วิจัยเชิงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในชุมชน


ทำไมต้องวิจัยเชิงปฏิบัติการ ในงานสาธารณสุขในชุมชน

สมัยพุทธกาล โคตมพระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงปัญญาไว้ 3 ระดับ เปรียบได้กับบันได 3 ขั้น ขั้นแรกเรียกว่า สุตมยปัญญา หมายถึง ปัญญาที่เกิดจากการค้นคว้าหาความรู้ การสดับรับฟังคำสอน และการศึกษาเล่าเรียนจากผู้อื่น ปัญญาขั้นที่ 2เรียกว่า จินตามยปัญญา หมายถึง ปัญญาที่เกิดจากการใช้ความคิดไตร่ตรองหาคำอธิบายที่สมเหตุสมผลให้กับความรู้ที่ได้จากปัญญาขั้นแรก

ปัญญาทั้ง 2 ขั้นนี้เป็นเพียงปัญญาระดับพื้นฐาน เพราะแม้จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ที่ศึกษาได้มากเพียงใด แต่ก็ยังเป็นเพียงการศึกษาใคร่ครวญผ่านปัญญาของผู้อื่น และไม่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งสุตมยปัญญาและจินตามยปัญญาจะมีประโยชน์ ก็ต่อเมื่อถูกนำไปใช้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและให้แนวทางกับบุคคล ให้พัฒนาไปถึงปัญญาขั้นที่ 3 ซึ่งเป็นปัญญาขั้นสูงสุดที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญาที่หมายถึง ความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นจากการลงมือปฏิบัติจริง จนได้บทเรียนที่ช่วยให้บุคคลหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ด้วยปัญญาของตนเอง

ทุกวันนี้ ระบบสุขภาพชุมชนกำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามเหนือการคาดเดาทั้งปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่เกิดขึ้นภายในชุมชนเอง เช่น ภัยพิบัติธรรมชาติ การระบาดของโรคติดต่อสายพันธุ์ใหม่และโรคติดต่อเชื้อเก่าที่หวนกำเริบ ผลกระทบจากสารเคมีในการเกษตรที่ทยอยปรากฏชัดเจนขึ้น และผลลัพธ์ของพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมซ้ำซาก และบั่นทอนคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างเรื้อรัง รวมถึงการทำงานท่ามกลางความคาดหวังสูงลิบลิ่วถึงการให้บริการที่เป็นเลิศและการบริหารงานที่เป็นธรรมจากประชาชน ขณะเดียวกันกับที่เรากำลังตื่นตระหนกกับปัญหาในชุมชนของเราเองอยู่นั้น รู้ตัวอีกทีเราก็ได้กลายเป็นหน่วยประชากรในสังคมที่ใหญ่ขึ้นและอยู่ใต้สภาพกดดันไม่แตกต่างไปจากกัน ทั้งความผันผวนทางสังคม เศรษฐกิจการเมือง การปฏิวัติและล่มสลายของเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอีกฟากโลก

ในขณะที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกชุมชนอยู่นั้นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมการทำงานแบบเดิมหรือปรับเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างเนิบช้า อำนาจบริหารจัดการนโยบายและทรัพยากรยังคงมาจากส่วนกลาง พอ ๆ กับความรู้และความจริงที่ยังถูกครอบงำอย่างเข้มงวดต่อไป เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชนส่วนใหญ่จึงเป็นได้เพียงคนงาน - แรงงานที่คอยทำงานตามคำสั่ง ตามตัวชี้วัดที่ถูกวางไว้ล่วงหน้าจากผู้ห่างไกล และสั่นไหวจากภายในถึงความหมายของการดำรงอยู่ คุณค่าของการทำงาน และความไม่รู้ที่ทางของตนเองในโลกสมัยใหม่

การวิจัยเชิงปฏิบัติการถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับใช้แก้ไขปัญหาสังคมสมัยใหม่ที่เกิดจากพหุปัจจัยอันซับซ้อน ด้วยการเหนี่ยวนำผู้คนที่เป็นเจ้าของปัญหาตัวจริงให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหา ตั้งแต่รับรู้ปัญหาวางแผนแก้ไขปัญหา ลงมือแก้ไขปัญหา และสะท้อนย้อนกลับเพื่อนำไปปรับปรุงแผนงานและวิธีแก้ไขปัญหาซ้ำ ๆ จนกว่าจะได้ผลตามที่ปรารถนา ซึ่งความรู้ ความคิดรวบยอด และบทเรียนที่เกิดขึ้นระหว่างเข้าร่วมกระบวนการวิจัยนี้เองที่จะเสริมพลังอำนาจให้กับผู้คนในสังคมได้มองเห็นโอกาส และทางเลือกใหม่ ๆ ที่จะนำพาตนเองไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ด้วยตนเอง

ท่ามกลางภาระหนักอึ้งที่มีปลายทางยังคลุมเครือ การวิจัยเชิงปฏิบัติการจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชนได้ใช้ศักยภาพที่มีอย่างสูงสุด ทั้งต้นทุนภูมิปัญญาในการจัดการและแก้ไขปัญหาในชุมชน และต้นทุนความสัมพันธ์ทั้งในแนวราบและแนวลึก ในขณะเดียวกันก็เป็นจุดเปลี่ยน ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชนได้ทำงานในที่ทางที่เหมาะสม คือ อยู่ในจุดที่สามารถเป็นได้ทั้งนักปฏิบัติงาน นักวิชาการ และนักปฏิบัติการทางสังคม เพื่อออกไปเปลี่ยนแปลงสังคมสู่สิ่งที่ดีกว่า ด้วยกระบวนการวิจัยที่มีชีวิตชีวา เสริมสร้างพลังอำนาจประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของตนเอง และร่วม ไตร่ตรองสะท้อนคิดจนเกิดปัญญาจากการปฏิบัติจริง เป็นภาวนามยปัญญา ที่เป็นปัญญาขั้นสูงสุดที่ช่วยปรับเปลี่ยนการให้ความหมายกับทุก ๆ ปัญหาสังคมที่รุมเร้า ให้กลายเป็นเรื่องท้าทายและสร้างสรรค์ได้ด้วยความเปี่ยมหวัง

หนังสือ #วิจัยเชิงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในชุมชนโดย จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร

หมายเลขบันทึก: 680772เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2020 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2020 09:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท