[12]สภาพการเมืองไทยปัจจุบันมีพรรคที่เรียกว่า Pro-regime หรือ “พรรคที่สนับสนุนระบอบ” เท่านั้น เช่น (1) พรรคสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ (2) พรรค ส.ว. และ (3) พรรคราชการ (อ้างจาก ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 26 กันยายน 2563)

[13]นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ คือ ต้นตำรับกลุ่มสลิ่ม คำว่า “สลิ่ม” แยกเป็น 2 พวก คือ (1) พวก elite (2) พวกแบบบ้าน ๆ ตามเขาไป (25 กันยายน 2563 : ใบตองแห้ง, VioceTV)

มีการเริ่มกล่าวคำนี้เมื่อมีวิกฤติการต่อสู้ทางความคิดช่วงปี 2553-2557 ของกลุ่ม “พวกเสื้อแดง” ที่ส่วนใหญ่เป็นคนบ้านนอก กับ “พวกเสื้อเหลือง” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกอีลีทในเมือง และได้เกิด “พวกที่มีหลายสี” หรือ พวกที่ไม่กล้าแสดงตนเองว่าเป็น “เสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง”  ที่เรียกกันตามศัพท์ว่า”พวกหลากสี” หรือ “พวกสลิ่ม” มีเพียง นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ เพียงคนเดียวเท่านั้น ที่เป็นคนแรกที่ยอมรับ “ความเป็นสลิ่มของตนเอง”

ดู คุยกับ “หมอตุลย์” ว่าด้วย “สลิ่ม” ประชาธิปไตย และ “ทักษิณ” (คลิป), มติชน, 24 มกราคม 2560, https://www.matichon.co.th/politics/news_439480

[14]ชงคชาญ สุวรรณมณี,  กลไกตามรัฐธรรมนูญเพื่อปราบการทุจริต, สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, บทความวิชาการ มิถุนายน 2560, https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2560/hi2560-042.pdf

[15]การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2559 : วิกีพีเดีย

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ... (คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560) การออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 รวม 2 ประเด็น คือ (1) ประเด็นหลักรับร่างรัฐธรรมนูญฯ และ (2) ประเด็นเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 50,071,589 คน มาใช้สิทธิ 59.40% (1) ประเด็นหลัก เห็นชอบ 61.35% ไม่เห็นชอบ 38.65%  

(2) ประเด็นเพิ่มเติม เห็นชอบ 58.07% ไม่เห็นชอบ 41.93% 

ในจำนวนนี้ ภาคที่มีเสียงประชามติไม่เห็นชอบมากกว่าเห็นชอบ คือภาคอีสาน  รวม 57.60% 

(1) ประเด็นหลัก เห็นชอบ 48.66% ไม่เห็นชอบ 51.34% 

(2) ประเด็นเพิ่มเติม เห็นชอบ 44.68% ไม่เห็นชอบ 55.32%

[16]อุดมการณ์ทางการเมืองไทย มีลักษณะอนุรักษ์นิยมมากกว่าเสรีนิยม บางครั้งมีแนวโน้มไปข้างอนุรักษ์นิยมประเภทหรือหัวรุนแรงในลักษณะเดียวกับฟาสซิสต์

ดู อุดมการณ์ทางการเมือง : อุดมการณ์ทางการเมืองไทย (THE POLITICAL IDEOLOGY: THAI POLITICAL IDEOLOGY) โดย พชรวัฒน์ เส้นทอง Pacharawat Senthong อาจารย์ประจาสาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, E-mail: [email protected], ใน วารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 3 กันยายน – ธันวาคม 2562 หน้า 230-248, Journal of Graduate Studies Valaya Alongkorn Rajabhat UniversityVol. 13 No. 3 (September – December 2019), Social Sciences for Development Faculty of Humanities and Social Sciences Bansomdejchaopraya  Rajabhat University, https://www.tci-thaijo.org/index.php/JournalGradVRU/article/download/161357/156712/

[17]ฝ่ายซ้าย หรือ พวกซ้าย (The Left)หมายรวมถึง ฝ่าย “New left” คือ “พวกซ้ายใหม่” หรือ “นโยบายเอียงซ้ายแบบใหม่” ด้วย แยก 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มซ้ายก้าวหน้า (radical left) ที่ยอมรับการต่อสู้ในระบบ ในการปฏิวัติโค่นล้มสังคมเก่า (2) กลุ่มซ้ายสุดขั้ว (extreme left) ที่ปฏิเสธระบอบเสรีประชาธิปไตยเรียกร้องต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยรากฐาน ไม่ต้องการประนีประนอมกับระบอบทุนนิยม นี่ยังไม่รวมพวก ซ้ายสุด (Far-left) ที่ได้แก่ พวก คอมมิวนิสต์(Communism) และ พวกอนาธิปไตย หรืออรัฐนิยม (Anarchism) ที่จัดเป็นพวก เรดิกัล (Radical) หรือ พวกอุดมการณ์ซ้ายสุด หัวรุนแรง

คำเหล่านี้ถูกกระแนะกระแหนจาก ผบ.ทบ.พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ในหลายๆ คำ ได้แก่ พวกซ้ายจัดดัดจริต พวกฮ่องเต้ซินโดรม พวกชังชาติ พวกล้มล้างชาติ

สรุป

ฝ่ายซ้ายประกอบด้วย กลุ่มก้าวหน้า เสรีนิยมคลาสสิค สังคมเสรีนิยม กรีน สังคมประชาธิปไตย สังคมนิยม สังคมนิยมประชาธิปไตย อิสรนิยมฝ่ายซ้าย ฆราวาสนิยม คตินิยมสิทธิสตรี ลัทธิอัตตาณัติ ลัทธิต่อต้านจักรวรรดินิยม ลัทธิต่อต้านทุนนิยม และอนาธิปไตย

ส่วนฝ่ายขวานั้นประกอบด้วย อนุรักษนิยม นักปฏิกิริยา อนุรักษนิยมใหม่ ประเพณีนิยม ทุนนิยม เสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) อิสรนิยมฝ่ายขวา อำนาจนิยมฝ่ายขวา กษัตริย์นิยม เทวาธิปไตย ชาตินิยม นาซี(รวมถึงนาซีใหม่) และฟาสซิสต์

ดู ทำความเข้าใจง่ายๆ ว่า ฝ่ายซ้าย–ฝ่ายขวา คืออะไร และใครเป็นใครในสองฝ่ายนี้, Amarin TV, 2 เมษายน 2562, https://today.line.me/th/v2/article/ทำความเข้าใจง่ายๆ+ว่า+ฝ่ายซ้าย–ฝ่ายขวา+คืออะไร+และใครเป็นใครในสองฝ่ายนี้-WWP2RL

& 'บิ๊กแดง'แฉเดือดพวก'ฮ่องเต้ ชินโดรม'พฤติกรรมล้มล้างชาติ ลั่นห้ามแตะมาตรา1, ข่าวแนวหน้า, 11 ตุลาคม 2562, https://www.naewna.com/politic/446633

& “ซ้ายใหม่ (New left)” พลังของคนหนุ่มสาวยุค 1960s, Storyteller, 3 กรกฎาคม 2563, https://www.blockdit.com/posts/5efcd1afbfd1a61383ecddf5

[18]คำว่าบูลลี่ (Bully) ในความหมายมีหลายนัย ราชบัณฑิตสภา ให้คำนิยาม Cyber Bully ว่าคือ “การระรานทางไซเบอร์” หมายถึง การกลั่นแกล้ง การให้ร้าย การด่าว่า การข่มเหง หรือการรังแกผู้อื่นทางสื่อสังคมต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์

Cyberbullying ที่พบบ่อย ๆ ได้แก่ (1) การข่มขู่คุกคาม หรือให้ร้ายเหยื่อ  (2) การเปิดโปงข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ  (3) การคุกคามทางเพศ  (4) การแอบอ้างตัวตน  (5) การสร้างกลุ่มเพื่อโจมตี

การบูลลี่ (Bully) 4 ประเภทหลักๆ คือ

(1) ทางร่างกาย เช่น การชกต่อย การตบตี จนทำให้เกิดความเสียหายและเจ็บปวดต่อร่างกาย

(2) ทางสังคมหรือด้านอารมณ์ เช่น การกดดัน การยั่วยุ การแบ่งแยกให้ออกจากลุ่มจนทำให้รู้สึกเจ็บปวดและเสียใจ

(3) ทางวาจา เช่น การพูดจาเหยียดหยาม การดูหมิ่น การด่าทอ การดูถูก การนินทา การโกหกจนทำให้รู้สึกเจ็บปวด

(4) ไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbullying) เป็นการกลั่นแกล้งกันผ่านโลกออนไลน์และเป็นการกระทำที่แพร่หลายมากในปัจจุบัน เช่น การโพสข้อความโจมตีบนสื่อเฟซบุ๊ก การหลอกลวง การส่งข้อความคุกคามทางเพศ ใช้ถ้อยคำหยาบคายจนทำให้อีกฝ่ายอับอายและรู้สึกเจ็บปวด

cyberbullying คือ “การกลั่นแกล้งกันผ่านโลกไซเบอร์” โดยรูปแบบการรังแกกันมีทั้งการใส่ร้ายป้ายสี การใช้ถ้อยคำหยาบคายต่อว่าผู้อื่นหรือการส่งต่อข้อมูลลับ เพื่อทำให้ผู้อื่นเสียหายผ่านทางอินเทอร์เน็ต เช่น ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความ (text message) คลิปวิดีโอ (video-clip) รูปภาพ (picture) email เพื่อทำให้ฝ่ายที่ถูกกระทำรู้สึกอับอาย รู้สึกเจ็บปวด ได้รับผลกระทบทางจิตใจ

ขอยกตัวอย่างต้นแบบ ที่มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยยังไม่มีไซเบอร์กรณี “การเสี้ยมคนให้ชังชาติของสื่อ” เหตุเกิดช่วงปี 1894 - 1899 ที่ประเทศฝรั่งเศส หนังสือพิมพ์หลายฉบับ มีบทบาทสำคัญในการกุข่าว ให้ข้อมูลเท็จ ปลุกกระแสคลั่งชาติ – ต่อต้านชาวยิว สร้างความเกลียดชัง และทำให้เรื่องเท็จกลายเป็นจริง คือการปรักปรำและเนรเทศผู้บริสุทธิ์ที่เป็นนายทหารเชื้อสายยิว คือ อัลเฟรด เดรย์ฟุส (Alfred Dreyfus) ด้วยข้อหาทรยศต่อชาติโดยการนำความลับทางทหารไปขายให้กองทัพเยอรมันฝ่ายศัตรู จนสามารถชี้นำมติมหาชนไปในทางที่ผิด และชักจูงให้สาธารณชนยินยอมพร้อมใจที่จะสนับสนุนความฉ้อฉลของฝ่ายอำนาจ

ดู กรณีเดรย์ฟุส: ยุติธรรมที่บิดผัน สังคมที่บิดเบี้ยว สื่อที่บิดเบือน, โดยวริศา กิตติคุณเสรี, readjournal.org, “อ่าน” ปีที่ 2 ฉบับที่ 4 เมษายน-กันยายน 2553, https://readjournal.org/contents/dreyfus/ 

& Cyberbullying : ระรานออนไลน์ ร้ายล้านวิว, ETDA : Electronic Transactions Development Agency, สพธอ. : สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, 10 ตุลาคม 2562, https://www.etda.or.th/content/stop-cyberbullying-2019.html

& BULLY : การละเมิดสิทธิเพียงแค่เพราะ “ความเคยชิน”, Amnesty International Thailand โดย Arnon Wachirapairot และ Phatchanon Ekarattanavet, 3 มีนาคม 2563, https://www.amnesty.or.th/latest/blog/733/

& Cyber Bullying มีกฎหมายคุ้มครองเหยื่อแค่ไหน?, ictgeneral.police, 17 มีนาคม 2563, https://ictgeneral.police.go.th/?p=434

[19]หลักเสียงข้างมาก (Majority Rule) ตามระบอบประชาธิปไตยความเห็นหรือทัศนะของเสียงข้างน้อยจะต้องได้รับการรับฟัง ในสิทธิของเสียงข้างน้อย (Minority Rights)

[20]หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ. (17 พฤษภาคม 2563) ต่างชาติปลื้มไทยรับมือโควิดได้ดี, https://www.thansettakij.com/content/columnist/434645

[21]ทุนทางสังคม (Social Capital) เป็นคำอธิบาย “ทุน” ในลักษณะใหม่ที่ไม่ใช่เพียงทุนทางเศรษฐกิจที่มุ่งหวังในการทำกำไรหรือแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดของตัวเอง แต่ทุนทางสังคมมีลักษณะเป็นผลประโยชน์หรือต้นทุนส่วนรวมที่มาจากการช่วยเหลือและความร่วมมือกันระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่มต่างๆในสังคม โดยธนาคารโลก เห็นว่าทุนทางสังคม คือ สถาบัน ระบบความสัมพันธ์และบรรทัดฐานการปฏิบัติ (norm) สรุป เป็น การเชื่อมโยงของบุคคลเป็นเครือข่ายทางสังคมบนพื้นฐานความเชื่อถือ ไว้วางใจซึ่งกันและกัน (trust) และมีมาตรฐานในการทำงานร่วมกัน เป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกันคือ “Social Capital, Political Trust and Civic Virtue” : ดูวิกิพีเดีย

NB : มีการใช้คำที่สับสนระหว่าง “ทุนทางสังคม (Social Capital)” และ “ต้นทุนทางสังคม (Social Cost)” กล่าวคือ ต้นทุนทางสังคม (social cost) หมายถึง ความสูญเสีย หรือผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นกับสังคม อันเนื่องมาจากการกระทำใดการกระทำหนึ่ง เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างไม่มีแบบแผน อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อโครงสร้างทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพราะ Capital หรือ  “ทุน” ถือเป็น 4 ปัจจัยการผลิตที่สำคัญมากประเภทหนึ่ง เช่น “ทุนทางสังคม” (Social Capital), "ทุนมนุษย์” (Human Capital) ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เพียงทุนทางเศรษฐกิจที่มุ่งหวังในการทำกำไรหรือแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดของตัวเอง มิใช่เพียงเรื่องที่เป็นผลกระทบทางสังคม ไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ ที่เรียกว่า “ต้นทุนทางสังคม”(Social Cost) อันเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจสินค้าและบริการ เท่านั้น

[22]จิตสาธารณะ (Public Mind) หรือจิตสำนึกสาธารณะ (Public Consciousness)เป็น คำใหม่ที่มีใช้เมื่อไม่นานมานี้ และเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย ซึ่งมีผู้ให้ความหมายของจิตสำนึกสาธารณะหรือจิตสาธารณะ ไว้หลากหลายและมีการเรียกจิตสำนึกสาธารณะไว้แตกต่างกัน ได้แก่ การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม จิตสำนึกต่อสังคม จิตสำนึกต่อส่วนรวม

[23] ความมีน้ำใจ การช่วยเหลือ ความสามัคคี และรอยยิ้ม #ประเทศนี้มี !!, จส.100, 29 ตุลาคม 2561, https://www.js100.com/en/site/post_share/view/63772

& ระดมพลังคนจนเมืองทำ ‘ครัวชุมชน’ สู้พิษเศรษฐกิจ-โควิด แจกจ่ายข้าว-อาหารกว่า 1 แสนกล่อง, ไทยโพสต์, 23 พฤษภาคม 2563, https://www.thaipost.net/main/detail/66646

[24]World Happiness Report. (2020). World Happiness Report 2020.  Retrieved from https://worldhappiness.report/ed/2020/#read

[25]Maria Bäck&ElinaKestilä. Social Capital and Political Trust in Finland: An Individual-level Political trust has in previous studies. Retrieved from https://www.researchgate.net/publication/227803714_Social_Capital_and_Political_Trust_in_Finland_An_Individual-level_Assessment

[26]Takashi Inoguchi. Social Capital in Japan. Volume 1, Issue 1May 2000 , pp. 73-112 Retrieved  from   https://www.cambridge.org/core/journals/japanese-journal-of-political-science/article/social-capital-in-japan/480FEA5F0D4745B60870F48EF9397C4B

[27]Rafael Vázquez García. 2014. Creating Social Capital and Civic Virtue: Historical Legacy and Individualistic Values. What Civil Society in Spain?. Retrieved from  https://ecpr.eu/Filestore/PaperProposal/f4385687-fbf2-4745-8b82-1305bcbb06f7.pdf

[28]โดนม็อบไล่เกือบ 2 สัปดาห์ นายกฯ เลบานอนไขก๊อกแล้ว, ไทยโพสต์, 30 ตุลาคม 2562, https://www.thaipost.net/main/detail/49221

หมายเลขบันทึก: 683249เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2020 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2021 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท