ตอนที่ 4 การใช้กากเนื้อในเมล็ดปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารปลา


ปลาดุก
ปลาดุกเป็นปลาพื้นเมืองของประเทศไทย มีอยู่ด้วยกัน 5 ชนิด แต่ที่รู้จักกันโดยทั่วไป มีอยู่ 2 ชนิด คือ ปลาดุกอุย(Clarias macrocephalus) และปลาดุกด้าน (Clarias batrachus) ปลาดุกอุยหรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า ปลาดุกนา เป็นปลาพื้นเมืองของไทยที่ไม่มีเกล็ด รูปร่างเรียวยาว เนื้อสีเหลือง นุ่ม รสชาติอร่อย สามารถนำมาปรุงแต่งเป็นอาหารต่าง ๆ ได้มากมาย จึงเป็นที่นิยมเพาะเลี้ยงกันโดยทั่วไป แต่ประสบปัญหาเรื่องการเลี้ยง เนื่องจากปลาดุกอุยมีอัตราการเจริญเติบโตช้า และมีขนาดเล็ก จึงได้มีการนำปลาดุกสายพันธุ์จากต่างประเทศ African sharptooth catfish (Clarias gariepinus) ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นปลาที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็ว สามารถกินอาหารได้หลายชนิด มีความต้านทานโรค และทนต่อการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพแวดล้อมได้สูง มาผสมข้ามพันธุ์กับปลาดุกอุย โดยใช้พ่อพันธุ์จากปลาดุกเทศผสมกับแม่พันธุ์ปลาดุกอุย เรียกลูกผสมที่ได้ว่า ปลาดุกอุย เทศ หรือปลาดุกลูกผสม แต่ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกว่า ปลาดุกบิ๊กอุย ซึ่งเป็นปลาที่มีการเจริญเติบโตเร็ว ทนต่อสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง เนื้อมีสีสัน และรสชาติดีปลาดุกลูกผสมเป็นปลากินเนื้อ และกินซาก สามารถกินอาหารได้หลายชนิด ทั้งอาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ด และอาหารผสมที่เกษตรกรผลิตขึ้นเอง โดยส่วนใหญ่จะประกอบด้วยปลาป่น กากถั่วเหลือง ปลายข้าว รำละเอียด วิตามินและแร่ธาตุเสริมอื่นๆ ซึ่งมีโปรตีนโดยทั่วไปประมาณ 20 25 เปอร์เซ็นต์ ในปัจจุบันหากเกษตรกรรายใดเลี้ยงปลาดุกด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูปก็จะประสบกับปัญหา คือ ขายแล้วไม่มีกำไรหรือขาดทุน ทั้งนี้เนื่องจากอาหารปลาดุก หรืออาหารปลากินเนื้อมีราคาแพง อีกทั้งปลาดุกที่แม่ค้ารับซื้อมีราคาถูก และไม่มีความแน่นอน ทำให้เกษตรกรมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการผลิตอาหารผสมขึ้นมาใช้เอง เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตในเรื่องราคาค่าอาหาร ซึ่งเป็นต้นทุนส่วนใหญ่ของการเลี้ยงปลา

การนำกากเนื้อในเมล็ดปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการแปรรูปปาล์มน้ำมัน มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาดุกลูกผสม เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถลดต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์น้ำ เป็นการนำของเหลือใช้จากปาล์มน้ำมันที่มีอยู่อย่างมากมาย ที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเป็นการลดการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์จากต่างประเทศ เป็นการเพิ่มศักยภาพจากของเหลือใช้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อ.วีรชัย เพชรสุทธิ์ 

* อาจารย์สาขาวิชาการประมง (เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ) มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร

คำสำคัญ (Tags): #บทความวิชาการ
หมายเลขบันทึก: 67982เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2006 13:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท