ชีวิตที่พอเพียง 3745. คาห์ลิล ยิบราน นักเผยมายา



หนังสือแปล คาห์ลิล ยิบราน   จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์คนบ้าหนังสือ    นพ. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนบทกล่าวนำ   และท่านผู้แปล วิภาดา กิตติโกวิท เขียนบทนำ    นำผู้อ่านเข้าสู่บริบทของโลกของผู้เขียน    ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1883 – 1931    เป็นชาวเลบานอนที่ไปโตในอเมริกา    เป็นทั้งกวี นักเขียน และศิลปิน  

ช่วยให้ผมได้รู้จักปราชญ์อีกคนหนึ่งของโลก  

ซึ่งเมื่ออ่านข้อเขียนของท่านในหนังสือยังไม่ถึงหนึ่งในสี่ของเล่ม    ผมก็ให้สมญาที่สี่แก่ท่าน ... นักเผยมายา    สิ่งต่างๆ รอบตัวเราล้วนเป็นมายา ไม่ใช่ของจริง    เราไปยอมมันจึงต้องตกเป็นทาสมัน   

ในเรื่อง ความเป็นทาส (น. ๕๕ - ๕๙)   ท่านชี้ให้เห็นว่า มนุษย์เกิดมาเป็นทาสของชีวิต    และเป็นทาสของสรรพสิ่ง และระบบต่างๆ รอบตัว    และผมขอเสริมว่า ความเป็นทาสที่หนักหน่วงที่สุดคือ เป็นทาสของตัวเอง สร้างมายาตัวตนเอาไว้แบก  สร้างสมบัติของจริงเอาไว้หวง  เมื่อมายาตัวตนไม่เป็นที่ยอมรับหรือถูกแย้งก็โกรธ    เป็นคนที่ทั้งแบกของหนัก  และจุดไฟเผาตัวเองให้เร่าร้อน หาความสงบเย็นไม่ได้    หาความโปร่งโล่งเบาสบายไม่ได้  

ปุถุชนรวมทั้งผมต่างก็สร้างมายาขึ้นมาพอกพูนตัวตน

อ่านจบเล่ม ผมบอกตัวเองว่า วิธีเขียนหนังสือให้เป็นวรรณกรรมคือ อย่าบอกอะไรตรงๆ    ต้องเขียนให้อ่านแล้วต้องตีความ    และต้องให้ตีความได้หลายแบบ    ข้อเขียนนั้นก็จะเป็นชิ้นงานศิลปะ ... เป็นวรรณกรรม    กล่าวใหม่ว่า เป็นการนำเสนอผลงานเชิงสัญลักษณ์

ฟังเหมือนง่าย    ที่ยากคือมันจะกลายเป็นขยะไปในพริบตา หากไม่มีคนจับความลุ่มลึกของมันได้    แล้วนักเขียนคนนั้นก็จะยากจนข้นแค้น   และตายไปอย่างระทม    บางคนตายไปหลายสิบปี คนจึงสัมผัสในอัจฉริยภาพในชิ้นงาน    กลายเป็นคนมีชื่อเสียง  และสร้างความร่ำรวยให้แก่คนอื่น    ตนเองตายไปแล้วก็ไม่รู้เรื่องอะไร    นี่คือกรรมของคนที่เกิดก่อนกาล

ผมจับความได้ว่า    นักเขียนหรือศิลปินอัจฉริยะเหล่านี้ ไม่ได้ทำงานเพื่อสนองตลาด    ไม่ได้ทำงานเพื่อให้ผู้คนชื่นชม    แต่เพื่อสนองแรงขับดันจากภายในตนเอง    เขาเห็นหรือสัมผัสบางสิ่งบางอย่างที่คนอื่นไม่เห็น หรือเห็นตามกรอบความคิดพื้นๆ ที่คนทั่วไปยึดถือ    แล้วเสนอออกมาเป็นบทกวี ข้อเขียนเชิงวรรณกรรม หรือชิ้นงานศิลปะ เพื่อสื่อต่อผู้คน    โชคดีที่ คาห์ลิล ยิบราน ไม่ “เหนือโลก” หรือ “เพี้ยน” จนเกินไป    เขาจึงมีชื่อเสียงระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่    และโชคดีที่ในสังคมตะวันตก ผู้มีฐานะนิยมเลี้ยงดูส่งเสริมให้เด็กที่มีอัจฉริยภาพได้ฝึกฝนสร้างผลงานให้แก่โลก   เขาจึงมีโอกาสไปฝึกทักษะด้านศิลปะที่ปารีสถึง ๑ ปี   ต่อด้วยอิตาลีอีก ๑ ปี    แม้จะอยู่ในฐานะเด็กในครอบครัวอพยพ

เขากล่าวว่า เป็นการเสนอออกมาจากการตื่นของวิญญาณ    จาก “การตื่นในส่วนลึกแห่งห้วงลึกของวิญญาณ” (น. ๓๘)   ด้วย “ภาษาแห่งวิญญาณ” (น. ๑๙๔)   ผ่านอิสรภาพทางจิตวิญาณ  หลุดจากการเป็นทาสของถ้อยคำที่ผิวเผิน (น. ๑๙๘)    และในขณะเดียวกัน อยู่ที่ “ชายขอบของความบ้า” (น. ๑๙๙)     

จะเห็นว่า สมองมนุษย์ที่มีอัจฉริยภาพเหล่านี้ต้องการตัวกระตุ้น    ดัง คาห์ลิล ยิบราน ใช้ทิวทัศน์และบรรยากาศธรรมชาติ เป็นทั้งตัวกระตุ้น และเป็นสื่อบอกความคิดความรู้สึกเชิงสัญลักษณ์    รวมทั้งบางครั้งใช้บุหรี่ โดยที่เขาไม่ติดบุหรี่    นักเขียนและศิลปินจำนวนไม่น้อยใช้สุราเป็นตัวกระตุ้น  จนติดสุราและอายุสั้น    ที่จริงยิบรานก็อายุสั้น คือเพียง ๔๘ปี   

คนที่เห็นความไม่ธรรมดาในสิ่งธรรมดา    จะสามารถเห็นความงาม หรือพลัง ในขั้วตรงกันข้าม    และเอามาใช้สะกิดใจคน    เช่น ความฝันในการตื่น  และการตื่นในความฝัน (น. ๑๙๓)    ปิติในความเศร้า  ความเศร้าในปิติ (น. ๑๙๔)   

ส่วนที่ประเทืองปัญญาที่สุดสำหรับผมคือเรื่อง ความคิดของเธอ และของฉัน (น. ๑๑๔ -  ๑๒๑)    สะท้อนความคิดที่ไหลไปตามกระแสโลก   กับความคิดของคนที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่หลงมายา หรือรู้เท่าทันโลก 

แล้วผมก็พบข้อความที่ประเทืองปัญญากว่า    “ดวงวิญญาณ...มันไม่เชื่ออะไร ยกเว้นอุบัติการณ์ส่วนตัวของมันเอง    และเมื่อมันประสบบางสิ่งบางอย่าง   ผลที่ออกมาจะเป็นส่วนหนึ่งของมัน” (น. ๑๙๐)    นี่คือดวงวิญญาณของปราชญ์    ท่านพุทธทาสก็เป็นเช่นนี้   ท่านไม่เชื่อพระไตรปิฎก   จึงทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง    เช่นอดอาหาร  ฉันแต่ผลไม้  ไม่พูดกับคน  แล้วสังเกตความรู้สึกและความคิดของตน   จึงสามารถเขี่ยขยะในพระไตรปิฎกออกไปได้    และเข้าถึงแก่นพุทธศาสตร์ได้จริงๆ   

ที่จริงพระพุทธเจ้า สอนในกาลามสูตร ไม่ให้เชื่ออะไรง่ายๆ เมื่อตั้ง ๒,๖๐๐ ปีมาแล้ว  

ร้อยปีให้หลังข้อเขียนของยิบราน แนวคิดไม่เชื่ออะไรง่ายๆ มาบรรจบกับกลไกการเรียนรู้ที่แท้จริงของสมอง    ที่เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ตามด้วยการคิดใคร่ครวญ หรือโยนิโสมนสิการ   ไม่ใช่เรียนรู้จากการสอนโดยผู้อื่นหรือตำรา ที่เป็นเพียงการเรียนรู้ชั้นสอง   

ส่วนผสมของความรัก : นักเคมี ผสมความเมตตา ความเคารพ ความกระตือรือร้น ความอดทน ความคาดหวัง ความแปลกใจ การให้อภัย ได้สิ่งที่เรียกว่า ความรัก ออกมา (น. ๒๖๖ - ๒๖๗)   

พลังของความรัก : “เขาบอกฉันว่า คนคนหนึ่งถ้าเข้าใจตนเอง  ย่อมเข้าใจคนทั้งหมด    แต่ฉันบอกเขาว่า ‘คนคนหนึ่งถ้ารักคนอื่น เขาย่อมจะเข้าใจตนเองได้บ้าง’” (น. ๒๖๗)   

ผมเถียงข้อความ “ศรัทธาอาจแสดงให้เห็นสัจธรรมได้ยิ่งกว่าประสบการณ์” (น. ๒๖๙)    คำว่า “อาจ” อยู่ในประโยค    ทำให้ผมเถียงยากหน่อย     แต่ก็ยังไม่เห็นด้วย    เพราะตามหลักการของการเรียนรู้สมัยใหม่  ศรัทธากับประสบการณ์ทำหน้าที่ต่างกัน    ศรัทธาทำหน้าที่พุ่งความสนใจ    แต่ประสบการณ์ช่วยให้ข้อมูลมือหนึ่ง สำหรับเอามาใคร่ครวญไตร่ตรอง (โยนิโสมนสิการ)     ศรัทธามีจุดอ่อนตรงที่ดึงให้ความคิดของเราเข้ากรอบ    ในขณะที่ประสบการณ์อาจช่วยเผยข้อมูลใหม่ ให้เราคิดกรอบความคิดใหม่ได้    ผมจึงให้น้ำหนักประสบการณ์สูงกว่าศรัทธา    

ไม่ว่าศรัทธา หรือประสบการณ์ เราต้องใช้เป็น    ใช้ให้เกิดผลทางบวก ช่วยให้ประเทืองปัญญา    หากใช้ไม่เป็น อาจก่อผลลบ    ยิ่งทำให้มืดบอดยิ่งขึ้น   

ผมได้นิยาม ศิลปะ ในหน้า ๒๗๖   “คือการสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ จากข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างด้านในปัจเจกบุคคล กับธรรมชาติด้านนอก”    โดยผมขอเพิ่มเติมว่า ชิ้นงานศิลปะ ขึ้นกับอารมณ์ของผู้สร้างสรรค์ในขณะนั้น     ดังนั้น แม้จะพยายามจำลองชิ้นงานเดิม ก็จะได้อารมณ์แตกต่างกัน    คนไร้ศิลป์อย่างผมโชคดี ที่ดูความแตกต่างไม่ออก  

ในบทสุดท้าย ความรักและความคิด รวมถ้อยคำแห่งปัญญา (น. ๒๖๑ - ๒๘๘) ให้นิยามความรักไว้หลากหลายความหมาย    แต่ไม่มีนิยามใดที่สื่อความรักที่ไร้เงื่อนไข    ซึ่งในความเชื่อของผม เป็นสุดยอดแห่งความรัก   

มนุษย์สามหน้า กับมนุษย์สามประเภท “ในกฎหมายของฉัน  มีมนุษย์อยู่สามประเภท    ประเภทหนึ่งสาปแช่งชีวิต  ประเภทหนึ่งอำนวยพรชีวิต  ประเภทหนึ่งครุ่นคิดชีวิต    ฉันชอบประเภทที่หนึ่ง ด้วยความทุกข์ยากของเขา    ฉันชอบประเภทที่สอง ด้วยความเมตตาของเขา    ฉันชอบประเภทที่สาม ด้วยความตื่นตัวของเขา” (น. ๒๘๔ - ๒๘๕)    แต่ผมเถียงว่ามนุษย์ควรมีอย่างน้อยสามหน้าดังกล่าว   

มองอีกมุมหนึ่ง มนุษย์ทุกคนมีสองหน้า  “เราล้วนเป็นเช่นดวงจันทร์วันเพ็ญที่สุกสว่าง  ซึ่งยังมีด้านมืดอยู่” (น. ๒๘๗)     ผมเพิ่มเติมว่า เราล้วนเป็นนักเดินทาง   เพื่อขยายด้านสว่าง และลดด้านมืดในใจตน 

ขอบคุณ นพ. เนตร รามแก้ว ที่กรุณาส่งหนังสือมาให้

วิจารณ์ พานิช

๒๑ มิ.ย. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 679392เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2020 18:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กรกฎาคม 2020 18:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท